- ฟ้าเมือง ชาวหินฟ้า -
งดเหล้าเข้าพรรษา

คณะกรรมการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ได้เสนอรัฐบาล ประกาศ ให้วันเข้าพรรษาของทุกปี เป็นวันงดดื่มสุราแห่งชาติ ตลอดจน จะเริ่มกวดขัน การบังคับใช้กฎหมาย ห้ามจำหน่าย เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และบุหรี่แก่เยาวชน อายุต่ำกว่า ๑๘ ปีอย่างจริงจัง โดยจะเริ่มรณรงค์กวดขัน ตั้งแต่ช่วงเข้าพรรษา ปีนี้ เป็นต้นไป

หลายประเทศมีกฎหมายห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่แก่เยาวชน แม้แต่ ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ชื่อว่าให้สิทธิเสรีภาพ แก่ประชาชนมาก ก็มีกฎหมาย จำกัดสิทธิ เสรีภาพของเยาวชน (ซึ่งอันที่จริงน่าจะเรียกว่า เป็นกฎหมายคุ้มครอง เยาวชน จากสิ่งเสพติดมากกว่า) ในลักษณะดังกล่าวเช่นกัน

เมื่อประมาณ ๓ ปีก่อน ลูกสาวของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนปัจจุบัน ซึ่งยังมีอายุ ไม่ถึง ๑๘ ปี แอบไปซื้อเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ ก็ยังถูกตำรวจจับและเปรียบเทียบปรับ จนปรากฏเป็นข่าวไปทั่วโลก

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ ล้วนเป็นสิ่งเสพติดที่ทำลายสุขภาพ ทั้งต่อตนเอง และผู้อื่น จึงจำเป็น ที่สังคมต้องเข้ามาช่วยควบคุม

เช่น บุหรี่มีสารก่อให้เกิดโรคมะเร็ง รวมทั้งเป็นสาเหตุของโรคถุงลมโป่งพองด้วย ถึงแม้ตัวเรา จะไม่ได้สูบบุหรี่ แต่ถ้าต้องทนสูดควันบุหรี่ ที่คนอื่นสูบอยู่เสมอๆ ก็มีโอกาสได้รับพิษจากควันบุหรี่ เช่นเดียวกัน ซ้ำร้ายยังจะได้รับพิษ จากควันบุหรี่ มากกว่าผู้สูบบุหรี่เสียอีก เพราะมีการศึกษาพบว่า ควันบุหรี่ที่เกิดจากการเผาไหม้ ไม่สมบูรณ์ จะมีสารก่อมะเร็ง มากกว่า ควันบุหรี่ที่คนสูบอัดเข้าไปโดยตรง (ซึ่งเผาไหม้ สมบูรณ์กว่า) ถึง ๓ เท่า บุหรี่จึงเป็นพิษภัย ทั้งต่อสุขภาพตนเองและผู้อื่น

ขณะเดียวกัน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์นอก-จากจะทำให้มึนเมาขาดสติ อันเป็นบ่อเกิด ของการทะเลาะวิวาท การเกิดอุบัติเหตุ และการก่อคดีต่างๆ ซึ่งทำให้ทั้งตัวเอง และผู้อื่น เดือดร้อนแล้ว ยังส่งผล ให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ อีกหลายโรคด้วย อาทิ โรคตับแข็ง เป็นต้น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงเป็นพิษภัยต่อสุขภาพตนเอง และผู้อื่น เช่นกัน

มีบางคนตั้งข้อสงสัยว่า ถ้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่มีโทษภัยต่อตัวเองและผู้อื่น ดังนี้แล้ว ทำไมประเทศต่างๆ จึงไม่ออกกฎหมาย ห้ามจำหน่าย แถมบางประเทศ ยังตั้งโรงงานผลิตยาสูบ และให้สัมปทาน การผลิตสุรา แก่เอกชนด้วย

