สมบัติ จาก แม่
- ศีลศร-หนอนใส
หากจะมีใครถามดิฉันว่า ได้รับ "สมบัติ" อะไรจากแม่มาบ้าง เพราะโดยรูปธรรมแล้วเหมือนไม่มีอะไรเลย และถ้าจะเปรียบกับคนร่ำรวยอื่นๆ แม่คงอายมากเพราะแม่ไม่มีที่ดินแม้สักหนึ่งตารางวา ไม่มีแม้บ้านสักหลังที่จะให้ลูกๆ ได้พักพิงอย่างอุ่นใจยามเติบใหญ่ ไม่มีความสามารถจะส่งเสียให้ลูกๆ ศึกษาหาความรู้จากโรงเรียนให้จบได้แม้แค่ปริญญาตรีก็ตาม แม่ไม่มีอะไรหลายอย่างที่จะให้เราเหมือนแม่อีกหลายคนในโลกเขา ให้ลูกๆ กัน แต่สิ่งหนึ่งที่ดิฉันมั่นใจว่า แม่ดิฉันเป็นยอดหญิง ผู้เสียสละที่เยี่ยมยอด คนหนึ่งในโลก ไม่ด้อยกว่าแม่ของคนอื่นคือ "รักลูกและหวังให้ลูก เป็นคนดี พึ่งตนเองได้มากที่สุด" แม่เป็นตัวอย่างของผู้หญิงที่ต้องอดทน "เพื่อลูก" ตั้งแต่ดิฉันจำความได้ มีลูกหลายคนก็ต้องยิ่งเหน็ดเหนื่อยเป็นทบทวี แม้กระนั้นแม่ก็ยังช่างเล่าเรื่องราวที่เป็นบทเรียนชีวิตของแม่ถ่ายทอด สู่ลูกเป็นระยะๆ มีหลายเรื่องที่แสนประทับใจ ได้นำมาเล่าให้ลูกศิษย์หรือเยาวชนรุ่นต่อไปรู้สึกรู้ซึ้ง ถึงรสชาติของชีวิต ที่เข้มข้นหลากหลายและเกือบเหลือเชื่อของคนยุคก่อน แม่สอนเรื่องความอดกลั้น โดยเล่าถึงครั้งที่อากง (พ่อของแม่) ต้องเลี้ยงลูกเล็กๆ หลายคน เรื่องความอดทนต่องานหนัก ต่อความหิว เป็นสิ่งจำเป็นยิ่งในการประคับประคองครอบครัว อากง มีอาชีพทำไร่มันเทศอยู่แถบจังหวัดกาญจนบุรี ในช่วงนั้นประมาณปี พ.ศ.๒๔๙๐ การคมนาคมยังไม่สะดวกเหมือนทุกวันนี้ การหาบมันเทศเต็ม กระบุงเดินข้ามเขาเป็นลูกๆ ไปส่งพ่อค้าคนกลาง ที่ตลาดนั้น มิใช่เรื่องเล็กเรื่องง่ายเลย ต้องออกจากบ้านตั้งแต่ยังไม่สว่างพร้อมกับหาบมันเทศหนักอึ้งบนบ่า เดินฝ่าเปลวแดดจ้ากว่าจะถึงตลาด พระอาทิตย์ก็ตรงศีรษะพอดี ทั้งหิว ร้อนและเหนื่อย ได้รับเงินค่ามันเทศมาก็หลายบาท หากเป็นคนทั่วไปจะแบ่งเงินซื้อก๋วยเตี๋ยวน้ำชามละ ๕๐ สตางค์ ก็ย่อมมีสิทธิ์ทำได้ แต่อากงไม่ทำ 'คิดถึงลูกตาดำๆ ที่บ้าน ถ้าเราเพิ่มเงินอีกหนึ่งบาท ซื้อเส้นก๋วยเตี๋ยว ได้ ๓ กิโลกรัม เอากลับไปต้มกินพ่อแม่ลูกๆ อิ่มกันทุกคนดีกว่า' อากงทำอย่างที่คิด หิ้วท้องเดินข้ามเขากลับมากินก๋วยเตี๋ยวหม้อใหญ่ พร้อมหน้าคนในครอบครัว น่าจะมีส่วนว่าเพราะน้ำใจอบอุ่นของอากงอย่างนี้เอง ลูกๆ เป็นโหลของอากงจึงไม่มีใครมีพฤติกรรมเป็นปัญหาสังคมสักคนเดียว แม่จะเล่าเรื่องทำนองนี้ตอนที่พวกเราเกียจคร้านการงานที่เราไม่ชอบ หรือเราอยากกินโน่นกินนี่แบบไม่อดกลั้น อดออม ยังมีอีกครั้งหนึ่ง พวกเราเบื่อหน่ายไม่อยากหิ้วปิ่นโตใส่อาหารไปกินที่โรงเรียนตอนกลางวัน อยากจะได้เงินเพิ่มไปซื้อกิน ทั้งอร่อยและสะดวกมากกว่า สมัยปี พ.ศ.๒๕๑๐ เด็กชานเมืองกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดยังนิยมนำข้าวใส่ปิ่นโตไปกินที่โรงเรียนกันอยู่ วันที่มีกับข้าว หมุนเวียนน่ากิน เราก็มีแรงหิ้วดี แต่พอกับข้าวซ้ำๆ ขึ้นมา พวกเราจะประท้วงกวนใจ แล้วแม่ก็จะเล่าว่า สมัยแม่เรียนหนังสือนะ โรงเรียนอยู่ไกลบ้านมากกว่าลูกตั้ง ๒-๓ เท่า และไม่ได้ไปเรียนทุกวันอย่างลูกด้วย แม่มีน้องเยอะ ฐานะก็ยากจน ต้องผลัดกับพี่น้องอยู่บ้านทำไร่ ตำข้าว ตักน้ำ วันไหนได้ไปโรงเรียนจะมีความสุขมาก รีบตื่นเช้าเป็นพิเศษ หุงข้าว ตักน้ำ ทำความสะอาดบ้านไว้ให้ดี คนอยู่บ้านจะได้ออกไปทำไร่ เสื้อนักเรียนก็มีน้อยชุด บางวันไปโรงเรียนไม่ได้เพราะเสื้อยังเปียกอยู่ เรื่องเงินติดกระเป๋าไปกินขนมที่โรงเรียนไม่ต้องพูดถึง กับข้าวส่วนใหญ่ก็ซ้ำๆ อยู่ที่หัวไชโป๊ว ผัดไข่วางบนข้าว ห่อด้วยใบตอง วันหนึ่งแม่เคยน้อยใจในความอาภัพวาสนา เมื่อเดินผ่านไร่อ้อย แม่โยนข้าวห่อที่แม่ปรุงเอง เข้าดงอ้อยไปด้วยความเบื่อเพราะความซ้ำซาก และแสนอายเพื่อนๆ ที่เขาฐานะดีกว่า แต่พอพักเที่ยง แม่หิวจนแสบท้อง จะบอกครูก็ไม่กล้า จะขอเพื่อนก็อาย ตัดสินใจเดินกลับไปหาห่อข้าวในดงอ้อย หวังจะพบห่อข้าวที่โยนทิ้งไว้ในตอนเช้า อนิจจา...เหลือแต่ใบตองกะรุ่งกะริ่ง ไม่มีข้าวติดอยู่สักเม็ด ก็หมาก็มดในไร่อ้อยก็หิวเป็นนี่นะ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แม่ไม่เคยทำไม่ดีอย่างนั้นอีกเลย พวกเราฟังแล้วก็ไม่กล้ากวนใจแม่ในเรื่องไม่เป็นเรื่อง อย่างนี้อีกเช่นกัน เรายังโชคดีกว่าคนลำบากอดอยาก ในโลกนี้อีกหลายคนนัก ตอนเด็กๆ นั้นพวกเราเคยกินอาหารบางอย่างที่เรามีเหลือเฟือแบบทิ้งๆ ขว้างๆ
เช่น ไข่ต้ม เราจะกินแต่ไข่ขาว รังเกียจไข่แดง ก็เลยเอาไข่แดงมาบี้ทิ้งเล่น
แม่เห็นว่าลูกกำลังสะสมนิสัย "เฉียดบาป" ด้วยคนที่หิวเพราะไม่มีกินยังมีมาก
