ปลูกฝันไว้ในแผ่นดิน
เขียนโดย ลูเซีย บาเกดาโน่
แปลจากภาษาสเปน โดย รัศมี กฤษณมิษ
พิมพ์ครั้งที่ ๒ : ๒๕๔๒
ผลกำไรจะนำไปช่วยเด็กยากจนในชนบท
ราคาเล่มละ ๘๐ บาท (รวมค่าส่ง) สั่งซื้อได้ที่
นางรัศมี กฤษณมิษ ๒๐๒๙/๑๗๖ ถ.เจริญกรุง ๗๗ วัดพระยาไกร บางคอแหลม ปท.วัดพระยาไกร
กรุงเทพฯ ๑๐๑๒๐ โทร. ๒๑๖-๙๑๕๐ โทรสาร ๒๑๖-๙๑๕๑
เริ่มลงในฉบับที่ ๑๐๘
(ต่อจากฉบับที่แล้ว)

สิ่งที่ดีที่สุดของเบอิเรเชอาก็คือระฆัง

แม้ว่าฉันจะยังวิตกกังวล แต่คืนนั้นฉันก็หลับสบายรวดเดียวถึงเช้า และตื่นขึ้น ด้วยเสียงระฆัง จากโบสถ์ที่ปลุกชาวบ้านให้ไปร่วมพิธีมิสซา

โอ ! ช่างไพเราะอะไรเช่นนี้ !

เสียงใสดังกังวาน....เหง่งหง่าง....เหง่งหง่าง.....ช้าๆ เสียงนั้นช่างเรียบง่ายและธรรมดา อ่อนหวานเสนาะหูจนไม่อาจสรรหาคำมาพรรณนาได้

ฉันดีดตัวลุกขึ้นจากเตียงและเปิดประตูระเบียง

เป็นไปได้อย่างไร ภาพที่เห็นเบื้องหน้าคือหมู่บ้านเดียวกับที่ฉันเห็นเมื่อวานนี้หรือ ฉันรู้สึกว่า มันงดงามกว่ากันนัก ภูเขาทะมึนที่ดูราวกับจะข่มขู่ฉันเมื่อวานนี้ กลับเปลี่ยนเป็นภูเขาสีเขียว ปนน้ำเงินสวยงามยิ่งนัก บ้านสีเทาที่แลดูเศร้าสร้อยกลับดูสว่างไสว มีชีวิตชีวา ด้วยกระถางไม้ดอก หลากสีสันบานสะพรั่ง สวนผักที่ได้รับการดูแล เอาใจใส่เป็นอย่างดี ก็มีผักต้นอวบอ้วนเต็มไปหมด ต้นแพร์และต้นแอปเปิ้ลออกลูกดกดื่น และไกลออกไป ยังมีท้องนา ท้องไร่อีก ความงดงามที่ ได้เห็นทำให้ฉันหัวเราะออกมาอย่างอายๆ

ทำไมในความมืดแห่งราตรีกาลเมื่อคืนนี้ ฉันถึงได้หวาดกลัวสิ่งเหล่านี้เสียนักหนา

วันนี้ฉันกลับมองเห็นทุกสิ่งทุกอย่างสวยงามไปหมด ด้วยสีสันแห่งฤดูใบไม้ร่วง........

ทิ้งเรื่องเมื่อวานที่ฉันใส่ชุดดูราวกับหญิงเคราะห์ร้ายลงไปรับประทานอาหาร ซึ่งจะมีประโยชน์ เพียงแค่ทำให้คุณย่าถามฉันว่า ไว้ทุกข์อยู่หรือ ฉันแต่งกายโดยไม่คำนึงถึงกาลเทศะเลย ช่างมันเถอะ เรื่องไม่เข้าท่าอย่างนั้น ก็ฉันจะอยู่ที่หมู่บ้านนี้แค่เดือนเดียวเท่านั้น และในเวลาสั้นๆ นี่แหละ ที่ฉันจะพิสูจน์ความสามารถของตัวเอง โดยไม่เกี่ยวกับ การมีอายุมากหรือน้อย และด้วยท่าทาง 'อรชรอ้อนแอ้น' (คำพูดของเปโย่นี้ได้ฝังลึกลงไป ในจิตวิญญาณ ของฉันเลยทีเดียว) ของฉันนี่แหละ

ฉันจะพิสูจน์ให้ทุกคนได้เห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบาทหลวงคนนั้น คอยดูสิ !

