เศรษฐศาสตร์บุญนิยมกระจายความรวย
เศรษฐศาสตร์ทุนนิยมกระจายความจน


ดูเหมือนว่าจะเกิดความหวังขึ้นมาบ้างในแต่ละครั้งที่ท่านนายกรัฐมนตรีทักษิณ พูดถึงเรื่อง คุณธรรมและสังคมขึ้นมา จนหน้า ๔ ของมติชน คอลัมน์เรียงคนเป็นข่าวไปตีต่อเมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๔๘ มีใจความว่า

"น่าซาบซึ้ง นายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร" พูดถึง "ท่านพุทธทาสภิกขุ" โดยเฉพาะตอนที่ว่าถึง "ปณิธาน" ที่จะดึง "เพื่อนมนุษย์ ออกมาจากวัตถุนิยม" แต่จะน่าชื่นชมหากนายกฯ ทักษิณ ทำให้เห็นว่า "มีความพยายาม" จะเดินตามปณิธานในเรื่องนี้ อย่างไร? เพื่อพิสูจน์ในศรัทธาต่อท่านพุทธทาสจริงจัง ในวาระที่ท่านพุทธทาสได้รับการยกย่องจากยูเนสโก น่าจะมี "นโยบาย" ออกมาควบคุมการแพร่ระบาดของ "วัตถุนิยม" ให้เห็นสักเรื่องสองเรื่อง..."

แต่เมื่อใดที่ท่านนายกรัฐมนตรีพูดถึงการแจกเงินแจกของ ดูเหมือนความหวังจะจางหายไปพลัน ซึ่งในคอลัมน์เดียวกันนี้นี่เอง ได้พูดถึงการแจกคอมพิวเตอร์เอาไว้ว่า


"...คุณภาพของการศึกษาจะเกิดขึ้นได้ ด้วยคุณภาพครู หากครูยังไม่มีวิญญาณความเป็นครู ไม่แสวงหาความรู้ทันสมัย ไว้เพื่อป้อนให้เด็ก การแจกคอมพิวเตอร์ที่ 'ทักษิณ ชินวัตร' ฝันว่าจะทำให้การศึกษามีคุณภาพมากขึ้น ก็ไม่เป็นอะไรมากกว่า "เปิดทางให้พ่อค้าเครื่องคอมฯ และอินเตอร์เน็ตเข้ามาหากินกับโครงการรัฐ..."

และนายอัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้เคยพูดเตือนสติ ให้คนในสังคมเห็นถึงเนื้อแท้ของประชานิยมไว้ว่า "ขีดความสามารถของคนไทยเวลานี้ต้องปรับปรุงเพราะนายกฯ ชอบของ ใหม่ๆ โดยเฉพาะเทคโนโลยี จึงมองว่านายกฯ เป็นคนมีวิสัยทัศน์ ทำให้มีความหวังว่าคนไทยจะเป็นเจ้าของ เทคโนโลยี โดยจะไม่เป็นคนตาม แต่เมื่อหันมาดูความสามารถของคนไทยมีน้อยมาก ระบบการศึกษายังไม่ปฏิรูป แรงงานไทยไม่มีทักษะ ไม่มีศักยภาพ ซึ่งเป็นเพราะรัฐบาลละเลยด้านการศึกษา มัวแต่ไปกระตุ้นอุปสงค์เพื่อตอบสนองนโยบายประชานิยม"

ซึ่งมติชนสุดสัปดาห์ฉบับปลายเดือนตุลาคม ได้นำประเด็นนี้มาวิเคราะห์ต่อว่า
"ความหมายของอัมมาร มองว่านโยบายของประชานิยมเป็นเหมือนภาพลวงตา เป็นแค่สูตรสำเร็จทางการเมือง ของพรรค การเมืองหนึ่งที่ค้นพบเท่านั้น

เป็นสูตรที่จุดประกายความฝัน โดยไม่รู้ว่า อนาคตจะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว เพราะทุกโครงการ ในนโยบาย ประชานิยม ล้วนเต็มไปด้วยความเสี่ยง ไม่ประชาชนเสี่ยง... ก็ประเทศเสี่ยง...!! เวลานี้ ประชานิยม ถูกกำหนดนิยามขึ้นมาว่า ใช้เงินไม่สิ้นสุด...

