น่ารู้จัก ผ.ศ.รัศมี กฤษณมิษ
บัณฑิตอักษรศาสตร์ผู้เลือกที่จะเป็นกสิกร


ชื่อ บุษกร (อ้อย) กุลมาตย์ อายุ ๔๐ ปี สำเร็จการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สามีชื่อ พรรษา กุลมาตย์ อายุ ๔๔ ปี สำเร็จการศึกษาจากคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

พื้นฐาน
เป็นคนกรุงเทพฯ โดยกำเนิด เรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่เล็กจนโต ครอบครัวอยู่อย่างธรรมดาๆ ไม่ได้ร่ำรวยอะไร ในช่วงที่เรียนคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี ๒๕๒๒ ก็ทำงานกิจกรรมนักศึกษามาตลอด งานหลักคือออกค่ายอาสาสมัคร ทำให้มีโอกาสไปใช้ชีวิตในชนบท จึงรู้สึกประทับใจในชีวิตที่เรียบง่าย ใกล้ชิดธรรมชาติ

ประสบการณ์จากการทำกิจกรรมนักศึกษา ทำให้ได้รับรู้ปัญหาสังคมค่อนข้างหลากหลาย อันเป็นส่วนที่สร้างแนวคิดว่า ชีวิตคนเรานั้นควรทำงานที่มีคุณค่า มีประโยชน์ต่อสังคม ชีวิตไม่ได้เกิดมาเพื่อ แสวงหาความร่ำรวย ฟุ้งเฟ้อ ลาภ ยศ สรรเสริญ

เมื่อเรียนจบจึงเลือกที่จะเข้าร่วมโครงการอาสาสมัครเพื่อสังคม ไปทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชนแห่งหนึ่งซึ่งต้องออกพื้นที่ตามหมู่บ้านต่างๆ ช่วงนี้เองที่ได้ ซึมซับวิถีชีวิตในชนบท ตลอดจนได้เรียนรู้เรื่องการทำกสิกรรมมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ช่วยเสริมเติมรูปรอยความคิดของตัวเองให้ชัดเจนยิ่งขึ้น จนเป็นความใฝ่ฝัน ที่อยากจะใช้ชีวิตอิสระ มีที่ดินทำกสิกรรมอย่างนั้นบ้าง แต่ด้วยเหตุปัจจัยที่ยังไม่ลงตัว หลังจากหมดสัญญาทำงานอาสาสมัคร จึงไปรับราชการครู อันที่จริง ดิฉันพอใจ ที่ได้เป็นครู แต่เบื่อหน่ายระบบ มีอะไรหลายอย่าง ที่ต้องทำ ทั้งที่เห็นว่ามันไม่เหมาะไม่ควร มีการแก่งแย่งแข่งขัน ชิงลาภ ยศ ตำแหน่ง ณ จุดนี้ได้เห็นข้อเปรียบเทียบชัดเจน กับวิถีชีวิตเรียบง่ายของ ชาวไร่ชาวนา ที่ดิฉันเคยสัมผัส

ครอบครัว
ช่วงที่ทำงานรับราชการอยู่นั้น ดิฉันมีแฟนซึ่งเป็นผู้ร่วมงานสมัยที่ทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชน เราได้พูดคุยกันมาตลอดถึงความคิดที่จะออกมาใช้ชีวิต ทำกสิกรรม เพราะเราต่างชอบชีวิตอิสระ พึ่งตนเอง อยู่กับผืนดิน

ในที่สุดเมื่อลงตัวแล้ว จึงออกจากราชการหลังจากทำอยู่ได้เพียง ๒ ปี เราแต่งงานกัน แล้วไปเริ่มต้นชีวิตชาวสวนด้วยกันที่ อ.หลังสวน จ.ชุมพร ในปี พ.ศ.๒๕๓๐

จากชีวิตชาวกรุงสู่ชีวิตชาวสวน
ที่ดินที่ทำเป็นของทางบ้านของสามีซึ่งปล่อยทิ้งไว้ ทั้งสามีและดิฉันต่างไม่เคยทำสวนมาก่อน ก็เริ่มลองผิด ลองถูก อาศัยประสบการณ์จากคนรอบข้าง ศึกษาจากหนังสือบ้าง และสรุปบทเรียนจากภาคปฏิบัติ

ก็ค่อยๆ ทำกันมาเรื่อยๆ เราเริ่มต้นจากเงินทุนที่ไม่มากนัก จึงพยายามพึ่งตนเองในทุกๆ ด้านเท่าที่จะทำได้ คือ เริ่มทำตามกำลังที่มี พื้นที่บางส่วน ปล่อยทิ้งไว้ก่อน ไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือ อะไรมากนัก พันธุ์ไม้ก็พยายามเพาะเอาเอง

เราเลือกทำกสิกรรมแบบธรรมชาติไร้สารพิษ เพราะได้เห็นความล้มเหลวของเกษตรทั่วๆ ไป ที่ทำด้วยแนวคิดอยากได้ผลผลิตมากๆ จึงต้องอาศัย สารเคมี แต่กลับมีหนี้สินล้นตัว ผืนดินและสภาพ แวดล้อมก็ยิ่งเลวลงเพราะถูกทำลาย

การทำงานหนักเป็นดอกไม้แห่งชีวิต
เมื่อตัดสินเลือกแนวทางนี้ เรารู้ว่าต้องเหนื่อย มากๆ ต้องลงแรงมหาศาล อดทนกับแดดร้อนหรือสภาวะแปรปรวนต่างๆ โดยที่ตัว เราก็ไม่เคย ไม่คุ้นกับ การทำงานหนักมาก่อน แต่เมื่อมาชัดเจนและเชื่อมั่นในหนทางนี้ เราจึงยินดีที่จะเหนื่อยหนัก พร้อมที่จะต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆ

แรกๆ พื้นที่มีแต่หญ้าคาสูงท่วมหัว อากาศร้อนแล้ง ต้นไม้ที่ปลูกไว้เดิมมีอยู่ไม่มากนัก เราก็ ค่อยๆ ทำไปด้วยความอดทน ใจเย็น และรู้จักรอคอย ปลูกพืช พันธุ์ต่างๆ เรียกว่ามีอะไรที่กินได้ก็ปลูกผสมปนเปกันไป ทั้งพืชผักผลไม้และสมุนไพร จนถึงทุกวันนี้เป็นเวลากว่า ๑๐ ปี ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง จากที่เคยร้อนแล้งก็กลายเป็นที่ที่ร่มรื่น ชุ่มชื้นด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ มีสัตว์นานาชนิดมาอาศัยอยู่ รู้สึกได้ถึงระบบนิเวศที่สมบูรณ์ขึ้น บรรดาสัตว์เหล่านั้น ได้อาศัยพืชผักที่เราปลูก ขณะเดียวกันเขาก็ช่วยกำจัดแมลงศัตรูพืชให้เรา บางครั้งผลผลิตอาจเสียหายไปบ้าง ก็ถือว่าเราได้พึ่งพาอาศัยกัน อยู่ร่วมกัน อย่างสันติสุข ผลผลิตที่ได้ ก็พอเพียงที่จะเลี้ยงตัวเอง คือมีพอกิน และพอขายเป็นรายได้บ้าง

ความสุข
ความสุขจากการเลือกวิถีชีวิตเช่นนี้ คือการได้ใช้ชีวิตที่เรียบง่าย ใกล้ชิดธรรมชาติ กินอาหารที่มี คุณค่า ไร้สารพิษ ที่สำคัญเราตระหนักว่า มันเป็นงาน ที่ก่อประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน เราผลิตอาหารที่มีคุณภาพเพื่อเพื่อนมนุษย์ อีกทั้งไม่ได้เบียดเบียน ทำร้ายธรรมชาติแต่อย่างใด

ยิ่งเมื่อได้มาปฏิบัติธรรมตามแนวทางอโศก ได้ฟังคำสอนของพ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ ยิ่งเป็นการ ตอกย้ำกับตัวเราว่า นี่คือสัมมาอาชีพที่ยิ่งใหญ่ มีคุณค่า (บุญญาวุธหมายเลข ๓) เรายิ่งเชื่อมั่นชัดเจนว่า วิถีชีวิตเรียบง่ายสมถะ อยู่อย่างกินน้อยใช้น้อย ทำงานติดดินเช่นนี้เป็นชีวิตที่ถูกต้อง มันเป็นพลัง ที่ทำให้เรายืนหยัดมา จนทุกวันนี้ แม้บางครั้ง จะเกิดอุปสรรคใหญ่หลวง เราก็สามารถทนได้ เช่น เมื่อปี ๒๕๔๐ เกิดน้ำท่วมใหญ่ภาคใต้ สวนที่บ้านเสียหายมาก ต้นไม้ ที่เพาะมากับมือล้มตายลง พื้นที่สูญหายไปกับน้ำ เนื่องจากสวนอยู่ติดแม่น้ำ ข้าวของเครื่องใช้ หนังสือก็ถูกน้ำท่วม เราถือว่ามันเป็นแบบฝึกหัด ให้ฝึกวางใจ เราไม่เคยท้อแท้เลย เพราะเห็นว่าคนที่ทุกข์ยาก เสียหายกว่าเรามีอีกมาก ในเมื่อเรี่ยวแรงยังมี ก็เริ่มต้นใหม่ได้

การทำกสิกรรมธรรมชาติมากว่า ๑๐ ปี ก็ช่วยหล่อหลอมให้เราเข้มแข็งและอดทน

ผู้ทรงเกียรติ
ที่ผ่านมาคนในสังคมทั่วไปมักมองว่าอาชีพกสิกรรม เป็นอาชีพที่ต่ำต้อย ยากจน ไร้เกียรติ แม้แต่ชาวไร่ชาวนาส่วนใหญ่ ก็รู้สึกเช่นนั้น ลูกหลานจึงพากันทิ้ง ไร่นา ไปทำงานในเมือง ตัวดิฉันเอง ไม่เคยรู้สึกเช่นนั้นเลย แม้ว่าเพื่อนฝูงที่ร่ำเรียนด้วยกันมา จะมีตำแหน่งหน้าที่การงานใหญ่โต มีชีวิตความเป็นอยู่หรูหรา นั่นเป็นเพราะเราพอใจ กับสิ่งที่เราเลือก และเป็นอยู่

ในยุคฟองสบู่แตก น่าจะเป็นข้อพิสูจน์อย่าง ชัดแจ้งว่า การทำงานในระบบทุนนิยมที่หวังกอบโกย หวังความมั่งคั่ง มันได้สร้างความมั่นคง สร้างความสุข ให้คนเราจริงหรือ ในขณะที่เราทำอาชีพกสิกรรมที่ใครๆ เคยเป็นห่วง เป็นกังวลว่าไม่มั่นคงนั้น เรากลับไม่ได้รับผลกระทบจาก IMFแต่อย่างใด ดิฉันยังมีชีวิตที่เป็นสุข อยู่กับผืนดิน ทำงานหนักด้วยหงาดเหงื่อแรงกาย มีเวลาเหลือที่จะทำประโยชน์แก่คนรอบข้าง ทั้งนี้เพราะ ดิฉันเข้าใจชัดเจน ถึงคุณค่า ของการเป็นกสิกร อย่างแท้จริง.

(หนังสือ ดอกหญ้า อันดับที่ ๙๔ หน้า ๑๓ – ๑๗)