เช้านั้นฉันไปโบสถ์กับลูกสาวของเปโย่ แม่ของเธอไปมิสซาเช้าที่โบสถ์ของหมู่บ้าน ใกล้เคียง ก่อนหน้านี้แล้ว จึงอยู่บ้านกับลูกเล็กๆ

โบสถ์ช่างสวยงามเสียนี่กระไร ! จะต้องเป็นเพชรล้ำค่าของหมู่บ้านอย่างไม่ต้องสงสัย ฉันรู้สึกชอบ และสบายใจเมื่ออยู่ที่นี่ บาทหลวงซึ่งในขณะนั้น สวมชุดทำพิธีมิสซาสีเขียว ก็ดูเป็นพระ ปกติธรรมดา แม้ว่าท่านจะสวมแว่นตาทรงกลมหนาเตอะ ฉันนึกแปลกใจ ที่มองท่าน คล้ายตัวตุ่นเมื่อวานนี้

บาทหลวงแนะนำให้ฉันรู้จักกับบรรดาแม่บ้านของหมู่บ้านนี้ ตรงบริเวณประตูทางออก เมื่อพิธีมิสซา สิ้นสุดลง พวกเธอต่างชวนฉันไปอยู่ที่บ้าน ทำให้ฉันลืมความผิดหวัง ไปได้ชั่วขณะหนึ่งว่า เมื่อวานนี้เองที่ฉันรู้ว่าทุกคนล้วนปฏิเสธ และอ้างเหตุผลต่างๆ นานา ที่ไม่อาจรับฉันไปอยู่ด้วยได้ มันทำให้ฉันรู้สึกสับสน มึนงง

คนที่ฉันถูกชะตามากที่สุดเห็นจะเป็นอิซาเบล ภรรยาของเปโย่ ดูเธอจะเห็นอกเห็นใจ และค่อนข้าง สนใจโรงเรียนมากกว่าผู้อื่น น่าจะเป็นเพราะเธอมีลูกสาวสองคน กำลังอยู่ ในวัยเรียน ส่วนลูกชายอีกสองคนนั้นยังเล็กอยู่ และยังมีอีกคนในท้อง คาดว่าจะคลอด ราวเดือนธันวาคมนี้ แม้ว่าเธอจะไม่ได้พูดหรือทำอะไรเป็นพิเศษ ฉันกลับรู้สึกชอบเธอ มากกว่าสามีและพี่ชายของสามีเธอเสียอีก

กาแฟใส่นมและขนมปังของที่นี่ทำให้ฉันรู้สึกดีขึ้น เปโย่เองก็ดูน่าคบหาสมาคมมาก ขึ้น พี่ชายของเขา ดูจะขี้อายน้อยลง และบาทหลวงก็ไม่ช่างหัวเราะเยาะเท่าใดนัก

ฉันดีใจที่ไม่ค่อยมีใครสนใจ ตามธรรมดาแล้วฉันค่อนข้างขี้อาย และจะรู้สึกไม่ดีเอาเลย เวลามีคนไม่คุ้นเคย มาจ้องมองจริงๆ จังๆ

พวกเขาสนทนากันเรื่องการไถหว่าน และเรื่องเกี่ยวกับท้องทุ่งซึ่งฉันไม่รู้เรื่องอะไรกับเขาเลย

หลังจากรับประทานอาหารกลางวันแล้ว ทุกคนก็แยกย้ายกันไปนอนพักผ่อน ซึ่งเป็นธรรมเนียม อย่างหนึ่ง ของเบอิเรเชอาที่ฉันไม่อาจทำตามได้ เลยถือโอกาสเดินไปที่โรงเรียนอีกครั้งหนึ่ง และแอบหวังว่า ในเมื่อทุกอย่างรอบๆ ตัวฉันดูดีขึ้น โรงเรียนก็น่าจะเป็นเช่นเดียวกัน แต่ฉันก็ผิดหวัง เพดานห้องยังเต็มไปด้วยรอยด่าง กล่องกระดาษใส่ยาเบื่อหนู ยังอยู่กลางห้อง ม้านั่งที่มีอยู่ ก็ทั้งหักและพัง สภาพทั่วไปเหมือนบ้านร้างไม่มีผิด ฉันรู้สึกหมดกำลังใจ แม้กระทั่ง ตัวหมู่บ้านเอง เมื่อมองผ่านกระจกที่สกปรกออกไปแล้วก็ดูเศร้าสร้อยไม่แพ้กัน

