๖๐ ปีแห่งการเสริมสร้างสันติภาพไทย - ส.ศิวรักษ์ -
บรรยายเมื่อวันที่ ๑๖ ส.ค. ๒๕๔๘ ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ตามคำเชิญของ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


-๑-

เวลาเราเรียนภาษาฝรั่ง ไม่ว่าจะอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน หรืออื่นใด เรื่อยไปจนภาษาละติน และกรีก ที่เราต้องคำนึงถึงอย่างสำคัญคือกาล ถ้าเป็นปัจจุบันกาล อดีตกาลหรืออนาคตกาล ย่อมใช้คำกริยา ที่ต่างกัน เช่น are, were หรือ will be เป็นต้น แต่ในทางภาษาไทย เราไม่เน้น ในเรื่องนี้ ฉะนั้น "๖๐ ปี แห่งการเสริมสร้างสันติภาพไทย" จึงหมายถึงหกทศวรรษ แต่วันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๘ มาจนบัดนี้ก็ได้ หรือจะหมายถึ งการเสริมสร้างสันติภาพไทย แต่นี้ไป จนถึงอีก หกทศวรรษหนึ่ง ก็ได้ แต่ถ้าจะให้เดาใจ ของผู้ที่จัดงานวันนี้ คงหมาย จะให้พูดถึง เรื่องของอดีต มาจนปัจจุบันนั้นแล เป็นประการสำคัญ แต่ข้าพเจ้า จะขอโยง จากปัจจุบัน ไปถึงอนาคตด้วย เพื่อเป็นการส่งเสริม และสร้างสรรค์ สันติภาพไทย ให้เป็นไปได้ สมเจตนารมณ์ ของสาธุชน ผู้สนใจในทางสันติภาวะ ยิ่งกว่าความขัดแย้ง และความรุนแรง ต่างๆ ที่เป็นไปอยู่ในบัดนี้ ทั้งที่ราชอาณาจักรนี้ และ ที่ดินแดนอื่นๆ ในโลก

ว่าไปทำไมมี ในรอบหกทศวรรษมานี้ ได้มีการเสริมสร้างความขัดแย้งและความรุนแรง ขึ้นใน ราชอาณาจักรนี้ และ ณ ที่อื่นๆ ยิ่งกว่าการเสริมสร้างสันติภาพในบ้านเมืองเป็นไหนๆ

ขอให้พิจารณาง่ายๆ เอาก็ได้ว่า ถ้าความเป็นไปในบ้านเมืองและสังคมมีความเป็นประชาธิปไตย ที่เนื้อหา สาระ นั่นคือ การเสริมสร้างสันติภาพ ถ้ามีความเป็นเผด็จการมากเท่าไร ไม่ว่าจะ ในทางเศรษฐกิจ การเมือง การศึกษา และวัฒนธรรม แม้จะในรูปแบบของประชาธิปไตย นั่นคือ การ ลิดรอนเสรีภาพ และเป็นการสร้าง วิกฤตการณ์ต่างๆ ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้ง และจะรุนแรงยิ่งๆ ขึ้นทุกที

ที่ว่ามานี้เป็นอารัมภบทและเป็นบทสรุปของปาฐกถานี้ ซึ่งควรมีทางออกให้ เพื่อถางทางไปสู่ สันติภาวะ ทั้งในทางส่วนตน และส่วนรวม ต่อแต่นี้ไปจนถึงอีกหกทศวรรษเป็นอย่างน้อย

-๒-

ขอเริ่มว่า เมื่อนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อานันทมหิดล ประกาศ สันติภาพขึ้นเมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๘ นั้น เป็นการเสริมสร้าง สันติภาพไทย โดยแท้ เพราะ ตราบถึงวันนั้น ภาวะสงครามมีอยู่กับ ราชอาณาจักรนี้ ว่าในทางนิตินัย รัฐบาลไทย ภายใต้การนำของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ประกาศสงคราม กับสหราชอาณาจักร และ สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๕ ว่าในทางพฤตินัย ประเทศไทย ได้ถูกกองทัพของ พระจักรพรรดิญี่ปุ่น ยึดครอง แม้จะด้วย ข้ออ้างว่า เพื่อขอเป็นทางผ่าน ไปโจมตีเมืองขึ้น ของฝรั่ง ที่พม่า มลายู สิงคโปร์ และอินโดนีเซียก็ตามที โดยที่แม้จะไม่ถือว่าราชอาณาจักรไทย เป็นอาณานิคม หรือรัฐในอารักขาของญี่ปุ่น แต่ความเป็นเอกราช อันสมบูรณ์ของราชอาณาจักรนี้ ก็หมดสภาพไป หรือขาดวิ่นลง อย่างเลวร้าย แต่วันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔

ถ้าปราศจากขบวนการเสรีไทย ภายใต้การนำของนายปรีดี ซึ่งมีศูนย์บัญชาการ อยู่ที่ มหาวิทยาลัย วิชาธรรมศาสตร์ และการเมืองแห่งนี้ สันติภาพย่อมคืนมาสู่ ราชอาณาจักรนี้ ไม่ได้ เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๘ แม้ทางพระราชไมตรี กับสหราชอาณาจักร จักยังไม่ ดำเนินไปสู่ปกติภาพ หลังจากนั้น อีกนาน แต่อย่างน้อย ฝ่ายสัมพันธมิตร ซึ่งรวมทั้งอังกฤษ และ สหรัฐอเมริกา ก็รับรอง ความเป็นเอกราชของ ประชารัฐไทย แต่ในวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๘ นั้นแล้ว

คำคำหนึ่ง ซึ่งควรที่จะต้องตราไว้ คือหัวหน้าขบวนการเสรีไทย ได้ใช้ชื่อซึ่งเป็นรหัส สำหรับ ติดต่อกับ ฝ่ายสัมพันธมิตรว่า Ruth ซึ่งเชื่อกันว่าย่อมาจากคำว่า Truth หรือ สัจจะ

สัจจะเป็นคำที่สำคัญสุดสำหรับมนุษย์ ถ้าปราศจากสัจจะหรือความจริงใจต่อกันเสียแล้ว มนุษย์ย่อม จะงอกงามขึ้นไม่ได้เลย ดังทางพุทธศาสนาเปรียบมนุษย์กับต้นไม้ ว่าต้นไม ้ต้องมีพืชพันธุ์ที่ดี (สัจจะ) เมื่อเอาลงดินแล้วก็ปรับตัวเข้ากับดินได้ (ทมะ) แล้วทนได้กับ แสงแดด สายลม สายฝน แม้จนพายุ (ขันติ) จากนั้นจึงงอกงามได้เต็มที่ จนแผ่กิ่งก้าน สาขาออกไป ให้คุณประโยชน์ แก่มนุษย์ และสัตว์ทั้งหลาย ที่อาศัยลำต้น ร่มใบ และผล (จาคะ) กับต้นไม้ฉันใด กับมนุษย์ก็ฉันนั้น มนุษย์ที่มี ความจริงใจต่อกัน (สัจจะ) และ รู้จักปรับตัว ให้เหมาะสมกับ เหตุการณ์ต่างๆ (ทมะ) ด้วยความอดทน (ขันติ) ผลก็จะก่อ ให้เป็นคุณประโยชน์ เพื่อมนุษย์จะได้อุดหนุน จุนเจือเพื่อนมนุษย์ และสรรพสัตว์ (จาคะ)

อาจกล่าวได้ว่านายปรีดี พนมยงค์ ถือธรรมทั้งสี่นี้ไว้ควบคู่กับชีวิตก็ว่าได้ ยิ่งในช่วงวิกฤตกาล ของ สงครามโลก ครั้งที่สองด้วยแล้ว ความจริงใจของท่าน และการรู้จักปรับตัว โดยรู้เท่าทัน สถานการณ์ต่างๆ อย่างอดทนมาตลอด เป็นเหตุให้ท่านประกาศสันติภาพออกมาได้ เพื่อให้บ้านเมือง และราษฎร เป็นปกติสุข

ในทางการบ้านเมืองนั้น ถ้าปราศจากความจริงใจต่อกันเสียแล้ว สันติภาพย่อมดำรงอยู่ไม่ได้ ดังมี พระพุทธภาษิตว่า สภาที่ปราศจากสัตบุรุษ หาใช่สภาไม่ สัตบุรุษคือผู้ที่พูดจริง ทำจริง โดยที่ถ้าปราศจาก สัจจะเสียแล้ว อะไรๆ ก็กลายเป็นหมัน เป็นของปลอม เป็นความกึ่งจริง กึ่งเท็จไปหมด หาสาระจากชีวิต ไม่ได้เอาเลย (คนที่พูดเท็จทุกวันเสาร์ ไม่ใช่สัตบุรุษ คนที่ประกาศ นโยบาย อย่างปราศจากความจริงใจ ก็ไม่ใช่สัตบุรุษ)

ในทางการเมืองนั้น นอกจากสัจจะแล้ว สันติภาพกับเอกราชย่อมต้องเป็นไปด้วยกัน และ ถ้ามีเสรีภาพ เป็นน้ำกระสายที่สำคัญในทางเนื้อหาสาระ (ไม่ใช่เสรีภาพ แบบมือใครยาว สาวได้สาวเอา) สันติภาพ ก็จะนำไปสู่ภราดรภาพ จนอาจเข้าถึง ความเสมอภาค ด้วยก็ได้ โดยเริ่มจากทางนิตินัยไปสู่เศรษฐภาวะ จนถึงสังคม และวัฒนธรรม นี้แลคือเนื้อหาสาระ ของประชาธิปไตย

ในทางบ้านเมือง ฉันใด ในทางพลเมืองหรือราษฎรผู้เป็นเจ้าของประเทศก็ฉันนั้น แต่ละคน ต้องมีเอกราช อย่างเคารพตนเอง คือเป็นไท ไม่ใช่ทาสทางเศรษฐกิจ การเมือง หรือวัฒนธรรม เคารพภูมิธรรมของบรรพชน อย่างเข้าใจเนื้อหาสาระ โดยฝึกปรือ ให้เกิดสันติภาวะในตน แล้วย่อมนำเอาสันติธรรม ออกมาเกื้อกูล เพื่อนมนุษย์ และสรรพสัตว์ รวมถึงธรรมชาติทั้งหมด ที่แวดล้อมมนุษย์ กล่าวคือเมื่อเราเคารพตนเอง ได้อย่างเป็นไทแก่ตน เราก็เคารพคนอื่น สัตว์อื่นได้ โดยไม่คำนึงถึง ความสูงต่ำในทางชาติวุฒิ คุณวุฒิ หรืออำนาจ ตลอดจน สภาวะต่างๆ ในทางที่สังคม กำหนดไว้ นี้แลคือแนวทางที่เป็นไปในทางภราดรภาพ เพื่อให้เกิด ความเสมอภาคอย่างแท้จริง

การประกาศสันติภาพเมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๘ นั้น เป็นการเริ่มเสริมสร้างสันติภาพไทย ในทางการเมือง อย่างน้อยกับนานาชาตินั้น เอกราชได้กลับคืนมาสู่ ราชอาณาจักร ทั้งทางนิตินัย และ ทางพฤตินัย ประชาธิปไตย ได้กลับคืนมา แม้จะไม่เต็มที่ ในทางเนื้อหา สาระ แต่อย่างน้อย เผด็จการ ก็ปลาสนาการไป ทหารไทย ซึ่งเคยเป็นรัฐภายในรัฐ ได้หมดบทบาทลง

โดยที่การเสริมสร้างสันติภาพเพื่อเข้าสู่ความเป็นอุดมคตินั้น ต้องมีมาตรการทั้งทางการเมือง และ การศึกษา เพื่อให้แต่ละคน เห็นคุณค่าของสันติภาพ และให้การเมือง การปกครอง มีสันติภาพ และเอกราชพร้อมๆ กันไปด้วย

เราต้องไม่ลืมว่าในเวลานั้นและก่อนหน้านั้น รอบๆ ราชอาณาจักรสยาม ประเทศเพื่อนบ้าน ของเรา ในเอเชียอาคเนย์ ล้วนเสียเอกราชไปให้แก่จักรวรรดิอังกฤษ ฝรั่งเศส วิลันดา และ สหรัฐ ทุกประเทศ ในระหว่าง สงครามโลกครั้งที่ ๒ ญี่ปุ่นได้เข้ามา ยึดครอง ประเทศนั้นๆ แทนฝรั่ง โดยใช้คำว่า ปลดแอก ออกจาก จักรวรรดิ ตะวันตก หากในทางพฤตินัย จักรวรรดิ ญี่ปุ่น ได้ยึดเอา ดินแดนนั้นๆ ไว้ดั่งหนึ่งเป็น อาณานิคม ของตนนั้นแล ไม่ว่าจะ ฟิลิปปินส์จากสหรัฐ อินโดจีนจากฝรั่งเศส สิงคโปร์ มลายู รวมถึงพม่า จากอังกฤษ หรือ อินโดนีเซียจากวิลันดา

แม้สันติภาพและเอกราชจะกลับคืนมาสู่ราชอาณาจักรนี้แล้ว ประเทศเพื่อนบ้านของเรา ที่เอ่ยชื่อมา ทั้งหมดนั้น ยังหาได้รับเอกราช หรือสันติภาพไม่ แม้ญี่ปุ่นจะแพ้สงครามไปแล้ว ทุกประเทศที่เคยถูก ญี่ปุ่น ยึดครอง ก็มีขบวนการกู้ชาติ ให้ปลอดพ้นไปจาก การหวนกลับ คืนมา ของจักรวรรดิตะวันตก

(อ่านต่อฉบับหน้า)
(ได้รับอนุญาต จาก อาจารย์ ส.ศิวรักษ์ ผ่านอาจารย์ ขวัญดี รักพงษ์ ๑๖ ส.ค. ๔๘)

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๘๒ กันยายน ๒๕๔๘ -