รอบบ้านรอบตัวย
อุบาสก ชอบทำทาน
ศึกษาอารมณ์:
บทเรียนที่ ๒ ของการเจริญสติปัฏฐาน
ณ วันนี้ ปัญหาต่างๆ
ที่เกิดขึ้นในสังคม ที่ทยอยตกหล่นลงมา ราวกับเม็ดฝนบนฟากฟ้า
เราตื่นเต้นวิตกกังวลกับปัญหาเศรษฐกิจ
สังคม การเมือง การศึกษา ปัญหาครอบครัว ปัญหายาเสพย์ติด ปัญหาๆ...ฯลฯ
หากเฉลียวใจสักนิดก็น่าจะได้คิดกันนะครับว่า
นั่นคือปรากฏการณ์ ที่ตาเห็น เหมือนก้อนน้ำแข็ง ที่ลอยเท้งเต้ง อยู่เหนือน้ำ
แล้วที่หนักใจน่ะ แค่ ๑ ส่วนเท่านั้น ที่อยู่ใต้น้ำยังมีอีก ๙ ส่วน
!
ความจริงซีกทางศาสนาพยายามจะเตือน
จะบอกตลอดเวลา แต่ก็เหมือนเสียงนกเสียงกา
วันนี้จึงเลวร้ายกว่าที่คิด
แก้ปัญหาอย่างไร ก็เหมือนกลุ่มด้าย ที่พันยุ่งเหยิง ตราบใดที่ไม่สาว
หาหัวด้ายให้เจอก่อน เราก็จะไม่มีทาง แก้ได้สำเร็จ
ครับ กำแพงที่แข็งแกร่ง
ย่อมหมาย ถึงก้อนอิฐ แต่ละก้อนที่ก่อ มีคุณภาพ จะลองให้คะแนนก้อนอิฐ
บนกำแพง สังคมไทยมั้ยครับว่า มีคุณภาพ มีมาตรฐานขนาดไหน
วิชาการทางศาสนาจักรมุ่งเน้นให้มนุษย์เราก้มมองที่ตัวเอง ศึกษาตัวเองก่อนเพื่อน
แต่กระแสโลกาภิวัตน์ กลับเป็น กระแสน้ำป่า ที่พัดพาชีวิต ให้ห่างจาก
แก่นแท้ของชีวิต
วันนี้จึงไม่ใช่ปัญหาแค่ระบบหรือองค์กร
แต่ชีวิตปัจเจก ชีวิตของเราแต่ละคนต่างหากที่...
ไม่รู้จักตัวเอง ไม่รู้จักสาระของชีวิตไม่รู้จักอะไรคือคุณธรรมประจำตน
ไม่รู้จักเกณฑ์มาตรฐานของชีวิตไม่รู้จัก ความสำคัญ ของศีล
ครับ คนเป็นโรคประสาท
คนเป็นบ้า ไม่สบาย เจ็บป่วย เป็นโรคร้ายสารพัด เป็นโรครายวันสารเพ
คนมีปัญหาชีวิตเพราะขาดความ
เข้าใจตัวเอง ขาดความเข้าใจคนอื่น มีแต่เรียกร้อง ให้คนปฏิบัติ แต่ยกเว้นตัวเอง
คร่ำครวญ แต่ความร้ายกาจ ของคนอื่น แต่ละเลย ความบกพร่องของตัวเอง
จิตวิญญาณโหยหาความปรารถนาดี
ความเป็นที่รัก จากคนรอบข้าง และ ฯลฯ เหล่านี้เป็นปัญหาใหญ่มากนะครับ
เพราะเป็น นรกในปัจจุบัน
วันนี้ ถ้าใครทุกข์กับชีวิต
มากๆ ลองตั้งสติสักนิด ถามใจ ตัวเอง ปัญหาอยู่ที่คนอื่น หรือเป็นเพราะเราเองกันแน่
ผมคิดว่า หลายๆ คนคงไม่เคยถามตัวเอง
!