ความลำเค็ญของคนแต่ละคน แต่ละยุค มักให้บทเรียนพิเศษให้หลายคนได้เสมอ ทั้งผู้ผ่านพบและผู้ได้รับรู้เรื่องราว เมื่อแม่แต่งงานแล้ว มีบุตรกำลังกินกำลังนอนวัยใกล้ๆ กันถึง ๗ คน แม่ก็มีวิธีการหาให้พวกเรากินได้ไม่อด แม้มีเงิน ไม่มากนักก็ตาม แม่หาหัวเผือกเล็กๆ จากเพื่อนบ้านมาฝังดินข้างร่องน้ำที่เอาไว้รดผักในสวน ปลูกกล้วยไว้ข้างทางเดิน เวลากล้วยออกปลีสีแดงแจ่ม พวกเราพลอยดีใจกับแม่ด้วย คิดถึงรสหอมหวานของขนมกล้วยนึ่ง กล้วยทอด กล้วยย่าง กล้วยต้ม กล้วยบวดชี แค่คิดก็อิ่มเอมแล้ว บางช่วงผักในสวนเราขาดแคลนเพราะความแห้งแล้ง หรือถูกหนอนแย่งกินหมด แม่จะหาเมล็ดผักบุ้งชนิดขายเป็นลิตรๆ ละไม่กี่บาท แม่ใช้เสียมอันเล็กๆ หรือไม้แข็งสักหน่อย ขุดดินให้ซุย ทำให้เป็นหลุมเล็กขนาด ๑ คืบ แล้วหยอดเมล็ดผักบุ้งลงไปเป็น สิบกว่าหรือยี่สิบเมล็ด เกลี่ยดินกลบ รดน้ำพอชุ่ม ไม่ถึงหนึ่งเดือน เราจะมีผักบุ้งสดกรอบ ไร้สารเคมีตกค้างเอาไว้ผัด ต้มลวกหรือแม้จะกินสดๆ ก็สบายใจ นอกจากนี้แม่ยังสอนวิธีถนอมผักบุ้งในหลุมเหล่านี้ให้กินได้นาน โดยใช้มีดคมๆ ตัดผักบุ้งให้ชิดดิน ไม่กระเทือนรากที่อยู่ใต้ดิน รดน้ำต่ออีก กว่าเราจะกินผักบุ้งหลุมสุดท้ายหมด หลุมที่หนึ่งก็จะมีผักบุ้งอ่อนๆ แทงยอดแตกใบเขียว รอให้เก็บกินได้อีกแล้ว ในยามที่ครอบครัวมั่งมี แม่ก็ยังอดออมและเตือนลูกบ่อยๆว่า "เราไม่ใช่คนรวยนะลูก ถ้าสุรุ่ยสุร่าย อนาคตจะลำบาก ประหยัดไว้เหลือใช้ไม่เสียหายอะไร" จะซื้อของกินให้ลูกก็คิดแล้วคิดอีก แม่ชอบเล่าเรื่องของคนอื่นที่ยอดประหยัดยิ่งกว่าแม่ให้ฟัง มีเรื่องหนึ่งน่าคิดชวนขัน "แม่มีเพื่อนบ้านขี้เหนียวมากๆ คนหนึ่งนะ ทั้งปีทั้งชาติเขาไม่ค่อยจะใช้เงินซื้อโน่นซื้อนี่เหมือนคนอื่นหรอก วันหนึ่งแม่ค้าหาบแกงมาขาย เขาเห็นคนอื่นรุมซื้อกัน เขาก็เอาชามออกมาซื้อมั่ง สมัยนั้นแกงชามละ ๓ สลึงเท่านั้นนะ เขายังบอกว่าแพงเลย เขาไม่ซื้อเทแกงคืนแม่ค้า แล้วเอาชามที่เปื้อนน้ำแกงไปตักข้าว เติมน้ำปลา กินข้าวอิ่มไปมื้อหนึ่ง...!" แต่หากเป็นเสื้อผ้าของใช้ แม่จะเลือกของดี และทนทานแม้จะแพงไปบ้าง แม่ว่า "มันคุ้มกว่าของถูกที่ไม่ทน" ตัวอย่างความขยัน อดทนของแม่ รวมถึงความตั้งใจอบรมบ่มนิสัยลูกๆ ให้อดกลั้น ขยัน ประหยัด รู้จักเผื่อแผ่ คุณสมบัติเหล่านี้เองที่เป็นสมบัตินามธรรม เป็นทรัพย์แท้ที่ปรับประยุกต์กินใช้ได้ไม่มีวันหมด เป็นของขวัญพิเศษประการหนึ่งที่ความยากจนมอบให้ ผู้ไม่ยอมแพ้ทุกคน พวกเราปลื้มใจกับสมบัติที่แม่ให้เราทุกคนเป็นอย่างยิ่ง... และอยากจะบอกว่า "รักแม่มากค่ะ..." - หนังสือดอกหญ้า อันดับที่ ๑๑๔ เดือน กรกฎาคม - สิงหาคม ๒๕๔๗ - |