ยืดหยุ่น ยืนหยัด สัจธรรม (สีลวนาคจริยา)


แม้เป็นคนดีที่รักศีลอย่างจริงจัง แต่บางครั้งก็ยังต้องยอมยืดหยุ่นให้กับคนพาลผู้มีอำนาจ เพื่อจะยืนหยัด รักษาศีลให้ดำรงคงไว้สืบทอดต่อไป แม้จะต้องได้รับความยากลำบากแสนอัปยศ ก็ต้องยอมจำนน

ในอดีตกาล ณ ป่าหิมพานต์ มีพญาช้างเผือกงามผ่องอยู่เชือกหนึ่ง สมบูรณ์ด้วยคุณลักษณะ และพละกำลัง มหาศาล เป็นจ่าโขลงของช้างแสนเชือกในป่านั้น

แต่มารดาของพญาช้างเผือกนั้นตาบอด ต้องมีผู้คอยปรนนิบัติใกล้ชิดและหาอาหารมาให้ทุกวัน วันใดที่ พญาช้างเผือก หาอาหารมาให้มารดาเอง ก็จะสรรหาอาหารที่มีรสอร่อยน่ากิน แล้วใช้งวงป้อนให้แก่มารดา ส่วนวันใดที่บริวารนำอาหารไปให้ บริวารมักไม่ขวนขวายให้ดี ก็จะวางอาหารไว้ที่พื้นดิน ให้มารดาของ พญาช้างเผือก เคี้ยวกินเอง ดังนั้นพญาช้างเผือกจึงคิดว่า

"ขึ้นชื่อว่าแม่ ย่อมเป็นผู้มีอุปการคุณอย่างสูงแก่ลูก เพราะฉะนั้นการบำรุงดูแลแม่ให้ดี บัณฑิตทั้งหลาย จึงยกย่อง สรรเสริญว่า ผู้มีความกตัญญูกตเวทีหาได้ยากในโลก"

เมื่อคิดดังนี้แล้ว ก็ปรารถนาจะเลี้ยงดูมารดาเป็นอย่างดี พอตกดึกพญาช้างเผือกจึงผละออกจากโขลง พามารดาไปเลี้ยงดูตามลำพังยังเชิงเขาจัณโฑรณบรรพต ส่วนตนเองอาศัยอยู่ใกล้สระบัวหลวง แห่งหนึ่ง แล้วให้มารดาพักอยู่ในถ้ำเชิงเขานั้น

วันหนึ่ง ขณะออกหาอาหารในป่า พญาช้างเผือกพบเข้ากับพรานป่าคนหนึ่ง กำลังร้องไห้คร่ำครวญ นอนซบดิน อยู่อย่างอ่อนล้า จึงคิดว่า

"ชายผู้นี้ไร้ที่พึ่ง เมื่อเราพบเข้าแล้ว จะปล่อยให้เขาทุกข์โศกอยู่อย่างนี้โดยไม่สนใจ นั่นเป็นการไม่สมควรเลย"

ดังนั้นด้วยจิตใจเมตตากรุณา จึงตรงเข้าไปหาพรานป่านั้น แต่พอดีกับเขาเงยหน้าขึ้นเห็นพญาช้างเผือก ตัวใหญ่ เข้าเท่านั้น ก็ตกใจกลัว ลนลานตะเกียกตะกายหนีทันที พญาช้างเผือกจึงรีบส่งเสียงออกไปว่า

"ท่านผู้เจริญ ท่านอย่ากลัวเลย เพราะเราเป็นผู้รักศีล ไม่เป็นอันตรายต่อท่านหรอก อย่าหนีไปเลย เรานี่แหละ จะช่วยเหลือท่าน บอกมาเถิดว่าเพราะเหตุใดท่านจึงมาร้องห่มร้องไห้อยู่ที่นี้เล่า"

พรานป่าสงบใจอยู่สักครู่ เมื่อคลายความหวาดกลัวแล้ว ก็ตอบเสียงอ่อนระโหยว่า

"ข้าพเจ้าหลงป่า ไม่สามารถกำหนดทิศทางออกจากป่านี้ได้ นี่ก็เป็นวันที่ ๗ เข้าไปแล้ว ท่านช้างผู้งามสง่า"

พอรู้ความจริงแแล้ว พญาช้างเผือกจึงกล่าวว่า

"ท่านอย่าหวาดหวั่นไปเลย เราจะพาท่านไปสู่เส้นทางเดินของมนุษย์เอง"

