- ฟ้าเมือง ชาวหินฟ้า -

ชีวิตที่เลือกได้


หนังสือเรื่อง "The 7 Habits of Highly Effective People" ของ Stephen R. Covey ซึ่งมีผู้แปลเป็น ภาษาไทย ใช้ชื่อว่า "๗ อุปนิสัยพัฒนาสู่ผู้มีประสิทธิผลสูง" นั้น เป็นหนังสือขายดีอันดับ ๑ ที่มีการแปล เป็นภาษาต่างๆ หลายภาษาทั่วโลก และเป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร แนะนำให้ ครม.ได้อ่าน

สตีเวน โควี่ กล่าวไว้ในหนังสือเล่มนี้ว่า เขาได้ศึกษาค้นคว้าตำราต่างๆ ที่พูดถึงปัจจัยความสำเร็จ ของผู้คน ในสหรัฐ อเมริกาย้อนหลังกลับไปประมาณ ๒๐๐ ปี และพบข้อน่าสังเกตว่า ในช่วงเวลาประมาณ ๕๐ ปีหลังที่มาผ่านมานั้น ตำราสอนวิธีสู่ความสำเร็จของชีวิต มักจะเน้นไปที่เรื่องการสร้างบุคลิกภาพภายนอก (personality) และภาพลักษณ์ (image) เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและความยอมรับในสังคม ด้วยเทคนิค ต่างๆ เช่น เทคนิคการพูดชักจูงใจคน เทคนิคการฝึกยิ้มเพื่อสร้างมิตรภาพ เทคนิคการสร้างมนุษยสัมพันธ์ ที่ดี ฯลฯ

ขณะที่หนังสือต่างๆ ด้านนี้ในช่วงระยะ ๑๕๐ ปีแรก จะเน้นพูดถึงเรื่องการสร้างคุณลักษณะภายใน หรือ อุปนิสัย (charactor) ที่เป็นปัจจัยพื้นฐานแห่งความสำเร็จของชีวิต เช่น ความซื่อสัตย์ ความยุติธรรม ความพากเพียร การมีชีวิตอยู่อย่างประหยัด เรียบง่าย ฯลฯ

สตีเวน โควี่ เห็นว่าการที่ตำราในระยะหลังๆ สอนเน้นการสร้างบุคลิกภาพภายนอกด้วยเทคนิคต่างๆ นั้น ถึงแม้จะดูเหมือน เป็นวิธีที่สามารถช่วยให้บรรลุ เป้าหมายความสำเร็จในหน้าที่การงานได้อย่างรวดเร็วก็ตาม แต่เทคนิคในการครอบงำจิตใจคน ไปจนถึงเทคนิคการหลอกลวงเพื่อทำให้คนอื่นชื่นชอบตัวเรานั้น ก็มักจะทิ้ง ร่องรอยของปัญหา ตามมาในภายหลัง

ผิดกับตำราที่สอนการพัฒนาเปลี่ยนแปลงชีวิตจากคุณลักษณะภายใน ซึ่งถึงแม้จะต้องใช้ระยะเวลา ที่นานกว่า ในการพัฒนาตัวเอง จนคุณลักษณะของบุคลิกภาพเหล่านั้น ซึมลึกอยู่ในจิตใต้สำนึก ส่วนลึก และกลายเป็น อุปนิสัยของเรา แต่คุณลักษณะภายในเหล่านั้น จะเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จ ของชีวิต ที่ยั่งยืนและสมบูรณ์ยิ่งกว่า

สตีเวน โควี่ ได้สรุปการค้นคว้าของเขาว่า เมื่อศึกษาประวัติตัวอย่างความสำเร็จของชีวิตบุคคลต่างๆ ที่ผ่านมา เขาพบว่าเกิดจากปัจจัยแห่งคุณลักษณะภายใน หรืออุปนิสัยสำคัญที่สรุปโดยรวมได้ ๗ ประการ คือ
๑. อุปนิสัยแห่งการเป็นคน "Proactive"
๒. อุปนิสัยในการเริ่มต้นด้วยจุดมุ่งหมายที่ชัดเจนในใจ
๓. อุปนิสัยในการเลือกทำสิ่งที่สำคัญก่อน
๔. อุปนิสัยในการคิดแบบชนะ/ชนะ (คือได้ทั้งประโยชน์ตน และประโยชน์ผู้อื่น)
๕. อุปนิสัยในการเข้าใจผู้อื่นก่อน แล้วจึงให้ผู้อื่นเข้าใจเรา
๖. อุปนิสัยในการผนึกพลังประสานความต่าง เพื่อให้เกิดความร่วมมืออย่างสร้างสรรค์
๗. อุปนิสัยในการลับเลื่อยให้คมอยู่เสมอ (หมั่นทำบ่อยๆ)

