หน้าแรก >[09] การสื่อสาร > การเผยแพร่ธรรมะ > ดอกหญ้า

วิธีปราบ - กำจัดหญ้าบางชนิด

ดอกหญ้า อันดับที่ 97 อุดม ศรีเชียงสา

 


การทำกสิกรรมธรรมชาติอีกแบบหนึ่ง ซึ่งกำลังถกเถียงกันอยู่ ในปัจจุบันนี้  คือ ไม่ไถพรวนดิน ไม่กำจัดวัชพืช บางท่านนำไปใช้ ก็บอกว่าได้ผลดี บางท่านบอกว่า ได้ยินชื่อ ก็แทบวิ่งหนี โดยเฉพาะ หากดินมีหญ้า จะปราบหญ้าอย่างไร จึงจะเกิด ประโยชน์ต่อดิน และพืชผัก มากที่สุด จากประสบการณ์ที่ผ่านมา  ถ้าหากดินที่มีหญ้า เราเอาฟาง ไปคลุมได้เลย  ถ้าคลุมฟางไม่ดี ไม่มิดชิด ปล่อยให้มีช่องว่าง ให้อากาศ และแสงแดด ส่องถึงพื้นดินได้ ส่วนมาก หญ้าจะไม่ตาย หญ้าบางชนิด โผล่จากฟาง ที่คลุมเอาไว้เพียง  2 เซนติเมตร ก็สามารถดำรงชีวิต เป็นเวลายาวนานได้  ยิ่งคลุมฟางไว้ โดยไม่ปลูกพืช อะไรลงไป ฟางก็จะเน่า  ย่อยสลายเป็นปุ๋ยชั้นดี เป็นอาหาร อันโอชะของหญ้า  และจะทำให้หญ้า เจริญเติบโตแข็งแรง  ส่วนมาก จะทำแบบนี้ เลยทำให้ หมดความหวัง หมดความเชื่อในทฤษฎี โอกาสที่จะเห็นแสงเรืองๆ ก็ริบหรี่ลง

วิธีปราบหญ้า ที่ได้ผลชัด คือ ถ้าหญ้าในสวนของเรา เกิดขึ้นมากมาย ให้ตัดออกให้เตียน หญ้าที่ตัดออกแล้ว เอาไปคลุมต้นตอ มันอีกทีหนึ่ง  ให้ทำในปลายฤดูร้อน ต้นฤดูฝน เสร็จแล้ว ปลูกพืชตระกูลถั่วลงไป  หรืออาจหยอด เมล็ดฟักทอง สลับลงไปบ้าง เมื่อถึงปลายฤดูฝน (ประมาณเดือน กันยายน -ตุลาคม) โดยถางต้นถั่วทิ้งให้หมด วิธีถาง หรือตัดต้นถั่ว อย่าถางมั่ว เพราะถ้าถางมั่ว เราจะต้องออกแรงมาก  เมื่อออกแรงมาก ก็จะเหนื่อย และถ้าหาก เหนื่อยมากๆ บางทีความคิดใฝ่ต่ำ ก็เกิดขึ้นได้ง่าย

ถามว่า วิธีปราบถั่วบางชนิดทำอย่างไร เหมือนปราบหญ้าไหม

ตอบ วิธีปราบถั่วง่ายมาก เพียงท่านหัดสังเกต และจดจำว่า ต้นถั่วอยู่ตรงไหน เมื่อจำได้แล้ว ก็ตัด ที่ต้นตอของถั่ว เพียงแห่งเดียว  ประมาณ 10-15 วัน ต้นถั่วก็จะเหี่ยวเฉา และเน่า  ให้แร่ธาตุไนโตรเจน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อดิน และพืชผัก เป็นอย่างมากทีเดียว  โดยเฉพาะต้นถั่ว ที่เราตัด จะเป็นปุ๋ยพืชสด ที่ดีที่สุด ส่วนต้นตอและรากหญ้าของต้นถั่ว จะทำให้ดินร่วนซุย อีกอย่างหนึ่ง ปมที่รากของพืชตระกูลถั่ว จะมีบักเตรี  โลไซเปียม (นักวิชาการบอกว่า จะทำให้ขบวนการ เปลี่ยนแปลงรูปของก๊าซ เป็นรูปสารประกอบ ไนเตรท ซึ่งก็คือปุ๋ยไนโตรเจนนั่นเอง)

