สนิม...ชีวิต ข้อคิด...ขัดสนิม

๑ ปี เอาเหล็กมาขัดสนิมหนึ่งครั้ง ซ้ำยังไม่ขัดถึงที่สุด
ไม่ทำถึงจุดที่จะไม่เกิดสนิมสืบต่อไป เหล็กจะกาววาวขึ้นมาได้อย่างไร
การขัดเกลาตนของนักปฏิบัติธรรมก็เช่นกัน
และสนิมเหล็กเกิดจากเนื้อในเหล็ก กัดกร่อนทำลายเหล็ก ฉันใด
สนิมใจเกิดจากเนื้อในใจ กัดกร่อนทำลายใจ ฉันนั้น

จากเห็นใครบางคนในงานอบรมธรรม (พุทธาภิเษกสุดยอดปาฏิหาริย์) อยากฝากคำนี้ไปให้ และบอกเผื่อไปยังพี่น้องทุกผู้ที่อยู่ในสังคมศาสนา เรารู้กันอยู่ว่า การขัดเกลาตน ไม่ต่างจากขัดสนิมเหล็ก หากไม่กระทำต่อเนื่อง ไม่กระทำจริงจัง...ไม่จบ และถ้าถามตนว่า เราไม่ขัดเกลาตนได้ไหม? ได้ แต่นั่นหมายความว่า เราต้องพร้อมยอมรับความตกต่ำย่ำแย่ อ่อนแอยิ่งขึ้น สกปรกโสโครกกว่าเก่า กระทั่งชีวิตเป็นเพียงเศษชีวิต เหมือนเศษเหล็กสนิมเกรอะกรังแล้ว ด้อยราคา ไร้คุณค่า ถูกทิ้งขว้างฉะนั้น กับภาวะเช่นนี้เรารับได้ไหม?

หากชีวิตดั่งเศษเหล็กไม่เป็นที่ปรารถนา เราต้องให้เวลากับการปฏิบัติธรรมมากขึ้น ขัดเกลาตนต่อเนื่องจริงจังยิ่งขึ้น

เรารู้กันอยู่ว่า โทสะเป็นสนิมชีวิต โลภะ โมหะ ราคะ มานะทิฏฐิ มานะอัตตา เหล่านี้เป็นสนิมชีวิต กล่าวอีกนัยว่า เหล่านี้เป็นศัตรู เป็นผู้ฆ่า เป็นซาตาน ชอบลอบประทุษร้ายชีวิตจิตวิญญาณเราอยู่เสมอ หากเราไม่จัดการมัน มันจะจัดการเรา

เรารู้กันอยู่ว่า เวทนา สัญญา สังขาร เหล่านี้เป็น เนื้อในของวิญญาณ หรือเป็นเนื้อในของใจ หากเนื้อในเป็นสนิม ไป ใจผ่องใสกาววาวไม่ได้เลย ไม่เพียงนั้น อีกร้อยพันหมื่น เศร้าหมองจะตามมา...จำได้มิใช่หรือที่พระพุทธเจ้าท่านกล่าวว่า...

ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จได้ด้วยใจ
หากบุคคลใดมีใจชั่วแล้ว กล่าวอยู่ก็ตาม ทำอยู่ก็ตาม ทุกข์ย่อมตามติดไป
เหมือนล้อไล่ตามรอยโคผู้ลากเกวียนอยู่ฉะนั้น
ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จได้ด้วยใจ
หากบุคคลใดมีใจผ่องใสแล้ว กล่าวอยู่ก็ตาม ทำอยู่ก็ตาม สุขย่อมติดตามเขา
เหมือนเงามีปกติตามตัวฉะนั้น

ดังนั้นการเรียนรู้อารมณ์ (เวทนา) ขัดเกลาอารมณ์จึงสำคัญและสมควร ปัญญาภาษิตบทหนึ่ง กล่าวว่า...

