น่ารู้จัก
เดชา กายะชาติ
หนุ่มน้อยผู้มั่นใจเต็มร้อย ในกสิกรรมไร้สารพิษ

- ผศ.รัศมี กฤษณมิษ -


ผมจบ ม.๖ จากโรงเรียนกระแชงวิทยา อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๖ จบแล้ว ผมก็ตั้งใจเป็นเกษตรกรเลย ไม่คิดเรียนต่อหรือประกอบอาชีพอื่นใด ผม คุ้นเคยกับไร่นามา ตั้งแต่เด็ก พ่อแม่มีสวนผลไม้ ๑๒ ไร่ ส่วนใหญ่เป็นเงาะ มีไร่ข้าวโพดอีกประมาณ ๑๘ ไร่ และนา ที่เขาเอามาจำนำอีก ๔ ไร่ พ่อเป็นช่างไม้ช่างปูนด้วย

ผมมีพี่น้อง ๔ คน พี่สาว ๒ คน ผมเป็นคนที่ ๓ อายุ ๒๐ ปี และมีฝาแฝดคู่กับผมเป็นน้องสุดท้อง ไม่มีใคร เป็นเกษตรกรเลยนอกจากผม

ขณะที่ผมเรียนอยู่ชั้น ม.๕ ได้เข้าอบรม "คนสร้างชาติ" ที่ศีรษะอโศก และจบ ม.๖ ก็เข้าอบรม "สัจธรรมชีวิต" และ "ผู้นำ" อีก ๒ ครั้ง ณ พุทธสถานเดิม จบการอบรมครั้งแรก ก็กลับไปทำ น้ำยาล้างจานใช้เองที่บ้าน เริ่มเข้าใจการกินอาหารมังสวิรัติ จึงลงมือปฏิบัติทันทีจนถึงปัจจุบัน

ผมได้ความรู้เรื่องปุ๋ยชีวภาพมาก อยากกลับไปทำเลย เพราะรู้ว่าปลอดภัยกับชีวิต เห็น ทางรอด ความหวัง ผมจึงมีไฟ มีพลังกลับไปทำงาน และปลูกผักส่งกลุ่มกสิกรรมไร้สารพิษ พร้อมทำปุ๋ย ชีวภาพไว้ใช้เองด้วยเพื่อเป็นตัวอย่างให้สังคม ไม่มีใครตำหนิผมเรื่องไม่เรียนต่อ เพื่อนๆเข้าใจ อาจารย์ก็สนับสนุน ผมเป็นคนขยัน และไม่ค่อยอยากได้อยากมี ไม่ค่อยสนใจเรื่องลาภ ยศ สรรเสริญ แต่มีอุดมการณ์อยากช่วยชาวบ้านให้เห็นโทษภัยของสารเคมี สารพิษต่างๆ ที่มีผลต่อ ร่างกายและต่อผู้บริโภค

ทุกวันนี้ผมเริ่มงานตั้งแต่ ๖ โมงเช้า ทำงาน ทั้งวัน บางทีถึง ๔-๕ ทุ่ม ผมจะเขียนบันทึกประจำวัน ทุกคืนเพื่อทบทวนสิ่งต่างๆ แม้งานจะหนัก แต่ผมก็รู้จักพัก รู้จักพอ และมีความสุขกับชีวิต รายได้ อาจจะไม่มากนัก หนี้สินก็ยังมี ทว่าผม มั่นใจในกสิกรรมไร้สารพิษ ว่าสามารถเป็นที่พึ่งให้ตัวเรา และสังคมได้


*** บันทึกประจำวันของเดชา

"คนเราจะจนหรือรวย ถ้าไม่รู้จักความพอดี ก็ไม่มีความสุข"
๑๕-๑๖ ธ.ค.๔๖

เราฟังวิทยุรายการของมหาวิทยาลัยสุโขทัย ธรรมาธิราชประจำ ได้ศึกษาไปพร้อมๆ กับนักศึกษา แม้ไม่ได้ลงเรียน เราก็มีสิทธิ์ในการเรียนรู้ ได้ความรู้เหมือนเขา ต่างกันแต่ไม่มีปริญญาบัตรมารับรอง และเราก็ไม่ต้องการด้วย แต่จะเอาผลงานมารองรับ
๑๗-๑๘ ธ.ค.๔๖

ถึงเวลาแบกข้าวโพดอีกครั้ง แม้จะหนัก ทำไป ทีละนิดๆ ก็เสร็จเอง เกษตรกรคนอื่นเผาไร่ข้าวโพด ฟางในนา ด้วยความไม่รู้ น่าเสียดายมากที่ไม่ได้บอกเขาไว้ก่อน
๒๔-๒๕ ธ.ค.๔๖

