แนะนำหนังสือ เกร็ดกรวด [email protected] วันอังคารแห่งความทรงจำกับครูมอร์รี บางทีดิฉันก็พลาดข่าวคราวหนังสือดีหลาย ๆ เล่ม กว่าจะได้อ่านก็ล่วงเลยเวลามานาน อย่างเช่นเล่มนี้ วันอังคาร แห่งความทรงจำ กับครูมอร์รี่ พี่น้อมคำเธอฝากซื้อจากศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดิฉันก็เลย ยืมอ่านด้วย และแทบจะทุกหน้า มีข้อความที่ควรจะบันทึกไว้เป็นข้อเตือนใจ หนังสือเล่มนี้จะกระตุ้น ให้พวกเราทุกคน ที่ล้วนมีครูที่รัก และเอาใจใส่อบรมบ่มนิสัย หวนคิดถึง คุณครูของตนเองเป็นแน่ มิตช์ อัลบอมเป็นลูกศิษย์ของครูมอร์รีครั้งที่เขาเรียนในมหาวิทยาลัย เขากลับไปเยี่ยมครูอีกครั้ง ในช่วงสุดท้าย ของชีวิตครูซึ่งกำลังป่วยหนักด้วยโรคเอแอลเอส โรคที่ยังไม่มีทางรักษา มิตช์บันทึกเรื่องราว ที่ได้พูดคุย และเรียนรู้จากครูมอร์รีทุกวันอังคารเป็นเวลา ๑๔ สัปดาห์ ประกอบด้วยเรื่องโลก ความรู้สึกเสียใจในตัวเอง ความเสียใจ ความตาย ครอบครัว ความรู้สึก ความแก่ชรา เงิน ทำอย่างไรความรักจึงจะยืนยาว การแต่งงาน วัฒนธรรม การให้อภัย วันที่สมบูรณ์แบบ และคำอำลา นอกจากบทสนทนาทุกตอนจะกินใจผู้อ่านอย่างยิ่งแล้ว บทแทรกที่มิตช์เล่าถึงอดีตของตนเอง ก็กระทบใจ ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน อย่างเช่นตอนที่เขาเล่า ถึงน้องชายอันเป็นที่รักของทุกคนในครอบครัว แม้ว่าจะเรียนไม่เก่ง ชอบฝ่าฝืนกฎระเบียบ และใช้ยาเสพติด ซึ่งแตกต่างจากมิตช์อย่างสิ้นเชิง โชคร้ายที่น้องชายของมิตช์ ป่วยเป็นโรคมะเร็ง เขาเดินทางไป ประเทศต่าง ๆ เพียงลำพัง เพื่อรักษาตัวเอง เขาไม่ยอมให้ใคร ๆ ในครอบครัว ช่วยเหลือเลย มิตช์บันทึกถึงความรู้สึก ของตนเองไว้ว่า "วันเวลาคล้อยผ่านไปเดือนแล้วเดือนเล่าโดยไม่มีข่าวคราวจากเขาเลย เวลาโทรศัพท์ไปหา ก็มักจะได้ยินเสียง ที่บันทึกไว้ ในเครื่องตอบรับ โทรศัพท์อัตโนมัติ ซึ่งเขาไม่เคยติดต่อกลับมาเลย ทิ้งให้ผมรู้สึกผิดที่ไม่ได้ทำในสิ่ง ซึ่งผมรู้สึกว่า ควรจะทำให้น้องชาย และรู้สึกโกรธที่เขาปฏิเสธ สิทธิอันชอบธรรมของเราในการจะช่วยเหลือเขา ดังนั้นผมจึงมุ่งทำแต่งานอีกครั้ง ผมทำงานเพราะผมควบคุมมันได้ ผมทำงานเพราะมันมีเหตุมีผล และมัน ตอบสนองผม ทุกครั้ง ที่ผมโทรไปหาน้องชายที่อพาร์ตเมนต์ของเขาในสเปน แล้วได้ยินเสียง น้องผมพูดเป็น ภาษาสเปนจากเครื่องตอบรับ นั่นเป็นสัญญาณอย่างหนึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เราเหินห่าง กันเพียงใด ผมจะวางหู และกลับไปทำงานให้หนักกว่าเดิม นี่อาจเป็นเหตุผลอย่างหนึ่งที่ดึงผมให้ไปหาครูมอร์รี