อารมณ์เหมือนขนมบัวลอย ปั้นน้อยปั้นใหญ่ใส่เขียวคล้ำดำแดง อยู่ที่เรา
หากเราปล่อยอารมณ์ให้เสีย ความซวยจะตามมา หากเราปรับอารมณ์ให้ดี ความสุขจะตามมา
ในความเป็นชีวิต หากเราไม่เรียนรู้อารมณ์ ไม่พัฒนาอารมณ์ ความล่มจมแม้ไม่หวังยังได้
หากเราเรียนรู้อารมณ์ พัฒนาอารมณ์ การได้รับนิยมชมชื่นเกิดมีขึ้นแน่นอน

การเรียนรู้ความทรงจำ (สัญญา) ขัดเกลาความทรงจำ สำคัญและสมควรเช่นกัน เพราะสัญญาเป็นรากฐานสังขาร เป็นอาหารของอารมณ์ หากทรงจำได้แต่เรื่องร้าวรานเลวร้าย ความคิดดีเกิดไม่ได้ อารมณ์ดีเกิดไม่ได้ จำได้มิใช่หรือกับกวีบทหนึ่งที่กล่าวว่า... ลืม! คำเดียวสั้นๆ เพียบแน่นความหมาย สรรพสิ่งสุดท้าย มีสิ่งใดไม่ควรลืม

โดยจริงก็เพราะจองจำนั่นแหละจึงขังใจ ขังใจเพราะเราไปจองสัญญาไว้ เราคงต้องเลือกจำที่ควรจำ จำโดยไม่จับจอง ไม่ยึดครองเป็นเจ้าเข้าเจ้าของ จำเพื่ออาศัยพัฒนาใจ ไม่ใช่กักขังใจ คือไม่เกิดเป็นอุปาทานในสัญญา

กับเรื่องราวที่ผ่านมาเราคงต้องยอมรับ และทำความเข้าใจกับเรื่องไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้น การคลายใจจะตามมา สุดท้ายความทรงจำเลวร้ายร้าวรานจะผ่านไป ไม่ก่อกวนใจ

กับการคิดเช่นกัน (สังขาร) เป็นเรื่องต้องศึกษา ต้องหัดเปลี่ยนนิสัยคิด เพราะคิดร้ายยังใจให้เลว ยังอารมณ์ให้เหลวไหล ประทุษร้ายร่างกายให้แก่ง่ายตายไว และเราเห็นกันอยู่ โลกนี้มีหลายเรื่องไม่เลวร้าย อย่างที่คิด เราคิดมากเกินไป และมักคิดลบคิดร้ายอีกด้วย... ฝากพี่น้องพินิจปัญญาภาษิตบทนี้ไว้ เพื่อจำใช้บทหนึ่ง...ใช่จำใช้ ไม่ใช่เพียงจำไว้

เมื่อรู้ชัดว่าใจสามารถถึงดูดใดๆ มาได้ ไฉนไม่ยังคิดเชิงบวก (positive thinking) ให้เกิดขึ้นอยู่เสมอๆ
เมื่อการยอมรับความจริงตามเป็นจริง เป็นสิ่งง่ายแล้ว
เพิ่มทัศนะเชิงบวกเข้าไป ก็ไม่เป็นเหตุช้ำใจ หรือเสียความรู้สึกมิใช่หรือ?

ทั้งการคิด ความทรงจำ อารมณ์ เหล่านี้ เป็นเนื้อในของใจ หากเนื้อในดีแล้ว ใจดี ชีวิต ดี หวังได้

เข้าใจว่าด้วยปรารถนาดีต่อชีวิต หลายคน จึงไปฝึกหัดขัดเกลาตนในงานพุทธาภิเษกฯ เชื่อ...หลายคนคงรู้สึกดีเมื่อได้อยู่ในกรอบขอบเขตของศีลธรรม นอนไม่ดึกนัก ได้ตื่นเช้า ได้ฟังธรรม สนทนาธรรม ได้รับประทานอาหารสะอาดปราศจากการเบียดเบียน ได้เสียสละด้วยการทำงานฟรี...เหล่านี้...ดี!

มนุษย์เราเมื่อเจอดี รู้ดี เห็นคุณค่าดี ก็เก็บดีรักษาดีเอาไว้ได้
แต่หากเจอดี ไม่รู้ดี ไม่เห็นคุณค่าดี ก็เก็บดีรักษาดีเอาไว้ไม่ได

ตนก็ได้เก็บข้อคิดดีๆ มาเตือนตนและแบ่งปันพี่น้องทุกคนด้วยว่า...สายน้ำเตลิดตลิ่งไปไม่ถึงห้วงสมุทร ชีวิตที่ปรารถนาเติบใหญ่ไพบูลย์ ปรารถนาเจริญก้าวหน้า ชีวิตต้องมีระบบ มีระเบียบวินัย คือ ตื่นเป็นเวลา กินเป็นเวลา นอนเป็นเวลา มีศีลธรรมกำกับกรรมกิริยา ถ้อยวาจา