ทุกวันนี้ เราเน้นการศึกษา
ยั่งยืน การศึกษาตลอดชีวิตก็จริง แต่ การศึกษาตัวเอง นี่แหละครับ ควรเป็นวิชาแรก
ที่น่าศึกษา
เขียนมาหลายครั้งแล้วนะครับ
ชื่นชมกับความตื่นตัว ของกรมสุขภาพจิต ที่มีกิจกรรมต่อเนื่อง สู่ภาคประชาชน
โดยเฉพาะ การรณรงค์ให้สังคมไทย พัฒนาอารมณ์ ด้วยการให้ข้อมูล E.Q.
(ความฉลาดทางอารมณ์) อย่างสม่ำเสมอ
ความรู้เท่าทันอารมณ์
ต่อให้ปัญหาหนักแสนหนัก เราก็จะร่วมกันฟันฝ่า ที่ร้ายก็จะกลายเป็นดี
ที่หนัก ก็จะได้เบาขึ้น
คนทะเลาะกันในบ้าน
ในหน่วยงาน ในสังคม ไม่ใช่เรื่องที่ดี เราทะเลาะเพราะเรา โง่ทางอารมณ์
เสียมากกว่า
!
E.Q. ฉบับกรมสุขภาพจิต
อธิบายไว้ หมายถึงความสามารถทางอารมณ์ ในการดำเนินชีวิต ร่วมกับผู้อื่นอย่างสร้างสรร
และมีความสุข ซึ่งจะต้องมีคุณสมบัติ ๓ ประการ คือ ดี-เก่ง-สุข
ดี หมายถึง ความสามารถในการควบคุมอารมณ์
และความต้องการของตนเอง รู้จักเห็นใจผู้อื่น และมีความรับผิดชอบ ต่อส่วนรวม
เก่ง หมายถึง ความสามารถในการรู้จักตนเอง
มีแรงจูงใจ สามารถตัดสินใจ แก้ปัญหา และแสดงออก ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รวมไปถึง การมีสัมพันธภาพ ที่ดีกับผู้อื่น
สุข หมายถึง ความสามารถในการดำเนินชีวิตอย่างเป็นสุข
มีความภูมิใจในตนเอง เพราะเห็น คุณค่าของตน มีความพึงพอใจในชีวิต เพราะเป็นคนมองโลกในแง่ดี
พอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ และมีความสงบทางใจ เพราะรู้จัก ผ่อนคลาย
โดยสรุปรวม ภาพของ
ดี-เก่ง-สุข ก็คือควบคุมตัวเองได้ เข้าใจผู้อื่นเสมอ และพอใจในสิ่งที่มีอยู่
เราสรุปกันง่ายๆ ก็จริงนะครับ
แต่ในร้อยคน จะมีกี่คนที่ทำได้ คำตอบก็คือ ไม่ยาก ยังมีอีกหลายคน ที่เขาทำได้
ทำเป็น และทำอยู่ คนที่ช่างทุกข์มากๆ คงต้องพิจารณาตัวเองนะครับว่า
ใครเป็นตัวปัญหา นกมองไม่เห็นฟ้า ปลา ไม่เห็นน้ำ ไส้เดือนไม่เห็นดิน
คติธรรม ของหลวงปู่พุทธทาส ถ้าตีแตก ก็จะพบความสว่างโพลง อยู่ภายในนะครับ
!
การศึกษาตัวเอง เป็นการศึกษาใกล้ตัวที่สุด
ยิ่งกว่าวิชาใดๆ ลงทุนก็แสนน้อย ค่าเล่าเรียนก็แสนถูก ซึ่งตรงกันข้าม
กับวิชาที่ไกลที่สุด คือ ดาราศาสตร์ ! ความจริง มนุษย์ก็คือ ดวงดาวดวงหนึ่งเหมือนกัน
แต่เป็นดวงดาว ที่มีเส้นทางโคจร อันยุ่งเหยิง
การหันมาศึกษา หันมาจัดการกับตัวเอง
ก็เหมือนเราเริ่มมาจัดระบบ ระเบียบชีวิตให้เรียบร้อย เพื่อที่จะเกิดพลังชีวิต
ที่แข็งแกร่ง
ผมคิดถึงการสร้างแม่เหล็ก
นั่นก็คือการหาทางจัดการ ให้โมเลกุล ของเหล็ก เรียงให้เป็นระเบียบ
มนุษย์เรา ก็เป็นแท่งก้อน ที่สร้างสะสม พลังแม่เหล็ก ในอีกรูปแบบหนึ่ง
ได้อย่างยอดเยี่ยม เหมือนกันครับ มีพลังเพื่อคุ้มครองตัว เพื่อป้องกันพลังร้าย
ที่จะเข้ามากล้ำกราย
การศึกษาตัวเอง ความจริง
ก็คือ เรื่องสติปัฏฐาน เป็นทฤษฎีชีวิตที่เหนือชั้นกว่า กฎแห่งแรงโน้มถ่วงของเซอร์ไอแซค
นิวตัน
กฎแห่งสติปัฏฐาน มิใช่ตีความแค่กาย-เวทนา-จิต-ธรรม
แบบที่เขาปฏิบัติกันทั่วไป ไม่ผิด แต่ก็ไม่ถูก ทั้งหมดครับ
สติปัฏฐานจึงมีหลายมิติในการปฏิบัติ
โดยขึ้นอยู่กับเจ้าตัวด้วยว่า อะไรน่าจะเป็นกรรมฐานของเขา
กาย ไม่ใช่ร่างกาย
ไม่ใช่ตับไต ไส้พุง กระดูก เลือด เนื้อ แค่นั้น กายยังหมายถึง ก้อนวัตถุที่สำคัญว่า
ชีวิตยังต้องมี ต้องเป็น
บุหรี่ เหล้า ยาเสพติด
ก็เป็นกายของคนบางคน อบายมุข กามคุณ รูปรส กลิ่น เสียง ก็เป็นกายของคนบางคน
สัมมาทิฏฐิ จึงเป็นประธานของการปฏิบัติ
เมื่อชัดเจนว่า กายนี้ (บุหรี่ เหล้า ยาเสพติด ฯลฯ)ไม่ใช่กายจริง สักหน่อย
เราก็จะไม่จริงจัง ไม่บ้าเลือด ทำท่าจะตายหรือขาดไม่ได้
รู้จักกายหยาบๆ ให้ชัด
รู้จักกายนอกกายให้ใส แล้วเริ่มฝึกฝน ทดลองพราก จากดูบ้าง จากกายหยาบๆ
กระเถิบมารู้จัก กายที่ละเอียดขึ้น อารมณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะโกรธ เกลียด
อาฆาต คับข้อง โศกเศร้า ก็เป็นกายเหมือนกัน พิจารณาให้ชัด กายเหล่านี้เป็นอุปาทาน
เราสร้างเอง เราหลงติดยึด ต้องหาทางกำจัด ให้หมดไป ฐานนี้จึงเริ่ม
ศึกษาอารมณ์ นี้จึงเป็นเหตุผล ที่เขียนหัวเรื่องว่า เป็นสติปัฏฐานก็จริง
แต่เป็นบทที่ ๒ แต่ใครจะฝึกฝน ปฏิบัติบทที่ ๑ และ ๒ ไปพร้อมๆ กันก็ยิ่งดี
ไม่มีปัญหา
หรือจะเพิ่มบทที่ ๓
พิจารณากายแบบแยก สิ้นส่วน ชำแหละเป็นอย่างๆ ไป ก็เป็นสิ่งช่วยเสริม
จะกลัวก็แต่นักปฏิบัติ ที่ขี้เกียจ และติดนิสัย เล่นหวย ชอบทำอะไรแบบง่ายๆ
ลงทุนน้อยๆ แต่หวังรางวัลที่ ๑ ! พิจารณาแต่บทที่ ๓ บทเดียว ก็ไปไม่รอดหรอกครับ
!