เมื่อตัดต้นถั่ว เสร็จเรียบร้อยแล้ว  ถ้าหากอยากให้ดิน มีความอุดม สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น  ให้ท่านเอาฟาง ไปคลุมต้นถั่ว อีกทีหนึ่ง  หรือถ้าหาฟางไม่ได้ ให้เอาแกลบ ไปคลุมต้นถั่ว เสร็จแล้วรดด้วย น้ำจุลินทรีย์ สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ประมาณ 8-10 วัน ให้ดำเนินการ ปลูกพืชผัก ที่ต้องการได้เลย

วิธีปราบหญ้า ที่ดีที่สุดอีกอย่างหนึ่ง  คือปลูกพืชหมุนเวียนตลอดปี อย่าปล่อยให้ ผืนดินว่างเปล่า ยิ่งถ้าหากเรา ทำกสิกรรมธรรมชาติทุกปี  ความอุดมสมบูรณ์ของดิน และแร่ธาตุต่างๆ ก็จะเพิ่มขึ้นทุกปี  ยิ่งดินมีความอุดมสมบูรณ์  แต่ปล่อยให้ดินว่างเปล่า โดยไม่ปลูกอะไรเลย  หญ้าและวัชพืช ก็จะเกิดขึ้นมาแทนที่ สรุปให้ชัดเจนคือ ถ้าคิดไม่ออกว่า จะปลูกอะไร ก็ขอให้ปลูกถั่ว ท่านจะประสบ ผลสำเร็จในที่สุด

การปลูกพืชผักต้องคำนึงถึงฤดูกาลด้วย  เพราะจะทำให้ประหยัดต้นทุน และแรงงาน  แมลง และศัตรูพืช จะรบกวนน้อย ถ้าทำได้เช่นนี้ จะมีอยู่มีกิน ตลอดปี ประการสำคัญที่สุด เมื่อลงมือ ทำครั้งแรก อย่าทำมาก ให้ทำจาก พื้นที่ขนาดเล็ก ไปหาพื้นที่ขนาดใหญ่ อย่าทำจาก ใหญ่ไปหาเล็ก นั่นคือ ทำแบบ พออยู่พอกิน ถ้าหากเรา พออยู่พอกินแล้ว เทคนิค และยุทธวิธี ในการให้ และขาย ก็จะตามมาเองครับ

หญ้าคา
หญ้าคาเป็นพืชที่มีเหง้าอยู่ใต้ดิน ลำต้นตรง  และมีอายุยืนหลายปี  เหง้าของหญ้าคา จะเลื้อยคลานไปในดิน ทำให้ยาก แก่การกำจัด คนโบราณ เคยบอกว่า ใช้ไฟเผา ก็ยังปราบ หญ้าคาไม่ได้ หญ้าคาเป็นไม้เบื่อไม้เมา กับชาวไร่ชาวนา มาตลอด ขนาดใช้รถไถ ก็ยังเกิดอีก เป็นพืชที่ขึ้นอยู่ ตามป่าตามสวนทั่วไป  พืชชนิดนี้ ขยายพันธุ์โดยเหง้า และเมล็ดของมัน เมื่อแก่ ปลิวไปได้ไกลทีเดียว  ทำให้กระจายพันธุ์ ไปได้ไกล แม้สิ่งที่พูดมา จะชวนปวดเศียร เวียนหัว ขนาดไหน ท่านผู้อ่าน อย่าพึ่งถอนใจ  ตามธรรมชาติ ของทุกสิ่งทุกอย่าง มีทั้งส่วนดี และส่วนไม่ดี หรือ มีทั้งประโยชน์ และโทษ

ประโยชน์ของหญ้าคา
1.ราก-เหง้าของหญ้าคา  ให้แร่ธาตุไนโตรเจน, ฟอสฟอรัส, โปแทสเซียม  อย่างมากมาย เมื่อเราปราบ กำจัดได้แล้ว (อย่าเผา) ให้ปลูกพืชผักลงไป ตรงที่มีหญ้าคาเน่า อยู่นั้น พืชผัก จะเจริญเติบโต แข็งแรงดีมาก

