- ฟอด เทพสุรินทร์ - ให้ปัญญาดีกว่าให้ทรัพย์ "นพ-นพ ตื่น-ตื่น ตีห้าครึ่งแล้ว" ลุงประยงค์ตะโกนปลุกหลานชายขี้เซา พร้อมกระตุกสายมุ้ง เจ้านพวัย ๑๓ ปี งัวเงียลุกนั่งสะลึมสะลือ ลุงจึงสำทับอีก "ลุกออกมาจากมุ้งแล้วมันจะหายง่วงเอง รีบไปล้างหน้า คนตื่นแต่เช้า ทำงานออกกำลังกาย สมองจะโปร่ง เรียนหนังสือเก่ง ร่างกายก็จะปราดเปรียวแข็งแรง" นพเป็นเด็กที่มีปัญหาทางจิตใจ เพราะพ่อแม่แยกทางกัน และหายหน้าไปหารับจ้าง กินตะลอนๆ ไปเรื่อย ไม่มีหลักแหล่ง นานปีจะโผล่หน้ามาหาลูกสักครั้ง ประยงค์จึงต้อง เอาภาระ ดูแลหลาน เพราะถึงอย่างไร ก็เลือดเนื้อเชื้อไข เด็กวัยนี้กับสภาพครอบครัวแตกร้าวล้มเหลว วัยรุ่นน้อยคนนักที่จะปรับตัวปรับใจใฝ่ดีได้ ผู้อุปการะเลี้ยงดู ก็น้อยคนนักที่จะเข้าใจเด็กที่ตกอยู่ในสภาวะเช่นนี้ บางคนจะมีพฤติกรรม ก้าวร้าว เกเร เกียจคร้าน เก็บกด หรือชอบคบหาเพื่อนฝูงนอกบ้าน ยี่สิบกว่านาทีที่นพหายไปอยู่ในห้องน้ำเช่นทุกวัน ออกจากห้องน้ำ แล้วก็มัวแต่ เปิดวิทยุ หาฟังเพลงที่ถูกใจ แทนที่จะกระวีกระวาด ช่วยกันทำงานบ้าน เตรียมตัวไปโรงเรียน "นพเอ๊ย รีบเก็บที่หลับที่นอน กวาดบ้านแล้วกินข้าวไปโรงเรียนแต่เช้า ไปให้ทันเข้าแถว เคารพธงชาติ พร้อมเพื่อนๆ ครูบอกว่าหลานไปโรงเรียนสายบ่อยๆ" ประยงค์ต้องคอย กำชับกำชานพ เป็นประจำทุกวัน แม้ว่างานบางอย่าง สาลีคู่ชีวิตของประยงค์ทำเองก็ได้ แต่ต้องการฝึกฝน ให้หลานรู้จักรับผิดชอบ เป็นส่วนตัวบ้าง ไม่อยากให้หลาน นั่งงอมืองอเท้า คอยท่าแต่จะกิน จะนอน เดี๋ยวจะเป็นอย่างคำคมว่า "คนไม่ทำงาน คือคนพิการ แบบสากล" ถึงแม้จะเคี่ยวเข็ญนพให้ฝึกทำงานบ้านได้บ้าง แต่ก็ทำแบบเฉื่อยชา สักแต่ว่าทำ ทำเหมือน คนไม่มีหัวใจ ประยงค์นึกถึงประวิทย์ ลูกชายคนเดียว ที่เรียนมหาวิทยาลัย ปีสุดท้าย ช่างผิดกันไกล ตอนที่ลูกอายุ ๑๒-๑๓ ปี รุ่นราวคราวเดียวกับนพ มีความรับผิดชอบ เอาภาระส่วนรวม เคยขอเอารถมอเตอร์ไซค์ ขี่ไปเที่ยว แล้วเพื่อน ยืมต่อไปเกิดอุบัติเหตุ ชนหมา รถล้มกระบังลมแตก กลับมาบ้าน หน้าซีดตัวสั่น เล่าเรื่อง ให้พ่อฟัง "เพื่อนผม ยืมรถไปขี่ชนหมารถล้ม...." พูดไม่ทันจบ พ่อก็ถามแทรกกลางคัน "แล้วเพื่อนเป็นอย่างไรบ้าง เจ็บมากไหม รถน่ะ พ่อไม่ห่วง เท่าคนหรอก" พอพ่อพูดอย่างนี้ สีหน้าประวิทย์ก็ดีขึ้น ทีแรกคงหวาดหวั่นว่า พ่อคงเอาเรื่องแน่ ที่ทำรถเสียหาย แต่ผิดคาด เพราะพ่อกลับไม่ถือสา ประยงค์นึกถึงผู้ปกครองบางคน เมื่อลูกหลานทำผิดพลาดเสียหาย ก็ดุด่าเกรี้ยวกราด รุนแรง ทำให้เด็ก เสียขวัญ ยิ่งพ่อแม่ผู้ปกครองที่ติดเหล้าติดยาเสพติด ติดการพนัน อารมณ์ผันผวน รุนแรง อาจถึงทุบตี ลูกหลานเอาด้วยโทษะ จึงเป็นเหตุให้บ้านและครอบครัว ไม่อบอุ่น ไม่น่าอยู่ และที่สุดก็ออกไปแสวงหา ความอบอุ่น นอกบ้าน ซึ่งเป็นต้นเหตุปัญหาอื่น ติดตามมา