ครูยอมให้ผมช่วย ยอมให้ผมไปเยี่ยม ในขณะที่ น้องผม ไม่ยอมให้ผมทำ เช่นนั้น เมื่อมองย้อนกลับไป บางทีครูมอร์รีอาจจะรู้ความจริงข้อนี้อยู่ตลอดเวลาเลยก็เป็นได้" (หน้า ๑๒๖) สำหรับข้อคิดจากครูมอร์รีที่มิตช์บันทึกไว้มากมายในหนังสือเล่มนี้ จะคัดลอกมาสักสองสามตอนดังนี้ "คนกำลังจะตายก็เป็นเพียงเรื่องหนึ่งที่น่าเศร้านะมิตช์ แต่คนที่มีชีวิตอยู่อย่างไม่มีความสุขนี่สิ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ส่วนใหญ่ คนที่มาเยี่ยมครูเป็นคนที่ไม่มีความสุขกันทั้งนั้นเลย... อย่างหนึ่งเป็น เพราะว่า วัฒนธรรมของเรา ไม่ได้หล่อหลอม ให้เรามีความรู้สึก ที่ดีเกี่ยวกับตัวเอง เราสอนกันมาผิดๆ เธอต้องเข้มแข็งพอที่จะเลือกเอาว่า หากวัฒนธรรมไหนไม่เข้าท่า ก็ไม่ต้องไปทำตาม แต่ให้เธอ สร้างวัฒนธรรมของเธอเองขึ้นมาใหม่ คนส่วนมาก ไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ คนพวกนั้น ไม่มีความสุข ยิ่งกว่าครูเสียอีก แม้ว่าครูอยู่ในสภาพนี้ก็ตาม" (หน้า ๕๓) "ชีวิตมักมีแต่เรื่องดึงกับดันตลอดเวลา เธอต้องการจะทำอะไรอย่างหนึ่ง แต่จำเป็นต้องทำอีกอย่างหนึ่ง บางสิ่งบาง อย่างทำให้เธอ เจ็บปวด ทั้งๆ ที่เธอรู้ดีว่ามันไม่น่าจะทำให้เธอเจ็บปวดได้เลย เธอไม่ได้ใส่ใจ ในหลายสิ่งหลายอย่างทั้งๆ ที่รู้ว่า เธอไม่ควรมองข้าม สิ่งเหล่านั้นไปเลย" (หน้า ๕๖) "คนส่วนมากจะวนเวียนอยู่กับชีวิตที่หาแก่นสารอะไรไม่ได้ พวกเขาเหมือนกับคนครึ่งหลับครึ่งตื่น แม้ในขณะ ที่ยุ่งอยู่กับงาน ซึ่งตัวเองคิดว่าสำคัญ นี่เป็นเพราะว่าพวกเขาวิ่งไล่ตามในสิ่งที่ผิด หนทางที่จะหาความหมาย ให้ชีวิตก็คือ การมอบความรัก ให้แก่ผู้อื่นอย่างหมดหัวใจ ทุ่มเทตน ให้กับชุมชนที่ตนอาศัยอยู่ และอุทิศตน เพื่อสรรค์สร้าง บางสิ่งบางอย่าง ที่มีเป้าหมาย และ มีความหมาย กับตัวเธอเอง" (หน้า ๖๒) นี่แค่ตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น ยังมีข้อคิดดีๆ จากครูมอร์รีอีกมากมายรอคุณอยู่ในหนังสือเล่มนี้ วันอังคาร แห่งความทรงจำ กับครูมอร์รี
พ่อแม่ต้องสั่งสอน พ่อแม่ต้องสั่งสอนแนะนำวิธีการสอนเด็กตามทฤษฎีมุมป้านของปรัชญานีโอฮิวแมนนิส ทฤษฎีมุมป้าน กล่าวถึง การเรียนรู้ ในวัยต้นๆ ของชีวิตคนเราว่า จะมีลักษณะคล้ายมุมป้าน ที่สามารถขยาย หรือพัฒนากว้างออกไปเรื่อยๆ จนแทบจะไม่มี ขอบเขตจำกัด ดังนั้นพ่อแม่จึงควรพัฒนาเด็ก ตั้งแต่อายุยังน้อยๆ เริ่มต้นตั้งแต่การให้นม เด็กแรกเกิดเป็นเวลา การฝึกให้เด็ก รับประทานอาหาร ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ การฝึกอุปนิสัยอื่น ๆ ของเด็ก เช่น มารยาทในการรับประทานอาหาร การตื่นนอนแต่เช้า การเก็บข้าวของให้เป็นระเบียบ และการออกกำลังกาย สม่ำเสมอ ฯลฯ เหล่านี้ จะทำให้เด็ก เติบโตขึ้น เป็นคนมีระเบียบวินัย และสุขภาพดี การอธิบายให้เห็นความสำคัญของการสอนเด็กตั้งแต่วัยเยาว์จบลงด้วยคำกล่าวที่ว่า good practice makes perfect หรือ การฝึกฝน ที่ถูกต้อง จะนำมาซึ่งความสมบูรณ์แบบ หลังจากนั้นเป็นประสบการณ์การเลี้ยงดูลูกของสามครอบครัว ครอบครัวแรกฝึกให้ลูกรักกินผัก และ ผลไม้เก่ง ครอบครัวที่สอง รักษาลูก ที่เป็นเบาหวานน้ำตาลขึ้นถึง ๘๐๐ และครอบครัวที่สาม เปลี่ยนแปลงลูก ที่เอาแต่ใจตัวเอง ไม่ยอมเข้าห้องเรียน มาเป็นเด็ก อารมณ์ดี มีระเบียบวินัยสูง สามารถใช้ชีวิตกับคนหมู่มากได้ดี หนังสือเล่มนี้ให้แนวทางในการสร้างและเปลี่ยนพฤติกรรมเด็ก จึงเหมาะสำหรับทั้งพ่อแม่และ คุณครู
ฅนนอกระบบ ครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ เป็นครู ภูมิปัญญาไทยรุ่นที่ ๑ ด้านเกษตรกรรมการปรับใช้เทคโนโลยี ที่เหมาะสม สำนักงาน คณะกรรมการ การศึกษาแห่งชาติ เป็นหน่วยงานที่คัดเลือกและเชิดชูเกียรติ ผู้ทรงภูมิปัญญา ด้านต่างๆ ของแผ่นดิน ซึ่งเป็น ผู้สืบสาน สร้างสรรค์ พัฒนา ปรับประยุกต์ ใช้ภูมิปัญญา จนก่อเกิดประโยชน์ แก่วิถีชีวิตของตนเอง ครอบครัว และชุมชน มีครูภูมิปัญญาไทย ที่ได้รับการเชิดชูเกียรติแล้ว ๒ รุ่น รุ่นแรก ๓๐ คน รุ่นที่สอง ๕๖ คน รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ พึงพิศ ดุลยพัชร์ กล่าวถึงหนังสือ "ฅนนอกระบบ" (คำนิยม) ว่า "เป็นเรื่องราวที่เป็นตัวตนที่แท้จริงของคุณสุทธินันท์ ครูบาให้ชื่อหนังสือ "ฅนนอกระบบ" แต่จริงๆ แล้วท่าน เป็นคน ในระบบ อย่างธรรมชาติ คือ คิดเป็นระบบ ไม่ก้าวกระโดด นำภูมิปัญญา วิชาการ สมัยปู่ย่าตายาย มาสร้างระบบ การพัฒนา จนกระทั่ง ทันสมัยในปัจจุบันนี้ ซึ่งเปรียบได้กับบุคลิกภาพ ครูบาที่สุภาพ อ่อนน้อมถ่อมตัว สมถะ แต่มีความสามารถ ในการใช้คอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นเครื่องมือ สมัยใหม่ ในการจัดทำข้อมูลพัฒนาชนบท ได้อย่างดีเยี่ยม" ครูบาสุทธินันท์เล่าเรื่องชีวิต การทำงาน และความคิดของตนเองได้มีรสชาติสีสันชวนอ่าน อย่างเช่น ตอนที่เล่าเรื่อง การสร้าง เตาเผาถ่าน ครูบาสรุปว่า "ตื่นเช้าขึ้นมาได้กลิ่นแปลกๆ เอามือลูบแขนปรากฏว่าขนแขนถูกไฟจนหยิกงอ ไปล้างหน้าก็แสบหน้า ยิบๆ ส่องดูหน้าตัวเอง ในกระจก ..คุณเอ๋ย.. ขนคิ้วถูกไฟลนจนสะอื้น ข้างหนึ่งมันไหม้ จนแทบ จะหายไป จากใบหน้า เหลือตอขนคิ้ว อยู่หรอมแหรม ดูน่าเกลียด จนต้องโกนขนคิ้วทิ้ง นอกเหนือ ไปจากฟืนและเตาที่พังทลาย ไปต่อหน้า ต่อตา เรื่องนี้พูดอย่าง ไม่อายละครับว่า ..ผมสอบตก วิชาวิจัยเรื่อง เตาถ่าน!! คนเราเจ็บแล้วต้องจำ จำข้อผิดพลาดมาวิเคราะห์หาบทเรียนที่ซ่อนอยู่ภายในความล้มเหลว หลังจาก ปล้ำผีลุก ปลุกผีนั่ง อยู่อีกหลายปีต่อมา ทำ ให้ผมพัฒนาจนกระทั่งได้เตาถ่านต้นแบบขนาดใหญ่ เป็นผลสำเร็จ... โจทย์ชีวิต..มนุษย์อยู่ที่ใด ก็ควรจะทำให้ตรงนั้นอุดมสมบูรณ์ร่มรื่น น่าอยู่น่าอาศัย ทำให้ทุกอย่าง สอดคล้อง สอดประสานกัน พึ่งพากันได้ตามปกติ สมาชิกของสังคมแห่งมวลชีวิตทุกหมู่เหล่า เพราะเขาเหล่านั้น ก็มีสิทธิ ที่จะอยู่อาศัย บนผืนโลกใบนี้ เท่ากับเราทุกคน กับสถานการณ์ในชุมชน ชนบทขณะนี้ เรากำลังคลั่งกับคำว่า "ชุมชนเข้มแข็ง" แต่ในแง่ของความเป็นจริงนั้น มันเข้มแข็งตรงไหน ในเมื่อมันพึ่งตนเองไม่ได้สักอย่าง ในที่สุด ชาวบ้านหรือชุมชนใดๆ ก็ต้องมาตรวจสอบ ประเมิน ตัวเองว่า เราสามารถ พึ่งพาตนเองได้ในเรื่องใด ระดับใด ถึงจะไปชี้วัดได้ว่า เราเข้มแข็งหรือปวกเปียก เป็นขนมเปียกปูน!" (หน้า ๑๒๕-๑๒๖) หนังสือเล่มนี้ให้บทเรียนแปลกใหม่สำหรับคนที่อุทิศตนเป็นทาสรับใช้ที่ซื่อสัตย์ของระบบสังคมมา ตลอดชีวิต และสำหรับ ราษฎรสามัญที่เป็น "ฅนนอกระบบ" หาสังกัดมิได้ หนังสือเล่มนี้อาจ จะช่วย ให้เกิดความเข้มแข็ง ทางจิตใจยิ่งขึ้นในอันที่จะ "พึ่งตนเอง" ไม่ต้องเฝ้ารอคอยแต่จะให้ราชการ มาส่งเสริมสนับสนุน เหมือนที่เราเคย ทำได้มานานเนกาเล เช่นที่ ครูบาสุทธินันท์ ปรารภว่า เคยคิดไหมครับว่า ในสมัยก่อนทำไมคนไทยสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยเองทั้งๆ ที่ไม่มีบริษัทรับเหมา ก่อสร้าง ไม่มีธนาคาร อาคารสงเคราะห์ ไม่มีบริษัทจัดสรรหมู่บ้านและที่ดิน... เคยสังเกตไหมครับว่า ในอดีตไม่มีโรงพยาบาล ไม่มีร้านขายยา ไม่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เราก็ยังมี สุขอนามัย ปลอดภัยลุล่วงมาได้... เคยตระหนักไหมครับว่า ในอดีตทำไม ทุกคนมีความรู้เพียงพอที่จะดำรงชีพเลี้ยงตัวเอง ได้อย่างมี ความปกติสุข ตามควรแก่อัตภาพ ทั้งๆ ที่ไม่มีโรงเรียนสาธิต ไม่มีการสอบเอ็นทรานซ์ ไม่มีการจ่าย ค่าแป๊ะเจี๊ยะ ไม่มีใคร ออกโรงเรียนกลางคัน และไม่มีใคร กระโดดตึกเรียน ฆ่าตัวตาย... เคยสงสัยไหมครับว่า ทำไมในอดีตคนชนบทไม่มีใครตกงาน ไม่มีใครว่างงาน ทุกคนทุกชนชั้น มีบทบาท หน้าที่ สอดคล้องกัน อย่างเป็นระบบระเบียบ... (หน้า ๒๑๔-๒๑๕)