ซึ่งก็น่าเป็นห่วงว่าประชานิยมจะทำให้ผู้คนพากันเสพติด "เงิน" ยิ่งกว่ายุคใดสมัยใด จนวิถีชีวิตเดิมๆ ที่เคย "ทำมาหากิน" ถูกเปลี่ยนไปเป็น "ทำมาหาเงิน" เข้ามาแทน เมื่อผู้คนเอาเงินเป็นตัวตั้ง ทุกสิ่งทุกอย่างก็ค่อยๆ พังละลายไปตามๆ กัน นับตั้งแต่ วิถีชีวิตที่เคยพึ่งตนเองได้ก็ต้องพึ่ง "เงิน" ไปหมดทุกอย่าง แม้แต่แค่ทำกับข้าวกินเอง ชาวบ้านก็พากันใช้เงิน ไปซื้อ มากินแทน ทุนทางสังคมที่เคยร่วมแรงร่วมใจช่วยเหลือเกื้อกูลกันหายไป กลายมาเป็นพูดกันด้วยภาษาเงิน (MONEY TALK) กันไปหมด ทั้งสังคมและสิ่งแวดล้อมเสื่อมทรุดกันอย่างสุดๆ เพียงแค่ช่วง ๓๐-๔๐ ปีที่ผ่านมานี่เอง

เพียงแค่ความต้องการอันไม่สิ้นสุดของชีวิตแบบทุนนิยมก็แย่อยู่แล้ว นี่ยังพ่วงทั้งวัตถุนิยม บริโภคนิยม หรูหรานิยม และ วิตถารนิยม เข้ามาด้วย เศรษฐศาสตร์ทุนนิยม ที่มุ่งตอบสนองความต้องการอันไม่สิ้นสุดของมนุษย์จึงทำให้ทุกคน ทั้งกระฎุมพี ทั้งยาจกพากันจนด้วยกันทั้งหมด เพราะจะมี ๕๐,๐๐๐ บาทหรือมี ๕๐,๐๐๐ ล้านบาทก็ยังอยากได้เพิ่ม ให้แก่ตัวเอง อยู่ตลอดเวลา (อย่างไม่มีจำกัด) ในขณะที่ทรัพยากรในโลกนี้มีอยู่อย่างจำกัด

จริงๆ แล้วชาวบ้านสามารถร่ำรวยขึ้นมาได้ ถ้าเขาไม่ไปพึ่งแต่สกุลเงินบาท หันมาพึ่งสกุลไก่สกุลเป็ดสกุลข้าว สกุลพืชผัก ผลไม้ สกุลยางพารา อย่างที่ท่านนายกฯ เสนอการค้าขายกับมหาอำนาจ โดยใช้ระบบแลกเปลี่ยนเข้ามาแทน ปัจจุบันนี้ ชาวบ้าน มีข้าวเต็มท้องนา มีปัจจัย ๔ ที่พึ่งตนเองได้อยู่แล้ว แต่เขาจะยากจนตลอดไป ถ้าหากเขาหันไปพึ่งรถ พึ่งทีวี พึ่งโทรศัพท์ มือถือ พึ่งอบายมุขทั้งหลายเป็นปัจจัยที่ ๕, ๖, ๗...

เศรษฐศาสตร์บุญนิยมจะทำให้ทุกคนร่ำรวยได้ ถ้าหันมาละเลิกอบายมุข พึ่งตนเองด้วยปัจจัย ๔ มีเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ลุ่มหลง เงินทองที่เป็นของมายา แต่มุ่งสร้างข้าวถั่วงา ที่เป็นของจริง ยิ่งสันโดษได้ก็ยิ่งจะร่ำรวย

(สันตุฏฐี ปรมํ = คนสันโดษคือคนที่รวยอย่างยิ่ง) ยิ่งมักน้อยไม่สะสม (อัปปิจฉะ) ตามเศรษฐศาสตร์บุญนิยม ก็ยิ่งจะกระจาย ความร่ำรวย ออกไปช่วยคนอื่นๆ ได้อีกมากมาย ซึ่งหาไม่ได้ในทุนนิยม

- จริงจัง ตามพ่อ -

-เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๘๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ -