ชะล้างความโกรธ (จุลลโพธิชาดก)


มี ภิกษุรูปหนึ่ง แม้บวชอยู่ในพระพุทธศาสนาแล้ว แต่ก็ไม่ได้ฝึกฝนกดข่มกิเลสความโกรธไว้ จึงเป็นคนมักโกรธ มากไปด้วยความแค้นเคืองเสมอ เพียงแค่ถูกกล่าวว่าเล็กน้อย ก็ถึงกับขุ่นแค้นโกรธ มุ่งร้ายหมายขวัญผู้อื่นเสียแล้ว

พอ พระศาสดา ทรงทราบเรื่องนี้ ได้รับสั่งเรียกภิกษุนั้นมาแล้วตรัสถามว่า

ดูก่อนภิกษุ ได้ยินว่าเธอเป็นคนมักโกรธจริงหรือ

จริงพระเจ้าข้า

ดูก่อนภิกษุ ขึ้นชื่อว่าความโกรธเธอควรห้ามใจไว้ เพราะความโกรธไม่ทำประโยชน์ให้ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า นี่เธอมาบวชในศาสนาของเรา ผู้ไม่มีความโกรธแล้ว เหตุใดจึงจะยังโกรธอยู่อีกเล่า แม้บัณฑิตทั้งหลายในโบราณกาล ได้บวชแล้วในลัทธินอกพุทธศาสนา ถูกข่มเหงรังแก ก็ยังไม่ทำความโกรธเลย

แล้วพระศาสดาก็ทรงนำเรื่องราวนั้นมาตรัสเล่า

ในอดีตกาล มี พราหมณ์ตระกูลหนึ่ง อยู่ในนิคมของชาวกาสีแห่งหนึ่ง เป็นพราหมณ์ที่มั่งคั่งทรัพย์สมบัติมากมาย โดยมีทารกน้อย ผู้เป็นทายาทสืบสกุล เพียงผู้เดียวชื่อว่า โพธิกุมาร

ครั้นโพธิกุมารเติบโตเจริญวัย บิดามารดาส่งเขาไปสู่เมืองตักกสิลา ให้ศึกษาเล่าเรียนศิลปะทุกสาขา กระทั่งสำเร็จวิชาแล้วจึงกลับมาอยู่บ้านของตน

จากนั้นบิดามารดาได้จัดหาสาวงาม ที่มีชาติตระกูลเสมอกันให้แต่งงานด้วย เขาจึงจำใจมีคู่ครอง ทั้งที่ไม่มีใจ ปรารถนาเลย แม้ภรรยาของเขา ก็จำใจแต่งงานด้วย เช่นเดียวกัน เพราะทั้งสอง ต่างก็ไม่ปรารถนา มีชีวิตครองเรือน ไม่มีความฟุ้งซ่าน ในอารมณ์กาม ได้อยู่ร่วมกันฉันพี่น้อง แลดูกันและกัน อย่างปราศจากอำนาจราคะ ขึ้นชื่อว่า การเสพเมถุน ไม่เคยมีแม้ในฝัน ทั้งสองใช้ชีวิตเป็นอยู่ร่วมกัน อย่างผู้มีศีลบริสุทธิ์แล้ว

ต่อมา....ทั้งบิดามารดาได้ถึงแก่กรรม เมื่อจัดงานศพเสร็จเรียบร้อยดีแล้ว โพธิกุมาร ตัดสินใจ บอกกับภรรยาว่า

น้องของพี่ เธอจงครอบครองสมบัติทั้ง ๘๐ โกฏิ(๘๐๐ ล้าน)นี้ แล้วเลี้ยงชีวิตอยู่ ให้สุขสบายเถิด พี่ไม่ต้องการทรัพย์ใดๆ อีกแล้ว พี่จะออกบวช

นางได้ฟังดังนั้น รีบถามทันทีว่า "ก็การบวชนั้น เหมาะควรแก่ผู้ชายเท่านั้นหรือพี่"

"การบวชแม้เป็นหญิงก็สมควร"

"ถ้าอย่างนั้น น้องก็ไม่ต้องการกองสมบัติทั้งปวง ที่เป็นเสมือนก้อนน้ำลายที่พี่ถ่มทิ้งไว้ น้องปรารถนาจะได้บวชบ้าง"

"สาธุ! ดีแล้ว"

ทั้งสองจึงสละทรัพย์สมบัติทั้งหมด ทำบุญ ให้ทานเป็นการใหญ่ แล้วออกจากเมืองเข้าไปสู่ป่าแห่งหนึ่ง บวชเป็นดาบส (นักบวชฝ่ายชาย ผู้บำเพ็ญตบะ เผาผลาญกิเลส) และ ดาบสินี (นักบวชฝ่ายหญิง) สร้างอาศรมอาศัยอยู่ในป่า ที่น่ารื่นรมย์นั้น บำเพ็ญเพียร อยู่ด้วยความสุข ในการบวช จนถึง ๑๐ ปีเต็ม

วันหนึ่ง ทั้งสองได้ออกจาริกไปในชนบทต่างๆ จนกระทั่งถึงกรุงพาราณสี ได้แวะพักอาศัยที่พระราชอุทยาน วันนั้นเอง พระเจ้ากรุงพาราณสี ได้เสด็จชมพระราชอุทยานอยู่ พร้อมด้วยเหล่าบริวารติดตามเป็นจำนวนมาก

เมื่อเสด็จประพาสถึงที่พักของดาบสและดาบสินี ได้ทอดพระเนตรเห็นดาบสินี ผู้มีรูปร่างหน้าตางดงามยิ่งนัก ถึงกับบังเกิด พระทัยปฏิพัทธ์ หวั่นไหว ด้วยอำนาจกิเลสกามตัณหา จึงทรงถามกับโพธิดาบสว่า

"ข้าแต่ดาบสผู้เจริญ ดาบสินีนี้เป็นอะไรกับท่าน"

"มหาบพิตร เมื่อครั้งเป็นคฤหัสถ์ ดาบสินีนี้ได้เคยเป็นภรรยาของอาตมา แต่บัดนี้ ไม่ได้เป็นอะไรกันแล้ว เป็นเพียงนักบวช ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ เช่นเดียวกันเท่านั้น"

พระราชาทรงรับฟังเช่นนั้น ทรงดำริว่า “ เมื่อมิได้เป็นอะไรกันแล้ว เราน่าจะพาเอานาง ไปยังพระราชวังของเรา แต่ดาบสนี้ จะยินยอมหรือ”

จึงทรงสอบถามโพธิดาบสไปว่า “ ดูก่อนดาบส หากมีใครมาพาเอาดาบสินี ผู้มีดวงตางดงาม ใบหน้ายิ้มแย้ม น่ารักนี้ ไปด้วยกำลัง ท่านจะทำอย่างไรเล่า”

"ถ้าความโกรธเกิดขึ้นแก่อาตมา แล้วยังไม่เสื่อมคลายไป ตราบยังมีชีวิตอยู่ ก็ยังไม่หาย อาตมาจะห้ามกั้น ความโกรธ นั้นเสีย โดยพลันทีเดียว ดุจดังฝนห่าใหญ่ ตกลงชะล้างธุลี ฉะนั้น"

ทรงฟังถ้อยคำนั้นแล้ว พระราชาผู้ไม่อาจห้ามจิตปฏิพัทธ์ได้ ทรงขาดสติ กลายเป็นอันธพาล รับสั่งกับราชบุรุษว่า "จงนำเอาดาบสินีนางนี้ ไปยังพระราชนิเวศน์ของเรา"

ราชบุรุษนั้น แม้ไม่อยากกระทำ แต่ก็ขัดพระราชบัญชาไม่ได้ ตรงเข้าจับกุม พาตัวดาบสินีไป แม้นางจะคร่ำครวญ ขัดขืนก็ตาม ราชบุรุษนั้น ได้แต่นึกในใจว่า “พระราชา กระทำไม่สมควรเลย อธรรมกำลังเป็นไปในโลก”

ฝ่ายโพธิดาบสเห็นเช่นนั้นแล้ว แม้ได้ยินเสียงดาบสินีคร่ำครวญอยู่ เห็นเพียงครั้งเดียว ก็รีบหันหน้าไปทิศทางอื่นทันที มิได้เหลียวไปแลดูอีกเลย ภายในใจ มุ่งเตือนสติไว้ว่า

"หากว่าเราจะเข้าไปขัดขวางห้ามปราม อันตรายจะเกิดมีแก่ศีลของเรา เพราะจิตจะประทุษร้ายต่อคนเหล่านั้น"

จึงพยายามวางเฉยเสีย ระลึกถึงแต่จะบำเพ็ญศีลบารมีเพียงอย่างเดียว ฝ่ายพระราชาพาล มิได้รอช้าเลย รีบเสด็จ กลับสู่พระราชวัง แล้วรับสั่ง หานางดาบสินีนั้นมาทันที ทรงเสนอแต่งตั้งมอบยศอันยิ่งใหญ่ให้ แต่ดาบสินี ปฏิเสธ สิ้นทุกสิ่ง ทั้งยังกล่าวถึงโทษภัยของยศศักดิ์ และคุณประโยชน์ ของการออกบวช ที่ตนได้ละทิ้ง กองสมบัติ อันมหาศาลมาแล้ว

แม้พระราชาทรงใช้อุบายวิธีต่างๆ แต่ก็ไม่อาจจะผูกใจดาบสินีไว้ได้ เมื่อทรงหมดหวัง ที่จะสมดังพระทัย จึงได้ดำริว่า

"นางดาบสินีผู้นี้มีศีล มีกัลยาณธรรม (ธรรมอันดีงาม) ไม่ปรารถนาลาภยศใดๆ ไม่แสดงกิริยา อาการหยาบช้า ต่อเราเลย แม้ถูกฉุดคร่า นำตัวมาถึงที่นี้ ก็ตาม เราช่างกระทำผิด ต่อผู้มีคุณธรรมโดยแท้ ช่างไม่สมควรแก่เราเลย เอาเถิด! เราจะพาดาบสินีนี้ กลับไปยังอุทยาน แล้วจะขอขมาต่อทั้งสอง"

แล้วพระองค์ก็เสด็จไปพระราชอุทยานก่อน รับสั่งราชบุรุษ ให้นำดาบสินีติดตามไปภายหลัง เมื่อพระองค์ไปถึงแล้ว ทอดพระเนตรเห็นโพธิดาบส นั่งเย็บจีวรอยู่ จึงตรงเข้าหา หมายทดลองใจดาบสนั้น พอเข้าไปใกล้ ก็ตรัสถามขึ้นว่า

"ท่านดาบสผู้เจริญ วันนั้นเรานำเอาดาบสินีของท่านไป ท่านโกรธหรือไม่"

"มหาบพิตร เมื่อดาบสินีถูกฉุดคร่านำตัวไป ความโกรธได้เกิดขึ้น แต่อาตมามีสติ ระลึกถึงศีลวัตร (ข้อปฏิบัติในศีล) ได้พร้อมกับความโกรธที่เกิดขึ้นนั้น จึงข่มความโกรธ สลายลงได้ ณ ที่นั้นเอง ไม่ให้มันเกิดขึ้นได้อีก แม้ใครจะเอาหอก ที่คมกริบแทงใส่ ดาบสินีนั้น อาตมาก็จะไม่ยอม ทำลายศีลของตนเลย เพราะเหตุมุ่งหวัง ในพระโพธิญาณเท่านั้น