ในบรรดาอุปนิสัย ๗ ประการที่กล่าวมานี้ อุปนิสัยประการแรกคือ "การเป็นคน Proactive" นั้น นับเป็น อุปนิสัย พื้นฐานสำคัญ ที่นำไปสู่อุปนิสัยอื่นๆ อีก ๖ ประการที่เหลือ

"Proactive" คือคุณลักษณะแห่งการประจักษ์ถึงศักยภาพของตัวเรา ที่สามารถจะเปลี่ยนแปลง และเลือก กำหนด ชะตาชีวิตตัวเองได้

จริงอยู่ ถึงแม้พฤติกรรมต่างๆ ในชีวิตของเราจะได้รับผลกระทบจากเงื่อนไข ของปัจจัยสภาพสังคม สิ่งแวดล้อม ภายนอก แต่ข้อแตกต่างระหว่างความเป็นคน "Reactive" กับ "Proactive" ก็คือ คนที่มี อุปนิสัย แบบ "Reactive" มักจะยอมจำนนต่อชะตากรรมของชีวิต และปล่อยให้ชะตากรรมของชีวิต ถูกครอบงำ ให้ไหลเลื่อน ไปตามปัจจัย ของสภาพสังคมสิ่งแวดล้อมภายนอก

ในขณะที่คนซึ่งมีอุปนิสัยแบบ "Proactive" จะเข้าใจถึงศักยภาพในการเป็นนายที่สามารถควบคุม "ความรู้สึกนึกคิด" ของตัวเอง ให้เป็นอิสระจากการถูกครอบงำกำหนดโดยเงื่อนไขของเหตุปัจจัยภายนอก จนมีอิสรภาพ ในการตัดสินใจ เลือก (freedom of choose) ที่จะกระทำหรือไม่กระทำ "กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม" อย่างใด อย่างหนึ่ง

สตีเวน โควี่ ได้อ้างอิงคำพูดของ รูสเวลต์ที่เคยกล่าวไว้ว่า "ไม่มีใครทำร้ายคุณได้ เว้นแต่คุณจะยอมให้เขา ทำร้ายคุณ เท่านั้น" รวมทั้งคำพูดของมหาตมะ คานธี ที่เคยกล่าวไว้ว่า "พวกเขาไม่สามารถ แย่งเอา ความนับถือ ในตัวเอง ไปจากเราได้ ถ้าเราไม่ยอม" เป็นตัวอย่างที่สะท้อนคุณลักษณะของความเป็นคน "Proactive"

แน่นอนว่าเราคงไม่สามารถควบคุมเงื่อนไขเหตุปัจจัยภายนอกทุกอย่างตามที่เราต้องการ เพื่อไม่ให้ศัตรู มาทำร้ายเรา หรือ เพื่อให้คนอื่น หันมาเคารพนับถือใน ตัวเรา

คำกล่าวของรูสเวลต์และคานธีตามที่ยกมาอ้างอิงนี้ จึงไม่ใช่หมายถึงศักยภาพ ภายในตัวเราที่จะไปควบคุม กำหนด เงื่อนไข เหตุปัจจัยภายนอก แต่หมายถึงศักยภาพของตัวเรา ที่สามารถจะควบคุม กำหนดพฤติกรรม ทางกาย วาจา ใจ ตลอดจน ความรู้สึก นึกคิดต่างๆ ในทิศทางที่ส่งผลให้เป็นอิสระ จากภาวะความบีบคั้น เป็นทุกข์จากปัญหา ที่เผชิญ นั้นๆ

เมื่อมีคนใช้คำพูดทำร้ายเราด้วยการ ด่าว่าอย่างหยาบคาย หากเราสามารถปล่อยวางใจ ได้โดยไม่โกรธ ไม่ถือสา คำพูดเหล่านั้น ก็ทำร้ายอะไรเราไม่ได้ แต่ถ้าเรายอมปล่อยให้ความโกรธเข้าครอบงำจิตใจ คำพูด เหล่านั้น ก็จะสามารถ จู่โจมเข้ามา เล่นงานทำร้ายเราให้เป็นทุกข์เร่าร้อนได้ในทันที