แล้วจึงให้พรานป่าขึ้นนั่งบนหลังของตน พาออกไปจากป่านั้น และในระหว่างทางนั้นเอง พรานป่าก็ได้ทำ เครื่องหมายเอาไว้ ตามกิ่งไม้บ้าง ต้นไม้บ้างตลอดทาง กระทั่งพ้นออกจากป่า

ครั้นเมื่อพรานป่าปลอดภัยแล้ว กลับถึงบ้านของตนโดยสวัสดิภาพ ช่วงนั้นเอง....เป็นเวลาเดียวกับที่ช้างมงคล ของพระราชาถึงแก่ความตายลง ด้วยเหตุนี้พรานป่าเมื่อรู้ข่าวเข้า ก็เกิดความโลภมาก คิดลามก ชั่วหยาบขึ้น จึงไปเข้าเฝ้าพระเจ้ากรุงพาราณสี กราบทูลว่า

"ข้าแต่มหาราช ข้าพระพุทธเจ้าได้พบเห็นช้างเผือกเชือกงาม เพียบพร้อมด้วยคุณลักษณะอันประเสริฐ เหมาะเป็น ช้างมงคลที่พระองค์จะนั่งทรง ซึ่งอาศัยอยู่ในป่าใหญ่โน้น อีกทั้งช้างเชือกนี้ก็รักศีล ไม่ดุร้ายเลย ไม่ต้องขุดคู เพื่อจับ ไม่ต้องปักเสาตะลุง (เสาสำหรับผูกช้าง) แม้ขุดหลุมเป็นกับดัก ก็ไม่ต้อง ในขณะที่ จะทำการจับ เพียงแค่จูงที่งวงช้างเท่านั้น ช้างเชือกนี้ก็จะมาถึง ณ ที่นี้เอง พระเจ้าข้า"

พระราชาได้ทรงฟังคำของพรานป่าแล้ว ทรงดีพระทัยยิ่งนัก รับสั่งให้ควาญช้างผู้ชำนาญ ซึ่งเป็นอาจารย์ ผู้ฉลาด มีความรู้ดีอีกคนหนึ่งเดินทางไปด้วยกัน

ครั้นไปถึงเชิงเขาจัณโฑรณบรรพต ก็ได้พบพญาช้างเผือกเข้าจริงๆ กำลังถอนเหง้าบัวอยู่ในสระบัวหลวง เพื่อจะนำ ไปเลี้ยงมารดา ควาญช้างจึงได้พิจารณาดูลักษณะทั้งหมด เมื่อแน่ใจแล้วว่าเป็นช้างมงคล ผู้มีศีลจริง จึงกล้าเดินเข้าไปหาพร้อมกับพรานป่านั้น แล้วกล่าวว่า

"มหาจำเริญ จงตามเรามานี่เถิดลูกรัก"

แล้วก็จับอย่างมั่นคงแน่นหนาที่งวงของพญาช้างเผือก ลากจูงไปในเวลานั้นทันที พญาช้างเผือก ถูกกระทำ ดังนั้น ก็คิดขึ้นว่า

"ภัยของเราเกิดจากพรานป่าผู้นี้เป็นแน่แท้ นี่กำลังของเรามีมหาศาลดุจกำลังของช้างนับพันเชือก ถ้าหาก เราโกรธขึ้นมา แม้ทั้งพรานป่ากับควาญช้างนี้ เราสามารถเหยียบย่ำทั้งสอง ให้แหลกเหลวตายไปอย่างง่ายดาย หรือสามารถแม้บุกทำลายทั้งแว่นแคว้นให้พินาศไปได้ แต่หากเราโกรธแล้วทำเช่นนั้น ศีลของเราก็จะขาดทะลุ เพราะฉะนั้นแม้เขาจะจับเราไปที่เสาตะลุง (เสาสำหรับผูกช้าง) หรือทำร้ายเราด้วยหอกซัด เราก็จะไม่ทำจิต ให้โกรธเคืองเขาเลย เพื่อรักษาศีล ของเราให้บริสุทธิ์บริบูรณ์เอาไว้"

คิดดังนี้แล้ว พญาช้างเผือกจึงยอมให้ดึงจูงไปแต่โดยดี ระหว่างทางนั้นเอง ควาญช้างก็ได้ส่งข่าว ถวายให้ พระราชาทรงทราบ พระราชาจึงทรงให้ตกแต่งพระนครไว้คอยต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่