คำตอบก็คือ ถึงแม้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่จะเป็นสิ่งเสพติดให้โทษ แต่ก็มีโทษภัย รุนแรงน้อยกว่า ยาเสพติดอื่นๆ เช่น กัญชา ฝิ่น เฮโรอีน ยาบ้า ฯลฯ

ถ้าห้ามหมดทุกอย่างจนไม่มีช่องทางระบายออกบ้างเลย เหมือนหม้อต้มน้ำที่ปิดฝา แน่นสนิท จนไม่มีรูให้ไอน้ำ ได้ระบายออก ความดันในหม้อน้ำที่ถูกเก็บกดไว้ ก็จะทวีแรง อัดเพิ่มมากขึ้นๆ จนถึงจุดๆ หนึ่งที่ทนต่อไปไม่ได้ ก็จะระเบิดออกมา สร้างความเสียหาย รุนแรง แก่ผู้คนในสังคมได้

ประเทศสหรัฐอเมริกาเคยออกกฎหมายห้ามผลิตและจำหน่ายสุรามาแล้ว ผลที่เกิดขึ้น ก็คือ มีการแอบต้มเหล้าเถื่อน ขายกันมากมาย โดยที่รัฐบาลไม่สามารถควบคุมอะไรได้ และธุรกิจค้าขายเหล้าเถื่อน ก็กลายเป็นบ่อเกิด ของปัญหาอาชญากรรมต่างๆ ตามมา รวมทั้งทำให้เกิดผู้มีอิทธิพล เหนือกฎหมายในสังคม ดังกรณี ประวัติเจ้าพ่อแอลคาโปน ที่โด่งดัง ซึ่งมีอิทธิพลเหนือนักการเมืองบางคน ในสหรัฐฯตอนนั้น ก็เกิดขึ้น เพราะธุรกิจ ขายเหล้าเถื่อนนี้ เป็นต้น

มาตราการทางกฎหมายจึงเป็นเพียงเครื่องมือ อย่างหนึ่งในการควบคุมการบริโภค เครื่องดื่ม แอลกอฮอล์และบุหรี่ ซึ่งมีเงื่อนไข ข้อจำกัดในการใช้เครื่องมือนี้เพื่อแก้ปัญหา โดยไม่ใช่เป็นสูตรสำเร็จ ในการแก้ปัญหา

สิ่งสำคัญยิ่งที่จะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับมาตรการทางกฎหมายก็คือ กระบวนการ ปลูกฝัง ให้ผู้คนในสังคม เกิดปัญญา ตระหนักถึงพิษภัยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และบุหรี่ จนไม่ไปเสพสิ่งเหล่านี้อีก

เหมือนการปฏิบัติธรรมที่จะต้องอาศัยทั้ง สมถกรรมฐาน (อันคือการกดข่มบังคับจิตใจ) ควบคู่ไปกับ วิปัสสานากรรมฐาน (อันคือการใช้ปัญญาพิจารณาไตร่ตรอง จนประจักษ์ ถึงโทษในความเป็นโทษ และคุณ ในความเป็นคุณของสิ่งนั้นๆ อย่างชัดเจน) จึงจักสามารถ ถอนกิเลสตัณหา ในเรื่องนั้นๆ ได้หมดฉันใด

มาตรการควบคุมบังคับด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมบังคับโดยทางตรง หรือทางอ้อมก็ตาม (ซึ่งเปรียบได้กับ การใช้วิธีสมถกรรมฐาน) กับการรณรงค์ปลูกฝัง ให้ผู้คนเกิดปัญญา ไม่ไปเสพสิ่งเสพติด ที่มีพิษภัยนั้นๆ อีก (ซึ่งเปรียบได้กับ การใช้วิธี วิปัสสนากรรมฐาน) ก็จะต้องดำเนินควบคู่กันไป อย่างเหมาะสม จึงจะประสบผลสำเร็จ ฉันนั้นเหมือนกัน

ถ้าใครเห็นประจักษ์ชัดเจนว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่มีโทษมากกว่ามีคุณ เหมือนคนที่รู้อยู่ว่า ขนมซึ่งวางอยู่ข้างหน้านั้น ผสมยาพิษ ก็ย่อมจะไม่บริโภคสิ่งนั้นๆ

