รักจริงไม่เห็นแก่ตัว
รักชั่วมัวเมาหลงใหล
รักดีกล้าสละออกไป
รักให้ไม่หวังตอบแทน

นครสาวัตถีแห่งแคว้นโกศล มีกุลธิดานางหนึ่งของตระกูลที่อุปัฏฐาก (อุปถัมภ์ดูแลพระภิกษุสามเณร) พระอัครสาวกทั้งสอง ของพระศาสดา นางเป็นผู้มีความเลื่อมใส ศรัทราในพระพุทธ -พระธรรม -พระสงฆ์ กิริยาอาการ สมบูรณ์ด้วยมารยาท (สุภาพเรียบร้อย) เป็นผู้มีความ ฉลาด ยินดียิ่ง ในการทำบุญ ทำทานทั้งหลาย

ในนครสาวัตถีนั้นเอง มีมิจฉาทิฏฐิตระกูลหนึ่ง (ตระกูลที่ยังมีความคิดเห็นผิดจากธรรมะ) ซึ่งมีฐานะ ชาติตระกูล ทัดเทียมกัน ได้มาสู่ขอนาง แต่บิดามารดาของนาง ตอบไปว่า "ลูกสาวของเรา เคารพนับถือ ในพระรัตนตรัย มีนิสัยใจคอ นิยมทำบุญกุศล ส่วนตระกูลของท่าน ไม่นิยมในการทำบุญ ให้ทาน เราจึงไม่อาจ ยกลูกสาวให้ได้ เพราะพวกท่าน จะห้ามไม่ให้ ลูกสาวของเรา ได้แจกทาน ได้ไปฟังธรรม ได้ถืออุโบสถ รักษาศีล ตามชอบใจ ฉะนั้นพวกท่าน จงสู่ขอลูกสาว จากตระกูลอื่น ที่มีชีวิตความเป็นอยู่ คล้ายคลึงกับตนเถิด"

แม้จะถูกปฏิเสธเช่นนั้น พวกเขาก็ยังคงปรารถนาลูกสะใภ้ เช่นนางเข้าสู่ตระกูล จึงเอ่ยรับรองว่า "หากลูกสาวของท่าน เข้าสู่ตระกูลของพวกเราแล้ว กิจทั้งปวงที่นางประสงค์จะทำ พวกเรา จะไม่ห้ามเลย ขอท่านจงวางใจได้ ยกลูกสาวให้แก่พวกเราเถอะ" แล้วก็อ้อนวอนรบเร้าอยู่อย่างนั้น กระทั่ง บิดามารดา ของนางใจอ่อน ตกปากรับคำว่า "ถ้าอย่างนั้น เราก็จะยกลูกสาวของเรา ให้เป็นลูกสะใภ้ของพวกท่าน" เมื่อถึงฤกษ์งามยามดี จึงได้จัดพิธีมงคลขึ้น แล้วนางก็ไปอยู่ยังบ้านของสามี ปฏิบัติภาระ หน้าที่เป็นอย่างดี แก่พ่อแม่ของสามี และสามี โดยครบถ้วนไม่ขาดตกบกพร่อง เพราะนางเป็น ผู้เพียบพร้อม ด้วยความประพฤติ และมารยาทนั่นเอง

วันหนึ่ง นางปรารถนาจะทำบุญทำทาน จึงเอ่ยกับสามีของนาง "พี่จ๋า ฉันประสงค์ที่จะถวายทาน แก่พระเถระ ให้ท่านมายังที่บ้านของเรา"

"ดีแล้ว น้องจงทำบุญตามอัธยาศัยเถิด" สามีของนางมิได้ขัดขวางแต่ประการใดเลย นางจึงได้นิมนต์ พระอัครสาวกทั้งสอง กับภิกษุอีกหลายรูป มาที่บ้าน กระทำการสักการะ เป็นอย่างดี ให้ฉันโภชนะ อันประณีต โดยที่สามี มิได้มาร่วมบุญด้วยเลย เมื่อเสร็จภัตตกิจแล้ว นางก็ได้เอ่ยนิมนต์ พระเถระทั้งสองไว้อีกว่า "พระคุณเจ้าผู้เจริญ คนในตระกูลของสามีดิฉันนี้ ส่วนใหญ่แล้ว ยังเป็นผู้ไม่มีสัมมาทิฏฐิ ไม่มีศรัทธา ไม่รู้คุณของพระรัตนตรัย ด้วยเหตุนี้ ดิฉันจึงขอโอกาส นิมนต์พระคุณเจ้าทั้งหลาย มาฉันโภชนะในที่นี้อีก จนกว่า ผู้คนในตระกูลนี้ จะรู้ได้ถึงคุณของพระรัตนตรัย"

พระเถระทั้งหลาย ก็รับนิมนต์ แล้วมาฉันเป็นประจำ ในตระกูลนี้ นางจึงได้โอกาส ที่จะกว่ากับสามีว่า "พี่ พวกเราได้นินมต์ พระเถระทั้งหลาย มาฉันภัตตาหาร ถึงที่บ้านของเรา เป็นประจำ ก็แล้วเหตุใด พี่จึงไม่ได้มา ช่วยกันร่วมบุญ ดูแลพระเถระเล่า"

สามีจำนนด้วยเหตุผล จึงรับปากว่า "ครั้งต่อไป เราจะอยู่ร่วมบุญด้วยกัน" ต่อมา...เมื่อถึงวันนั้น สามีของนาง จึงอยู่ต้อนรับ ดูแลพระเถระทั้งหลาย ครั้นเสร็จภัตตกิจแล้ว ก็ได้ปฏิสันถาร กับพระเถระทั้งหลาย แล้วนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ขณะนั้นเอง เป็นโอกาสดี ของพระธรรมเสนาบดี สารีบุตร จึงได้แสดงธรรม ให้แก่สามีของนางฟัง เขารับฟังด้วยความตั้งใจ บังเกิดความเลื่อมใส ในธรรมกถา และอิริยาบถ ของพระเถระ นับตั้งแต่ครั้งนั้น เขาเริ่มใส่ใจ ช่วยตระเตรียมที่นั่งที่ฉัน แก่พระเถระทั้งหลาย และยินดี ในการฟังธรรม จนในที่สุด มิจฉาทิฏฐิของเขา ก็ถูกทำลายไป

อยู่มาวันหนึ่ง เมื่อพระเถระแสดงธรรม แก่สามีภรรยาทั้งสองแล้ว ได้ประกาศอริยสัจ ๔ ณ ที่นั้น ในเวลาที่จบสัจจะนั้นเอง สองสามีภรรยา ก็ได้ดำรงอยู่ใน โสดาปัตติผลทันที ต่อมาไม่นานนัก แม้แต่บิดา มารดาของสามี กระทั่งถึง ข้าทาสกรรมกรทั้งหมด ในบ้านทุกคน ได้ทำลายมิจฉาทิฏฐิ ของตนไปหมดสิ้น เข้าสู่ความเป็น ผู้มีสัมมาทิฏฐิ มีจิตใจเคารพนับถือใน พระพุทธ-พระธรรม-พระสงฆ์ ยึดเอาพระรัตนตรัย เป็นที่พึ่งพา ของชีวิตตลอดไป

วันหนึ่ง.....หลังจากที่นางเป็นผู้เข้ากระแส (โสดาบัน) แล้ว จิตพ้นจากอบายภูมิทั้งปวง มีความไม่ตกต่ำ เป็นธรรมดา มีความเป็นผู้เที่ยง ต่อการตรัสรู้ในเบื้องหน้า ศรัทรายิ่งยวดใน พระพุทธศาสนา จึงตัดสินใจ เอ่ยขอ ต่อสามีของนางว่า "พี่จ๋า เราสองยังจะมีประโยชน์อะไร ด้วยการอยู่ครองเรือนกันอีกเล่า น้องปรารถนา จะออกบวช"

ฝ่ายสามีก็ตอบทันทีเลยว่า "ดีสิ! แม้แต่ตัวพี่เอง ก็จะออกบวชเช่นกัน" แล้วทั้งสอง ก็สละทุกสิ่งทุกอย่าง เขานำภรรยาไปสู่สำนักของภิกษุณี แล้วตนเองก็ไปเข้าเฝ้า พระศาสดา ทูลขอบรรพชา พระศาสดา ก็ทรงอนุญาต บวชแล้วไม่นานนัก ทั้งสองต่างก็ได้บำเพ็ญเพียรในธรรม อย่างตั้งใจ กระทั่งได้บรรลุธรรม เป็นพระอรหันต์แล้ว ณ ธรรมสภา ภิกษุทั้งหลาย พากันสนทนาว่า "ท่านทั้งหลาย มีภิกษุณีสาวรูปหนึ่ง นับว่าเป็นยอด ของผู้เกื้อกูลแก่ตน และแก่สามี แม้ตนเอง ก็ได้บวช จนบรรลุพระอรหันต์ แม้สามีก็พลอยได้บวช จนเป็นพระอรหันต์ด้วย"

พอดีพระศาสดาเสด็จมาถึง ได้ตรัสถาม เรื่องที่ภิกษุทั้งหลาย สนทนากันแล้ว จึงตรัสออกไปว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นางภิกษุณีรูปนี้ ได้ปลดเปลื้องสามี ออกจากบ่วงกามราคะ มิใช่ในบัดนี้ เท่านั้น แม้ในกาลก่อนโน้น นางภิกษุณีนี้ ก็เคยปลดเปลื้องบัณฑิต ให้หลุดรอดจากบ่วงมรณะมาแล้ว" แล้วทรงเล่า เรื่องราวในอดีตนั้น

----------------------

ในอดีตกาล มีเนื้อ (สัตว์ป่าประเภทกวาง อีเก้ง เป็นต้น) ฝูงหนึ่ง อาศัยอยู่ในป่าลึกแห่งหนึ่ง มักรวมตัวกัน เป็นฝูงใหญ่ แสวงหาใบไม้ หรือผลไม้เป็นอาหาร โดยมีพญาเนื้อทอง เป็นจ่าฝูง รูปร่างสง่างามน่าดู ผิวพรรณ และขนเป็นสีทอง เขายาวแหลมคม ดั่งพวงเงิน ดวงตา ทั้งสองแวววาว ราวกับแก้วมณี และมีนางเนื้อสาว ตัวหนึ่งเป็นคู่ นางเนื้อสาวก็รูปร่างงดงาม น่ารักยิ่งนัก เนื้อทั้งสอง อยู่ร่วมกัน ด้วยความรัก สมัครสมาน พญาเนื้อทอง ปกครองบริวาร ถึงแปดหมื่นตัวทีเดียว

