ชาดกทันยุค
...ณวมพุทธ
ตระกูล "ให้"
ไม่กลัว "จน"
(ปิฐชาดก)
มาถึงหน้าประตูเรือน
ไม่แชเชือนมีของให้
หรือเชิญดื่มกินด้านใน
ตระกูล"ให้"
ไม่กลัว "จน"
ภิกษุรูปหนึ่งเดินทางมาจากชนบท
หลังจากที่ได้มาถึงพระเชตวันมหาวิหาร เข้าเฝ้าพระศาสดาแล้ว
ก็ถามไถ่ พวกสามเณรว่า
"ในนครสาวัตถีนี้ ใครบ้างหนอมีใจบุญอุปการะแก่ภิกษุอาคันตุกะทั้งหลาย"
พวกสามเณรพากันตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า
"ก็คือ อนาถบิณฑิกมหาเศรษฐี และ วิสาขามหาอุบาสิกา
เป็นผู้อุปการะ พระภิกษุสงฆ์ เสมือนดั่งอยู่ในฐานะ บิดามารดา ฉะนั้น"
ภิกษุชนบทนั้นรับทราบแล้ว วันรุ่งขึ้นตั้งแต่ฟ้ายังไม่สว่างพอ
ก็บิณฑบาตไปยังหน้าประตูบ้าน ของอนาถ บิณฑิกเศรษฐี แต่เพราะเช้าตรู่เกินไป
จึงยังไม่มีใครปรากฏให้พบเลย เมื่อยังไม่ได้อะไรสักอย่าง จึงตรงไป
ยังประตูบ้าน ของนางวิสาขา แม้ที่นี้ภิกษุชนบท ก็ยังไม่ได้อะไรเลย
เพราะเช้าเกินไป ยังไม่ถึงเวลาอันควร จึงบิณฑบาต ไปในที่อื่นๆ
ครั้นย้อนกลับมาใหม่ ก็เป็นเวลาสายเกินไปอีก
บ้านทั้งสองหลังนี้ ได้ทำบุญใส่บาตร เสร็จเรียบร้อยแล้ว ภิกษุชนบทรูปนี้
จึงกลับไปยังวิหาร โดยไม่ได้ข้าวของใดๆ จากสองตระกูลนี้เลย จึงเที่ยวกล่าว
ดูหมิ่นว่า
"ใครบอกว่าเรือนของ อนาถบิณฑิกเศรษฐี และ เรือนของนางวิสาขา มีอุปการะ
แก่ภิกษุอาคันตุกะเล่า ที่แท้ทั้งสองตระกูลนี้ ไม่มีศรัทธา ไม่มีความเลื่อมใสเลย"
เหล่าภิกษุได้ยินเช่นนั้น พากันทักท้วงไว้ว่า
"ตระกูลทั้งสองนี้มีศรัทธา มีความเลื่อมใส ในภิกษุสงฆ์ ท่านอย่าได้กล่าว
เช่นนี้เลย"
อยู่มาวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในธรรมสภาว่า
"ภิกษุชนบทรูปนั้น ไปสู่ประตูบ้านของญาติโยม
ก่อนเวลา อันควร เมื่อไม่ได้อาหารใดๆเลย ก็เที่ยวกล่าวดูหมิ่น ต่อตระกูลเหล่านั้น"
เมื่อพระศาสดาเสด็จมาถึง แล้วทรงรับทราบเรื่องราวนั้น
จึงรับสั่งให้เรียกตัวภิกษุนั้นมา แล้วทรงถาม ถึงเรื่องนั้น ภิกษุชนบท
ก็ทูลรับตามจริง พระศาสดาจึงตรัสว่า "ดูก่อนภิกษุ
เพราะเหตุใด เธอจึงโกรธเล่า แม้ในกาลก่อน มีดาบส เที่ยวภิกขาจาร ไปตามตระกูลต่างๆ
แม้ไม่ได้อาหารใดๆมา ก็ยังไม่โกรธเลย"
แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตนั้นมาตรัสเล่า
ในอดีตกาล ณ นครพาราณสี มีชายหนุ่มผู้หนึ่งเกิดในตระกูลพราหมณ์
ได้ศึกษาเล่าเรียนศิลปะ สำเร็จแล้ว จากนคร ตักกสิลา
ครั้นต่อมาเบื่อหน่ายในชีวิตอย่างผู้บริโภคกาม
จึงออกบวชเป็นดาบส ไปพักอาศัยบำเพ็ญธรรม
ที่ป่าหิมพานต์
อยู่มาช้านานแล้ว จึงได้ออกจาริกไปตามที่ต่างๆ
จนกระทั่งมาถึงนครพาราณสี พำนักอยู่ที่ พระราชอุทยาน นอกเมือง
รุ่งเช้า ได้ออกภิกขาจารเข้าไปในพระนคร