ในแง่ความเป็นโทษของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และบุหรี่ คงจะชี้ให้เห็นได้ไม่ยากนัก เพราะมี หลักฐานข้อมูล ในทางวิชาการรองรับมากมาย สามารถหยิบยกมาอธิบาย ให้ผู้คนเข้าใจ โดยผ่านทางสื่อ และการรณรงค์ เพื่อให้ประชาชนกลุ่มต่างๆ ทราบข้อมูล ที่ถูกต้อง ตลอดจนให้มีการสอน ในหลักสูตรสถานศึกษา เพื่อให้นักเรียนทุกคน เข้าใจตั้งแต่เด็ก

อย่างไรก็ตามในแง่ความเป็นคุณของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ เป็นสิ่งที่เข้าใจ ความจริง ตามความเป็นจริงได้ยาก และปรกติ สำหรับคนที่ติดเหล้าหรือบุหรี่ ก็มัก จะมองเห็นคุณประโยชน์ของสิ่งเสพติด ดังกล่าวมากกว่าที่เป็นจริง

ถึงแม้บุคคลผู้นั้นจะสามารถเข้าใจโทษภัยของเหล้าบุหรี่ ว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ อย่างไรโดยละเอียด แต่ถ้าเกิดเห็น คุณประโยชน์ของการดื่มเหล้า หรือสูบบุหรี่ มากกว่าโทษภัยที่รับรู้ บุคคลผู้นั้นก็จะไปมีพฤติกรรม ดื่มเหล้า หรือสูบบุหรี่เป็น ปรกติ จึงไม่ต้องแปลกใจหากเห็นแพทย์บางคน ที่รักษาผู้ป่วยด้วยโรคซึ่งเกิดจาก การติดเหล้า หรือบุหรี่มาแล้วมากมาย แต่แพทย์ผู้นั้นเองกลับยังคงดื่ม และสูบอยู่เป็นปรกติ ในชีวิตประจำวัน

สาเหตุที่ทำให้ผู้คนจำนวนมากเห็นคุณประโยชน์ของเหล้าหรือบุหรี่มากกว่า ที่เป็นจริง ก็เพราะตัวเอง ไปติดสิ่ง เสพติดนั้นๆ เมื่อติดแล้ว เวลาไม่ได้เสพก็จะมีอารมณ์หงุดหงิด คิดอะไรไม่ค่อยออก ทำงานไม่มีประสิทธิภาพ ฯลฯ

แต่พอได้ดื่มหรือได้สูบสมอยาก อารมณ์ก็จะแจ่มใส หายเครียด สมองแล่น ก็เลยเห็น คุณประโยชน์ ของเหล้า หรือบุหรี่ ที่สามารถ ช่วยให้ตนทำงานได้ อย่างมีประสิทธิภาพดีขึ้น (เมื่อเทียบกับตอนที่ไม่ได้ดื่มหรือไม่ได้สูบ)

สมมุติคนที่ไม่เคยดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่มาก่อน เลย สามารถใช้ชีวิตและทำงาน สร้างประโยชน์สุข ให้กับตัวเองในอัตรา ๑๐ หน่วยต่อวัน เมื่อลองดื่มเหล้า หรือ สูบบุหรี่ในครั้งแรก ก็คงจะสัมผัสแต่รสที่บาดคอ ของแอลกอฮอล์ หรือสำลัก ควันบุหรี่ ที่สูบเข้าไป โดยไม่ได้รับประโยชน์สุขอะไรในชีวิตเพิ่มขึ้นจาก ๑๐ หน่วยต่อวัน ดังที่มีอยู่เดิม