อาตมามิได้รังเกียจดาบสินี และทั้งมิได้ไม่มีกำลัง แต่เพราะพระสัพพัญญุตญาณ เป็นที่รักของอาตมา ฉะนั้น อาตมาจึงได้รักษาศีลเอาไว้"

พระราชาทรงสดับเช่นนั้น จึงคาดคั้นคำถามอีกว่า "เรื่องความโกรธ ท่านกล่าวอวดอ้างไว้ ในวันก่อนอย่างไรหนอ ท่านจำได้หรือไม่"

"มหาบพิตร อาตมาย่อมจำได้ดี ได้เคยกล่าวไว้กับพระองค์ว่า ถ้าความโกรธเกิดขึ้นกับอาตมา แล้วยังไม่เสื่อมคลาย ตราบยังมีชีวิตอยู่ ก็ยังไม่หาย อาตมาจะห้ามกั้นความโกรธนั้น เสียโดยพลันทีเดียว ดุจดังฝนห่าใหญ่ ตกลงชะล้างธุลี ฉะนั้น"

ด้วยเพราะปรารถนารู้ความนัยให้ชัดเจน พระราชาจึงทรงซักถาม โพธิดาบสยิ่งขึ้นกว่าเดิม "ความโกรธเกิดขึ้นแก่ท่าน แล้วยังไม่เสื่อมคลาย เป็นอย่างไร ตราบท่านยังมีชีวิตอยู่ ก็ยังไม่หายโกรธเป็นอย่างไร ท่านห้ามกั้นความโกรธ ดุจดัง ฝนห่าใหญ่ตกลง ชะล้างธุลีเป็นอย่างไรเล่า"

เมื่อเห็นเป็นโอกาสเหมาะดีแล้ว โพธิดาบสจึงได้ประกาศ โทษของความโกรธ ถวายแด่พระราชานั้น

"หากความโกรธเกิดขึ้นแล้วไม่เสื่อมคลาย บุคคลย่อมไม่เห็นประโยชน์ตน และประโยชน์ผู้อื่น แต่เมื่อความโกรธ ไม่เกิดขึ้น บุคคลย่อมเห็นได้ดี ในประโยชน์ตน และประโยชน์ผู้อื่น เพราะความโกรธ เป็นอารมณ์ของคนปัญญาทราม

ชนทั้งหลายตราบที่ยังมีชีวิตอยู่ แล้วยังไม่หายโกรธ ชนเหล่านั้น ยินดีด้วยความโกรธที่เกิดขึ้น ย่อมได้ชื่อว่า เป็นศัตรู กับตัวเอง หาความทุกข์ใส่ตน เพราะความโกรธ เป็นอารมณ์ ของคนปัญญาทราม

ผู้ที่ถูกความโกรธครอบงำแล้ว ย่อมละทิ้งกุศลทั้งปวง เขาย่อมซัดส่าย ขาดจากประโยชน์มากมาย มีแต่จะประกอบ ด้วยกำลัง กิเลสหมู่ใหญ่ที่น่ากลัว สามารถปราบผู้อื่น ให้อยู่ในอำนาจได้ นี่แหละ ความโกรธ เป็นอารมณ์ ของคน ปัญญาทราม

ความโกรธย่อมเกิดขึ้นแก่คนพาล คนโง่เขลาเบาปัญญา คนไม่รู้จริง มีแต่ความเอาชนะแข่งดี ก็เพราะ ถูกความโกรธ นั้นแหละเผาลนอยู่ เสมือนไฟ ย่อมเกิดขึ้นจากไม้สีไฟ ที่เขานำมาสีกัน ไฟเกิดขึ้นจากไม้ใด ย่อมเผาไม้นั้นเอง ให้ไหม้อยู่

ความโกรธเจริญงอกงามในผู้ใด ดุจไฟเจริญลุกลามในกองหญ้าและไม้แห้ง ผู้นั้นย่อมเสื่อมยศ เสมือนดวงจันทร์ ข้างแรม ฉะนั้น

