สัมพันธภาพสังคมพุทธ

ความยิ่งใหญ่ในธรรม ไม่มีอยู่แด่ผู้ไม่รักอุทิศชีวิตที่ต่ำต้อยด้วยเห็นแก่ตัว เป็นความชั่วแก่ตนโดยตรง กระจายเชื้อชั่วแก่โลกโดยรอบ

อุทิศเถิด เพื่อมวลมนุษยชาติ ด้วยธรรม แล้วเราจะไม่เสื่อมต่ำ ทั้งดีแก่ตนโดยตรง กระจายเชื้อดีแก่โลกโดยรอบ

ในความเป็นนักศึกษาโลกุตระ ปัญญาภาษิตดังกล่าวต้องฝังหัวให้ยิ่งไว้ มิเช่นนั้นจะกลายเป็นเดียรถีย์ หลุดทางพระศาสดาได้ง่าย และพึงทราบ โลกุตระวิทยาลัยนั้น มีการเกื้อกูลกันเป็นที่ศึกษา มิใช่ต่างคนต่างเตร็ดเตร่ตามประสงค์ แล้วเข้าใจว่าตนคือนักศึกษาผู้ลุถึงซึ่งเสรี

เสรีภาพในการสนองภพ นั่นยังไม่ใช่อิสระเสรี ผู้ทำดีในหมู่มนุษย์ยังสงบเย็นเป็นที่สุด นี่จึงเป็นอิสระเสรีที่แท้

ศาสนาพุทธเป็นศาสนาสังคม เรียกว่าสังคมพุทธบริษัท ฉะนั้นจึงมิใช่แหล่งรวมนักท่องเที่ยว ซึ่งหากผู้ใดยังติดเตร็ดเตร่ นั่นก็สัมภเวสี หรือวิญญาณเก่า ยังครอบงำนำเที่ยวได้อยู่ สังเกตดูย่อมเห็นได้ พวกเสือ สิงห์ กระทิง แรด ก็ชอบไปเขาไปป่า พวกกุ้ง หอย ปู ปลาก็ชอบหาดทรายชายทะเล ...

ซึ่งนี่ไม่ใช่วิญญาณเสรี ยิ่งไม่ใช่พุทธวิถี

พระพุทธองค์ตรัส มิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี เป็นทั้งหมดทั้งสิ้นของพรหมจรรย์ หมายความว่า สังคมพุทธต้องอยู่ร่วมเป็นหลัก ดูได้ในนักบวช หากยังถูกอารมณ์หรือถิ่นเก่าทางวิญญาณเร้าให้ต้องเตร็ดเตร่สัมภเวสีไป แต่ช่วงเข้าพรรษาต้องมาอยู่ร่วมกันตามพุทธบัญญัติ เพราะอยู่ร่วม ย่อมทำให้บริบูรณ์ ตามโอวาทปาติโมกข์ที่ว่า....สพฺพปาปสฺส อกรณํ กุสลสูป สัมปทา สจิตฺต ปริโยทปนํ ได้โดยง่าย ...

ซึ่งนักศึกษาเข้าใจดี สองตาของตัวมองทั่วเรือนร่างไม่ได้ ฉะนั้นอยู่ร่วมนี่แหละ จะมีผู้สะท้อนให้เราเห็นตนเองชัดขึ้น ซึ่งเป็นเบื้องต้น การละบาป หรือ ความหลงติดทั้งปวง

สองมือของตนทำกุศลถ้วนทั่วไม่ได้ ฉะนั้นอยู่ร่วมอย่างเอามือมาให้ เอาใจมาร่วมนี่แหละ จะเอื้อเราบำเพ็ญกุศลให้ถึงพร้อมได้

และเพียงหนึ่งสมองกับสองมือตน บุคคลจะรู้ซึ้งถึงความใจดำไม่ง่าย เปลืองกล่าวไปไย ถึงชำระให้ขาวสะอาด ฉะนั้น อยู่ร่วมมิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี นี่แหละ ที่จะทำให้เรารู้ซึ้งถึงความใจดำ มีเรื่องเร้ามโนธรรมให้รักอุทิศ และมีช่องทาง ชำระจิตให้ขาวรอบได้

แน่นอน! ต้องอดทน ซึ่งต่างกับความอดทนบนเส้นทางเดียรถีย์ผู้ยินดีในการสนองภพ แน่นอน....เพราะความอดทนบนเส้นทางของพุทธ คือ อยู่ในหมู่มนุษย์ อย่างเกื้อกูล และตั้งมั่นไม่หวั่นไหวด้วยนิวรณ์ธรรมใดๆ

เชื่อมิใช่หรือที่พระพุทธองค์ตรัส เหตุแห่งการหาทรัพย์ได้เสมอด้วยความอดทนมิได้มี และพึงเข้าใจให้ดีให้ได้ว่า ทรัพย์แท้ มิได้มีอยู่นอกหมู่มนุษย์ และในหมู่มนุษย์ ที่เราร่วมอยู่ อย่างเป็นผู้เกื้อกูล ย่อมเป็นเบ้าหลอมบ่มเคี่ยวสติ ปัญญา เมตตา สัปปุริสธรรมให้เติบโตในตน กล่าวให้ง่ายว่า จะเก่ง ดี มีประโยชน์คุณค่า ต้องดำเนินรอยทางเดียวกับพระศาสดา คือ แสวงหาการเกื้อกูล

อาจไม่ง่าย เพราะอยู่กับคนไม่เหมือนต้นไม้ แต่วิถีนักศึกษาโลกุตระเป็นเช่นนี้ ซึ่งจะทำให้เราได้ทำในสิ่งที่คนอื่นทำได้ยาก ได้ทนในสิ่งที่คนอื่นทนได้ยาก ได้สละในสิ่งที่คนอื่นสละได้ยาก เยี่ยงนี้แล้วเราจึงจะได้สิ่งที่คนอื่นได้โดยยาก กล่าวคือ ความรู้อันลึกซึ้ง ความสงบอันลึกซึ้ง และความรักอันลึกซึ้ง หรือภาษาศาสนาเรียกว่า นิพพาน

ดังนั้นแม้ไม่ง่าย แต่หากเป็นผู้ใฝ่ศึกษาโลกุตระวิทยาจริงแล้ว ต้องอยู่ร่วมกันให้ได้ และบทเรียนในโลกบอกสอนให้เรารู้ว่า หากประสงค์อยู่ร่วมกัน อย่างสมานสามัคคี เราต้องมีศัตรูร่วมกัน ...ไม่! ไม่ใช่ใครคนนั้น แต่เราหมายตามพระบรมครูโดยนัยที่ว่า ทุกข์เป็นภัยใหญ่ในหมู่มนุษย์ อวิชชา เป็นศัตรูร้ายที่สุด

เชื่อว่าหากผองเราเห็นความทุกข์เป็นภัย เห็นอวิชชาเป็นข้าศึกที่ยิ่งใหญ่ร่วมกันเช่นนี้ การวิวาทบาดหมางย่อมลดลง ความรัก ความปรารถนาดี จะมีให้กันมากขึ้น ที่สำคัญเราจะไม่หักนิ้วครูบาอาจารย์ หรือเพื่อนนักศึกษาที่ชี้บอกหรือสะท้อนให้เห็นอวิชชาหรือกิเลสตัณหาในตน ทั้งยังจะขอบคุณ และเข้าข้าง ผู้ช่วยชี้บอก เพื่อร่วมมือกันกำจัดข้าศึกศัตรูที่สิงสู่อยู่ในตัวด้วยซ้ำ ... นี่เป็นประโยชน์ใหญ่ในการอยู่ร่วม

ทั้งเป็นนัยที่ต้องเข้าใจเป็นเบื้องแรกให้ได้สำหรับนักศึกษา มิเช่นนั้นอาจกลายเป็นผู้เห็นอวิชชา กิเลส ตัณหา หรืออัตตาเป็นตน แล้วคอยปกปักพิทักษ์มันไว้ ซึ่งหากเช่นนี้ แม้ศึกษาปฏิบัติไปนานปานใด.... ไม่รุ่ง!

