สุขภาพจิต

สบายๆ วันปีใหม่


กาลเวลาผ่านไปรวดเร็วเหลือเกิน นี่ก็ใกล้จะถึงวันปีใหม่แล้ว แต่ในสภาพที่เศรษฐกิจยังไม่กระเตื้องอย่างนี้ การจะจัดงาน ฉลองกันใหญ่โตและฟุ่มเฟือยอย่างอดีตคงทำไม่ได้ หรือได้ก็คงไม่ดีนัก ผิดหลักการรู้จักอยู่อย่างพอดี ดังนั้น จึงอยากชักชวน ให้เรามาหาความสุขในวันขึ้นปีใหม่ด้วยวิธีเรียบง่ายกันดีกว่าค่ะ

ถ้าใครยังไม่ได้วาดแผนการว่าจะทำอะไรในช่วงหยุดปีใหม่ ก็ลองพิจารณาวิธีการเหล่านี้ดูนะคะ เผื่อจะตรงใจกันมั่ง

เริ่มด้วยการทำอะไรที่ย้อนศรจากคนส่วนใหญ่ เช่น ถ้าจะเที่ยวก็ เลือกสถานที่ที่ไม่มีคนพลุกพล่าน หรือนิยมไปกัน ซึ่งในเทศกาล สำคัญๆ อย่างนี้ เที่ยวในตัวเมืองน่าจะสบายกว่านะคะ เพราะคนอื่นๆ มุ่งเดินทางออกต่างจังหวัด หรือไปเที่ยว ในที่ไกลๆ ตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เราก็เที่ยวอยู่ใกล้ๆ บ้าน จะสงบ สบาย และสะดวกกว่าแน่นอนค่ะ

กิจกรรมต่อมาคือ พัฒนาบ้านให้น่าอยู่ วันหยุดหลายวันทำให้เรามีเวลาจัดบ้าน ซ่อมแซม สิ่งของเครื่องใช้ แต่งสวน ดูแล สิ่งแวดล้อม รอบๆ บ้าน ซึ่งตามปกติถูกหน้าที่การงานแย่งเวลาไปหมด เมื่อมีโอกาสก็น่าจะทำนะคะ

ถ้ารอบๆ บ้านเสื่อมโทรมนัก ก็อาจจะชักชวนเพื่อนบ้านใกล้ เรือนเคียงที่มีแนวคิดเดียวกัน มาร่วมพัฒนาสภาพแวดล้อม แถวๆ บ้าน ให้ดูดีขึ้น เสร็จแล้วก็ทำอาหารเลี้ยงกัน ถือโอกาสสังสรรค์กันไปในตัว ได้ประโยชน์กันทุกฝ่าย

ประการถัดมา อย่าลืมฟื้นฟูสุขภาพของตัวเองด้วยค่ะ ช่วงวันหยุดควรนอนให้เต็มอิ่ม และหาเวลาออกกำลังกายบ้าง จะได้มี เรี่ยวแรงไว้สู้ต่อไปในปีหน้า

ข้อสุดท้ายก็คือ กำราบความทุกข์ ขจัดความขัดแย้ง ความคับข้องใจที่เคยค้างคาสุมอกออกไปเสีย จดจำไว้แต่สิ่งดีๆ ประสบการณ์ ที่ไม่ดีทั้งหลายให้ถือว่าเป็นบทเรียนที่มีค่าแก่การเรียนรู้ แต่ไม่ใช่นำมาตอกย้ำให้ใจหดหู่

ถ้าเรารู้จักมองสิ่งต่างๆ ในแง่ดี ไม่ว่าเรื่องนั้นจะผ่านมาแล้ว กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน และมีความหวังกับอนาคต ก็จะทำให้เรา รู้สึกสบายใจ มีความทุกข์น้อยลง และเป็นดัชนีชี้วัดว่าเราไม่ได้มีอาการซึมเศร้าแน่นอน เพราะคนที่เป็นโรคซึมเศร้า จะมอง และคิดทุกอย่าง ในแง่ลบหมด เช่น อดีตก็เศร้า ปัจจุบันก็ทุกข์ อนาคตก็มืดมน

ยิ่งถ้ามีอาการเหล่านี้ร่วมด้วย คือ นอนหลับยาก หลับแล้วตื่นตอนตีสองตีสามแล้วหลับไม่ลงอีกเลย กินไม่ลง เก็บตัว อยากอยู่ คนเดียว มีอารมณ์ความรู้สึกโหวงเหวงเคว้งคว้าง ก็ต้องรีบไปพบจิตแพทย์โดยเร็ว เนื่องจากเข้าข่ายอาการซึมเศร้าแล้ว เพราะ ปรากฏ อาการครบทั้งสี่ด้าน ได้แก่ อารมณ์ (Affective) สังคม (Social) ความคิด (Cognitive) และการกินอยู่ หลับนอน แต่ถ้ามีแค่สามประการหลัง ก็จัดเป็นพวกที่มีอารมณ์ซึมเศร้าแบบหน้าชื่นอกตรม หรือ Mask depression จำเป็น ต้องไป หาจิตแพทย์เหมือนกันค่ะ

ก็ว่าไปไกลเลยนะคะ แต่ก็อยากย้ำค่ะว่า ถ้าเราจะกำราบความทุกข์ให้ได้ เราต้องรู้จักคิดทางบวก มองโลกในแง่ดี แล้วจิตใจ ของเราจะแจ่มใสผ่องแผ้วค่ะ

ขอฝากไว้ด้วยนะคะ ใครกำลังมองหากิจกรรมที่เรียบง่ายและมีประโยชน์ซึ่งจะทำในช่วงปีใหม่ ก็อย่าลืม เลือกพาครอบครัว ไปในที่ ที่ไม่มีคนพลุกพล่าน พัฒนาบ้านให้น่าอยู่ ฟื้นฟูสุขภาพพร้อมทั้งกำราบความทุกข์ในใจของตัวเองด้วยค่ะ

- อมรากุล อินโอชานนท์ -
(สำนักพัฒนาสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต)

- ดอกหญ้า อันดับที่ ๑๒๒ พ.ย. - ธ.ค. ๒๕๔๘ -