ชีวิตนี้มีปัญหา
๑ ซึ่งถ้าใครสามารถปฏิบัติจนเกิด"สุจริต ๓"ก็มีคุณภาพถึงขั้นอาริยะ "สติปัฏฐาน ๔"ก็เข้าถึงปรมัตถ์ "โพชฌงค์ ๗"ก็ถึงซึ่ง..วิชชาและวิมุติบริบูรณ์ ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสอย่างเป็นวิทยาศาสตร์จริงๆ หรือเมื่อปฏิบัติ"จรณะ ๑๕"อย่างสัมมาทิฏฐิจริง คือเริ่มต้นด้วยสมาทาน"ศีล" แล้วก็ปฏิบัติ "สำรวมอินทรีย์-โภชเนมัตตัญญุตา-ชาคริยานุโยคะ" ก็จะเจริญ พัฒนา"สัทธรรม ๗" อันได้แก่ ศรัทธา-หิริ-โอตตัปปะ-พหูสูต -วิริยะ-สติ-ปัญญา ซึ่งต่างก็จะเกื้อกูลกัน พากันเจริญ ทั้ง"อธิศีลสิกขา-อธิจิตสิกขา-อธิปัญญาสิกขา" ทั้ง "ฌาน ๑-๒-๓-๔" แม้แต่"วิชชา "(การเจริญของอธิปัญญาสิกขานั่นเอง)ก็ทำงานร่วมกันไปทั้งหมด ไม่ใช่ต่างก็แยกกันทำงาน อย่างอิสระ ดังที่มักเข้าใจผิดกันอยู่เป็นแน่ แต่จะเป็นการเจริญของ "อธิศีลสิกขา- อธิจิตสิกขา -อธิปัญญาสิกขา" ปฏิสัมพัทธ์กันและกันไปตลอดสาย อย่างเป็นองค์รวม พระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้ปฏิบัติเมื่อได้ปฏิบัติเจริญขึ้นไปตามลำดับ ผู้นั้นจะ... ประกอบด้วย "ศีลขันธ์" อันเป็น อาริยะ "อินทรียสังวร"อันเป็นอาริยะ "สติ สัมปชัญญะ" อันเป็นอาริยะ "สันโดษ" อันเป็นอาริยะ (พระไตรปิฎก เล่ม ๙ ข้อ ๑๒๕) นั่นคือ สิ่งที่ชี้ชัดอย่างยืนยันว่า การปฏิบัติตามธรรมะทุกหัวข้อ ต้องเป็น "อาริยะ" ทั้งสิ้น การเจริญถึงขั้น"อาริยะ"นั้น หมายถึง คนผู้นั้น มีการเจริญของ"จิต" บรรลุมรรคผล แน่นอน นั่นย่อมแสดงว่า การปฏิบัติ"ศีล"ไม่ใช่มีผลมีอานิสงส์แค่กายกับวาจาเท่านั้น การปฏิบัติ จรณะ ๑๕ โดยเฉพาะ ปฏิบัติ"โภชเนมัตตัญญุตา" (การรู้จักประมาณการกินการใช้) ก็ไม่ใช่จะมีผล มีอานิสงส์ แค่ภายนอก หรือ แค่รูปธรรมเท่านั้น แต่มีผลมีอานิสงส์ถึงขั้นทำให้"จิต" พัฒนาขึ้นสู่ ความเป็น "อาริยะ" นั่นคือ มีมรรคผล จึงเห็นได้อย่างชัดแจ้ง ว่า หัวข้อธรรมทุกข้อของพุทธนั้น เป็นการปฏิบัติที่ชำระ "กิเลสนิวรณ์" เพื่อความเป็น อาริยะ ได้ตลอดทุกขณะ ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใดๆ ทุกอิริยาบถ ก็ปฏิบัติเพื่อให้ เกิดฌานเกิดสมาธิ เกิดมรรคผล เดินทางไปสู่นิพพาน ได้ทั้งนั้น จึงเป็นการปฏิบัติที่แตกต่างอย่างชัดเจนกับแบบที่สอนกันมาผิดๆว่า ถ้าจะปฏิบัติให้ เกิดฌาน เกิดสมาธิ หรือ เกิดมรรคผลจนเป็นอาริยะได้ นั้น ต้องหาเวลาหาโอกาส ต้องจำกัดอิริยาบถ เพื่อนั่งหลับตาทำฌาน เพื่อเดินจงกรม เป็นต้น ซึ่งแยกตัว แยกเวลา เป็นการเฉพาะ ไปต่างหาก จากชีวิตสามัญ จึงจะปฏิบัติให้ เกิดฌาน เกิดสมาธิ เกิดมรรคผล เดินทางไปสู่นิพพานได้ การปฏิบัติธรรมของพุทธที่สามารถกำจัดลดละ"นิวรณ์ ๕"จึงมิใช่เกิดจากการปฏิบัติ "ฌาน" ที่เพียงได้ จากการนั่งหลับตา ทำสมาธิแบบฤาษี ต้องไปอยู่ป่า อะไรอย่างนั้นเท่านั้น ดังที่เข้าใจผิด กันส่วนใหญ่ แต่เกิดจาก การปฏิบัติ "ฌาน" ได้ในทุกขณะตลอดเวลา ที่ลืมตา ประกอบการงาน เป็นอยู่ประจำวัน อยู่ในเมือง ในสังคมจอแจนี่แหละ ตามหลักจรณะ ๑๕ ก็ดี ไตรสิกขา ก็ดี มรรคอันมีองค์ ๘ ก็ดี อวิชชาสูตร ที่ อาตมา พูดถึงนี้ก็ตาม หรือจากสูตรอื่นๆ ล้วนปฏิบัติลดละ "กิเลสนิวรณ์" ได้ทั้งสิ้น ถ้าเข้าใจอย่าง สัมมาทิฏฐิได้ว่า ลักษณะของ ความเป็น "ฌาน" เป็น"สมาธิ"ของพุทธที่จริงถูกถ้วน (สัมมา) คืออย่างไรกันแท้ แนวทางหรือหลักการในการปฏิบัติอันเรียกได้ว่า "จรณะ" (ความประพฤติ หรือข้อปฏิบัติ ที่เป็นทางบรรลุวิชชา) ก็ดี "วิชชา" (ปัญญาหรือความรู้วิเศษ ขั้นบรรลุสู่อาริยธรรม สู่โลกุตระ) ก็ดี ในพระไตรปิฎก เล่ม ๙ พระพุทธเจ้า ตรัสไว้ชัดๆ ในทุกพระสูตร เป็นแบบแผนปฏิบัติ สำเร็จรูป ในศาสนาพุทธสู่ "วิชชาและวิมุติ" พระพุทธเจ้าทรงอธิบายขยายความ "การปฏิบัติ" หรือ "จรณะ" นั่นเอง โดยขึ้นต้นด้วย"ศีล" ซึ่งได้แก่ จุลศีล-มัชฌิมศีล-มหาศีล อันเป็น "ธรรมนูญ" ที่บ่งชี้ถึง ความเป็นพุทธศาสนา อย่างชัดแท้สำคัญยิ่ง ซึ่งพระพุทธเจ้า ทรงประกาศ "ความเป็นศาสนาพุทธ" ด้วย "ศีลธรรมนูญ" นี้ ตั้งแต่เริ่มแรก การประกาศ ศาสนา ของพระพุทธองค์ทีเดียว ว่า ศาสนาของพระองค์ เป็นแบบนี้ๆนะ คือ "อเทวนิยม" ซึ่งเป็นนวัตกรรม ทางศาสนาแท้ๆ อันมีกรอบมีนัยชี้บ่ง กำหนดความเป็น ศาสนาพุทธอยู่ใน จุลศีล-มัชฌิมศีล-มหาศีลนี้แล เป็นหลักฐานแจ้งชัด ยืนยันลักษณะของ ศาสนาพุทธ เช่น ในมหาศีล ก็บอกเลยว่า จงเว้นขาดจาก เดรัจฉานวิชา ถ้ายังทำเดรัจฉานวิชาอยู่ ก็ยังไม่ใช่พุทธ หรือ..เว้นขาดจากการใช้ไฟเป็นสื่อ ในการทำพิธีบูชา (อัคคียัญ) ถ้ายังจุดธูปจุดเทียนทำพิธีบูชาอยู่ก็ยังไม่ใช่พุทธ หรือ..เว้นขาดจากการ รดน้ำมนต์ (สิญจนยัญ) ถ้ายังรดน้ำมนต์อยู่ ก็ยังไม่ใช่พุทธ เป็นต้น การปฏิบัติที่ "ศีล" กำหนดให้เว้นขาดอย่างนั้นอย่างนี้ ผู้ปฏิบัติก็จะต้องศึกษา ตั้งแต่ทำ "ทิฏฐิ" ให้ "สัมมา" คือทำ "ความเห็น" ให้ "เข้าใจถูกถ้วน" ว่า ทำไมต้องเว้นขาด เพราะอะไร ซึ่งจะต้องศึกษาให้ลึกซึ้ง เข้าไปถึงความเป็น เทวนิยม หรือ อเทวนิยม และเป็น โลกียะ อย่างไร แค่ไหน เป็น โลกุตระ อย่างไร แค่ไหน แล้วก็เว้นขาดทั้งทางกายกรรม ทางวจีกรรม และต้อง เว้นขาดให้ได้ถึงมโนกรรม โน่นทีเดียว เป็นเป้าหมายหลัก โดยให้เป็นกุศลเข้าไปถึง "ใจ" ที่ยังมีกิเลส ตัณหา อุปาทาน ที่ยังติดยึด อยากได้ อยากเป็น อยากมี อยากเสพอยู่ในใจ กระทั่ง กิเลสลดลง จางลงจนสิ้นเกลี้ยงเป็นที่สุด ซึ่งจะต้องมี "การเว้นขาด" หรือ ภาษาที่มี ความหมายไปสู่เนื้อหาเดียวกันกับ"การละ,การเว้นขาด"นี้ ก็คือ "การสลัด ออกจากกาม ออกจากอัตตา" (เนกขัมมะ) "การกำจัดนิวรณ์ ๕" (ปหาน) ซึ่งผู้ปฏิบัติจะต้องปฏิบัติทุกกรรม ให้มี "การเว้นขาด -การสลัดออกจากกามออกจากอัตตา -การกำจัดนิวรณ์ ๕" กระทั่งเป็น"สุจริต ๓" ครบสัมบูรณ์ เพราะฉะนั้น อาหารของวิชชาและวิมุติ คือ โพชฌงค์ ๗ อาหารของโพชฌงค์ ๗ คือ สติปัฏฐาน ๔ และ อาหารของสติปัฏฐาน ๔ คือ สุจริต ๓ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ การปฏิบัติ สติปัฏฐาน ๔ โพชฌงค์ ๗ ที่สัมมาทิฏฐิ จึงลดละ"อวิชชา" จึงบรรลุวิชชาและวิมุติ เพราะโพชฌงค์ ๗ สติปัฏฐาน ๔ นั้นกำจัดนิวรณ์ ๕ ส่วน "นิวรณ์ ๕" ก็เป็นอาหารของ "อวิชชา" และ"จรณะ ๑๕" ก็เป็น"ความประพฤติหรือข้อปฏิบัติที่เป็นทางบรรลุวิชชา" ข้อแรกของ"จรณะ ๑๕" ก็คือ "ศีลสัมปทา" เมื่อรู้จักรู้แจ้ง"ข้อปฏิบัติ"คือ"ศีล"แล้ว ก็ลงมือปฏิบัติหรือประพฤติตามข้อกำหนดของศีลแต่ละข้อที่สมาทาน โดย"สังวรศีล" ให้มีผล ให้มีอานิสงส์ ที่เป็นกุศลไปตามลำดับ กระทั่งบริบูรณ์ เป็น "ศีลสัมปทา คือ ถึงพร้อม ด้วยศีล" (พระไตรปิฎก