เมื่อเลือกแล้วที่จะเป็นนักศึกษาสังคมพุทธ การอยู่ร่วมเป็นเรื่องไม่ควรเลี่ยง และเพื่ออยู่ร่วมจะมีความหมาย นักศึกษาทั้งหลายควรตระหนักงามวลีนี้ไว้ ...เพียงบุปผาคลี่บาน จักรวาลก็สั่นไหว

หมายความว่า ทุกบทบาทพฤติกรรมที่แสดงออก มีผลกระทบทั้งสิ้น เราสมควรตระหนัก สร้างสรร กำนัลกุศลแด่ผู้คนเป็นอาจิณ ซึ่งความที่กล่าวแล้ว มีวาทะพระศาสดา รับรองที่ว่า ชีวิตเราเนื่องด้วยผู้อื่น ควรทำตนให้เป็นคนเลี้ยงง่าย และกายกรรม วจีกรรมที่ดีกว่านี้ยังมีอยู่อีก ฯลฯ

คำความเหล่านี้หากไม่เห็นสำคัญ ไม่จัดสรรตนตาม เชื่อเลยว่าเราเลี่ยงการเป็นแบบอย่างสร้างบาปมิได้แล้ว ยิ่งอยู่ในหมู่คน บาปอกุศลยิ่ง แพร่เชื้อได้ไกล และเราต้องแบกรับ วิบากบาปสักเท่าไร?

จริงอยู่ การทำดีหรือกุศลไม่ง่าย แต่อย่างไรชีวิตต้องผ่านการกระทำ มีกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม เมื่อเป็นเช่นนี้ควรมิใช่หรือที่ทุกกิจกรรม ทุกคำกล่าว ทุกเรื่องราวที่เราคิด แม้ที่สุดทุกขณะจิตแห่งชีวิต... เราควรทำดี ให้ดีที่สุด เก่งที่สุด เป็นประโยชน์คุณค่ามากที่สุด

เราควรพูดดี ให้ดีที่สุด เก่งที่สุด เป็นประโยชน์คุณค่ามากที่สุด

เราควรคิดดี ให้ดีที่สุด เก่งที่สุด เป็นประโยชน์คุณค่ามากที่สุด

ซึ่งเป็นทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านโดยแท้

และธรรมดา อยู่ร่วมกับผู้คนย่อมส่งผลเป็นสอง คือเป็นที่ชื่นชอบหรือชิงชัง ยังอารมณ์ชื่นหรืออารมณ์ช้ำให้เกิด จริง...นักศึกษาควรเป็นที่ชื่นชม มีอารมณ์แช่มชื่น แต่ไม่ง่าย เพราะในบางกรรมที่ทำ แม้นักศึกษาไม่ผิดจริงก็อาจเป็นที่ผิดใจได้ แม้ดีจริงก็ยังเป็นที่หมั่นไส้ได้ ที่สำคัญตนเองนั่นแหละ กว่าจะเข้าตากรรมการ ประมาณสัปปุริสธรรมได้ดี นี่สิยาก ...ต้องฝ่าฟัน และเหล่านี้คือโจทย์เพื่อทำใจ แม้จัดจ้านปานใดก็สมควรอารมณ์ดีให้มากไว้

โบราณยังเคยปลอบ คนรักเท่าผืนหนัง คนชังเท่าผืนเสื่อ ซึ่งจริงแท้แค่ใดควรตรวจสอบภาษิตนั้นดู และรู้ไว้ด้วยว่า... แม้พระพุทธองค์ทรงทศพล ก็ใช่ว่าทุกคนจะยอมรับ เราควรดับธุลีหมองแห่งใจเรียกร้องการยอมรับให้สิ้น พร้อมเพียรพัฒนาปรีชาญาณอยู่เป็นอาจิณ ซึ่งหากเขาไม่ยอมรับ เราก็สบายใจ เขายอมรับ ประโยชน์ท่านของเราก็ยิ่งใหญ่ ...รู้ไม่ใช่หรือ...ผู้มากบารมีใช่เพียงอยู่เฉยๆ ก็ได้มา แต่วิริยะและปัญญา นำมาซึ่งบารมี

