กระบวนการพัฒนากลุ่ม ตอนที่ ๒ AIC

กระบวนการกลุ่มระบบนี้นำเข้ามาหลายสิบปีแล้วนะครับ ฟังว่า อ.ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม และคุณหมอประเวศ วะสี เป็นผู้เริ่มต้นในเรื่องนี้

ประมาณปี ๒๕๓๖-๒๕๓๗ กทม.มีงบประมาณอยู่ก้อนหนึ่ง ได้นำไปทำ AIC กับ เจ้าอาวาส โดยประสานกับเจ้าคณะ กทม. ในสมัยนั้น ก็ค่อนข้างทำลำบากทีเดียว

องค์กรที่ถูกทอดทื้ง หรือละเลยจนสุดกู่ ที่เห็นก็มีนี่แหละครับ "ผู้บริหารอาราม" บางท่านอายุก็มากแล้ว หมดไฟ หมดความคิดไปแล้ว แต่ยังครองตำแหน่งอยู่

ความหมายของ AIC มีดังนี้
A = Appreciate
I = Influence
C = Control

เป็นการพัฒนากลุ่มโดยเริ่มต้นจากความประทับใจก่อน แล้วค่อยๆ ไล่ไปหาจุดบกพร่อง

จุดเด่นของวิธีการนี้คือการสื่อสารด้วยรูปภาพ

การสื่อความหมายด้วยรูปภาพ โดยไม่เน้นความสวยงามหรือเหมือนจริง เป็นการลดความกดดันได้ดีที่สุด

การคิดเป็นภาพ จะทำให้จับประเด็นชัดเจนขึ้นครับ แถมยังได้ความตลกขบขันไปด้วย

ขั้นตอนที่ ๑ สมาชิกทุกคนเขียนความประทับใจของตัวเองที่มีต่อหน่วยงาน โดยให้ใช้การ "วาดภาพ" อย่างเดียวลงในกระดาษแผ่นเล็ก

ขั้นตอนที่ ๒ แบ่งกลุ่มสมาชิกออกเป็นกลุ่ม กลุ่มละประมาณ ๗-๑๐ คน แล้วให้นำ ความประทับใจเขียนลงในกระดาษแผ่นใหญ่

ขั้นตอนนี้มอบให้มือวาด ๑ คน เป็นคนทำ คนอื่นจะช่วยต่อเติมก็ได้

ขั้นตอนที่ ๓ ทุกกลุ่มนำผลงานออกมาเสนอในที่ประชุม ผ่านตัวแทนของกลุ่ม

ขั้นตอนที่ ๔ ขั้นตอนนี้เป็น Negative ผิดจาก ๓ ขั้นตอนแรกที่เป็น Positive

ให้สมาชิกทุกคน เขียนข้อบกพร่องของหน่วยงานหรือปัญหาในการทำงาน โดยใช้ภาพ เป็นสัญลักษณ์

ขั้นตอนที่ ๕ กลุ่มเดิมรวมกันอีกครั้ง นำภาพของสมาชิกวาดลงในกระดาษแผ่นใหญ่ แล้วนำเสนอที่ประชุมอีกครั้ง ผ่านตัวแทนของกลุ่มเช่นเดียวกัน

ขั้นตอนที่ ๖ คณะทำงานลำเลียงปัญหาทั้งหมดขึ้นกระดานโดยเขียนเป็นตัวหนังสือ

ขั้นตอนนี้จะมี ๒ รูปแบบคือ
) การจัดกลุ่มปัญหารวมกันเป็นกลุ่มๆ
) การปล่อยปัญหาลอยตัว

ในกรณีข้อ ข) ให้สมาชิกเลือกปัญหาที่คิดว่าน่าจะแก้ไขเร่งด่วนไม่เกิน ๓ ปัญหา โดยแจก กระดาษคนละ ๑ แผ่น แล้วนำมาให้คะแนนเพื่อจัดลำดับปัญหาที่สมาชิกให้ความสนใจมากที่สุด

วิธีนี้จะได้รายละเอียดเรียงจากคะแนนมากไปหาคะแนนน้อย

ขั้นตอนที่ ๗ เมื่อได้ปัญหามาแล้วไม่ว่าจะแบบกลุ่มหรือแบบลอยตัว ให้สมาชิกเลือกว่า อยากจะช่วยคิดแก้ปัญหากลุ่มใด (พยายามให้มีสมาชิกแต่ละกลุ่มเท่าๆ กัน)

แต่ละกลุ่มจะร่วมประชุมเขียนบนกระดาษแผ่นใหญ่ ตั้งแต่ปัญหา-สาเหตุ และการแก้ไขที่เป็นรูปธรรม

ขั้นตอนที่ ๘ ตัวแทน (อาจจะให้คนไม่เคยรายงานมาพูดบ้าง) มาสรุปรายงานของกลุ่มตัวเอง

ขั้นตอนที่ ๙ นำข้อเสนอแนวทางแก้ปัญหา ให้หมู่กลุ่มลงมติ ถือเป็นกติกา ข้อตกลงร่วมกัน

๙ ขั้นตอน เป็นแนวทางพอสังเขปนะครับ ในแต่ละขั้นตอนควรกำหนดเวลาเพื่อไม่ให้ยืดยาด เกินไป

สำหรับรายละเอียดเทคนิคต่างๆ ย่อมขึ้นอยู่กับชั่วโมงบินในการทำกิจกรรมนี้

มีหลายปัญหาที่พบว่า สมาชิกไม่เคยหันหน้าเข้าหากันเลย ได้แต่บ่น-อึดอัด-ขัดเคืองไปตามเรื่อง

และอีกหลายๆ ปัญหาที่คิดเองไม่ออก แต่หลายคนช่วยกันคิด กลับมีทางออกที่คาดไม่ถึง

นี่แหละครับ ปาฏิหาริย์แห่งการรวมพลัง !

ขบวนการ AIC จะดีมาก ถ้าผู้บริหารมีความตั้งใจที่จะแก้ปัญหาปัญหาที่มีการแก้ไขเสมอ คนทำงานก็จะมีความสุข และรักองค์กรของตัวเอง

ที่เล่ามาทั้งหมดไม่ใช่ผู้รู้นะครับ แต่เคยมีประสบการณ์ทำมาบ้าง ท่านผู้รู้อื่นๆ กรุณาเพิ่มเติมแก้ไขด้วย

- หนังสือดอกหญ้า อันดับที่ ๑๑๔ เดือน กรกฎาคม - สิงหาคม ๒๕๔๗ -