หากฉันจะมีแค่โรงเรียนธรรมดาๆ กับเขาสักโรงเรียน ฉันแน่ใจว่าเรื่องอื่นๆ จะไม่เป็นปัญหา ฉันคงจะลืม บรรยากาศของหมู่บ้านและความไม่จริงใจของบรรดาแม่บ้าน ที่ฉันพบเมื่อเช้านี้ได้ พวกเธอ แสร้งชวนให้ฉันไปอยู่ด้วย อย่างมีน้ำจิตน้ำใจทั้งๆ ที่ได้ปฏิเสธแข็งขัน ก่อนหน้าที่ฉันจะมาถึง

แต่โรงเรียนก็ยังอยู่ที่นั่น มันเป็นความจริงที่ฉันไม่อาจหลีกเลี่ยง และอีกไม่กี่วัน ข้างหน้า ก็จะเป็น สถานที่ทำงาน เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เพราะฉันจะต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ที่นั่น

ฉันไม่รู้ว่านั่งอยู่หน้าโต๊ะที่ลงขี้ผึ้งหนาเตอะนั้นนานเท่าไร คงจะนานพอดู เพราะเมื่อกลับถึงบ้าน ทุกคนก็ตื่นกันหมดแล้ว เปโย่ยืนอยู่ที่ประตู ฉันแปลกใจมากเมื่อเขาบอกว่ามีเรื่องจะพูดกับฉัน

"ได้สิคะ"

เขาเล่าให้ฉันฟังถึงนิสัยใจคอของแต่ละคนในหมู่บ้าน 'เพื่อจะได้ไม่มีใครหลอกครูได้' คนส่วนใหญ่ เป็นพวกที่ 'ต้องระวัง' เขากำชับให้ฉันจับตาดูลูกสาวบ้านอิปาร๎รากิร๎เร่เป็นพิเศษ เมื่อเริ่มมีงานในไร่ให้ทำ เด็กๆ บ้านนี้จะหยุดเรียนและอ้างว่าไม่สบาย

"คนนี้สิเป็นห่วงเรื่องการศึกษาของเด็กๆ ที่บ้าน"

คุณย่าเรียกฉันเข้าไปในครัว ทันทีที่ฉันพูดธุระกับลูกชายของท่านเสร็จ เพียงเพื่อจะบอก ให้ฉันอดทน และช่วยถ่ายทอดความรู้ให้หลานๆ เพราะท่านอยากจะให้พวกเขา เป็นช่างตัดเสื้อ ฝีมือดีในอนาคต

"โดยเฉพาะเจ้าคนเล็ก เจ้าคนโตน่ะดูจะชอบหนังสือหนังหามาก แถมลายมือสวยเสียด้วย แต่ย่า ก็ไม่ค่อยรู้เรื่องพวกนี้หรอก คนนี้สิเขารู้ดี เขาตั้งใจจะให้เด็กๆ ได้เล่าเรียน เผื่อว่าพวกแก จะได้เป็นครู"

เพียงประเดี๋ยวเดียวฉันจึงเข้าใจว่า 'คนนี้' ของคุณย่า หมายถึงอิซาเบล แม้ว่าวิธีเรียก จะฟังดู แข็งกระด้าง แต่ฉันรู้สึกว่ามีความรักความอบอุ่นแฝงอยู่ นี่เป็นวิธีง่ายๆ ที่ทำให้เข้าใจว่า อิซาเบล เป็นหัวใจของบ้านหลังนี้

คุณย่าถามถึงเรื่องทางบ้านของฉันว่า พ่อและพี่น้องทำอาชีพอะไร ทุกคนสบายดีไหม แม่จะมาเยี่ยมฉัน ที่หมู่บ้านนี้สักครั้งไหม เผื่อจะได้รู้จักกัน ที่ปัมโปล๎น่าเขาแต่งตัวกันหรูหรา มากไหม ที่บ้านเรามีเครื่องซักผ้าและเครื่องล้างจานหรือเปล่า แล้วที่เขาว่าในเมืองตอนนี้มีแต่ 'สิ่งชั่วร้ายมากมาย' น่ะจริงไหม

