- สมณะโพธิรักษ์ -

กำไรขาดทุนแท้ของอาริยชน
(ต่อจากฉบับที่ ๑๘๓)



"อามิส" หมายถึง วัตถุ,เหยื่อ, เครื่องล่อ,อาหาร,อาหารอันโอชะ,ลาภ,เงิน,สินบน,เงินรางวัล,ความเพลิดเพลิน, ความโลภ, ตัณหา เป็นต้น "อามิสทาน" จึงเป็นการทำทานที่ "ในใจยังมีกิเลส-ยังลดกิเลสไม่เป็น" นั่นเอง

ซึ่งหมายถึง "การทานที่ไม่ได้ชำระจิตใจ การทานที่ชำระราคะ-โทสะ-โมหะไม่เป็น" หรือการทานที่ยังติดยึด ยังไม่สละจริง ยังไม่ปล่อยวาง อย่างถูกต้อง หรือยังทาน ยังให้ ยังเอาออก ตามอาริยธรรมไม่ได้

ดังนั้น "อามิสทาน" ก็หมายถึง ทานที่ยังไม่ถึงขั้น "อาริยะ" ไม่ถึงขั้น "มรรคผล" ไม่ว่าจะเป็น "วัตถุทาน" หรือ "อภัยทาน" ก็ตาม ก็ยังไม่ชื่อว่า "ธรรมทาน" ฉะนั้น "อามิส" ต้องต่างกับ "ธรรม" แน่ (ตปฎ. เล่ม ๒๐ ข้อ ๓๘๖)

ความเป็น "อามิส" กับความเป็น "ธรรม" นี้ ก็รู้กันดีอยู่แล้วว่า ความเป็น"ธรรม" ย่อมเลิศกว่า ความเป็น"อามิส" แน่นอนที่สุด ถ้าศึกษาที่พระพุทธเจ้าตรัสเปรียบเทียบความเป็นเลิศของ "ธรรม" ยิ่งกว่า "อามิส" ในพระไตรปิฎก เล่ม ๒๐ ตั้งแต่ข้อ ๓๘๖ ถึงข้อ ๔๐๗ แล้วจะเห็นได้ชัดว่า ความลึกซึ้งของคำว่า"ธรรม"นั้นลึกล้ำเป็นเลิศกว่า"อามิส"อย่างไร แค่ไหน แม้แต่ความเป็น "ธรรมในธรรม" ก็ยังแตกต่างกันสุขุมลึกล้ำยิ่งนัก เช่น "การชำระจิตของตนให้ผ่องแผ้ว" (สจิตตโวทานัญจะ) กับ "การไม่ถือมั่น อะไรๆ ในโลก" (น กิญจิ โลเก อุปาทิยติ) ก็ยังเป็นธรรม ๒ อย่างซึ่งต่างกันแน่ (ตปฎ. เล่ม ๒๐ ข้อ ๓๘๓) หรือ "ความโกรธ" (โกธะ) กับ "ความผูกโกรธ" (อุปนาหะ) ก็เช่นกัน (ตปฎ. เล่ม ๒๐ ข้อ ๓๘๔) "การกำจัดความโกรธ" (โกธวินยะ) กับ "การกำจัด ความผูกโกรธ" (อุปนาหวินยะ) ก็เช่นกัน ว่า ต้องต่างกันแน่ (ตปฎ. เล่ม ๒๐ ข้อ ๓๘๕)


ซึ่งคำว่า "ธรรมในธรรม"นั้น มันมีทั้งความเป็น "ธรรมในธรรม" ที่หยาบ-กลาง-ละเอียดขั้น "รูปธรรม" และทั้งความเป็น "ธรรมในธรรม" ที่ลึกซึ้งหยาบ-กลาง-ละเอียดเข้าไปถึงขั้น "นามธรรม" โดยเฉพาะขั้น"นามธรรม"นั้น ละเอียดประณีต สุขุมลึกล้ำ รู้ได้ยากกว่า "รูปธรรม" ยิ่งนัก

คำว่า "นามธรรม" หมายถึง "สิ่งที่รู้ไม่ได้ด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย" เพราะพ้นจากความเป็น"รูปธรรม"ไปแล้ว หรือหมายถึง สิ่งที่เกิดที่เป็นอยู่ในใจ หมายถึง ใจและอารมณ์ที่เกิดกับใจ คือ จิต เจตสิก จะรู้ได้ด้วยใจในใจ เท่านั้น ฉะนี้เองที่เรียกว่า "นามธรรม" ที่เราจะต้องเรียนรู้แล้วฝึกฝนปฏิบัติให้ถึง จึงจะรู้จักรู้แจ้งรู้จริง "ความเป็นธรรมในธรรมของนามธรรม" ซึ่งเป็น ภาวะสำคัญที่จะได้บรรลุธรรม ถึงแม้ใครจะมีความรู้ที่รู้จักรู้แจ้งรู้จริงใน "รูปธรรม" เยี่ยมยอดปานใดก็บรรลุธรรมไม่ได้ ถ้าไม่สามารถ รู้จักรู้แจ้งรู้จริงเข้าไปถึง"นามธรรม" เพราะผู้จะบรรลุธรรมคือ ผู้ตัดกิเลสได้ และ"กิเลส" มันอยู่ที่"นามธรรม" อยู่ที่..จิต-เจตสิก มันอยู่ที่อื่นไม่ได้ ผู้จะบรรลุธรรมจึงต้องมีปัญญาหยั่งรู้เข้าไปรู้จักรู้แจ้งรู้จริงถึงภายใน"นามธรรม" ของ กายในกาย -เวทนาในเวทนา -จิตในจิต โดยเฉพาะ ธรรมในธรรม