ประยงค์ย้อนนึกถึงหลาน แม้จะมีส่วนบกพร่องอย่างไร ก็ยังไม่เลวร้ายเกินกว่า จะพัฒนาได้ อยากให้ศึกษา หาความรู้ พอประกอบอาชีพเลี้ยงตัวได้ ไม่ประพฤติตนเสียหาย คบหาเพื่อนเกเร ก่อเหตุร้ายแรง ผิดกฎหมาย จึงพยายามกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดู อย่างดี อดทนอบรมบ่มนิสัย ให้สำนึกดี เป็นหน้าที่รับผิดชอบ ของพ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ ที่ต้องดูแล ลูกหลาน คงไม่เกินความพยายามไปได้ ถึงอย่างไรเจ้านพก็ยังดีกว่า ลูกเพื่อนบ้าน ที่พิการ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เป็นภาระพ่อแม่ต้องประคมประหงมสารพัด มั่นใจว่ากรรมดี ที่ตนเอง และ ครอบครัว สร้างสั่งสมไว้ จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของหลานได้ในที่สุด วันหยุดเรียน หลังกินข้าวมื้อเช้าแล้ว ประยงค์ก็หากิจกรรมร่วมระหว่างลุงกับหลาน "นพ เมื่อวาน ลุงซื้อ ต้นไม้ ไว้หลายต้น จะเอาไปปลูกริมรั้วสวน วันนี้ช่วยกันนะ" แม้นพ อยากจะนอนฟังเพลง ตามประสา คนขี้เกียจ เมื่อลุงออกปาก ก็ไม่กล้าหลีกเลี่ยง กว่าสองคนลุงหลานจะปลูกต้นไม้สิบกว่าต้นเสร็จก็เกือบเที่ยงวัน เจ้านพเหงื่อโชก ท่าทางจะเหนื่อย เหมือนกัน เดินเก็บชมพู่ในสวนมานั่งกินอยู่ไต้ร่มลิ้นจี่ ประยงค์ลองหยั่งท่าที "ว่าไงนพ เหนื่อยมากไหม" "นิดหน่อยครับลุง" ตอบพร้อมฝืนยิ้ม "เกิดมาเป็นคนต้องฉลาดที่จะเรียนรู้เรื่องพื้นฐานการดำรงชีวิต จะได้เอาตัวรอด และเป็นที่พึ่ง ของคนอื่นๆ ได้ด้วย งานพื้นฐานไม่ว่าด้านเกษตร ช่างไม้ช่างปูน จักสาน งานบ้านงานครัว และอะไรๆ อีกหลายอย่าง เรียนรู้ไว้บ้างไม่เสียหลาย เป็นวิชาติดตัวใช้ได้ตลอดไป" ประยงค์ จะหาโอกาส เกริ่นปูพื้นฐานอยู่เสมอ "สมัยที่ลุงยังหนุ่มแน่น ก็ไปรับจ้างเป็นคนงานก่อสร้างในเมืองหลายปี ได้วิชาช่างไม้ ช่างปูน ติดตัวมาทุกวันนี้ บ้านที่เราอยู่นี่ งานช่างไม้ชั้นบนลุงทำคนเดียวแทบทั้งนั้น งานช่างเป็นอาชีพ ที่ไม่ตกงาน ถ้าเราทำงานดี ชำนาญและซื่อสัตย์ต่อผู้จ้างงาน คนที่อยู่ในวัยหนุ่มสาวนี่แหละ เหมาะที่จะเรียนรู้ ฝึกฝนหาความชำนาญ ก้าวหน้า ถ้าเราตั้งต้นขวนขวาย ตั้งแต่วันนี้ และ ขยันหมั่นเพียร วันหน้าเราก็มีอยู่มีกินสร้างหลักฐาน ให้เป็นปึกแผ่น ได้ไม่ยากเลย แต่อย่างไร ก็ตาม ถึงเราจะเก่งจะสามารถเรียนรู้และทำอะไรๆ ได้สารพัด แต่ถ้าเราไม่พ้นอำนาจ อบายมุข ชีวิตเราก็ไปไม่รอด ชีวิตลุงและครอบครัว มีพอกินพออยู่ได้ทุกวันนี้ เพราะลุง ปิดรูรั่ว ของชีวิต ได้สนิทนั่นเอง" แม้ประยงค์จะไม่ใช่นักพูด แต่ก็พยายามถ่ายทอดปลูกฝังสิ่งดีงามทีละเล็ก ทีละน้อย ให้ซึมซับ โดยไม่รู้ตัว ถือว่า มันเป็นหน้าที่ของผู้ปกครองที่ต้องทำอย่างจริงจัง - เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๘๒ กันยายน ๒๕๔๘ - |