เดินทางอยู่ ๗ วัน ควาญช้างก็นำพญาช้างเผือกมาถึงกรุงพาราณสี พาไปที่พระลานหลวง ให้พระราชา ทรงทอดพระเนตร พระราชาก็ทรงจัดเตรียมอาหารรสเลิศนานาชนิดให้แก่พญาช้างเผือก แต่ถึงจะทรงป้อน อาหารให้ อย่างไรก็ตาม พญาช้างเผือกก็ไม่ยอมกินอาหารใดๆเลย

ในที่สุดพระราชาถึงกับต้องทรงอ้อนวอนขอร้องต่อพญาช้างเผือก ดังนั้นเองพญาช้างเผือก จึงได้เอ่ยวาจาว่า

"ตั้งแต่ข้าพระองค์ถูกจับมายังที่นี้ ไม่ได้หาอาหารเลี้ยงดูมารดาเลย ท่านย่อมไม่มีอาหารกิน ดังนั้น ๗ วันนี้ ข้าพระองค์จะกินอาหารลงได้อย่างไร ข้าแต่มหาราช มารดาของข้าพระองค์นั้นตาบอด เป็นผู้น่าสงสาร หากไม่มีผู้ดูแลก็จะอดอาหารตาย หรือเดินไปตำตอได้รับความทรมาน หรือเดินตกเหว ถึงแก่ความตายได้ ฉะนั้นโปรดทรงปล่อยข้าพระองค์ให้กลับไปเลี้ยงดูมารดาเถิด"

พระราชาทรงสดับแล้ว ก็สลดพระทัยในความกตัญญูกตเวทีนี้ จึงได้สติสำนึกในผลแห่งกรรม ทรงรับสั่งว่า

"พวกท่านจงปลดปล่อยพญาช้างเผือกเชือกนี้ ให้กลับไปปรนนิบัติรับใช้มารดา จะได้มีชีวิตอยู่อย่างสงบสุข กับมารดาเถิด"

เมื่อพญาช้างเผือกได้รับการปลดปล่อยแล้ว มหาชนมากมายต่างพากันมาบูชาด้วยของหอมและดอกไม้ ก่อนที่พญาช้างเผือกจะจากไป ก็ได้ทูลกับพระราชาว่า

"ข้าแต่มหาราช หากพระองค์จะทรงกระทำสิ่งใด ขอจงทรงกระทำด้วยความไม่ประมาทเถิด"

จากนั้นพญาช้างเผือกก็เดินทางออกจากพระนคร เร่งรีบกลับไปหามารดา และด้วยพละกำลังมหาศาล ก็ถึงได้ภายในวันเดียวเท่านั้น แล้วเล่าเรื่องทั้งหมดให้มารดาได้รับรู้ มารดาก็ดีใจกล่าวว่า

"ขอให้พระราชาพระองค์นี้จงเจริญ ที่ได้ปล่อยลูกของเราผู้มีความอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ทุกเมื่อ จงมีพระชนม์ ยืนนานเถิด"

อีกไม่กี่วันต่อมา เพราะความเลื่อมใสในคุณธรรมของพญาช้างเผือก พระราชาจึงทรงสั่งให้สร้างบ้าน หลังหนึ่ง ไว้ใกล้ๆสระบัวหลวงนั้น แล้วหาโอกาสเสด็จไปปรนนิบัติพญาช้างเผือกกับมารดาอยู่เสมอๆ

จนกระทั่งเมื่อมารดาของพญาช้างเผือกถึงแก่ความตายแล้ว พญาช้างเผือกจึงไปอาศัยอยู่ใกล้กับ กุรัณฑกอาศรมบท ซึ่งมีฤๅษี ๕๐๐ ตน มาจากป่าหิมพานต์พักอยู่ แม้พระราชาก็ทรงตามมาคอย ปรนนิบัติ พญาช้างเผือกและฤๅษีเหล่านั้นอย่างสม่ำเสมอ โดยทรงทำการบริจาคมหาสักการะมากมาย

**********************

เมื่อพระศาสดาตรัสเล่าชาดกนี้จบแล้ว ทรงเฉลยว่า

"พระราชาในครั้งนั้น ก็คือพระอานนท์ ในบัดนี้ ช้างมารดาก็คือพระนางสิริมหามายา พรานป่าก็คือ พระเทวทัต ส่วนพญาช้างเผือกก็คือ เราตถาคตนั่นเอง"

- ณวมพุทธ -
(พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๓ ข้อ ๑๑
อรรถกถาแปล เล่ม ๗๔ หน้า ๒๓๔)

ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๑๖ พฤศจิกายน- ธันวาคม ๒๕๔๗