ธรรมะกับการเกษตร - สมณะเสียงศีล ชาตวโร -


อปฺปเกนปิ เมธาวี ปาภเฏน วิจกฺขโณ สมุฏฺฐาเปติ อตฺตานํ
คนมีปัญญา เฉลียวฉลาด ย่อมตั้งตนได้ด้วยทุนเล็กน้อย

(พุทธภาษิต)

แม้จะมีทุนเพียงเล็กน้อย คนฉลาดย่อมตั้งตัวได้ เขาจะรู้จักใช้ทุนที่มีน้อยนั้นให้มีประโยชน์มากที่สุด ไม่จำเป็นต้องลงทุนมากด้วยการกู้ยืม เพราะจะมีอัตราเสี่ยงสูง

เมื่อเร็วๆนี้ผู้เขียนได้รับนิมนต์ ให้ไปร่วมงานการประชุมสมัชชาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ณ พิพิธภัณฑ์ การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ อำเภอ คลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ใน งานนี้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร มากล่าว เปิดงาน และประกาศเจตนารมณ์ ขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ เป็นวาระ แห่งชาติ จัดงานตั้งแต่วันที่ ๒๔-๒๖ ธันวาคม ๒๕๔๗ มีการอภิปรายและบรรยายพิเศษ ทุกวัน หลายๆ หน่วยงานนำผลผลิตไปออกร้านกันอย่างเต็มที่ มีเกษตรกรที่แต่ละองค์กร เช่น ธกส., เกษตรจังหวัด, พัฒนาที่ดินจังหวัด จัดคนมาร่วมงาน จากทุกจังหวัด ทั่วประเทศมาชมงานนับหมื่นคน ถือว่าเป็นงานใหญ่ พอสมคาร คนฟังการอภิปราย แน่นห้องประชุม บางรายการต้องต่อทีวีวงจรปิด ออกมานอกห้อง เพื่อให้ได้ดูกัน อย่างทั่วถึง

ในวันสุดท้ายของงาน ผู้เขียนได้ร่วมอภิปรายในหัวข้อเรื่อง "ในน้ำมีปลา ในนามีข้าวงาม" โดยมี ผศ.ดร.ธันวา จิตต์สงวน รองอธิการบดีด้านวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้ดำเนิน รายการ ท่านรองฯ เอ็นนู ซื่อสุวรรณ (รองผู้จัดการ ธกส.) และอีกหลายท่านร่วมอภิปราย

การอภิปรายในวันนั้น ผู้ดำเนินรายการถามคำถามแรกมาที่ผู้เขียนว่า ทำไมทุกวันนี้เกษตรกร จึงโหดร้าย กับแม่พระธรณีกันนัก ทั้งเผา ทั้งให้สารพิษสารเคมีต่อแผ่นดิน? ผู้เขียนจึงตอบฟันธงลงไปว่า เป็นเพราะ การพัฒนาที่ผิดพลาด มุ่งเร่งผลผลิตโดยใช้ปุ๋ยเคมีมายาวนาน ผสมกับความโลภ และ ความมักง่าย ของเกษตรกร เพราะความอยากรวยจึงทุ่มเทลงทุน ใส่ปุ๋ยเคมี ฉีดยาฆ่าแมลง กู้เงินมาทำทุน เริ่มต้นก็ผิดทาง ต้องเป็นหนี้เป็นสินแล้ว ขายผลผลิตได้ก็ใช้หนี้สิน ส่งค่าปุ๋ยค่ายา เกือบหมด บางฤดูกาลก็พอคุ้ม บางฤดู ก็ขาดทุน หนี้สินก็พอกพูนขึ้นเรื่อยๆ จะเปลี่ยนแปลงอะไรก็ยาก กลัวจะไม่มีเงินใช้หนี้

ผู้เขียนได้แนะนำเกษตรกรให้พยายาม หันมาพึ่งตนเองด้วยวิธีการแบบเกษตรธรรมชาติ ทำปุ๋ยหมัก ใช้เอง ทำน้ำชีวภาพแทนปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง จะประหยัดต้นทุนและฟื้นฟูบำรุงดิน ให้อุดมสมบูรณ์ อย่างถาวร เรียกว่าเกษตรยั่งยืน เกษตรเคมีไม่ใช่เกษตรยั่งยืน แต่เป็นเกษตรไปสู่การล้มละลาย จากความเป็นจริง เกษตรกร เกือบทั้งประเทศยังเป็นเกษตรเคมีและเป็นหนี้เป็นสินเกือบทั้งประเทศ ดินก็เสื่อม สิ่งแวดล้อม ก็เสีย สุขภาพก็แย่ นี่คือความจริงที่เห็นๆ กันอยู่ ผู้เขียนก็เลยต้องยกตัวอย่าง ชมรมเพื่อนช่วยเพื่อน ตอนนี้ มีสมาชิกที่ทำเกษตรธรรมชาติประสบผลสำเร็จ เอาผลผลิตไปให้ดู เกี่ยวข้าวไปให้ดูเป็นมัด ถอนผักคะน้า ไปให้ดูกอใหญ่ เอามะขามเทศฝักใหญ่ หวานมัน ชมพู่ หวานกรอบ ไปให้ลองชิม ในที่ประชุม ทำไมเราทำได้ ต้องยืนยันกันด้วยความจริงแบบนี้ ผู้ฟังทั้งชม ทั้งชิม กันจนเกลี้ยง เหลือแต่ รวงข้าว

รอบสองผู้ดำเนินรายการให้ฝากข้อเสนอถึงรัฐบาล ผู้เขียนจึงฝากว่า
๑. ควรให้มีการอบรมเลือกศูนย์อบรมที่ทำจริง มีพื้นที่ตัวอย่างชัดเจน ทั้งผัก ผลไม้ และนาข้าว เพื่อให้ ผู้เข้าอบรมมั่นใจว่า เกษตรอินทรีย์เป็นไปได้จริง ต้องฝึกปฏิบัติด้วย ไม่ใช่ฟังคำอธิบายอย่างเดียว
๒. ควรดึงเอาปราชญ์ชาวบ้านหรือครูภูมิปัญญาไทย ให้มามีส่วนในการช่วยขับเคลื่อนโครงการ เกษตรอินทรีย์ และ อบรมชาวบ้าน อย่าเอาดอกเตอร์หรือ นักวิชาการไปอบรมชาวบ้าน เพราะชาวบ้าน ฟังไม่รู้เรื่อง นักวิชาการเอง ก็ไม่เคยลงภาคปฏิบัติ มีแต่ทฤษฎี จะทำให้ชาวบ้านสับสน (นอกจาก นักวิชาการ ที่มีประสบการณ์จริง มีผลสำเร็จเรื่องเกษตรอินทรีย์มาจริง และพูดกับชาวบ้านรู้เรื่อง)

เรื่องราวรายละเอียดของการประชุมสมัชชาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ ได้บันทึกเป็น VCD ไว้อย่างละเอียด สนใจติดต่อสมณะเสียงศีล ชาตวโร ตู้ปณ. ๖๗ ปทจ.นครปฐม ๗๓๐๐๐ หรือ โทร ๐๑-๘๓๕-๖๑๐๘



ปญฺญาชีวี ชีวิตมาหุ เสฏฺฐํ
คนที่มีชีวิตอยู่ด้วยปัญญา บัณฑิตกล่าวว่ามีชีวิตที่ประเสริฐ

(พุทธภาษิต)

คนมีปัญญาจะรู้จักเลือกสิ่งที่ดี มีประโยชน์และปลอดภัยให้ชีวิต แต่ทุก วันนี้เกษตรกรกลับไปหลงเชื่อ คำโฆษณา ใช้แต่สารเคมี ทำให้ผลผลิตปนเปื้อนสารพิษ เป็นอันตรายทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค

เมื่อประมาณต้นเดือนธันวาคม ๔๗ ผู้เขียนมีโอกาสไปร่วมประชุมแกนนำเกษตรอินทรีย์ เพื่อรณรงค์ และ ประชาสัมพันธ์ เป็นวาระแห่งชาติ ที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง ต.หนองบอนแดง อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ของ อ.วิวัฒน์ ศัลยกำธร งานนี้ มีผู้หลักผู้ใหญ่จาก ธกส. มาร่วมงานกันคับคั่ง และเกษตรกร ระดับแกนนำ มาหลายจังหวัด มีการบรรยายพิเศษตอกย้ำความมั่นใจ ในการทำ เกษตรอินทรีย์ชีวภาพ เปิดเวทีเสวนาเรื่อง "ฝ่าวิกฤติชาติ ด้วยเศรษฐกิจพอเพียง" โดยผู้ประสบ ความสำเร็จ จากเกษตรอินทรีย์มาร่วมบรรยาย มีพิธีบูชา แม่พระธรณี โดยศิลปินแห่งชาติ ชินกร ไกรลาศ มีการออกร้านแสดงผลิตภันฑ์ของเครือข่าย ที่มาจาก หลายจังหวัดทั่วประเทศ

เวลา ๐๕.๐๐-๐๘.๐๐ น. วันที่สอง ของงาน ผู้เขียนได้รับนิมนต์ให้บรรยายร่วมกับ อ.วิวัฒน์ ศัลยกำธร เจ้าของงานเรื่องธรรมะกับการเกษตร โดยผู้เขียนได้ให้ข้อคิดเห็นว่า การทำเกษตรอินทรีย์ หรือ เกษตรธรรมชาติ ต้องมีธรรมะเป็นพื้นฐานจึงจะประสบความสำเร็จ ต้องทำแบบเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้ พออยู่พอกินก่อน มีเหลือจึงขาย ไม่ใช่ทำอย่างมีความโลภเป็นที่ตั้ง ต้องไปกู้เงินเขามาลงทุน เริ่มต้น ด้วยการเป็นหนี้มันเสี่ยง ถ้าเจออุปสรรค น้ำท่วม ฝนแล้ง น้ำมันแพง แมลงลงก็จะขาดทุน หนี้สินก็จะทับถม จนลงไปเรื่อยๆ กลุ้มใจมากก็ไปกินเหล้ากินเบียร์ ยิ่งหนักเข้าไปอีก แต่ถ้าเป็นเกษตร แบบพึ่งตนเอง ลงทุนแต่น้อย ก็จะไม่มีความเสี่ยง แม้จะไม่รวยแต่ก็ไม่จน ทุกวันนี้เกษตรกร ครอบครัวใด ไม่เป็นหนี้ ก็นับว่าเก่ง นับว่าหายาก

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแนะนำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ทรงสอนเรื่องทฤษฎีใหม่ จะมี เกษตรกร สักกี่รายที่ทำตามที่พระองค์ท่านแนะนำ ถ้ารัฐบาลช่วยส่งเสริมและเกษตรกรทำตาม รับรองไม่มีปัญหา ความยากจน ทุกวันนี้รัฐบาลก็มีนโยบายจะแก้ปัญหาความยากจน น่าจะเอานโยบาย เศรษฐกิจพอเพียง เรื่องทฤษฎีใหม่ของพระองค์ท่านมาส่งเสริมแนะนำประชาชนให้มาก ปัญหาหนี้สิน ปัญหาความยากจน ของเกษตรกรก็จะหมดไปจากแผ่นดินไทย ยิ่งเกษตรกรรู้จักอุดรูรั่ว ไม่ติดอบายมุข ก็ยิ่งจะมีฐานะมั่นคง ประเทศชาติก็จะเจริญรุ่งเรือง

โชคดีที่รัฐบาลเห็นความสำคัญของเกษตรอินทรีย์ ประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ ถ้าทุกฝ่ายร่วมมือกัน เกษตรกร รู้จักการทำเกษตรอินทรีย์ รู้จักทำปุ๋ยหมัก ทำน้ำหมักชีวภาพใช้เอง ก็จะเกิดผลดี หลายประการ คือ

๑. ลดต้นทุนการผลิต

๒. รักษาสิ่งแวดล้อม ดินน้ำอากาศไม่เสีย ดินจะอุดมสมบูรณ์ น้ำสะอาด อากาศไม่ป็นพิษ ชีวิตก็จะ ปลอดภัย

๓. เพิ่มผลผลิต เพิ่มรายได้ เกษตรอินทรีย์ได้พิสูจน์มาแล้วว่า ได้ผลผลิตดีกว่าเกษตรเคมี รสชาติของ ผัก ผลไม้ ก็ดีกว่า เป็นที่นิยมของตลาดมากกว่า ต่อไปจะ ไม่มีใครอยากบริโภคผักผลไม้ ที่ใช้สารเคมี ปนเปื้อนสารพิษ

๔. ช่วยให้ปลอดภัยทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค สารเคมีเป็นอันตรายโดยเฉพาะยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า ซึ่งเกษตรกร นิยมใช้กันมาก จนมีคำพูดที่ได้ยินอยู่เสมอว่า

"คนปลูกผักไม่กล้ากินผักของตนเอง" แต่เกษตรอินทรีย์ไม่มีปัญหาสารพิษตกค้าง เพราะไม่ได้ใช้ สารเคมี ผลดีต่างๆ เหล่านี้ได้พิสูจน์กันมาแล้วเป็นเวลานานนับสิบปี ในกลุ่มของเครือข่าย กสิกรรมไร้สารพิษ และ ชาวอโศก จึงอยากให้เกษตรกรมั่นใจ และลองพิสูจน์ดูบ้าง จะได้หมดหนี้สิน พ้นจากความยากจน

- หนังสือ ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๑๘ มีนา - เมษา ๒๕๔๘ -