ชีวิตที่ลำบากเป็นชีวิตที่เจริญ คุณหมอเสม พริ้งพวงแก้ว เป็นทรัพยากรบุคคลที่มีค่ายิ่งอีกคนหนึ่งของสังคมไทย แม้จะมีวิถีชีวิต แตกต่างจาก ครูบาสุทธินันท์ อย่างสิ้นเชิง แต่ก็มีความคิดและหลักการทำงานหลายอย่าง สอดคล้องกัน อย่างเช่น การเรียนรู้ จากการปฏิบัติ (หน้า ๖๖-๖๗) นายแพทย์เสมก็เช่นเดียวกับนายแพทย์จบใหม่ทั่วไปที่มีแต่ความรู้ด้านทฤษฎี ความชำนาญหลายอย่าง ที่เกิดขึ้นเ กือบทั้งหมด มาจากการฝึกฝนเรียนรู้ด้วยตนเองในขณะทำงาน... "ตอนผ่าตัด เราเริ่มทำผ่าตัดไส้ติ่งก่อน เครื่องมือก็ไม่ครบ ตาก็ดูตำรา มือก็คลำดู" ท่านบอก และว่า คนที่ท่านคลำ ได้ดีที่สุด แล้วไม่เดือดร้อน กับใครก็คือ ศพ โดยเป็นศพที่ไม่มีญาติ ก่อนถูกนำไปฝัง ท่านก็ขอฝึกฝน เริ่มด้วยการ ขอขมาลาโทษต่อศพ ขอแล้วเปิดดูท้อง ดูไส้ติ่ง แล้วทำตามตำรา "ตำราผ่าตัดก็เป็นภาษาฝรั่ง ตำราคลอดลูกก็เป็นภาษาฝรั่ง ทำผิดทำถูก ทำตามตำรา จนกระทั่ง มีความชำนาญ ที่จะทำเองได้" ท่านเล่าให้ฟัง อาจารย์หมอเสมปฏิบัติหน้าที่แพทย์ในชนบทเป็นเวลา ๑๖ ปี เป็นประสบการณ์ที่น่าศึกษาอย่างยิ่ง และเป็น พื้นฐาน สนับสนุน การพัฒนาสาธารณสุขไทย ที่ท่านกระทำต่อมาจนกระทั่งปัจจุบัน ดิฉันขอใช้ หน้ากระดาษ มากหน่อย เพื่อถ่ายทอด ถ้อยคำกินใจ ที่ท่านกล่าวกับ ผู้จบแพทย์ในปี ๒๕๓๐ ว่า เมื่อท้องฟ้าสีทองผ่องอำไพ ประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน เป็นเสียงร้องอย่างสุดเสียงของนิสิต นักศึกษา และประชาชน เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ เวลา ๖ โมงเช้า ประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ กว่า ๔๐ ล้านคน อยู่ในชนบท อยู่อย่างหลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน เขาเป็นมนุษย์เดินดิน เหมือนผู้ที่อยู่ ในเมืองทั้งหลาย แต่บังเอิญเขาเลือก สถานที่เกิดไม่ได้ เขาปรารถนา ความยุติธรรม ความเสมอภาค ในการรับบริการตั้งแต่เขาเกิดจนเขาตาย เขาเสียภาษี และอยู่ภายใต้ ขอบฟ้าเดียวกัน บนผืน แผ่นดินทอง เดียวกัน ประชาชนในชนบทต้องการเลือดใหม่ๆ พลังใหม่ๆ ในการไปร่วมมือร่วมใจกันแก้ปัญหาการสาธารณสุข ในชนบท ให้ชีวิต ตั้งแต่เกิดจนตาย มีคุณภาพดียิ่งขึ้น ประชาชนต้องการท่านให้เป็นผู้บุกเบิกชีวิตใหม่ให้เขา ท่านบัณฑิตใหม่ จะเป็นการสมควรหรือไม่ ที่ความสำนึกในหน้าที่ของท่านจะผลักดันให้ท่าน กระโดด ลงไป ช่วยเขา เสมือนอย่าง ผู้บุกเบิกรุ่นพี่ และรุ่นพ่อที่ได้เสียสละความสุข กล้าที่จะอดทนต่อ ความไม่สะดวก ต่อปัญหานานาประการ ก็เพื่อความสุข โดยถ้วนหน้านั่นเอง (หน้า ๓๑๓) ดิฉันคิดว่าคนไทยทุกคนน่าจะรู้จักนายแพทย์ เสม