การปฏิบัติสติปัฏฐาน
หรือการศึกษาความเป็นกาย-เวทนา-จิต-ธรรม ก่อเกิดอานิสงส์ มากมายมหาศาล
ข้อ ๑ ฝึกชีวิตให้สงบขึ้น
มีกฎเกณฑ์ มีระบบระเบียบของชีวิต ซึ่งแต่ก่อน ไม่เคยมี
ข้อ ๒ ฝึกฝนอริยสัจ
๔ ไป ในตัว เห็นทุกข์ ค้นหาสมุทัย หาทางดับทุกข์ เรามีบทปฏิบัติอยู่แล้ว
ข้อ ๓ รู้จักสิ่งใดเป็นกุศล
เป็นอกุศล
ข้อ ๔ เราจะชัดเจนในกฎไตรลักษณ์
เพราะถ้าติดยึดมัวเมา แล้วปล่อยวางได้ ที่เร่าร้อนก็เย็นได้ การประจักษ์แจ้ง
กฎไตรลักษณ์ จึงเกิดจาก การปฏิบัติของตัวเอง โดยตรง
บทเรียนสติปัฏฐาน หาก
ดำเนินไปอย่างมีลำดับชั้น มีเบื้องต้น-ท่ามกลาง แล้วก็จะต้องศึกษาวัตถุ
(ที่อยู่นอกตัว) ก่อน และศึกษาอารมณ์ (ที่อยู่ในตัว) เป็นลำดับต่อมา
ปัญหาของผู้ปฏิบัติบางคน
ไม่ได้ผลเท่าที่ควร ก็เพราะละเลย บทปฏิบัติที่ ๑ นั่นเอง
ของกู หยาบกว่า ตัวกู
จัดการกับ ของกู เราจะมีวุฒิภาวะพอที่จะเล่นงาน ตัวกู ได้
เครื่องมือที่จะคีบหรือจัดการกับกิเลส
ก็คือ ศีล ศีลจะเป็นตัวปฏิบัตินะครับ ไม่ใช่เป็นผลพลอยได้ เหมือนพระอาจารย์
บางท่าน ที่พยายามอธิบาย การนั่งสมาธิว่า มีศีลไปในตัว ศีลต้องเป็นผลโดยตรง
ไม่ใช่ผลข้างเคียง ! เหตุที่ใช้ศีล เป็นเครื่องจัดการชีวิตนั้น มีดังนี้ครับ
๑. เป็นข้อบังคับที่เป็นรูปธรรมเด่นชัด
๒. นำความดี-ความชั่ว มาเป็นเกณฑ์วัดมาตรฐานของชีวิต
๓. เป็นการนำวิธีคิด ใจเขา-ใจเรา มาปฏิบัติ
๔. ตัวเองสงบมีความสุขได้อย่างไร ขณะที่ยังมีพฤติกรรม ทำให้คนอื่นเดือดร้อน
ในชีวิตประจำวัน
การปฏิบัติสติปัฏฐานนั้น
จึงสามารถสร้างอิทธิปาฏิหาริย์ ให้แก่ชีวิตมากมายเลยครับ
เราจะหูทิพย์ เพราะเรารู้ความต้องการที่แท้จริงของเขา
เพราะเราเข้าใจเขา เพราะเราใช้ใจฟัง
เราจะตาทิพย์ เพราะเราไม่ตกอยู่ในบ่วงอารมณ์ เรามองคนอื่นอย่างเข้าใจ
เห็นใจ
เราจะเหาะเหินเดินอากาศได้ เพราะเราไม่ถือสาโกรธเคืองใคร
เราจะดำดิน ดำน้ำ โผล่ไปได้ทั่วสารทิศเพราะเราแก้ปัญหาได้ง่ายกว่าคนอื่น
ตามหลักสุภาษิตจีน
รู้เขา-รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง !
ครับ ทั้งหมดก็คือปาฏิหาริย์แห่งพุทธธรรม
ฟังดูแล้ว ยิ่งใหญ่เหลือเกินนะครับ อยากจะเห็นผล คงต้องมาทำเวิร์คช็อบ
แล้วลงมือปฏิบัติ ! ปรับกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ด้วยการฝึกฝน อดทนและ
รอคอย โดยใช้หลัก ไตรสิกขา เป็นแนวทาง คือ สิ่งที่ไม่ดี เราจะแก้ไข
(ละชั่ว) สิ่งที่ดีเราจะทำให้มากขึ้น (ประพฤติดี) และจะทำจนไม่ฝืนใจ
อีกต่อไป (ทำจิตใจให้บริสุทธิ์)
(หนังสือ
ดอกหญ้า อันดับที่ ๙๕ หน้า ๔-๑๑)
|