หรือแม้แต่การถูกทำร้ายด้วยการใช้ไม้กระบองตีหัวและจับตัวไปขังคุก เหมือนเช่นที่ทหารอังกฤษ กระทำกับ คานธี แต่ถ้าสามารถ ปล่อยวางใจได้ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นๆ ก็แค่เป็นการทำร้ายร่างกายภายนอกของเรา ให้เกิด ความเจ็บปวด เป็น "กายิกทุกข์" เท่านั้น โดยไม่สามารถทำร้ายจิตวิญญาณของเรา ให้เกิด ความเจ็บปวด จนเป็น "เจตสิกทุกข์" ได้

เมื่อติสนัตฮัน พระภิกษุชาวเวียดนามถูกจับขังคุกด้วยข้อหาทางการเมือง ขณะอยู่ในคุก ท่านมีโอกาส ฝึกเจริญสติ ภาวนาอย่างสงบ จนได้สัมผัสกับสภาวธรรม แห่งความเป็นอิสรภาพ ในจิตวิญญาณ ภายใต้ สภาวธรรมดังกล่าว ถึงกรงขังจะสามารถกักขังร่างกายของท่าน แต่ในเมื่อไม่สามารถกักขังอิสรภาพ อันไพศาลใน จิตวิญญาณของท่าน กรงขังนั้นก็สูญสิ้นแก่นสาร (essence) แห่งความเป็นกรงขัง ที่น่าสะพรึงกลัว โดยถึงกรงขังจะมีอยู่ ก็เสมือนไม่มี สำหรับท่าน เพราะไม่มีความแตกต่าง อะไร อย่างมี นัยสำคัญ (ระหว่างความมีอยู่หรือไม่มีอยู่ของกรงขัง) ในการส่งผล ให้เกิดภาวะ ความบีบคั้นเป็นทุกข์ ต่อท่าน

การตระหนักถึงศักยภาพของตัวเราที่สามารถจะควบคุมเปลี่ยนแปลงชีวิต อันคือคุณลักษณะแห่ง ความเป็นคน "Proactive" นี้ จึงเป็นอุปนิสัยพื้นฐานสำคัญประการแรก ที่จะนำไปสู่การพัฒนา เปลี่ยนแปลงชีวิต และสังคม ให้เกิดความเจริญงอกงามในด้านต่างๆ

เพราะถ้าเราไม่เชื่อว่าตัวเองมีศักยภาพที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงชะตากรรมของชีวิตให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นแล้ว การกระทำ ใดๆ ที่จะนำไปสู่การเริ่มต้นพัฒนาเปลี่ยนแปลงตัวเองจะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร

การเป็นคน "Proactive" จึงมีความหมายเหมือนการมี "สัมมาทิฏฐิ" (ซึ่งเป็นมรรคองค์แรก ที่ต้องนำมา ก่อนมรรค อีก ๗ องค์ ตามหลักมรรคองค์ ๘) ที่ตระหนัก รู้ว่า ถ้าเรากระทำ "กรรม" ต่างๆ (กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม) อย่างเหมาะสม ถูกต้องแล้ว ก็จะสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงชีวิตของเราได้ ในทิศทาง และ ความเข้มข้นที่สอดคล้องกับกรรมนั้นๆ

เพียงแต่ "Proactive" ในความหมายของสตีเวน โควี่ เน้นไปที่คุณลักษณะในการตระหนักถึง ศักยภาพ ของตัวเรา ที่จะพัฒนา เปลี่ยนแปลงชีวิตในระดับที่เป็น "โลกียกุศล" จนประสบความสำเร็จ ในการแสวงหา "ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข" โดยถ้ารู้หลักการที่ถูกต้อง และพยายามกระทำ "กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม" เพื่อการพัฒนาเปลี่ยนแปลง "อุปนิสัย" หรือ "คุณลักษณะภายใน" ของตัวเองอย่างเหมาะสม ก็จะสามารถ นำไปสู่ความสำเร็จต่างๆ ของชีวิต ทั้งในด้าน ตำแหน่งหน้าที่การงาน และชีวิตครอบครัว จนสามารถ ประสบกับ "โลกียสุข" ซึ่งเกิดจาก "โลกียกุศล" ดังกล่าวได้