อยู่มาวันหนึ่ง มีพรานป่าคนหนึ่ง เข้าสู่ป่าลึกนั้น เมื่อแอบซุ่มดูฝูงเนื้อแล้ว ก็ได้วางบ่วงดักไว้ ตามเส้นทางผ่าน ของฝูงเนื้อ ครั้นพญาเนื้อทอง เดินนำหน้าเนื้อทั้งหลายมา เท้าได้ก้าวเข้าไปในบ่วง บ่วงจึงรัดเท้าไว้ทันที แม้จะรีบดึงเท้า ให้หลุดจากบ่วง ก็ไม่ทันแล้ว ยิ่งดึง บ่วงยิ่งรัดแน่นขึ้นกว่าเดิม พญาเนื้อทอง จึงตัดสินใจว่า "เราจะต้องออกแรงสุดกำลัง ดึงบ่วงนี้ ให้ขาดสะบั้นให้ได้" คิดแล้วก็กระชากเท้า สุดแรง บ่วงนั้นไม่เพียงแต่ไม่ขาด ยิ่งบาดลึกเข้าเนื้อ จนถึงกระดูก สร้างความเจ็บ ปวดทรมาน แก่พญาเนื้อทองยิ่งนัก ส่งเสียงร้องออกมา อย่างตื่นตกใจ และร้องบอกเตือนภัย แก่บริวารของตน หมู่เนื้อทั้งปวง ได้ยินเช่นนั้น พากันกลัวต่อมรณภัย วิ่งหนี แตกกระจาย กันไปหมดสิ้น เหลืออยู่แต่เพียง นางเนื้อสาวตัวเดียว ที่พอวิ่งไปแล้ว เหลียวหา ไม่เห็นพญาเนื้อ ก็รู้ได้ทันทีว่า "ภัยครั้งนี้ คงเกิดขึ้นแก่พญาเนื้อทอง ติดบ่วงอยู่ ด้วยอาการบาดเจ็บ สาหัส อดไม่ได้ ที่จะทุกข์ร้อนใจเป็นห่วง น้ำตาไหลพร่างพรู กล่าวเสียงสั่นเครือว่า "ข้าแต่พญาเนื้อทอง ผู้มีกำลังมาก ท่านลองพยายามอีกสักครั้ง ดึงบ่วงที่ติดแน่นนี้ ให้ขาดเถิด ฉันไม่ปรารถนา จะอยู่ป่านี้ โดยปราศจากท่าน"

ได้ฟังคำขอร้องเช่นนั้น พญาเนื้อทอง จึงพยายามออกแรงดึงเท้า ให้หลุดออกจากบ่วงอีกครั้ง แต่ยิ่งดึง ก็ยิ่งแน่น ยิ่งเจ็บปวด จนล้มลงนอน ที่พื้นดินตรงนั้น เอ่ยกับนางเนื้อว่า "ฉันพยายามดึงเต็มที่แล้ว แต่บ่วงนี้เหนียว ไม่ยอมขาด ยิ่งใช้เท้าตะกุย พื้นดินสุดแรง บ่วงยิ่งรัดแน่นบาดลึกเข้าไปอีก"

นางเนื้อมอง ดูเท้าของพญาเนื้อทอง ด้วยความสงสาร เพราะเท้างามข้างนั้น บัดนี้เปรอะ เลอะไปด้วย เลือดแดงฉาน นางจึงยืนอยู่ข้างๆกาย ของพญาเนื้อทอง โดยไม่ยอมละทิ้ง หลบหนีไปที่ใด

ขณะนั้นเอง..... พลันปรากฏ ตัวนายพรานขึ้น โดยที่ไม่รู้ว่า โผล่มาจากไหน ตั้งแต่เมื่อไร กำลังเดิน ตรงเข้ามาหาเนื้อทั้งสอง นางเนื้อขยับตัวขึ้น ด้วยอาการตื่นเต้น หันหน้าไปที่พญาเนื้อทอง แล้วปลอบใจว่า "นายพรานกำลังมา แต่ท่านอย่ากลัวเลย ฉันจะไม่ให้นายพราน นำเอาชีวิตของท่านไปได้" กล่าวจบ ก็ก้าวเข้าหานายพราน อย่างอาจหาญ พร้อมกับแสดงท่าทาง ทำความเคารพแก่พรานป่า แล้ววิงวอนขอร้องว่า "ข้าแต่นายพรานผู้ประเสริฐ พญาเนื้อทองที่ติดบ่วงของท่านนี้ เป็นคู่ทุกข์คู่ยาก อันเป็นที่รักยิ่งของเรา เป็นพญาเนื้อ ที่สมบูรณ์ด้วยศีล งามด้วยความประพฤติดี และมีมารยาท เป็นราชา ของหมู่เนื้อแปดหมื่นตัว หากท่านประสงค์ ที่จะฆ่าพญาเนื้อตัวนี้ ขอจงฆ่าเราเสียก่อนเถิด"