คุณย่าบอกว่าท่านอยู่แต่ในหมู่บ้าน ไม่ได้ออกไปไหนมานานกว่ายี่สิบปีแล้ว คนเราเมื่อแก่ตัวลง จะมีอะไรดีเท่ากับ การได้ใช้ชีวิตอย่างสงบสุขในหมู่บ้านของตน

บาทหลวงก็เข้ามาคุยกับฉันด้วย ท่านอยากทราบว่าฉันเห็นโรงเรียนแล้วหรือยัง และรู้สึก อย่างไรบ้าง

"จะให้พูดยังไงล่ะคะ มันแย่เอามากๆ ที่เห็นเมื่อคืนนี้ ดิฉันก็ว่าทรุดโทรมพอแรง แต่วันนี้ พอกลับไปดูใหม่อีกหนตอนกลางวัน ยิ่งเห็นช่องโหว่หลายแห่งชัดกว่าเมื่อคืนอีกค่ะ"

ถ้าได้ทาสีใหม่ก็คงจะดี ฉันคิดอย่างมีความหวัง ตัดสินใจว่าในฐานะครู จะต้องไปพบ ผู้ใหญ่บ้าน เป็นคนแรก เพราะถึงอย่างไรโรงเรียนนี้ก็เป็นของรัฐ ผู้ใหญ่บ้านต้องรับผิดชอบ

แต่อนิจจา....ผู้ใหญ่บ้านแห่งเบอิเรเชอา !

ฉันพยายามพูดให้เขาเห็นด้วยว่า เราน่าจะทาสีห้องเรียนเสียใหม่ เป็นสีครีม หรือสีเหลืองอ่อน ก็ได้ แต่เขาทำให้ฉันเสียเวลาตลอดบ่ายไปโดยเปล่าประโยชน์ เกิดมาไม่เคยเห็นใคร ดื้อรั้น ดันทุรัง เท่าเขาเลย เขาย้ำหนักแน่นว่าโรงเรียน 'เพิ่งจะ' ทาสีไปเมื่อสิบเจ็ดปีที่แล้ว 'เท่านั้น' เขาเลือกสีน้ำเงิน เพราะสวยและทนทาน แล้วเด็กๆ ก็ชอบทำห้องเรียนเลอะเทอะ สีเข้มๆ อย่างนี้แหละ เหมาะแล้ว โรงเรียนของเรานับว่าดีที่สุดในละแวกนี้ และยังอยู่ไปได้อีกหลายปี โดยไม่ต้องทาสีใหม่ให้สิ้นเปลือง อีกอย่างหน้าร้อน เราก็ไม่ต้องใช้โรงเรียน จะใช้เฉพาะ หน้าหนาวเท่านั้น

"อ้อ ! แล้วถ้าทาสีใหม่น่ะ เด็กๆ จะเรียนอะไรได้มากกว่าเดิมหรือ"

ฉันพยายามชักแม่น้ำทั้งห้า พูดให้เขาเห็นว่าที่ทาสีไปเมื่อสิบเจ็ดปีก่อนน่ะนานมากแล้ว การทาสีใหม่ ไม่ใช่เรื่องหรูหราอะไร นอกจากนี้รอยด่างที่ผู้ใหญ่บ้านว่าได้ซ่อมแซมแล้วนั้น ถ้าได้ทาสีใหม่คราวนี้ก็จะอยู่ได้นาน หากผู้ใหญ่ชอบสีน้ำเงินเพราะมันทนและสวยแล้วล่ะก็ ฉันจะบอกให้ว่า มันไม่ดีต่อสายตาเด็กๆ ตรงกันข้าม การทาสีอ่อนๆ จะช่วยให้ห้องเรียน ดูสว่างไสว สบายตาขึ้น และการที่เด็กชอบทำเลอะเทอะอยู่เสมอนี่เอง จึงไม่ต้องไปหวังว่า สีจะคงทนถาวรตลอดไป จริงอยู่ เด็กอาจเรียนรู้ได้เท่ากันในห้องเรียนที่สกปรกหรือสะอาด แต่การที่เด็กๆ ได้เรียนในห้องที่สะอาดก็ย่อมดีกว่ามิใช่หรือ

พูดไปก็เท่านั้น ลงท้ายเขาตัดบทว่า เทศบาลไม่มีงบจะให้แล้ว นี่ก็เพิ่งสร้างถังเก็บน้ำบนเขา พร้อมท่อส่งน้ำไปหยกๆ ยังต้องรอเงินช่วยเหลือจากสมาชิกสภาจังหวัดอยู่เลย