2.ราก-เหง้า-ลำต้น-ใบ  ทำให้ดินร่วนซุย ทำให้ออกซิเจนลงไปในดิน ได้สะดวก ทำให้ไม่แน่น เป็นดินที่มีชีวิต และพลังงาน

3.มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับพืชตระกูลถั่ว  คือถ้าหากเน่า เป็นปุ๋ยแล้ว จะสามารถ ป้องกันเพลี้ย และ แมลงต่างๆได้

4.หญ้าคาเจริญเติบโตขึ้นในที่ใด   ที่นั้นส่วนมาก แมลงต่างๆ แทบจะไม่มีเลย   ยิ่งไปกว่านั้น พวกสัตว์ที่มีพิษ  เช่น งู ตะขาบ (สัตว์เลื้อยคลาน) จะไม่เข้าไปอาศัยอยู่ (เพราะหญ้าคา มีหน่อ ที่แหลมคมมาก)  ถ้าหากนำหญ้าคา ไปมุงหลังคาบ้าน หรือกระท่อม จะทำให้ปรับอากาศ ที่ร้อน หรือ เย็นเกินไป ให้มีอุณหภูมิ อบอุ่นพอดี

เป็นยาสมุนไพรชนิดหนึ่ง  ราก เหง้า ของหญ้าคา ผสมกับหญ้าแห้วหมู ในอัตราส่วน ที่เท่ากัน นำไปต้มกับน้ำร้อน ดื่มกินทุกวัน   แก้และป้องกันไข้  เมื่อมีอาการขัดเบา  โรคนิ่ว และ การอักเสบ ของกระเพาะปัสสาวะ

โทษของหญ้าคา
1. รกรุงรัง ชาวไร่ชาวนาส่วนมากไม่ค่อยชอบ

2. เมื่อนำไปมุงหลังคาบ้าน  หรือกระท่อม ไม่ค่อยทนทาน และถ้าหาก ดูแลรักษาไม่ดี อาจจะเกิดอัคคีภัย ก่อให้เกิดความเสียหาย แก่ทรัพย์สิน ของเราได้ง่าย

3. หน่อหญ้าคาแหลมคมมาก  ถ้าเดินเข้าไปโดยไม่ระมัดระวัง จะทิ่มแทง ฝ่าเท้าของเรา ให้ เกิดความเจ็บปวดได้

ลักษณะจำเพาะิของหญ้าคา
1.ไม่ชอบบริเวณที่น้ำแฉะ
2.เจริญเติบโตได้ดีในที่ดอน และทุกฤดูกาล
3.ถ้าหากเราไปเผา-เกี่ยว ัหรือตัด จะแตกหน่อขึ้นมา จากพื้นดิน อย่างรวดเร็ว

วิธีปราบหญ้าคา (แบบออมแรง)
1.ก่อนจะถึงต้นฤดูฝน  ให้หาถังแดง (ขนาด  500-1000 ลิตร)  หรือไม้ไผ่ยาว ประมาณ 6-7 เมตร หมุนหรือกลิ้ง บนป่าหญ้าคา ไปในทิศทางเดียวกัน ข้อควรระวังที่สุด คือ อย่าให้ต้น หญ้าคาหัก เพราะถ้าหากลำต้นหัก หน่อก็จะแตก หรือเกิดขึ้น เป็นจำนวนมาก ทำให้ปราบยาก

2. หยอดเมล็ดถั่วลงในพื้นดิน (ถ้าหากดินแน่น อาจจะใช้จอบ หรือเสียม ขุดปลูกก็ได้) ถ้าเป็นถั่ว   ขอให้ห่างกัน ประมาณหลุมละ  4-5  เมตร  ถั่วพร้าห่างกันประมาณ  2-3  เมตร ถั่วมะแฮะ ถั่วเขียว และถั่วอื่น ใช้วิธีหว่าน ลงไปในพื้นดิน

3.เอาฟางหรือใบไม้คลุม บริเวณที่มีหญ้าคา ที่ต้องการจะกำจัด ถ้าอยู่ในช่วงฝนตก ไม่ต้องรดน้ำ ถ้าไม่มีฝน รดน้ำให้มีความชุ่มชื้น พอประมาณ (หญ้าคาจะเน่าง่าย ในช่วงที่มีฝนตกชุก)

