เต่าล้านปี (กัจฉปชาดก)

พระพุทธองค์เมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวัน มหาวิหาร ทรงเล่าถึงชายผู้รอดชีวิตจากอหิวาตกโรคคนหนึ่งว่า

ที่กรุงสาวัตถี ครั้งหนึ่งได้เกิดโรคอหิวาต์ขึ้นในบ้านตระกูลหนึ่ง เมื่อไม่อาจจะรักษาโรคได้ บิดามารดาก็จึงสั่งแก่บุตรชายของตนว่า "ลูก! เจ้าอย่าอยู่ ในบ้านหลังนี้อีกเลย ที่นี่ไม่มียาที่จะรักษาโรคนี้ได้ เจ้าจงหนีไปเสียในที่อื่น หายารักษาชีวิตของตนให้รอด แล้วภายหลัง จึงค่อยกลับมา ขุดเอาทรัพย์ ที่ฝังซ่อนไว้ในที่นี้ นำไปเลี้ยงชีพให้เป็นสุขเถิด"

บุตรชายแม้จะรักและห่วงใย แต่ก็เชื่อฟังในคำสั่งของบิดามารดา จึงแอบหนีไปจากหมู่บ้านนั้น เที่ยวเสาะแสวงหายารักษาโรค จนกระทั่ง สามารถรักษา โรคของตนหายดีแล้ว จึงเดินทางกลับบ้าน ซึ่งบิดามารดาทั้งสองได้เสียชีวิตไปแล้ว เขาจึงขุดเอาทรัพย์สินที่ฝังไว้ นำไปสร้างครอบครัว อยู่ครองเรือนอย่างเป็นสุข

วันหนึ่งเขาปรารถนาจะทำบุญ จึงให้คนช่วยถือเอาเนยใส น้ำมัน ผ้า เครื่องนุ่งห่ม และของอื่นๆ อีก ไปสู่วิหารเชตวัน พอถวายบังคมพระศาสดาแล้ว ก็นั่งลงในที่อันควร พระศาสดาได้ทรงทำปฏิสันถารด้วย แล้วก็ได้ตรัสถามว่า "เคยได้ยินข่าวมาว่า อหิวาตกโรคเกิดขึ้นในบ้านของท่านมิใช่หรือ แล้วทำอย่างไรเล่าท่านจึงรอดชีวิตมาได้"

เขาจึงเล่าเรื่องราวรายละเอียดให้ทรงทราบ พระศาสดาทรงสดับแล้ว ก็ตรัสขึ้นว่า "ดูก่อนอุบาสก แม้แต่ก่อนสัตว์เหล่าใดเมื่อมีภัยเกิดขึ้น แล้วมัวอาลัย ในที่อยู่ของตน ไม่ยอมละทิ้งไปอยู่ที่อื่น สัตว์เหล่านั้นถึงแก่ความตายไปแล้ว แต่สัตว์เหล่าใดหากไม่ชักช้าอาลัยอาวรณ์อยู่ ยอมไปอยู่เสียในที่อื่น สัตว์เหล่านั้นได้รอดชีวิตแล้ว"

แล้วพระศาสดาทรงนำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่าว่า

ในอดีตกาล ครั้งเมื่อ พระเจ้าพรหมทัต เสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี มีชายคนหนึ่งอยู่ในตระกูลช่างหม้อใกล้หมู่บ้านแห่งหนึ่ง เขาดำรงชีพ อยู่ด้วยการปั้นหม้อขาย อาศัยเลี้ยงดูบุตรภรรยาตลอดมา

ครั้งนั้นเอง ในที่ใกล้ๆ กรุงพาราณสี มีสระใหญ่ แห่งหนึ่งต่อเนื่องมาจากแม่น้ำใหญ่ คราวใดที่น้ำในแม่น้ำมาก สระก็จะเต็มเปี่ยมไปด้วยน้ำ หากคราวใด น้ำในแม่น้ำน้อย สระก็จะมีน้ำเหลือน้อย และแยกขาดออกจากแม่น้ำ

ปลาและเต่าในที่นั้นย่อมรู้ด้วยสัญชาตญาณว่า ปีนี้ฝนจะดี หรือปีนี้ฝนจะแล้ง ก็ในปีนี้เอง สัตว์น้ำทั้งหลายในสระนั้นรู้สึกได้เองว่า ในปีนี้ ฝนจะแล้ง แน่นอน ดังนั้นก่อนที่สายน้ำจะแห้งขอดขาดออกจากกัน จึงพากันย้ายที่อยู่ออกจากสระ มุ่งไปสู่แม่น้ำใหญ่