พรานป่า พอได้ยินเสียงนางเนื้อ พูดออกมาเท่านั้น ทั้งตกใจ ทั้งแปลกประหลาดใจ รู้สึกตื่นเต้น อัศจรรย์ใจยิ่งนัก ถึงกับโพล่งออกไปว่า "ข้าไม่เคยได้ยินได้ฟังมาเลย ยิ่งไม่เคยได้เห็นเนื้อ พูดภาษามนุษย์ได้ด้วย ช่างมหัศจรรย์เหลือเกิน เจ้าพูดได้จริงๆ หรือ เป็นหูของข้าฟั่นเฟือนไป"

"จริงๆ ท่านฟังไม่ผิดหรอก เรากับพญาเนื้อนี้ สามารถพูดภาษามนุษย์ได้จริงๆ"

"โอ้....ถ้าอย่างนั้น เจ้าทั้งสองต้องเป็นผู้ที่มีบุญวาสนาบารมีเป็นแน่ แน่ะ! นางเนื้อที่แสนวิเศษ ตัวเจ้ากับพญาเนื้อทองนี้ จงเป็นสุขเถิด ข้าจะปล่อยพวกเจ้าไป" จบคำ พรานป่าก็ตรงไปที่พญาเนื้อทอง ใช้มีดตัดบ่วงให้ขาด แล้วเอาบ่วงที่ติดเท้าออก ช่วยรักษาบาดแผล ให้เป็นอย่างดี จนอาการของพญาเนื้อทอง ดีขึ้นทันตาเห็น พญาเนื้อทอง พ้นทุกข์ทรมานแล้ว มีความรู้สึก สุขสบายขึ้น

นางเนื้อสาว จึงเอ่ยอนุโมทนา แก่นายพรานว่า "วันนี้ฉันเห็นพญาเนื้อทอง หลุดพ้นจากบ่วงทุกข์มาได้แล้ว ย่อมชื่นชมยินดี ฉันใด ขอให้ท่าน พร้อมด้วยญาติ ทั้งมวลของท่าน จงมีความชื่นชมยินดี ฉันนั้นเถิด"

ฝ่ายพญาเนื้อทอง ได้บังเกิดความคิดขึ้นว่า "นายพรานผู้นี้ เป็นที่พึ่งพาอาศัยของเรา แม้เรา ก็ควรเป็นที่พึ่งพาอาศัย ของนายพรานนี้บ้าง" จึงได้คุ้ยเขี่ย แก้วมณีก้อนหนึ่ง ขุดขึ้นมาจากพื้นดิน คาบเอามาให้ แก่พรานป่านั้น พร้อมกับแนะนำ สั่งสอนว่า "ดูก่อนสหาย นับตั้งแต่วันนี้ไป ท่านอย่าได้กระทำบาป ปาณาติบาต อันเป็นการเบียดเบียน ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ผู้อื่นอีกเลย แก้วมณีก้อนนี้ จงนำไปเป็นทรัพย์ เลี้ยงดูลูกเมีย เป็นผู้มีศีล กระทำบุญ และทานเถิด" แล้วพญาเนื้อทอง กับนางเนื้อ ก็พากันกลับคืน สู่ฝูงของตนตามเดิม

พระศาสดา ครั้นทรงแสดงชาดกนี้จบแล้ว ตรัสว่า "นายพรานป่าในครั้งนั้น ได้มาเป็นพระฉันนะในบัดนี้ นางเนื้อนั้น ได้มาเป็นภิกษุณีสาวนี้ ส่วนพญาเนื้อทอง ได้มาเป็นเราตถาคตเอง"

*ฌวมพุทธ
จันทร์ ๒๑ ม.ค.๒๕๔๕

(พระไตรปิฎกเล่ม ๒๗ ข้อ๗๔๓ อรรถกถาแปลเล่ม ๕๘ หน้า ๗๗๕)