เล่ม ๙ ข้อ ๑๐๒ ข้อ ๑๖๓ ข้อ ๑๙๕ และข้ออื่นๆอีกทุกสูตรในเล่ม ๙ ยกเว้นสูตรที่ ๑ พรหมชาลสูตร ที่เป็นสูตรเริ่มต้น ยังไม่ถึงภาคปฏิบัติ) จากพระไตรปิฎก เล่ม ๒๔ ข้อ ๑ และข้อ ๒๐๘ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดว่า การปฏิบัติศีล ที่เป็นกุศล ย่อมยังความเป็นอรหันต์ให้บริบูรณ์โดยลำดับ ซึ่งก็เคยนำมายืนยัน และอธิบายสู่ฟังกันบ่อยๆ ทุกสูตรพระพุทธเจ้าตรัสว่า การปฏิบัตินั้นจะต้อง สำรวมระวังในพระปาฏิโมกข์ (ซึ่งก็คือ สังวรศีล) ให้ถึงพร้อม ด้วยมารยาทและโคจร มีปรกติเห็นภัยในโทษเพียงเล็กน้อย สมาทาน ศึกษาอยู่ในสิกขาบท (ในศีลทั้งหลายนั่นเอง) ประกอบด้วยกายกรรม วจีกรรม ที่เป็นกุศล มีอาชีพบริสุทธิ์ ถึงพร้อมด้วยศีล (ศีลสัมปทา) คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ประกอบด้วย สติ สัมปชัญญะ เป็นผู้สันโดษ (อันเป็นอาริยะ) สังเกตจากคำตรัสให้ดี จะเห็นรายละเอียดของการปฏิบัติอยู่ในคำตรัสนั้นครบครัน จะมีที่ทำให้หลง เข้าใจผิด ก็ตรงที่ไม่มีคำว่า ประกอบด้วย"มโนกรรม" เพราะในคำตรัสนี้ ภาษามีแต่คำว่า "ประกอบด้วยกายกรรม วจีกรรม" คงจะเพราะตรงนี้นี่กระมัง ที่ทำให้ สอนกันมาผิดๆว่า การปฏิบัติ"ศีล"นั้น ประกอบไปด้วยกกายกรรม วจีกรรมเท่านั้น ความจริงแล้ว คำตรัสนี้ไม่ได้แยก "ศีลสิกขา-จิตสิกขา-ปัญญาสิกขา" ไปคนละส่วน คนละตอน แต่อยู่ด้วยกันไปด้วยกันเป็นองค์รวม เมื่อปฏิบัติ"ศีล" นั่นคือ รวมไปถึง ทุกกรรม ต้องสัมพันธ์กัน ปฏิสัมพัทธ์กัน อย่างเป็นสัจจะ ดังนั้น แม้ไม่มีคำว่า "มโนกรรม" ก็ไม่ได้หมายความว่า การปฏิบัติธรรมนี้ จะไม่เกี่ยวไปถึง"มโนกรรม" (พระไตรปิฎก เล่ม ๙ ข้อ ๑๒๑ ถึงข้อ ๑๒๔ หรือข้ออื่นๆอีกในสูตรอื่นๆทุกสูตร ยกเว้นพรหมชาลสูตร) เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสชัดเจนว่า ทั้งศีลขันธ์ ทั้งอินทรียสังวร ทั้งสติสัมปชัญญะ และทั้งสันโดษ ผลหรือ อานิสงส์ จะต้องมีคุณภาพของคุณธรรม พัฒนาถึงขั้น "อาริยะ" (พระไตรปิฎก เล่ม ๙ ข้อ ๑๒๕ หรือข้ออื่นๆอีกในสูตรอื่นๆทุกสูตร ยกเว้นพรหมชาลสูตร) - เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๘๒ กันยายน ๒๕๔๘ - |