พริ้งพวงแก้ว หรือคุณพ่อเสมของคนในวงการ สาธารณสุขไทย เพราะท่าน ไม่เคย ทอดทิ้งสังคมไทย ดังที่หนังสือชื่อ "เกียรติประวัติแพทย์ไทย ฝากไว้ให้คนรุ่นหลัง... ชีวิต และผลงานของ ศาสตราจารย์ นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว" (๒๕๓๗) ได้สรุป บทบาทและชีวิตของ นายแพทย์เสม ไว้ว่า ดูเหมือนบทบาทของนายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว จะไม่ยอมอ่อนล้าไปตามอายุหรือสังขาร อันชราภาพเลย ท่านพร้อมเสมอ ที่จะออกมายืนเคียงข้างคนรุ่นลูกรุ่นหลานเพื่อยืนหยัดหลักธรรม ความถูกต้องของสังคม ท่านผู้นี้ไม่เพียงเป็นแบบอย่าง ของแพทย์ผู้มีความสามารถเป็นเลิศ ในวิชาชีพ ของตน ท่านไม่เพียงเป็นแบบอย่าง ของนักการสาธารณสุข ผู้เชี่ยวชาญ ในกลวิธีกระจาย บริการสาธารณสุข สู่ชุมชน ท่านไม่เพียงเป็นแบบอย่าง ของนักบริหาร ผู้มีความสามารถ ในการแก้ปัญหา อย่างเด็ดขาด ภายในเวลาอันรวดเร็ว หากท่านยังเป็นนักต่อสู้ เพื่อความดี ความจริง และความงาม ในสังคมอย่างไม่ท้อถอย ต่ออุปสรรค แม้จะล้มลงกี่ครั้ง ก็พร้อมที่จะลุกขึ้น ยืนหยัด เสมอ ท่านเป็นแบบอย่างของผู้ใหญ่ ที่ทรงไว้ซึ่งพรหมวิหารธรรม ต่อคนรุ่นลูกรุ่นหลาน แม้ปรากฏว่า ท่านไม่ค่อยได้เข้าวัดนับตั้งแต่หนุ่มจนสูงอายุ แต่ท่านก็ดำเนินชีวิต ตามหลักทางสายกลาง ของพุทธศาสนา และกลายเป็นสัญลักษณ์ทางคุณธรรมของคนรุ่นใหม่ ถ้าสังคมไทยเปรียบเหมือนพระอุโบสถที่ต้องมีพัทธสีมาเป็นเครื่องกำหนดเขตเพื่อความบริสุทธิ์ของ การทำ สังฆกรรมแล้ว บุคคลอย่าง นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว หรือคุณพ่อเสม ก็เปรียบเสมือน ดั่งหลัก "เสมา" บอกเขต คุณธรรม ของสังคม เพื่อมิให้ทรชน กล้ำกรายเข้ามาแสดงอำนาจได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ สังคมไทยก็จะเป็นสังคม ของคนดี ที่น่าอยู่ตราบเท่าที่หลัก "เสมา" แห่ง คุณธรรมนั้น ยังดำรงอยู่อย่างมั่นคง (หน้า๓๑๔-๓๑๕) หนังสือ "ชีวิตที่ลำบากเป็นชีวิตที่เจริญ" มีลีลาการเขียนค่อนข้างเป็นทางการ แต่ก็มีคำบอกเล่าของ ผู้คนมากมาย ที่แวดล้อม คุณพ่อหมอเสม ไม่ว่าจะเป็นภรรยาของท่าน อาจารย์หมอประเวศ วะสี นายแพทย์ไพโรจน์ นิงสานนท์ และอีกหลายๆ ท่าน รวมทั้ง คุณพ่อหมอเสมเอง ทำให้การเล่าเรื่อง มีชีวิตชีวา ขึ้นมาก ถ้าคุณเห็นว่าการแพทย์และสาธารณสุข มีความสำคัญต่อชีวิตของคุณ และคุณธรรมของแพทย์ มีความสำคัญต่อ ระบบสาธารณสุข ของชาติ คุณต้องอ่านหนังสือเล่มนี้
ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๑๖ พฤศจิกายน- ธันวาคม ๒๕๔๗ |