หากความโกรธของผู้ใด ถูกกำจัดให้สงบลงได้ ดุจไฟที่หมดเชื้อ ผู้นั้นย่อมบริบูรณ์ด้วยยศ เสมือนดวงจันทร์ข้างขึ้น ฉะนั้น"

ครั้นพระราชาทรงฟังธรรมของโพธิดาบสแล้ว ทรงเคารพเลื่อมใสยิ่งนัก รับสั่งให้ราชบุรุษ นำดาบสินีมา แล้วทรงขอขมา ต่อทั้งสอง สุดท้าย ได้ตรัสนิมนต์ไว้ว่า

"ข้าแต่ท่านผู้เจริญทั้งสอง โปรดดำรงความสุข อันเกิดจากการบวช อยู่ในพระราชอุทยานนี้เถิด ข้าพเจ้าจะได้ คอยดูแล รักษา ปกป้องคุ้มครองให้ความเป็นธรรม แก่ท่านทั้งสองได้"

โพธิดาบสและดาบสินีก็ยอมรับคำนิมนต์นั้น แล้วพระราชาก็ทรงนมัสการลา เสด็จกลับคืนสู่พระราชวัง ทั้งสองนักบวช จึงบำเพ็ญเพียร อยู่ในพระราชอุทยานนั้นเอง ตราบจนกระทั่ง ดาบสินีถึงแก่มรณภาพ โพธิดาบสจึงย้ายไป พักอาศัย อยู่ในป่าหิมพานต์ กระทำ อภิญญา(ความรู้ยิ่ง) และสมาบัติ(สภาวะสงบอันประณีตยิ่ง) ให้บังเกิด เจริญพรหมวิหาร ๔ (เมตตา, กรุณา, มุทิตา, อุเบกขา) เมื่อสิ้นอายุแล้วก็ได้ไปสู่พรหมโลก


พระะศาสดาตรัสแสดงเรื่องราวในอดีตจบแล้ว ทอดพระเนตรเห็นภิกษุนั้น ตั้งใจพิจารณาธรรมดียิ่ง เหมาะควรแก่ มรรคผล จึงตรัสว่า

"พระราชาในครั้งนั้น ได้มาเป็นพระอานนท์ในบัดนี้ ดาบสินีในครั้งนั้น ได้มาเป็นพระนางพิมพาในบัดนี้ ส่วนโพธิดาบส ได้มาเป็นเราตถาคต"

แล้วทรงประกาศสัจธรรม ในเวลาที่จบสัจจะนั้นเอง ภิกษุผู้มักโกรธรูปนั้น ก็ได้ดำรงอยู่ในอนาคามิผลแล้ว

ณวมพุทธ
พุธ ๑๖ พ.ค.๒๕๔๔ (พระไตรปิฎกเล่ม ๒๗ ข้อ ๑๓๖๗ พระไตรปิฎกเล่ม ๓๓ ข้อ
๑๔ อรรถกถาแปลเล่ม ๕๙ หน้า ๘๑๕
อรรถกถาแปลเล่ม ๖๔ หน้า ๒๗๕)


พระพุทธองค์ตรัส
นพาลกล่าวคำหยาบด้วยวาจา
ย่อมสำคัญตนว่า เป็นผู้ชนะ
แต่ความอดกลั้นได้
เป็นความชนะของบัณฑิตผู้รู้แจ้งอยู่
ผู้ใดโกรธตอบแก่บุคคลผู้โกรธแล้ว
เพราะการโกรธตอบนั้นเอง
ผู้นั้นเป็นผู้หยาบช้าเลวทรามกว่าผู้โกรธแล้ว.

(พระไตรปิฎกเล่ม ๑๕ ข้อ ๖๓๖)

(หนังสือ ดอกหญ้า อันดับที่ ๙๕ หน้า ๑๔-๒๑)