อภัยทาน จึงเป็นการทาน "นามธรรม" แท้ๆ ซึ่งเป็นการทานขั้นลึกล้ำเข้าไปหาจิตเจตสิกเป็นอภิธรรม ที่ ผู้ศึกษาปฏิบัติ จะต้องทั้งเรียน ปริยัติดีๆ และทั้งปฏิบัติจนสามารถรู้จักรู้แจ้งรู้จริง"นามธรรม"นั้นๆ แล้วจึง จะทาน "ตัวตนของนามธรรม" ที่มันมีอยู่ในจิตเรานั้นๆถูก "อัตตา" อย่างเป็นสัจจะ หรือเป็นความจริง ที่แม้จะเป็น "นามธรรม" ก็มี "ของจริง" ผู้ปฏิบัติสัมผัสได้จริงๆ สัจจะขั้นนี้ เรียกว่า "ปรมัตถสัจจะ" ซึ่งเป็นทั้ง "ความจริง" (สัจจโต) ขั้นสูงพิเศษระดับ "โลกุตระ" หรือ ระดับ "อาริยธรรม" อันเป็นของศาสนาพุทธเท่านั้น ไม่มีในศาสนาอื่น และเป็นทั้ง "ของจริง" (ปาตุภาวะ) ขั้นสูงพิเศษ ระดับ"อภิธรรม" ได้แก่ จิต เจตสิก รูป (ที่เป็นนามรูป หรือ อุปาทายรูป ขึ้นไป มิใช่มหาภูตรูป) นิพพาน เป็นต้น "วัตถุทาน" จึงเป็นการสละวัตถุออกก็ชัดๆอยู่แล้ว ส่วน "อภัยทาน" ก็เป็นการสละ "นามธรรม" ในจิตออก ผู้ที่ไม่มีภูมิถึงขั้นโลกุตรสัจจะ ที่เป็นปรมัตถ์ จะไม่สามารถรู้จักรู้แจ้งรู้จริงตัวตนของ "นามธรรม" ที่เป็นราคะ โทสะ โมหะ ในตนอย่างถูกตัวถูกตน ก็ไม่สามารถ "ทาน-สละให้ออกไป" หรือ "เอาความเป็นตัวตนของ กิเลสนั้นๆ ออกจากจิต" ได้สำเร็จ การทานนั้น จึงยังเป็น "อภัยทาน" ไม่ได้ เพราะ "อภัยทาน" มันคนละ ชนิดกับ "วัตถุทาน" หากจะตีความ อภัยทาน ว่าหมายถึง การให้ความไม่มีภัย หรือการให้ความปลอดภัย อันหมายเอาแค่ การทาน"วัตถุธรรม"ที่ไม่มีภัย เช่น ไม่ให้ปืนแก่โจร หรือไม่ให้ผัก ที่มีสารพิษไปกิน ให้แต่ของที่ไม่มีภัย อย่างนี้ก็ยังไม่ชื่อว่า "อภัยทาน" เพราะการทานเช่นนี้ ก็เห็นอยู่ โทนโท่แล้วว่า เป็นแค่"วัตถุทาน"เท่านั้น เพียงแต่ สิ่งที่ทานออกไปนั้นเป็นวัตถุที่ไม่ดี วัตถุเป็นโทษเป็นภัยนั่นเองที่ให้แก่คนอื่นไป ถ้าผู้ใดทำทาน เยี่ยงนี้ ก็ได้บาป ดังที่เคย อธิบายมาแล้ว จึงยังเป็นการทำทานที่ชื่อว่า "วัตถุทาน"อยู่ ยังก้าวข้ามพ้นคำว่า "วัตถุทาน" ไปไม่ได้ เพราะยังไม่ใช่"ทาน"ที่หมายถึง "การให้" สิ่งที่พ้นจากความเป็น "วัตถุ" อันหมายถึง ความเป็น "อภัย" ที่ละเอียดลึกเข้าไปถึงขั้น "นามธรรม" โดยเฉพาะปรมัตถ์ คำว่า "อภัย"นี้ มาจากคำบาลี ปกติสามัญคนไทยทั่วไปเข้าใจกันดีว่าหมายถึง การยกโทษให้ การเลิกโกรธ เลิกพยาบาท ซึ่งคนไทย ทั้งหลาย ก็มีการปฏิบัติกันอยู่ ก็มี "ผล" บ้างเหมือนกัน ในสังคมมนุษย์ แต่ถ้ายัง ไม่มีความรู้ขั้นปรมัตถ์ ก็ไม่สามารถที่จะหยั่ง เข้าไปรู้จักรู้แจ้งรู้จริง ในจิตในเจตสิก จึง "ทำใจในใจ" (มนสิการ) อย่างรู้จักรู้แจ้งรู้จริงตัวตนของจิตของเจตสิกนั้นๆ ไม่สำเร็จอย่างถึงเนื้อถึงตัวของ "ปรมัตถธรรม" (ภาวะกิเลสจริง-จิตจริง) การทานขั้น "อภัยทาน" จะต้องถึงเนื้อถึงตัวตนที่เป็น "สภาวะของจริง" นั้นๆ จนกระทั่งมีผล "เอานามธรรม ส่วนนั้นๆออก" ให้สำเร็จ หรือ ออกได้จนหมด จนไม่มีอีก เลยจริงๆ อภัยทานฉะนี้เองที่เรียกว่า "เนกขัมมะ" คนไทยทั่วไปที่ประพฤติการ"อภัย"กันนั้น ก็ทำกันอยู่แค่การยกโทษให้ การเลิกพยาบาทกัน ก็เป็นเพียง การกระทำ ที่ผิวเผิน ไปตามประสาสำนึกสามัญเท่านั้น จึงยังไม่ลึกถึง สภาวธรรมแท้ อย่างละตัวละตน ได้จริงๆจังๆ และที่จริงนั้น "อภัยทาน" ก็มิใช่หมายความว่า แค่ "การยกโทษให้ การเลิกพยาบาท" ซึ่งหมายถึง สละ "ให้" กันได้แค่เรื่อง "โทสมูล" เท่านั้น แต่ต้อง "ให้" ต้อง "ทาน" กันทั้งราคะ-โทสะ-โมหะ จึงจะสิ้น "ภัย" ทั้งปวง [มีต่อฉบับหน้า] - เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๘๒ กันยายน ๒๕๔๘ - |