เช่น ต้องรู้จักรู้แจ้งรู้จริงความเป็น"ธรรมในธรรม" ซึ่งเป็นธรรม ๒ อย่าง ได้แก่ "การชำระจิตของตนให้ผ่องแผ้ว" (สจิตตโวทานัญจะ) กับ "การไม่ถือมั่นอะไรๆในโลก" (น กิญจิ โลเก อุปาทิยติ) เป็นต้น เราก็จะต้องรู้ ต้องสัมผัส สภาวะจริงของ "ธรรม" ทั้งสองอย่างนั้น ซึ่ง"ธรรม" ทั้ง ๒ อย่างนี้ เป็นพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า อันพึงเล่าเรียน (ปริยัติ) ให้เข้าใจ ในความหมายว่า จะปฏิบัติหรือจะกระทำอย่างไร จึงจะชำระจิตของตนอย่างถูกต้องสัมมาทิฏฐิ แล้วจึงจะ"ปฏิบัติ"ให้ถูกถ้วน (สัมมา) ได้ เมื่อปฏิบัติไปจนเกิดผล "ชำระจิตของตนผ่องแผ้ว" ได้แล้ว มันก็เป็นธรรมขั้น "ปฏิเวธ" คือ ได้รู้แจ้งแทงทะลุปรุโปร่ง ในการบรรลุภาวะ ที่เป็นความจริงนั้นๆบริบูรณ์ "จิตที่สะอาดผ่องแผ้วจากกิเลส"นี้ มีสภาพจริงที่เราได้เฉพาะตน (อัตตปฏิลาภ) เป็นของเรา ในตัวเรา (อัตตนียา) ที่เราเข้าถึงความจริงของอัตภาพ (อัตตา) นั้น แม้ได้บรรลุธรรมสูงส่งถึงปานฉะนี้ พระพุทธเจ้า ยังทรงพาเราปฏิบัติให้ยิ่งไปกว่านี้อีก จึงจะถึงขั้น "อนัตตา"

นั่นคือ จะต้องปฏิบัติถึงขั้น"ทำใจในใจ" (มนสิการ) ของตนโดยแยบคาย (โยนิโส) หรือโดยถ่องแท้ (โยนิโส) หรือลงไปถึงที่เกิด (โยนิโส) ให้ยิ่งๆขึ้นไปอีก เช่น ต้อง"ไม่ถือว่า (น มัญญติ) อัตตานั้น (คือจิตที่ผ่องแผ้ว) หรือไม่สำคัญ (น มัญญติ) อัตตานั้นว่า เป็นเรา (มม)" จนที่สุดแห่งที่สุด ก็คือ ต้องปฎิบัติให้ได้ถึงขั้น "การไม่ถือมั่นอะไรๆในโลก" (น กิญจิ โลเก อุปาทิยติ) หากปฏิบัติ สำเร็จบรรลุสูงสุด ได้ดังกล่าวนี้ จึงจะเป็นผู้ถึงความเป็น "อนัตตา" ครบถ้วน เป็นผู้บรรลุเต็มสภาพ จึงจะเรียกได้ว่า บรรลุ "อรหัตตา" หรือบรรลุ "นิพพาน" แล้วคนผู้นี้ก็มี "จิตผ่องแผ้ว" จิตตัวนี้คือ "อาลยวิญญาณ" หมายความว่า "วิญญาณที่ ผ่องแผ้วนั้นแล เป็นที่อยู่ที่อาศัย" แต่ท่านพ้น"อัตตา" หรือพ้น "มมังการ" ได้เด็ดขาดแล้ว ท่าน "ไม่ถือมั่นอะไรๆในโลก" สัมบูรณ์ แล้วจริง ท่านก็ "ไม่มีตัวตน" (อนัตตา) จริง สภาวะลักษณะนี้คือ "ปฏินิสสัคคะ" (การสลัดคืน)

จะเห็นได้ว่า ธรรม ๒ อย่าง คือ "การชำระจิตของตนให้ผ่องแผ้ว" กับ "การไม่ถือมั่นอะไรๆในโลก" นั้นแตกต่างกัน สถานะ ก็คนละ สถานะ คุณสมบัติก็คนละอย่าง คุณสมบัติหนึ่ง "มี" ส่วนอีกคุณสมบัติหนึ่งนั้น "ไม่มี"

(มีต่อฉบับหน้า)

-เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๘๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ -