อดีตชาติของพระพุทธเจ้า

ผู้กล้าเสียสละ (อัมพชาดก)

สังคมจะมั่งคั่งอยู่กันสุขสมบูรณ์
เพราะมีผู้กล้าหาญเสียสละตนจริงจัง
สร้างประโยชน์เพื่อผู้อื่นอย่างจริงใจ
แม้ทำดีจริงได้แค่คนเดียว
ก็ช่วยเหลือผู้อื่นนับร้อยนับพันได้จริง

พราหมณ์ผู้หนึ่งเป็นชาวนครสาวัตถี ได้บวชถวายชีวิตอยู่ในพระพุทธศาสนา

เมื่อบวชแล้ว ก็ได้ประพฤติวัตร(ข้อปฏิบัติ)ต่างๆอย่างจริงจัง ทั้งอาจริยวัตร(กิจที่ลูกศิษย์ควรปฏิบัติต่ออาจารย์) อุปัชฌายวัตร (กิจที่ผู้ได้บวชพึงกระทำแก่อุปัชฌาย์ผู้นำเข้าหมู่ อุปสมบทให้) แม้การตั้งน้ำดื่มน้ำใช้ ทั้งวัตรในโรงอุโบสถ วัตรในเรือนไฟ เป็นต้น ก็กระทำเป็นอย่างดี กระทั่งพยายามกระทำให้บริบูรณ์ในมหาวัตรทั้ง ๑๔ และขันธกวัตรทั้ง ๘๐ ไม่ว่าจะเป็น การกวาดวิหาร กวาดบริเวณโรงตึกทางไปวิหาร แจกจ่ายน้ำดื่มแก่ผู้คนทั้งหลาย

ด้วยพฤติกรรมดังนี้ หมู่ชนจึงเลื่อมใสในความสมบูรณ์ด้วยวัตรของท่าน ต่างพากันถวายภัตร(อาหาร)ประจำ ประมาณวันละ ๕๐๐ ราย ลาภและสักการะเป็นอันมากจึงบังเกิดขึ้นแก่สงฆ์ การเป็นอยู่อย่างผาสุกเกิดแล้วแก่ภิกษุทั้งหลาย เพราะอาศัย ท่านนั่นเอง

อยู่มาวันหนึ่ง หมู่ภิกษุสงฆ์คุยกันเรื่องนี้ในธรรมสภา เมื่อพระศาสดาทรงทราบแล้ว ก็ตรัสว่า

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในปางก่อนภิกษุนี้ก็เคยเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวัตร ช่วยเหลือผู้อื่นให้สุขสำราญ เป็นอันมากมาแล้ว"
แล้วทรงนำเรื่องราวในครั้งนั้น มาตรัสเล่า

.......................

ในอดีตกาล มีพราหมณ์ผู้หนึ่งเกิดในตระกูลอุทิจจพราหมณ์(พราหมณ์ตระกูลสูง) ครั้นเติบโตเจริญวัยแล้ว ได้ออกบวชเป็น ฤๅษี มีบริวารอยู่ถึง ๕๐๐ บำเพ็ญเพียรกันที่เชิงเขาในป่าหิมพานต์

คราวนั้นเอง ในป่าเกิดความแห้งแล้งอย่างรุนแรง น้ำดื่มในที่บริเวณนั้นแห้งหายไปเกือบหมด เหล่าสัตว์ป่าทั้งหลาย เมื่อขาด น้ำดื่ม ต่างก็ได้รับความยากลำบากแสนสาหัส

ก็ในบรรดาฤๅษีในป่านั้น มีฤๅษีตนหนึ่ง เมื่อได้พบเห็นความทุกข์ยากกระวนกระวายของสัตว์ป่าทั้งหลายแล้ว อดเมตตา สงสารมิได้ จึงลงมือตัดต้นไม้มาทำเป็นราง เที่ยวไปแสวงหาตักวิดน้ำใส่ ให้เป็นที่ดื่มกินแก่สัตว์ทั้งหลาย