โดยจริงก็มีส่วนดีที่มีคนยอมรับบ้าง ปฏิเสธบ้าง กับคนยอมรับก็ไม่ควรเหลิงใจไปลุ่มหลง กับผู้ปฏิเสธก็ไม่ควรแหนงหน่ายคลายปรารถนาดี ยิ่งเป็นผู้ใหญ่ หากถือสาผู้เยาว์ เมตตาและปัญญาบารมีจะเพิ่มได้แต่ไหน

ดังนั้นควรยิ่งที่เราจะตอกย้ำเตือนตนให้รู้จักวางใจกับผู้ไม่เข้าใจ และอภัยกับทุกผู้ทุกคน ฝากปัญญาภาษิตบทนี้ ไว้เป็นเครื่องนำทาง สร้างสุขในการอยู่ร่วม อีกหนึ่งบท....

ไม่มีความเจริญในธรรมหรืออรหัตผล แด่คนผู้ไม่รู้จักอภัย เพียงใจรู้แจ้งไฟโทสะ การละก็สมควรยิ่งแล้ว

เพราะอภัยจึงอบอุ่น เพราะอภัยจึงยิ่งใหญ่ เพราะอภัยจึงหนักแน่นสุขุมภายใน เพราะอภัยปัญญาญาณจึงพัฒนาการยิ่งๆ ขึ้นไป

อภัยเถิด อภัยทุกวินาที อภัยทุกชีวิต อภัยไปตลอดโลก แล้วเราจะเป็นอโศกอย่างแท้จริง

จริงเท็จแค่ไหน เชิญพิสูจน์ทดสอบไป และเพื่อง่ายต่อความสบายใจ รู้ไว้เถอะว่า โลกนี้มีความถูกแค่สองเท่านั้นคือถูกจริงกับถูกใจ เช่นกัน ความผิดก็สองนัย คล้ายนั้นคือผิดจริงกับผิดใจ

ถูกใจใคร หากไม่ใช่สัจจะ คุณค่าความหมายย่อมไม่มากและอาจไม่มี กับที่มีแม้ให้ความรู้สึกเหมือนดี แต่โดยคุณค่าความหมายที่แท้...ไม่ดีแน่!

ส่วนผิดใจใคร หากเป็นไปด้วยสัจจะ แม้โลกยังไม่นอบน้อมยอมรับ แต่ใจผู้ดำเนินไปด้วยสัจจะ ก็ได้ลิ้มลองรสชาติแห่งสัจจะหรือความถูกจริง แล้วจริง...

แต่แม้เข้าใจตนถูกต้องตรงจริงแล้ว ก็อย่าด่วนเหลิงใจไป ในฐานะนักศึกษา หากยังไม่จบกิจรับโลกุตระปริญญา ควรตอกย้ำเตือนตนไว้เสมอๆ เถอะว่า...

ตราบยังไม่พ้นปลักแห่งความหลง บุคคลไม่พึงอวดทระนง

การบรรลุความดีไม่ง่ายเหมือนล้างก้น

แม้ความเก่งก็ประหนึ่งร้านเช่า ที่เรายังซื้อไม่ได้

มีเพียงความเป็นอเสขะบุคคลเท่านั้น ที่บรรลุความดีอย่างคงมั่น เป็นคนเก่งไม่กลับแพ้

จงนอบน้อม หนักแน่น และเอาจริงในสิ่งประสงค์เถิด สุขในการสร้างสรรสวรรค์ นิพพาน และวิญญาณเสรี จงเกิดมีแด่นักศึกษาทุกผู้ที่อยู่ร่วมสังคมพุทธ

ปรารถนาดีจาก..........ส.ร้อยดาว

(หนังสือ ดอกหญ้า อันดับที่ ๙๔ หน้า ๕๘-๖๒)