แล้วได้ยินมาว่า พาราณสีเศรษฐี เป็นผู้มีศรัทธา
ในการทำทาน พระดาบส จึงตรงไปยังเรือน ของเศรษฐีนั้น
ในเช้านั้นเอง เศรษฐีกำลังเตรียมตัวไปเข้าเฝ้าพระราชา
และผู้คนภายในบ้านทั้งหมด กำลังวุ่นวาย อยู่กับงานของตน ไม่ทันได้เห็น
พระดาบส มายืนอยู่ที่ ประตูหน้าบ้าน พระดาบส รอสักครู่ เมื่อไม่เห็นผู้ใดออกมา
แม้สักคนเดียว จึงตัดสินใจเดินกลับ
ช่วงขณะเวลานั้น..พอดีกับเศรษฐีกำลังออกมาจากเรือน
ได้พบเห็นพระดาบส หันหลังเดินจากไป จึงรีบตาม ให้ทัน แล้วนิมนต์ท่าน
ไปสู่เรือนของตน จัดที่ให้นั่ง นำอาหารมาถวายแก่พระดาบส ให้อิ่มหนำสำราญ
เมื่อพระดาบสฉันอาหารเรียบร้อยแล้ว
เศรษฐีจึงไหว้แล้วเอ่ยปาก ขอโทษกับพระดาบสว่า "ข้าแต่ท่านผู้เจริญ
แม้แต่ยาจกเข็ญใจ หรือ สมณพราหมณ์ ผู้ประพฤติธรรม หากมาถึงประตูเรือน
ของข้าพเจ้าแล้ว ยังไม่ได้รับ การสักการะ และ สัมมานะ (การนับถือบูชา)
แล้วไปเสียก่อน ย่อมไม่มี แต่วันนี้
ท่านยังไม่ได้อะไรๆ จากเรือนนี้เลย ก็ไปเสียแล้ว เพราะข้าพเจ้า และ
บริวารทั้งหลาย ไม่ได้ให้ที่นั่ง น้ำดื่ม และอาหาร การกินแก่ท่าน ขอท่าน
ผู้เป็น พรหมจารี (ผู้ประพฤติธรรมชั้นสูง) จงอดโทษ ให้แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด
ข้าพเจ้าเห็น เป็นความผิดยิ่งนัก ในครั้งนี้"
พระดาบสรับฟังแล้ว ก็ตอบตามจริงว่า
"อาตมภาพไม่ได้ข้องใจ ในเรื่องนั้นเลย ไม่ได้นึกโกรธเคือง แม้ความไม่ชอบใจ
สักน้อย หนึ่งก็ไม่มี เพียงแต่อาตมภาพ อดเป็นห่วงอยู่ในใจไม่ได้ว่า
ธรรมะของตระกูลนี้คือ การให้แก่ผู้มาถึง ประตูเรือน แต่เมื่อใด โยมทั้งหลายได้รู้ว่า
อาตมภาพ ต้องกลับไปเปล่า ก็จะพากันเดือดร้อนใจ"
"จริงแท้ท่านผู้เจริญ
เพราะน้ำล้างเท้าก็ตาม อาหารการกินก็ตาม ทุกอย่างข้าพเจ้าให้อยู่เป็นนิจ
ข้าพเจ้าบำรุง สมณพราหมณ์ โดยเคารพ ดุจญาติที่สูงสุด นี้เป็นธรรมะของตระกูล
ซึ่งมีมาต่อเนื่อง ตั้งแต่ปู่ย่าตายาย ของข้าพเจ้า ตลอดมา"
พระดาบสฟังแล้วก็อนุโมทนา ได้แสดงธรรมแก่พาราณสีเศรษฐีสักครู่
จึงกลับ
พระดาบสไปยังเรือนของเศรษฐีติดต่อกันอีก
๒-๓ วัน หลังจากนั้นแล้ว จึงจาริกกลับคืนสู่ป่าหิมพานต์ตามเดิม ฝึกฝน
บำเพ็ญเพียร กระทั่งได้อภิญญา (ความรู้ยิ่ง) และสมาบัติ (สภาวะสงบอันประณีตยิ่ง)
บังเกิดขึ้น
พระศาสดาครั้นทรงนำชาดกนี้มาแสดงแล้ว
ตรัสว่า "พาราณสีเศรษฐีในครั้งนั้น
ได้มาเป็นพระอานนท์ในบัดนี้ ส่วนดาบส ในครั้งนั้น ได้มาเป็นเราตถาคตนี้เอง"
จบแล้วทรงประกาศสัจจะ ในเวลาที่จบสัจจะนั้น
ภิกษุชนบทก็ได้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว
(พระไตรปิฎกเล่ม ๒๗ ข้อ ๖๔๖ อถถรกถาแปลเล่ม ๕๘ หน้า
๖๒๖)
(เราคิดอะไร
ฉบับที่ ๑๔๑ เมษายน ๒๕๔๕)
|