ฝูงสัตว์จำนวนมากจึงมารวมกันดื่มน้ำตรงนั้น ฤๅษีแม้จะตักน้ำมาเท่าไร ก็ไม่เพียงพอแก่ความต้องการเลย ทำให้แม้แต่โอกาส ที่ฤๅษีจะไปแสวงหาอาหารของตน ก็ไม่มีเวลา ท่านต้องถึงกับอดอาหาร เพื่อคอยตักน้ำอยู่นั่นเอง

ฝูงสัตว์เหล่านั้นตัวที่ฉลาดจึงคิดขึ้นว่า
"พระฤๅษีนี้เพียงตักน้ำดื่มให้แก่พวกเรา จนไม่ได้ไปหาพืชผักผลไม้ให้แก่ตัวเอง ต้องเหน็ดเหนื่อยอ่อนเพลียอย่างยิ่ง เพราะอดอาหาร ไม่ช้าจะต้องหมดเรี่ยวแรงเป็นแน่ ฉะนั้นเห็นทีพวกเราจะต้องทำการกำหนดกันเสียแล้ว"

สัตว์เหล่านั้นจึงปรึกษาตกลงตั้งกติกากันว่า
"ตั้งแต่บัดนี้ หากผู้ใดมาดื่มน้ำที่นี่ จะต้องคาบผลไม้มาด้วย ตามสมควรแก่กำลังของตน"

นับแต่นั้นมา สัตว์ป่าแต่ละตัวก็พยายามคาบผลไม้รสดี เช่น ผลมะม่วง ขนุน เป็นต้น เอาตามกำลังความสามารถของตน เพื่อมามอบให้ฤๅษีเพียงผู้เดียว ซึ่งผลไม้กองรวมกันเข้าแล้ว ประมาณเทียบเท่าบรรทุกได้เต็มสองเล่มเกวียนครึ่งทีเดียว

ผลไม้มากมายประมาณนี้ ทำให้แม้ฤๅษีทั้ง ๕๐๐ ก็พลอยได้ขบฉันทั่วถึง แล้วยังเหลือทิ้งเสียไปอีกอันมาก ฤๅษีผู้เป็นอาจารย์เห็นอย่างนี้แล้ว ก็อุทานขึ้นว่า

"อาศัยเพียงฤๅษีผู้ถึงพร้อมด้วยการเสียสละแค่ผู้เดียว ก็สามารถช่วยฤๅษี ๕๐๐ ให้ยังอัตภาพไปได้ โดยไม่ต้องไปหาผลไม้จากที่ใดเลย

บุรุษผู้เป็นบัณฑิตจึงควรพยายามร่ำไป ไม่ควรเบื่อหน่าย จงดูผลแห่งความพยายามเถิด ผลไม้ทั้งหลายที่มีให้บริโภคอยู่นี้ ก็ด้วยความพยายามทั้งนั้น ไม่ใช่ของที่มีมาได้เองเลย"

.......................

พระศาสดาทรงเล่าชาดกนี้จบแล้ว ก็ทรงกล่าวว่า
"ฤาษีผู้เสียสละในครั้งนั้น ได้มาเป็นภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยวัตรนี้เอง ส่วนฤาษีผู้เป็นอาจารย์ ก็คือเราตถาคตในบัดนี้"

- ณวมพุทธ -
(พระไตรปิฎกเล่ม ๒๗ ข้อ ๑๒๔
อรรถกถาแปลเล่ม ๕๖ หน้า ๔๘๐)


ดีแม้มีเพียงหนึ่ง
สุดซาบซึ้งถึงใจ
สละสุขของตนไป
มอบสุขให้ส่วนรวม
* ขวัญกล้า

- ดอกหญ้าอันดับที่ ๑๒๑ กันยา-ตุลา ๒๕๔๘ -