ส่วน "สัมมาทิฏฐิ" ในความหมายของหลักพุทธธรรมนั้น เป็นคุณลักษณะแห่งความเป็นคน "Proactive" ในเชิงลึก ที่ประจักษ์ถึงศักยภาพของมนุษย์ในการสามารถจะพัฒนาเปลี่ยนแปลงตัวเองถึงระดับที่เป็น "โลกุตตรกุศล" จนประสบ ผลสำเร็จในการเข้าถึง "โลกุตตรธรรม" ที่สามารถปลดปล่อยชีวิตให้เป็นอิสรภาพ จากภาวะความบีบคั้น เป็นทุกข์ โดยสรรพปัญหาต่างๆ ได้อย่างถาวรยั่งยืน ตามระดับของ "โลกุตตรกุศล" ที่เข้าถึงนั้นๆ

การมีสัมมาทิฏฐิ ก็คือการพ้นมิจฉาทิฏฐิ ๑๐ ประการ ดังพุทธพจน์ที่พระพุทธเจ้าตรัสถึงหลัก สัมมา อาริยมรรค องค์ ๘ ที่ทรงตรัสรู้ ในมหาจัตตารีสกสูตร ว่า

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง ประกอบด้วยองค์ ๗ เหล่านี้แล เรียกว่า เป็นสัมมาสมาธิ ของ พระอาริยะ อันมีเหตุบ้าง มีองค์ประกอบบ้าง

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์ ๗ นั้น สัมมาทิฏฐิย่อมเป็นประธาน ก็ สัมมาทิฏฐิย่อมเป็นประธานอย่างไร คือ ภิกษุ รู้จักมิจฉาทิฏฐิว่ามิจฉาทิฏฐิ รู้จักสัมมาทิฏฐิว่าสัมมาทิฏฐิ ความรู้ของเธอนั้น เป็นสัมมาทิฏฐิ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็มิจฉาทิฏฐิเป็นไฉน คือความเห็นดังนี้ว่า ทานที่ให้แล้วไม่มีผล ยัญที่บูชาแล้วไม่มีผล สังเวย ที่บวงสรวงแล้ว ไม่มีผล ผลวิบากของกรรมที่ทำดีทำชั่วไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี มารดาไม่มี บิดาไม่มี สัตว์ที่เป็น อุปปาติกะไม่มี สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบซึ่งประกาศโลกนี้ โลกหน้า ให้แจ่มแจ้ง เพราะ รู้ยิ่งด้วยตนเอง ในโลกไม่มี"

จากพุทธพจน์ข้างต้น จะเห็นได้ว่า คนที่ถูกครอบงำโดยมิจฉาทิฏฐิ ๑๐ ประการตามที่กล่าวมานี้ จะกลาย เป็นคน "Reactive" เพราะมองไม่เห็นช่องทางหรือศักยภาพใดๆ ของตัวเอง ที่จะนำไปสู่ การพัฒนา เปลี่ยนแปลง ชะตากรรม ในชีวิตนี้ ได้เลย

ขณะที่การพ้นมิจฉาทิฏฐิและเข้าถึงสัมมาทิฏฐิที่สมบูรณ์ยิ่งๆ ขึ้นเป็นลำดับๆ จนถึงขั้นเป็นสัมมาทิฏฐิ ในระดับ ที่เข้าใจความหมายของ "โลกนี้ โลกหน้า มารดา บิดา สัตว์ที่เป็นอุปปาติกะ ตลอดจน สมณพราหมณ์ ซึ่งประกาศ โลกนี้โลกหน้า ให้แจ่มแจ้ง เพราะรู้ยิ่งด้วยตัวเอง" ภายใต้กรอบแห่ง "ปรมัตถธรรม" (อันได้แก่ จิต เจตสิก รูป และ นิพพาน) ก็จะมีคุณลักษณะเป็นคน "Proactive" ที่สมบูรณ์ เพราะการได้เข้าถึงช่องทางในการพัฒนา เปลี่ยนแปลง ชีวิต สู่กระแสแห่งโลกุตตรธรรม ด้วยการประจักษ์ ถึงสัจจะความจริงของชีวิตว่า ชีวิตเป็นสิ่งที่สามารถ "สั่งได้" และ "เลือกได้" เพื่อไปสู่ภาวะแห่งความเป็น อิสรภาพ จากความบีบคั้นเป็นทุกข์โดยปัญหาต่างๆ ทั้งหลายอย่างสมบูรณ์ และถาวร

- หนังสือ ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๑๘ มีนา - เมษา ๒๕๔๘ -