4.ประมาณเดือนตุลาคม ให้ท่านปลูกพืชลงไป โดยไม่ต้องไปขุดดิน หรือไถพรวน แต่อย่างใด เพียงเท่านี้ ท่านจะพบกับความสำเร็จ อีกขั้นหนึ่ง ในการทำกสิกรรมธรรมชาติ  แบบประโยชน์สูง แต่ประหยัด และลงทุนน้อย

เพลี้ย
เพลี้ยเป็นสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลัง ตัวเล็กๆอยู่ในตระกูลแมลง ชอบทำอันตราย แก่พืชผัก โดยการดูดกินน้ำ ตามส่วนต่างๆของพืช  เช่น ใบ ยอดอ่อน ดอก ตา ทำให้การติดดอก และ ออกผลน้อย ใบ ยอดสั้น ใบห่อ หงิก เป็นคลื่น หรือมีร้อยกร้านสีน้ำตาล ถ้าพืชผักขาดการบำรุง โดยเฉพาะ ในช่วงอากาศร้อน หรือช่วงฝนทิ้งห่าง เป็นเวลานาน  ยอดอาจแห้ง  ใบและดอก ร่วง เพลี้ยสามารถระบาด โดยการลอยกับลม ทำให้ระบาด ได้อย่างรวดเร็ว และกว้างขวาง

เพลี้ยสามารถ ทำลายพืชผัก ได้หลายตระกูล  โดยเฉพาะ ผักกาดขาวปลี ผักกาดเขียวปลี พืชผักตระกูลแตง    ถั่วฝักยาว    ส่วนมากชาวไร่ชาวนา จะรู้จักดี และไม่อยาก จะได้ยินชื่อนี้ ด้วยซ้ำไป  โดยเฉพาะ ไปเจอในสวนผักแล้ว ความคิดอันดับแรก ที่เกิดขึ้นในสมอง คือจะต้อง รีบไปซื้อสารเคมี มาฉีดให้ตาย ไปให้หมด   เมื่อฉีดสารเคมีเสร็จแล้ว  เพลี้ยต่างๆ ก็ตาย สมความตั้งใจ ของชาวไร่ชาวนา  แต่เมื่อสารเคมี ระเหยไปแล้ว มันก็มาอีก เหมือนเดิม  หรือ บางครั้ง อาจจะมากกว่าเดิม ด้วยซ้ำไป  เมื่อเกิดภาวะเช่นนี้ เราก็ฉีดอีก กลายเป็นวัฏจักร ของชีวิต  ให้มนุษย์และเพลี้ย ห้ำหั่นกัน อยู่เช่นนี้ ปีแล้วปีเล่า ในที่สุด สารพิษต่างๆ ก็จะสะสมอยู่ ในร่างกายของคนเรา (ให้ทุกข์แก่ท่าน ทุกข์นั้นถึงตัว) ส่วนหนึ่ง จะขับถ่าย ออกมาได้  ถ้าหาก ร่างกายแข็งแรง  แต่อีกส่วนหนึ่ง จะถูกสะสมเอาไว้ ตามอวัยวะต่างๆ ของคนเรา  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตามส่วนที่มีไขมัน สารพิษจะสะสม ได้ดีที่สุด

การสะสมของสารพิษ   เมื่อถึงจุดหนึ่งแล้ว (เหตุปัจจัยลงตัวพอดี)   จะมีผลต่อสุขภาพ และ อนามัย   ซึ่งเป็นสาเหตุ ของการเกิด โรคมะเร็ง และอาจจะเป็น อัมพาต ในที่สุด  เมื่อถึงวันนั้น ทรัพย์สินเงินทอง ที่ท่านสะสม เอาไว้มากมาย ก็จะถูกถ่ายโอน ไปหาหมอ ซึ่งเป็นผู้กำ ชะตา ชีวิตของท่าน และบุคคลอื่นๆ ในโอกาสต่อไป

ถามว่า ถ้าหากเป็นเช่นนี้จริงๆ เราจะหลีกเลี่ยง ไม่ต้องใช้สารเคมี ต่อแมลงต่างๆ เหล่านี้ได้ไหม