"แล้วทำไมผู้ใหญ่ไม่บอกดิฉันเสียตรงๆ แต่แรก มัวพูดอ้อมค้อม ปล่อยให้ดิฉัน เสียเวลา อยู่ได้ตลอดบ่าย"

ฉันต่อว่าอย่างไม่พอใจและเดินออกมาอย่างผิดหวัง ฉันตรงไปโรงเรียนเริ่มลงมือ ทำความสะอาด พื้นห้อง และเช็ดกระจกอย่างแค้นเคือง เพราะไม่รู้จะไปร้อง ขอความช่วยเหลือ จากใครได้

จนค่ำฉันจึงย้อนกลับไปบ้านของ 'ผู้ใหญ่บ้าน' อีกครั้ง เพื่อขอรายชื่อเด็กที่อายุถึงเกณฑ์เรียน ฉันต้องการรู้ อายุของเด็กๆ เพราะจะต้องจัดชั้นเรียนตั้งแต่อนุบาลไปจนถึงมัธยมเลยทีเดียว

แต่ชายที่แสนดีคนนี้ออกมาบอกฉันหน้าตาเฉยว่า เขาเก็บเอกสารทั้งหมดไว้ในหีบ ซึ่งเขาไม่สะดวก ที่จะลากออกมาในอาทิตย์นี้ เนื่องจากเขากำลังยุ่งอยู่กับการเก็บหญ้า และหาก จะต้องรื้อหีบจริงๆ ละก็จะเป็นเรื่องวุ่นวายไม่น้อย ตั้งแต่มีครูมาสอนที่นี่ ไม่เคยมีครูคนไหน มาขอรายชื่อเด็กๆ แบบนี้เลย ยิ่งกว่านั้นเขาเองก็ไม่รู้ด้วยว่าจะต้องทำรายชื่ออย่างไร ไม่เข้าใจว่า ทำไมครูต้องสนใจว่าเด็กจะอายุมากหรือน้อยแค่ไหนอย่างไร หรือโรงเรียนควรจะทาสีโน้นสีนี้ ไม่มีครูคนไหนเขาจะ 'เรียกร้องและร้อนรน' มากเท่านี้เลย

อ๋อ ! ก็เพราะเหตุนี้น่ะสิ เขาถึงได้อยู่กันนานนัก ! ฉันตอบโต้เพราะจำได้ว่าที่ เบอิเรเชอานี้ ภายในสองปี ต้องเปลี่ยนครูไปแล้วถึงเจ็ดคน ! และมีครูคนเดียวเท่านั้นที่อยู่จนครบเทอม

ฉันกลับบ้านด้วยอารมณ์พลุ่งพล่าน ทั้งเหนื่อยและผิดหวัง จึงนั่งโมโห อยู่ตรงม้านั่ง หน้าบ้านนั่นเอง

"เรื่องที่เกิดขึ้นนี่มันปกติหรืออย่างไร" ฉันถามตัวเอง ไอ้การลอกรายชื่อเด็ก จากทะเบียนบ้านว่า คนที่อายุถึงเกณฑ์เรียนมีกี่คน มันยากเย็นอะไรนักหนา ทำไมถึงเป็นอย่างนี้ ถ้าไม่มีรายชื่อเด็กๆ แล้วฉันจะรู้ได้อย่างไรว่าเด็กทุกคนไปโรงเรียนหรือเปล่า

(อ่านต่อฉบับหน้า)



*** เกียรติประวัติ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์รัศมี กฤษณมิษ สาขาวิชาภาษาสเปน ภาควิชาภาษาตะวันตก คณะอักษรศาสตร์ ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์พระนางอิซาเบล ลา กาโตลิกา ชั้น CRUZ DE OFICIAL โดยมี พณฯท่านเอกอัครราชทูตสเปน ประจำประเทศไทย Jose Eugenio Salarich ทำพิธีมอบให้ ในพระปรมาภิไธย ของพระมหากษัตริย์ Juan Carlos 1 แห่งประเทศสเปน เมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๖ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ประเภทนี้ มอบแด่พลเรือน ทั้งชาวสเปน และชาวต่างชาติ ผู้ประพฤติดีและมีคุณูปการแก่ประเทศชาติ หรือกอปรด้วยเจตนารมณ์เด่นชัด ในอันที่จะร่วม ประสานสัมพันธไมตรีอันดี ระหว่างประเทศสเปนกับนานาประเทศ

อาจารย์รัศมีเริ่มแปลวรรณกรรมเยาวชน สเปนเล่มแรกของประเทศไทย คือเรื่อง "กุ๊ชโฉ่" เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๘ โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.วัลยา วิวัฒน์ศร และคุณมกุฏ อรดี เป็นผู้ให้คำแนะนำ และขัดเกลาภาษาไทย ผู้แต่งหนังสือคือ คุณโฆเซ่ หลุยส์ โอไลยโซล่า อนุญาตให้พิมพ์หนังสือ โดยยกเว้นค่าลิขสิทธิ์ให้ เพราะอาจารย์รัศมี ตั้งใจนำผลกำไรทั้งหมด ไปช่วยเด็กด้อยโอกาส ในชนบท หนังสือเล่มนี้ กระทรวงศึกษาธิการ อนุญาตให้เป็นหนังสืออ่าน นอกเวลา วิชาภาษาไทย ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และสมาพันธ์องค์กรเพื่อพัฒนาหนังสือ และการอ่าน คัดสรรให้เป็นหนังสือดี สำหรับเด็กและเยาวชน

ในปี พ.ศ.๒๕๔๑ ได้แปลวรรณกรรมเยาวชนเล่ม ที่สอง คือ "ปลูกฝันไว้ในแผ่นดิน" ด้วยวัตถุประสงค์เดิม คุณลูเซีย บาเกดาโน่ ผู้แต่ง จึงได้อนุญาตให้พิมพ์หนังสือ โดยยกเว้น ค่าลิขสิทธิ์ให้เช่นเดียวกัน หนังสือเล่มนี้ได้รับ คัดเลือก ให้เป็นหนังสือ ที่กำหนดให้อ่าน และ เขียนคำวิจารณ์ สำหรับบรรณารักษ์ และสมาพันธ์องค์กร เพื่อพัฒนาหนังสือและการอ่าน คัดสรรให้เป็นหนังสือดี สำหรับเด็กและเยาวชน

ปี พ.ศ.๒๕๔๔ ได้แปลวรรณกรรมเยาวชนเล่มที่สาม คือ "แม่กุ้งแห้งกับพ่อตุ้ยนุ้ย" และที่กำลัง จะออก ในเดือนธันวาคม ศกนี้ คือเรื่อง "เด็กหญิงผู้บันทึกความฝัน" ผู้แต่งทั้งสองเรื่องนี้ คือคนเดียวกับผู้แต่งเรื่อง "กุ๊ซโฉ่" และได้ยกเว้น ค่าลิขสิทธิ์ให้ทุกเล่ม เพราะทราบว่า หนังสือของเขา ในภาคภาษาไทย สามารถช่วยเหลือเด็กมากมายในชนบท ทั้งคุณโฆเซ่ หลุยส์ และภรรยา ได้เดินทางมาประเทศไทย เมื่อเดือนมิถุนายน ปี พ.ศ.๒๕๔๕ และไปดู โครงการต่างๆ สำหรับเด็กไทยในชนบท (โครงการเกษตรอาหารกลางวัน ทุนการศึกษา บ้านพักครู โรงเพาะเห็ดนางฟ้า ฯลฯ) ซึ่งเกิดขึ้น ได้อย่างต่อเนื่อง เพราะผลกำไร จากการจำหน่าย หนังสือของเขา คุณโฆเซ่ หลุยส์ ประทับใจมาก และกลับไปเขียนบทความ ลงในนิตยสารชั้นนำ ที่ประเทศสเปน รวมทั้งเขียนหนังสือเรื่อง "Viaje alrededor de la vida" เล่าถึง ประสบการณ์ที่ได้ เดินทางมาประเทศไทย

ทั้งนี้หนังสือทั้ง ๓ เล่มที่อาจารย์รัศมีแปล ได้รับการสนับสนุนด้านการพิมพ์หลายครั้ง จากสถานเอกอัครราชทูตสเปน ประจำประเทศไทย โดยพิมพ์ที่สำนักพิมพ์ฟ้าอภัย

- ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๑๐ พฤศจิกายน - ธันวาคม ๒๕๔๖ -