ชีวิตไร้สารพิษ - ล้อเกวียน -


นาฬิกาอวัยวะ (Organ clock)
การหมุนเวียนของพลังงานในร่างกาย

เราจะมาต่อกันที่เวลา........
๐๓.๐๐ น. ถึง ๐๕.๐๐ น. (ปอด-LU)
เป็นเวลาที่พลังงานจะเคลื่อนไปยังปอด ปกติคนควรจะตื่นเวลาตี ๓ เพื่อให้ปอด ได้รับออกซิเจน ไปฟื้นฟูเซลล์ และขับสารพิษออกจากเซลล์ต่างๆ ถ้าผู้ใดนอนมากเกินไป เซลล์ก็จะได้รับ ออกซิเจนน้อยลง เซลล์จะแก่และตายง่าย สถานที่ปฏิบัติธรรมบางแห่ง จึงมีกำหนดการเข้านอนไม่เกิน ๓ ทุ่ม และตื่นตอน ตี ๓ มาทำวัตรเช้า สวดมนต์ ฟังเทศน์ ฟังธรรม เพื่อบริหารปอดทำให้สมองปลอดโปร่ง

ส่วนผู้ที่มีอาการผิดปกติทางปอด จากการสูบบุหรี่ โรคหอบหืด โรคไซนัส หรือ โรคทางเดิน หายใจ ก็จะไม่สบายตัว แล้วจะถูกปลุกให้ตื่นช่วงนี้ พร้อมทั้งมีอาการไอ จาม หายใจขัด เพราะปอดกำลังทำหน้าที่ขับของเสียออก

๐๕.๐๐ น. ถึง ๐๗.๐๐ น. (ลำไส้ใหญ่ - Li)
เป็นเวลาที่พลังงานจะเคลื่อนเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ เพื่อกระตุ้นให้ลำไส้ใหญ่ เตรียมขับของเสีย ออกจากร่างกาย (อุจจาระ)

เราควรจะฝึกถ่ายอุจจาระให้เป็นนิสัยก่อน ๗ โมงเช้า มิฉะนั้นร่างกายจะดูดซึมของเสีย ขยะ และพิษต่างๆ กลับเข้าสู่ระบบเลือดไปเลี้ยงร่างกาย(กินอุจจาระตัวเอง) นี่เป็นสาเหตุ ทำให้เกิดริ้วรอย บนใบหน้า เกิดไขมัน ที่เสียๆ ในช่วงเวลานี้เราควรออกกำลังกาย เพื่อให้ลำไส้ใหญ่ ขยับตัวและเพิ่มศักยภาพ ในการขับเคลื่อน ของเสีย

เมื่อตื่นนอนแล้วควรดื่มน้ำอุ่นๆ อย่างน้อย ๕ แก้ว (หรือชาล้างลำไส้) เพื่อช่วยขับเคลื่อนอุจจาระ (ผู้ที่ทำดีท็อกซ์ ควรจะทำในช่วงเวลานี้จึงจะดี)

พวกที่กินเนื้อสัตว์จึงมีเปอร์เซ็นต์ในการเป็นมะเร็งลำไส้ได้มาก เพราะเนื้อสัตว์เน่า มาตั้งแต่ เข้าสู่ร่างกายแล้ว

ส่วนพวกนอนดึก เลือดจะเป็นกรด และลำไส้ใหญ่เป็นด่างอย่างแรงจึงทำให้ถ่ายยาก

* ถ้าเป็นปัญหาที่ปอดและลำไส้ใหญ่ *
นอกจากไม่นอนดึกแล้ว ให้กินอาหารจากพืช ผัก ผลไม้ ที่มี....

-สีขาว- "นำ" โดยมีสีอื่นๆ ตาม เช่น ผักบุ้งขาว ผักกาดหอม(มียางสีขาว) หัวไช้เท้า กระเทียม (ไม่ควรกิน หอม กระเทียมโดดๆ เป็นจำนวนมากเพียงอย่างเดียว จะมีโทษต่อร่างกาย ควรกินในปริมาณที่ ผสมผสานกับ พืช ผัก)

-จืด- อาหารรสจืดแก้ปัญหาปอด และหัวใจ จืดหมายถึงอาหารตามธรรมชาติ ที่ไม่ต้อง ปรุงแต่งรสชาติ เช่น ซุปผักข้น ประกอบด้วย ผักใบเขียวต่างๆ มะเขือเทศ หอม หัวไช้เท้า ซึ่งจะมีรสหวาน เปรี้ยว เค็ม ตามธรรมชาติ โดยไม่ต้องใส่น้ำตาล น้ำส้ม หรือ เกลือเลย

-ใบไม้ร่วง- หรือย่างเข้าหน้าหนาวอากาศแห้ง คนโบราณให้กินแกงส้มดอกแค แก้ไข้หัวลม เพื่อป้องกันโรคทางเดินหายใจ

-ผิวหนัง- สะท้อนถึงปัญหาของปอดและลำไส้ใหญ่ เมื่อไหร่ที่เรามีอาการท้องผูก จะหายใจไม่ทั่วท้อง ทำให้ปอดฟอกโลหิตไม่สะดวก ของเสียที่จะต้อง ถูกขับถ่ายทิ้ง จะถูกดูดกลับคืน เข้าสู่กระแสเลือดอีกครั้ง ทำให้เกิดอาการคัน ตามผิวหนัง บริเวณที่ของเสีย เคลื่อนผ่านไป เพราะแบคทีเรียในอากาศ จะลงมากิน ของเสีย ตามรูขุมขน บริเวณนั้นๆ จึงเกิดอาการคัน ถ้าท้องผูกน้อยก็แค่คัน ถ้าท้องผูกมาก จะเป็นลมพิษ ถ้าท้องผูกมากๆ ก็จะเป็นเริม และงูสวัด เพราะคุณภาพของเลือดแย่ลงเรื่อยๆ

-ผม- ถ้าอยู่ในที่อากาศเป็นพิษ ผมก็จะหงอกไว เพราะปอดทำงานหนัก ไม่สามารถ สร้างเม็ด โลหิตแดง ได้เพียงพอเพื่อไปเลี้ยงเส้นผม

ถ้ากินงาคั่วมากๆ จะทำให้ลำไส้ใหญ่ดูดซึมฟอสฟอรัสเข้าไปมากเส้นผมก็จะหงอกไว(ร้อน) ฉะนั้น งาคั่ว จึงเหมาะที่จะกินหน้าหนาว งางอกหรืองาแช่น้ำเหมาะที่จะกินหน้าฝน งานึ่งหรืองาต้ม เหมาะที่จะกิน หน้าร้อน ถ้ากินงาตามเวลาที่ว่าจะทำให้ผมดำ ยิ่งนำถั่วสีต่างๆ มาเพาะให้งอก แล้วกินโดยการยำ บีบมะนาว ใส่หอมซอยและพริกเขียวนิดหน่อย แล้วโรยเกลือ สักนิด ก็จะยิ่งมีประโยชน์ เพราะลำไส้ใหญ่ จะดูดซึมวิตามินบีคอมเพล็กซ์จากถั่วงอกได้หมด จึงทำให้ผมไม่หงอกก่อนวัย และผมที่บริเวณ กลางหัว ซึ่งเป็นตำแหน่งของลำไส้ใหญ่ก็จะไม่ร่วงล้านเร็ว เพราะลำไส้ใหญ่แข็งแรง

-จมูก- บอกถึงทางเดินหายใจ หัวใจและลำไส้ใหญ่ เมื่อมีอาการท้องผูก จะทำให้ระบบ ทางเดินหายใจ ติดขัด หายใจไม่สะดวก ถ้าการขับถ่ายคล่องก็จะหมดปัญหา เกี่ยวกับระบบ ทางเดินหายใจ การกดจุด ที่ข้างรูจมูกซ้าย และขวาจะช่วยให้ระบบขับถ่ายดีขึ้น (ถ้าไม่นอนดึก)

-อารมณ์เศร้าโศก เสียใจ น้อยใจ- นำไปสู่ปัญหาของทางเดินหายใจ และปอดโดยไม่รู้ตัว ถ้าเศร้าโศก เสียใจมากๆ จะส่งผลให้การขับถ่ายมีปัญหา ยิ่งกว่านั้น ถ้าพยาบาท ผูกโกรธ มองคนในแง่ร้าย ไม่สร้างสันติภาพในหัวใจอยู่เสมอๆ ก็จะเป็นเนื้องอก และมะเร็งลำไส้ได้ ในที่สุด