ตอบ ได้มากทีเดียว ถ้าหากเราหมั่นศึกษา พิจารณาถึงจุดอ่อน ของเพลี้ย แล้วปรับตัวเอง เข้าหาธรรมชาติ เหมือนดังที่ บรรพบุรุษของเรา ได้กระทำมา สิ่งเหล่านี้ ไม่มีความจำเป็น ในการกำจัด - ปราบปรามเพลี้ย และแมลงต่างๆเลย

ลักษณะของเพลี้ย
1.ชอบบินสูง
2.ไม่ชอบน้ำมาก ดังนั้นในฤดูฝน จึงมีเพลี้ยต่างๆน้อย ทำไมเพลี้ยไม่ชอบน้ำ เพราะปากของมัน จะดูดเข้าไปในผิวใบพืช  หน้าของเพลี้ย จะจมติดบนผิวใบ  เมื่อเราเข้าใจ ในพฤติกรรม ของมันแล้ว วิธีแก้คือ ใช้น้ำสารสะเดา หรือน้ำจุลินทรีย์ ผสมกากน้ำตาล เล็กน้อย รดพืชผัก  จะทำให้น้ำสาระสะเดา ไปสัมผัส หรือกระทบกับไข่ ของเพลี้ย และเมลงต่างๆ  จะทำให้ไข่ ของสัตว์เหล่านั้น ฝ่อและเป็นหมัน ไปโดยปริยาย

3.เพลี้ยจะกินพืชผักที่มีใบเปียกชุ่มไม่ได้ตามข้อ  2 ดังนั้น ถ้าหากท่านไม่อยากให้พืชผัก ในสวนของท่าน มีเพลี้ยมารบกวน จงหมั่นรดน้ำ อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง

การรดน้ำสะเดา หรือน้ำจุลินทรีย์  ให้รดในเวลาหัวค่ำ หรือตอนกลางคืน ช่วงเวลาที่น้ำค้าง จับใบพืชแล้ว  เพื่อให้น้ำสารสะเดา เคลือบใบผัก ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เห็นหรือยังครับ วิธีแก้ปัญหาเพลี้ยต่างๆ มารบกวนพืชผักของเรา ง่ายนิดเดียว   ไม่ทำลาย สิ่งแวดล้อม ไม่ทำลายชีวิตตน และผู้อื่น นอกจากนั้น ยังทำให้ดิน หรือพระแม่ธรณี หายป่วย เกิดความอุดม สมบูรณ์ มีแร่ธาตุต่างๆมากมาย พร้อมที่จะคืน ความอุดมสมบูรณ์ และ ความมีอยู่มีกิน แก่มนุษย์ตลอดเวลา ท่านพร้อมหรือยังครับ ที่จะเลิกใช้ สารเคมี และปุ๋ยเคมี

เอ็น พี เค คืออะไร
เอ็น
หมายถึง ธาตุไนโตรเจน มีประโยชน์ต่อพืช คือ ช่วยสร้างสีเขียว ให้แก่ลำต้น ใบ และผล

พี หมายถึง ธาตุฟอสฟอรัส มีประโยชน์ คือช่วยในการสร้างดอก ผล เมล็ด ช่วยเร่งผลิตผล และ ทำให้ผลสุกเร็ว

เค หมายถึง ธาตุโปแทสเซี่ยม มีประโยชน์ต่อพืช คือ ช่วยเร่งให้กากของพืช แข็งแรง และหัวใหญ่ ช่วยในการหายใจ ของพืช ช่วยผลิตแป้ง และน้ำตาล

ถาม เราจะได้แร่ธาตุเหล่านี้จากไหน ถ้าหากไม่ใช้ปุ๋ยเคมี

ตอบ เราสามารถหาแร่ธาตุเหล่านี้ได้จากฟางข้าว แกลบ รำ คายข้าว และ พืชตระกูลถั่ว ทุกชนิด ฟางให้แร่ธาตุ พี เค มากเป็นอันดับหนึ่ง ถั่วให้แร่ธาตุ เอ็น มากเป็นอันดับหนึ่ง ดังนั้น เมื่อฟางกับถั่วมารวมกัน เราก็จะได้แร่ธาตุ เอ็น พี เค ครบสมบูรณ์ครับ.

วิธีปราบ กำจัดหญ้าบางชนิด ดอกหญ้าอันดับที่ ๙๗ หน้า ๙๒ - ๑๐๒