แต่เมื่อดื่มหรือสูบไปเรื่อยๆ จนติด วันไหนไม่ได้ดื่ม หรือไม่ได้สูบ ก็จะมีอารมณ์หงุดหงิด คิดอะไร ไม่ค่อยออก ฯลฯ ส่งผลให้ประโยชน์สุข ในชีวิตลดลงอาจจะเหลือ อัตราเฉลี่ย แค่ ๖ หน่วยต่อวัน โดยถ้าได้ดื่ม หรือได้สูบสมใจอยาก ก็จะทำให้ ความหงุดหงิดหายไป อาจจะสามารถ ใช้ชีวิตทำงาน สร้างประโยชน์สุข เพิ่มขึ้นเป็น ๙ หน่วยต่อวัน

ในกรณีตัวอย่างนี้จะเห็นได้ว่า ประโยชน์สุขที่เพิ่มขึ้นในอัตรา ๙-๖=๓ หน่วยต่อวันนั้น ดูเผินๆ ก็เหมือนกับ เป็นประโยชน์สุข ที่ได้รับเพิ่มขึ้น จากการดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่

แต่อันที่จริงถ้าวิเคราะห์ให้ลึกลงไป จะเห็นได้ว่า การดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่ตามตัวอย่าง ข้างต้นนี้ กลับส่งผล ให้ประโยชน์สุข ของชีวิตลดน้อยลงจาก ๑๐ หน่วยต่อวัน เหลือ ๙ หน่วยต่อวัน ต่างหาก ไม่ได้ให้ประโยชน์สุข อะไรเพิ่มขึ้นเลย เพียงแต่เราคิดคำนวณ ไม่ละเอียดเท่านั้น จึงคิดว่าได้ประโยชน์สุข เพิ่มขึ้น ๓ หน่วยต่อวัน

ช่วงเข้าพรรษา ๓ เดือนตามวัฒนธรรมของสังคมไทยแต่อดีต จะเป็นช่วงเวลาที่ผู้คน ในสังคมส่วนหนึ่ง หันมาลดละ อบายมุข สิ่งเสพติดต่างๆ อาทิ การกินเหล้าเมายา เป็นต้น และตั้งใจรักษาศีล ประพฤติปฏิบัติธรรม เป็นพิเศษ บางคนก็ถือโอกาส บวชเรียนในช่วงเข้าพรรษา ระยะเวลา ๓ เดือน นี้ แต่ปัจจุบัน วัฒนธรรมดังกล่าว ได้เริ่มเสื่อมความนิยมลง

การรณรงค์ "งดเหล้าเข้าพรรษา" โดยอาศัยวัฒนธรรมอันเป็น "ทุนทางสังคม" ที่มีอยู่ แต่เดิมนี้ มาใช้ประโยชน์ ในการรณรงค์ จึงนอกจากจะมีประโยชน์ ในการช่วย เสริมสร้าง ให้คนไทย มีการเปลี่ยนแปลง พฤติกรรมทางสุขภาพ ในทิศทางที่ดีขึ้นแล้ว

ผลพลอยได้ที่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งอีกประการหนึ่งก็คือ เป็นการรื้อฟื้นวัฒนธรรม ที่ดีงามของสังคมไทย ในการส่งเสริม ให้ผู้คนตั้งใจรักษาศีลปฏิบัติธรรม ตั้งมั่นอยู่ใน คุณความดีเป็นพิเศษ ช่วงเข้าพรรษา ๓ เดือน อันเป็นการสร้าง กระบวนการอบรม กล่อมเกลาทางสังคม เพื่อดึงให้ผู้คนได้มีช่วงเวลา หันกลับมาทบทวน ถึงแก่นสาร คุณค่า ของชีวิตบ้าง หลังจากที่ถูกปลุกเร้าให้ดิ้นรนต่อสู้ แก่งแย่งและเบียดเบียนกัน แสวงหาลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุขอยู่ตลอดทั้งปี

เข้าพรรษาปีนี้ น่าจะเป็นโอกาสที่ผู้คนส่วนหนึ่งของสังคมไทย จะได้พัฒนายกระดับ ชีวิตของตน ให้มีความเจริญ งอกงามยิ่งขึ้นต่อไป

- หนังสือดอกหญ้า อันดับที่ ๑๑๔ เดือน กรกฎาคม - สิงหาคม ๒๕๔๗ -