๐๗.๐๐ น. ถึง ๐๙.๐๐ น. (กระเพาะอาหาร-ST)
เป็นเวลาที่พลังงานเคลื่อนมาที่ กระเพาะอาหาร เราจึงต้องกินอาหารเช้า ซึ่งเป็นมื้ออาหาร ที่สำคัญที่สุด เพราะกระเพาะอาหารจะย่อยได้สูงสุดช่วงเวลานี้เท่านั้น ช่วงอื่นๆ จะทำได้ น้อยกว่า ช่วงนี้กระเพาะอาหาร ของเราต้องการอาหารและหลั่งกรด ไปย่อยอาหาร ได้มากที่สุด ถ้าหากเราไม่กินอาหารเช้า ม้ามก็จะ ไม่สามารถ เก็บพลังงานสำรองไว้ได้ ทำให้หัวใจ ต้องทำงานหนัก เพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย จึงทำให้มีโอกาส เป็นโรคกระเพาะ และจะเกิดโรคหัวใจได้ด้วย เพราะร่างกายไม่ได้รับ สารอาหาร สำหรับทุกอวัยวะ เพื่อกลับไปสร้างพลังงานรวม แต่ถ้าอาหารเช้ามีพิษ ม้ามก็จะได้รับ พิษทันที ถ้ามีพิษมากจะขับออกทางปาก(อาเจียน) ถ้ามีพิษน้อย ก็จะขับออก ทางอุจจาระ น้ำย่อยในกระเพาะอาหาร มีความเป็นกรด (เกลือ) อย่างแรง ฉะนั้น เวลากินอาหาร ควรเคี้ยวให้ละเอียดนานๆ เพื่อให้น้ำย่อยในปาก ที่มีความเป็นด่างมาช่วยปรับความสมดุลที่กระเพาะอาหาร ควรระวังเรื่องการกิน ข้าวคำ น้ำคำ เพราะน้ำย่อย จะจาง การย่อยอาหาร ก็จะไม่ดี ควรดื่มน้ำก่อนอาหารครึ่งชั่วโมง เป็นอย่างน้อย และดื่มน้ำหลังอาหาร ๓ ชั่วโมง เป็นอย่างน้อย และควรจะกินผลไม้ก่อน แล้วตามด้วยผัก จึงจะกินอาหารแป้ง(ข้าว) และโปรตีน ตามหลัง (อาหารที่ปรุง ผ่านความร้อนเลย ๓ ชั่วโมง ก็จะหมดพลังชีวิต เราจะได้กินแต่กากอาหาร ที่เป็นขยะ ซึ่งหมดคุณค่าแล้ว)

๐๙.๐๐ น. ถึง ๑๑.๐๐ น. (ม้าม-SP)
เป็นเวลาที่ม้ามจะเริ่มเก็บพลังงานสำรอง เก็บสารอาหาร เก็บทุกอย่างที่กระเพาะอาหาร ย่อยเต็มที่ การที่เรา ไม่กินอาหารเช้า ร่างกายจะดึงพลังงานสำรองออกมาใช้ พลังงานรวม จะหายไป ร่างกายจะอ่อนเพลีย ไม่มีแรง

ม้ามมีหน้าที่กรองแบคทีเรีย(เชื้อโรค) ทุกชนิด สร้างเม็ดเลือดขาว กรองเม็ดเลือดเสีย ผลิตน้ำดี
(อ่านต่อฉบับหน้า)


 

ทารกดูดนมแม่สามเดือนไอคิวสูงกว่าเด็กนมขวด
คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นอรเวย์ ศึกษากับเด็ก ๓๔๕ ราย อายุ ๑๓ เดือน -๕ ขวบ ดูความสัมพันธ์ ระหว่างระดับสติปัญญา กับระยะเวลา ที่ได้ดูดนมแม่ ปรากฏว่าเด็กพวกที่ ได้กิน นมแม่ น้อยกว่า ๓ เดือน ทำคะแนน ได้ต่ำกว่า ปกติของทักษะสมอง ในเด็กวัย ๑๓ เดือน และ มีไอคิว ต่ำกว่าเมื่ออายุ ๕ ขวบ เมื่อเทียบกับ เด็กกลุ่มที่ได้กินนม จากอกแม่เป็นระยะเวลา ๖ เดือน หรือมากกว่านั้น

มีทางเป็นไปได้ ที่ความรักความห่วงใยในการป้อนนมแม่แก่ลูก คือ ปัจจัยสำคัญ ที่มีผล ต่อพัฒนาการ ทางสมอง ของทารกมากพอๆ กับคุณค่า สารอาหารหลายชนิด ที่มีอยู่ใน น้ำนมแม่ และมีประโยชน์ต่อ พัฒนาการ ของเด็ก เนื่องจากน้ำนมแม่ประกอบไปด้วย สารอาหาร ฮอร์โมน และ แอนตี้บอดี้ ซึ่งแม่จะ ถ่ายทอดให้ลูก และช่วยป้องกัน การติด เชื้อโรค เกี่ยวกับระบบหายใจและท้องร่วง
(ไทยรัฐ วันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๔๔)

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๘๒ กันยายน ๒๕๔๘