เห็นพ่อแม่หักข้าวโพดแล้วสงสารจัง แต่การ แก้ปัญหาก็ไม่ใช่ให้พ่อแม่อยู่สบายๆ แล้วคนอื่น ต้องลำบากทำงานแทน ทว่าการแก้ปัญหาคือ ทำให้ทั้งสองฝ่ายมีชีวิตที่มีคุณภาพ ป้าและเพื่อน มาจาก กทม. ได้เข้ามาเที่ยวสวน ส่วนมากพวกเขาอยู่ในเมือง ไม่ค่อยมีโอกาสไปเที่ยวสถานที่ ตามธรรมชาติ พอมาเจอสวนเราแล้วรู้สึกประทับใจมาก จิตใจเขาคงสดชื่นไปนาน
๒๖-๒๗ ธ.ค.๔๖

ใครจะอยู่บ้านฉลองปีใหม่ก็ตาม เราจะไปทำงาน ตามปกติ วันสุดท้ายแล้วสำหรับงานหักข้าวโพด ครั้งนี้ พ่อแม่จะได้พักเสียที... หลังจากลมหนาวพัดผ่านไป เห็ดนางฟ้ารุ่นนี้ออกดอก มากกว่า รุ่นก่อนๆ ขายได้ราคาพอสมควร เป็นเรื่องที่น่าลงทุน
๑-๒ ม.ค.๔๗

ชีวิตเราทุกวันนี้มีอิสระเสรี มีความสุขมาก มีอนาคต รุ่นน้องมาเที่ยวสวน เราพาเขาชมสวน ไร้สารพิษพอได้ตื่นตาตื่นใจ และสนทนากันตามประสารุ่นพี่รุ่นน้อง เราให้ดอกหอม เป็นของฝาก ติดมือเขาไปด้วย
๓-๔ ม.ค.๔๗

วันนี้ต้องเก็บดอกหอมขายอย่างจำเป็นทั้งที่ราคาต่ำมาก ไม่เป็นไร ไม่เอาเปรียบผู้บริโภค ถือว่า ชีวิตเรามีคุณค่าต่อผู้อื่น น่าภูมิใจ หลังจากรดน้ำ แตงกวามาเกือบเดือน ที่สุดก็ได้เก็บผลผลิต คงจะขาย ได้ไม่กี่บาท แต่เราได้พิสูจน์แล้วว่าเราทำเกษตรได้ หอมแดงก็เช่นกัน ต้องรีบถอนขาย เพราะราคาจะตกต่ำไปกว่านี้
๕-๖ ม.ค.๔๗

ทำงานอยู่กับธรรมชาติ ไม่ใช้สารเคมีเพื่อการฆ่าศัตรูพืชและบำรุงผลผลิต ขยันทำงาน บุญคือ ทรัพย์ เงินคือผลพลอยได้ ศึกษาและปฏิบัติตามคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
๗-๘ ม.ค.๔๗

เราแลกเห็ดนางฟ้ากับเงินของแม่ค้าด้วยความเบิกบานใจ เป็นเพราะเรามีความพอดี ไม่โลภ ความสุข จึงเกิดขึ้น
๑๒-๑๓ ม.ค.๔๗

ไปเยี่ยมเพื่อนที่ตกจากบ้านเพราะเมา เขาคงสำนึกและเข้าใจชีวิตมากขึ้น บางคนน่าเสียดายมาก ที่ไม่มีโอกาสเข้าใจชีวิต แต่ละคนเกิดมาเพื่อใช้กรรมของตัวเอง เป็นสัจธรรมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
๑๙-๒๐ ม.ค.๔๗

วันนี้หลานชายมาเล่นที่สวน พอได้ช่วยงานบ้าง เราพยายามแนะนำเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะ การทำงาน สอนให้เขาทำงานเป็น คิดเป็น แก้ปัญหาเป็น เป็นการวางฐานชีวิตเพื่ออนาคตที่เจริญ
๓๑ ม.ค.- ๑ ก.พ. ๔๗

เงินหาไม่ยากนักหรอก ขอให้เราขยันเข้าไว้ แม้จะรู้สึกเหน็ดเหนื่อยมาก เพราะทำงานหนักตลอดวัน แต่ก็พยายามทำงานต่อไปเพื่อให้ทันเวลา พวกญาติๆ เขาพากันลากอวนหาปลา ไปทำอาหาร อร่อยๆ กิน ไม่เชื่อเรื่องบาปกรรม ก็แล้วแต่เขา
๒-๓ ก.พ.๔๗