แต่มี เต่า อยู่ตัวหนึ่ง ไม่ยอมละทิ้งสระนั้นไป ด้วยเกิดความคิดว่า "นี่เป็นที่เกิดของเรา นี่เป็นที่เติบโตของเรา นี่เป็นที่ที่พ่อแม่ของเราเคยอยู่ เราไม่อาจจะทิ้ง ไปจากที่นี้ได้"

้ ครั้นน้ำน้อยลงจนสายน้ำขาดออกจากกัน แล้วสระก็แห้งขอดในที่สุด เต่านั้นต้องขุดคุ้ยดินเลนอาศัยอยู่

วันหนึ่งชายปั้นหม้อได้ไปที่สระแห้งนั้น เพื่อต้องการหาดินเอาไปปั้นหม้อ พอเห็นบริเวณใดมีดินดี ก็ใช้จอบใหญ่ขุดดินในที่นั้น ยกจอบสับดินแต่ละที ก็สับลงไปเต็มแรง เพื่อให้ได้ดินลึกๆ ในเบื้องล่าง

ปึ๊ก! เสียงดังผิดปกติ คมจอบกระทบถูกของแข็งเต็มที่ ชายปั้นหม้อต้องงัดจอบขึ้นมาสุดกำลัง ปรากฏคล้ายก้อนดินโดนทิ้งกลิ้งอยู่บนบก ที่แท้เต่าตัวนั้น โดนจอบสับ แล้วงัดขึ้นมาจากดินนั่นเอง มันได้รับทุกขเวทนาแสนสาหัส ร้องคร่ำครวญว่า "เราเกิดที่นี่ เติบโตที่นี่ เพราะเหตุนี้ เราจึงอาศัยอยู่ที่เปือกตมนี้ แต่เปือกตมกลับทับถมเราให้วอดวาย ช่างไม่น่าเลย! ที่แท้แล้วไม่ว่าจะเป็นที่เกิด ที่เติบโต ที่บ้านหรือในป่าอื่นๆ หากได้รับความสุข ในที่ใด พึงไปอยู่ ในที่นั้นเถิด อย่ายึดอยู่แต่ที่เดิมที่เลว อย่าพึงให้ที่อยู่นั้น ฆ่าตนเองเสียเลย"

เต่ากล่าวอย่างนี้ด้วยเสียงค่อยๆ แผ่วเบาลง สุดท้ายก็ถึงแก่ความตาย ช่างปั้นหม้อจึงหยิบเอาเต่าตัวนั้นกลับไปด้วย แล้วนำไปใช้บอกสอน เล่าเรื่องราว ให้แก่ชาวบ้านทั้งหลายฟัง

"พวกท่านจงดูเต่าตัวนี้เถิด มันอาลัยที่จะละทิ้งสระแห้งนั้นไป ครั้นเราไปขุดดินที่สระ ใช้จอบสับโดนมันเข้า ก่อนตายมันจึงเปิดเผยว่า เพราะมันอาลัย อาวรณ์ในที่อยู่นั่นเอง จึงต้องถึงแก่ความตาย ฉะนั้นแม้พวกท่านก็อย่าเป็นเช่นเต่าตัวนี้เลย อย่าติดยึด ด้วยอำนาจของความอยาก ในของกินของใช้ว่า นี่รูปเสียงกลิ่นรสสัมผัสของเรา ลูกของเรา ทาสของเรา เงินทองของเรา บ้านของเรา หากมัวอาลัยอยู่ก็จะต้องทุกข์โหยหา เวียนตาย วนเกิด อยู่กับทุกข์ ที่ติดยึดไว้นั้นตลอดกาล

ชนทั้งหลายก็เชื่อฟังในคำสอนของช่างปั้นหม้อ นำไปปฏิบัติตาม ทั้งทำบุญทำทาน ทำทางสวรรค์ให้บริบูรณ์จนตราบสิ้นอายุขัย

พระศาสดาทรงแสดงชาดกนี้จบแล้ว ก็ตรัสว่า "เต่าในครั้งนั้น ได้มาเป็นพระอานนท์ในบัดนี้ ส่วนช่างปั้นหม้อก็คือ เราตถาคต"

แล้วทรงประกาศอริยสัจ เมื่อทรงแสดงธรรมจบแล้ว อุบาสกนั้นก็ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลทันที

ณวมพุทธ
พุธ ๒ เม.ย.๒๕๔๐ (พระไตรปิฎกเล่ม ๒๗ ข้อ ๒๐๕ อรรถกถาแปลเล่ม ๕๗ หน้า ๑๕๖)

(หนังสือ ดอกหญ้า อันดับที่ ๙๔ หน้า ๔๓-๔๖)