อยากบอกพี่น้องว่า...แสงสว่างจำเป็นสำหรับการเดินทางฉันใด แสงธรรมจำเป็นสำหรับการดำเนินชีวิตฉันนั้น ตราบที่ชีวิตยังต้องเดินทาง การเริ่มต้นเช้า ด้วยการฟังธรรมเช่นนี้เป็นมงคลแก่ชีวิต เป็นประทีปแก่ดวงจิต ยิ่งได้มีโอกาสสนทนาธรรมในกาลอันควร ข้อนี้ยิ่งเป็นประทีปกว่า เพราะธรรมดาของใจเป็นเหมือนอะไรบางอย่างที่มากเหลี่ยมมากมุม บางมุมมืดของใจต้องอาศัยการส่องไฟที่ซอกแซกพอควร กรณีกล่าวนี้มักได้ด้วยการสนทนาธรรม มีการตั้ง คำถาม รอฟังคำตอบ ทั้งตั้งคำถามได้ใหม่ เจาะให้ตรงประเด็นตนสนใจ ไม่ใช่ฟังไปโดยส่วนเดียว

อยากบอกพี่น้องว่า...อาหารเป็นรากฐานพลังชีวิต หากคิดการณ์ใหญ่ ต้องใส่ใจและให้เวลาการ รับประทานอาหาร อาหารที่ปราศจากการเบียดเบียน ไม่ปรุงแต่งจัดจ้าน รู้ปริมาณพอเหมาะ ทั้งสมควรแก่ตน เหล่านี้เป็นผลดีแก่สุขภาพ

สุขภาพคือความหวัง ความหวังคือชีวิต ดูเหมือนภาษิตของชาวอาหรับกล่าวไว้

ปัญญาภาษิตบทหนึ่งก็กล่าวว่า...กินแล้วก็ถ่าย กินมากก็ด่วนตาย กินหลากหลายก็เมามึน กินน้อยก็ด้อยพลัง พึงรู้ประมาณ กินด้วยญาณเสมอ

ปรารถนาดีทั้งหมดนี้ นำมาแบ่งปันพี่น้อง...บอกพี่น้อง ร้อยดีพันดีไม่มีผลมาก หากไม่เห็นและ ไม่ตั้งใจกำจัดจุดอ่อนข้อพร่องของตนก่อน เหมือนเรือแม้แครื่องจะแรงปานใด แต่เมื่อไม่แก้ไขรูรั่วของเรือแล้ว อย่างเก่งก็เพียงสามารถแล่นไปตายกลางทะเลได้ สุดท้ายเพื่อปรารถนาดีที่แบ่งปันสู่กันทั้งหมดนี้...มีฤทธิ์ มอบปัญญาภาษิตให้พี่น้องจำใช้อีกหนึ่งบทว่า...

เมื่อไม่รู้ว่า...เป็นจุดไม่งาม เป็นความบกพร่อง การแก้ไขไม่ปรากฏแล้ว
แต่แม้รู้ว่าเป็นจุดไม่งาม เป็นความบกพร่อง หากไม่กำหนดอธิษฐานเพื่อการแก้ไข
ไม่ตั้งใจละเลิกจริงจัง ทั้งไม่ตรวจสอบผลที่ตนแก้ไข แก้ไปก็ไม่ประสบสำเร็จเด็ดขาด

เพื่อประสบสำเร็จเด็ดขาดต้องทำอย่างไรสืบไป? ฝากให้พี่น้องไปหาคำตอบโดยตน

ด้วยปรารถนาดี
จาก ส.ร้อยดาว ๙ มี.ค.๔๗

อธิบายท้ายบท
โทสะ คือ เกลียด โกรธ โมโห หมั่นไส้ ไม่ชอบใจ
โลภะ คือ เห็นแก่ได้ มักมาก อยากไม่รู้พอ
โมหะ คือ ความมืดบอด โง่เขลา มัวเมา ลุ่มหลง
ราคะ คือ หื่น กำหนัดใคร่ ป่วนกระสัน
มานะทิฏฐิ คือ ยึดถือปักมั่น หลงสำคัญแต่ ความเห็น ของตน
มานะอัตตา คือ ยึดถือปักมั่น หลงสำคัญแต่ ความเป็น ของตน

- หนังสือ ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๑๒ มีนาคม - เมษายน ๒๕๔๗ -