ได้โอกาสพักผ่อน ทิ้งตัวลงนอนบนพื้นดินที่มีใบไม้แห้งรองพอกันเปื้อน ใต้ร่มเงาะด้วย ความอ่อนเพลีย มองดูสถาพตัวเองที่เปื้อนโคลนมอมแมม อาชีพเกษตรกรต้องเป็นอย่างนี้ ไม่มีปัญหา อาชีพนี้มีคุณค่าต่อผู้อื่นในสังคมโลก ถ้าขาดเกษตรกรก็จะเกิดปัญหากับ มนุษยชาติ อย่างร้ายแรง มนุษยชาติต้องเห็นความสำคัญของเกษตรกร
๖-๗ ก.พ.๔๗

ทำโครงไม้มาตรฐานสำหรับการขนฟางในวันนี้ ทำคนเดียวก็ได้ แม้จะเหนื่อยหน่อย แต่เราก็ผ่าน มาแล้วจนชิน จึงเป็นเรื่องง่าย ถึงฝนจะโปรยลงมา แต่คาดว่าไม่เป็นปัญหา ฟางสองกองใหญ่นี้ ก็เต็มสวนเราแล้ว ขนขึ้นรถเหมือนอยากจะกลืนกินเข้าท้อง เพราะฟางมีค่ามาก ถึงใครจะไม่เห็น ความสำคัญ เราก็พยายามยืนหยัด มั่นคงในสิ่งที่เราทำ สักวันหนึ่ง คงสำเร็จ ขนได้สองเที่ยว หมดเวลา เหนื่อย เราเพียรพอแล้วก็ควรพักบ้าง ทำแกงจืดกินสักหน่อยจะได้คล่องคอ ซอส ซึ่งเป็นเครื่องปรุงหลักหมดแล้ว ต้องใช้เกลือกับเต้าเจี้ยว ซึ่งเป็นเครื่องปรุงรองแทนไปก่อน เพราะช่วงนี้ เงินสำรองหมดแล้ว ที่จริงเรากินแบบจืด โดยไม่ต้องใช้เครื่องปรุงก็ได้ แต่เพียงอยากให้ รสชาติแตะลิ้นนิดๆ เท่านั้น เป็นเพราะเรายังมีกิเลสอยู่ ต้องพยายามจับกิเลสและเพ่งเผาให้หมด
๘-๙ ก.พ.๔๗

ทำงานไปเรื่อยๆ ใจเย็นๆ ถึงแดดจัดแต่ลมพัดสบาย พักดื่มน้ำเย็นเป็นระยะๆ ฟังเพลงสลับข่าวสาร น่ารู้ไปขณะทำงาน เมื่อก่อนเคยคิดว่างานที่ทำอยู่นี้ คงทำคนเดียวไม่ได้เพราะมันลำบากมาก ต้องมี ผู้ช่วย อาจเป็นพ่อหรือแม่ แต่พอลงมือทำควบคู่กับการใช้ปัญญา ถ้าได้รู้ว่าเราคนเดียวก็ทำงานนี้ได้ โดยไม่ยากแม้แต่นิดเดียว นี่คืออีกประสบการณ์ที่ เป็นตัวอย่างสำหรับบทเรียนในอนาคต
๑๐-๑๑ ก.พ.๔๗

ถึงวาระประชุมกลุ่มกสิกรรมไร้สารพิษที่ ศีรษะอโศก ยังไม่ถึงเวลาก็เล่นสนุกๆ กับหลานเป็นการ ฆ่าเวลา ไปก่อน ช่วงทำงานหนักไม่ค่อยมีเวลาเล่นสนุกกับหลาน รู้สึกผูกพันและอบอุ่น เราควรคิด ที่จะรักษาความอบอุ่นนี้ตลอดไป ชีวิตเราไม่ใช่จะทำแต่งานหนัก สนใจแต่งาน จนลืมสนใจ คนในครอบครัว
๑๒-๑๓ ก.พ.๔๗

เราน่าจะได้ร่วมงานปลุกเสกฯที่ศีรษะอโศกสัก ๒-๓ วันก็ยังดี เพราะเขาจะรวบรวมความรู้ มาไว้ ในงานนี้ เป็นงานที่คุ้มค่ามากๆ เราคงพลาดไม่ได้

ถึงวันเสาร์ ได้หลานชายมาช่วยขนฟาง เป็นเด็กชายตัวเล็กๆ เพียง ๗ ปี ขึ้นไปเหยียบฟางบนรถ ถึงน้ำหนักตัวไม่มาก แต่พอช่วยเราผ่อนแรง แม้จะยุ่งยากนิดนึงถือว่ายังดี ถ้าเราทำด้วยตัวเอง ก็ทำได้ ไม่ต้องจ้างใครให้เสียเงิน แต่ครั้งนี้ต้องให้เงินเป็นค่าน้ำใจ อาจจะเป็นเงินที่มากแต่ถือว่า คุ้มค่า ฝึกให้เด็กได้ทำงาน ไม่เสียเวลาไปเปล่าๆ กับการเดินเล่น เราต้องพยายามฝึกหลานๆ อย่างนี้ ให้มากๆ โตขึ้นจะได้เป็นคนที่มีคุณภาพ ผักสลัดที่เหลือจากการขาย ได้รดน้ำให้ออกดอกบาน มีเมล็ด เราได้เก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกต่อไป เพิ่งรู้เดี๋ยวนี้เองว่าเราไม่จำเป็นต้องซื้อ เก็บเมล็ดพันธุ์ เองได้ อาจได้ขายเมล็ดพันธุ์ด้วย เป็นประสบการณ์จริงสำหรับการเริ่มต้นการใช้ชีวิตแบบพอเพียง
๑๔-๑๕ ก.พ.๔๗

ทุกข์คือสภาวะอารมณ์ที่กังวลใจ ซึ่งไม่มีใครปรารถนาสภาวะนี้ เราก็เช่นกัน แต่จะมาทุกข์ใจทำไม มันเป็นเพียงสิ่งสมมุติเท่านั้นเอง รู้แล้วก็ปรับจิตให้เป็นปกติเสีย คิดถึงสิ่งดีๆ ดีกว่า
๑๖-๑๗ ก.พ.๔๗

ปัจจุบันเราฝึกตัวเองได้สำเร็จแล้วหนึ่งอย่างคือขยันทำงานโดยไม่รู้จักขี้เกียจอีกแล้ว เพราะการที่เรา เข้าใจชีวิตมากขึ้น มีเป้าหมายชีวิตที่แน่นอน และเดินไปอย่างเด็ดเดี่ยว ยืนหยัดยืนยัน ทระนง ในศักดิ์ศรี ระหว่างนี้ได้ฝึกเรื่องอาหารไปด้วย พยายามไม่ยึดติดในเรื่องรสอาหาร แต่จิตใจขึ้นๆ ลงๆ อยู่ ทำไมเราไม่ตั้งใจพิจารณาให้เห็นทะลุเลยล่ะ แล้วมีความปรารถนา แรงกล้าในการบำเพ็ญ ต้องเริ่มต้นบำเพ็ญอย่างจริงจังตั้งแต่ตอนนี้เลย เราเหลือเวลาอีกไม่มากแล้ว อย่างน้อยให้ได้ สองเรื่องนี้ก็ดีที่สุดแล้ว
๑๘-๑๙ ก.พ.๔๗

การประชุมเตรียมงานอบรมธรรมะ เป็นโอกาสฝึกการเป็นผู้นำ ได้มากกว่าได้ คุ้มสุดคุ้ม มีเรื่อง น่าเศร้ามากมายในเขมร เราเกิดมาในประเทศไทยก็ดีแล้ว เมื่อมีโอกาสขนาดนี้ เหตุใดเราต้องทำ ในสิ่งที่ไม่ดี
๒๐-๒๑ ก.พ.๔๗

วันนี้ทำการรื้อถอนโรงเห็ดเก่า มือเราจับจอบ จับค้อน เปื้อนฝุ่น แตกดำกร้าน แต่เราไม่สนใจ เพราะชีวิต คือการทำงานอยู่แล้ว ทุ่มเท ทั้งกายทั้งใจเต็มที่
๒๔-๒๕ ก.พ.๔๗

บ้านหลังนี้เป็นของพ่อ ส่วนที่เราอาศัยเป็นกระท่อมปลายสวน เป็นกระท่อมที่ไร้รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และวัตถุใดๆ เปรียบเสมือนบุคคลที่สงบ เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น เบิกบานด้วย หลายๆ ครั้ง จิตฟุ้งซ่าน ไปตามกิเลส บางครั้งจิตวิ่งไปหากิเลสเอง และหลายครั้งพยายามพิจารณาเพ่งเผากิเลส แต่เผา ไม่หมดเสียที เพียงแค่เบาบางลง ยังรู้และยังมีสติ คงจะได้ถึงที่สุดของความปรารถนา แน่นอน แม้กี่ชาติต่อกี่ชาติก็เถอะ ตั้งปณิธานไว้อย่างนั้น

ผลงานของเรา ทำเพื่อตอบแทนบุญคุณบุพการีและสังคม ที่เหลือนั้นถือเป็นผลพลอยได้ กลับมา สู่ตัวเราเอง เพื่ออัดพลังใจให้โถมกระหน่ำต่อไปด้วยไฟอันแรงกล้า
๒๔-๒๕ มี.ค.๔๗

ดูสิ! ฝ่ามือเราด้านและพองแล้ว นี่แหละคือชีวิต ชีวิตต้องอยู่ติดดิน ดูพระพุทธองค์เป็นตัวอย่าง แต่ทุกวันนี้ เรามีทรัพย์สมบัติมากกว่าพระพุทธองค์
๑-๒ เมย.๔๗

- ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๑๓ พ.ค. - มิ.ย. ๒๕๔๗ -