- สมพงษ์ ฟังเจริญจิตต์ -

วุฒิภาวะของนักปกครอง-นักบริหาร


ตำราบันทึกสรรพคุณผู้นำ ต้องมีวิสัย-ทัศน์ ไอคิวเยี่ยม อีคิวยอด ปราชญ์โบราณบอกต่อ "ใจกว้าง"

ใจกว้างภาษาธรรมะ หมายถึง ปรโตโฆสะ

พระภิกษุเมื่อเข้าพรรษาต่างปวารณาซึ่งกันและกัน มีสิ่งใดขอให้ชี้แนะ สั่งสอน ตักเตือน

ท่านอาจารย์พุทธทาสอธิบายเพิ่ม ปวารณาที่แท้ แม้เข้าใจผิดก็อย่าเถียง อย่าแก้ตัว ให้รับฟัง

ผู้นำเช่นนี้ จึงคือ วีรบุรุษนั่งอยู่ในใจทุกคน

แต่จะออกมาให้กรี๊ดกร๊าด นับได้ประมาณเขาโค มิใช่ขนโค

"ความจริง" กับ "ความน่าจะเป็น" ไม่รู้อย่างไรไม่ชอบเดินด้วยกัน

ระหว่างผู้รู้กับผู้บริหารปกครอง จึงโกรธกันอยู่เสมอเป็นสงครามครูเสด รบจนกว่าจะหมดแรง

"เก่งจริงมาทำเองซิวะ!" โกรธมากๆ ก็ด่ากลับละเลงขนมเบื้องด้วยปาก ใครๆ ก็ทำได้

เมื่ออีคิวต่ำทั้ง ๒ ฝ่าย คำพูดก็เริ่มรุนแรง พูดจาดีๆ ก็หายไป มักจะมีฮิดเด้น อาร์เจนด้า ซ่อนแฝง

พูดไปเหน็บไป พูดไปส่อเสียดไป

ประเด็นหลักเริ่มลืม แก่นแท้ของเรื่องหาย กลายเป็นแค่ความสะใจ

สงครามระหว่าง เจ้าของเกวียนกับโคนันทวิศาล จึงเกิดแล้วเกิดเล่า

มัชฌิมาปฏิปทา แค่ไหนเล่าจะพอดี เหมาะเจาะ พูดเบาก็ไม่ระคาย พูดหนักก็พยศ?

"ตัวกู-ของกู" ความมีตัวตน มิใช่นักบริหารต้องรู้

แต่นักวิชาการบัณฑิตทั้งหลายก็ต้องระวัง

หากลูกดื้อเจอพ่อแม่เจ้าอารมณ์ เรื่องนี้ก็จะเป็นโศกนาฏกรรม

โศกนาฏกรรม ใครๆ ก็ว่าฝ่ายโน้น แต่ฝ่ายนี้ก็มีส่วน

ในสายตานักปฏิบัติธรรม ต้องคิดแบบเราเป็นศูนย์กลางจักรวาล กล่าวคือ "ผิดที่เรา"

กิเลสเกิดเพราะเรา

สังคมตกต่ำเพราะเรา

เมียขี้หึงก็เพราะเรา

ทำไมเขาไม่ฟัง...ก็เราอีก เพราะไม่เก่ง ไม่มีศิลปะ

เมื่อทุกคนมีตัวตน จึงจำเป็นต้องศึกษา เพื่อตัวยาที่ป้อนจะได้กลมกล่อม

เป้าหมายต้องชัดเจน

บอกประชาชนหรือบอกรัฐบาล

บอก ๒ แบบเป็นภาวะพะอืดพะอมเพราะแสนยาก ปราชญ์ผู้รู้หลายท่านพลีชีวิตยอมเป็นหินก้อนแรกถมลงบ่อน้ำ

แต่ปราชญ์ผู้รู้บางท่าน ไม่คิดอะไร รู้แค่ไหนพูดแค่นั้น จะเกิดอะไรไม่สนใจ ขอพูดความจริงอย่างเดียว

ขอเป็นหมวกสีขาวบริสุทธิ์ มีแต่ข้อเท็จจริงเยอะแยะ ใส่รถดั๊มพ์ไปเทหน้าบ้าน

เป็นผู้บริหารก็ต้องทำใจ ยอมรับชะตากรรม

ชีวิตอยู่บนเวที ไฟส่องหน้า เป็นดาวเด่น ใครๆ ก็พูดถึง กล่าวขาน

ชมก็มี นินทาก็เยอะ... ต้องยอมรับ

เป็นนักวิชาการ เป็นปราชญ์บัณฑิต ก็ต้องศึกษาวิธีป้อนอาหาร

จะเททั้งถุง หรือเททีละช้อน

ของกินมีเยอะ จะทยอยให้แบบนักฝึกละครสัตว์ หรือเทกระจาดยกเข่ง

หากสมมติว่าเป็นลูกดื้อ เราจะใช้วิธีไหน?

จัดการกับผู้บริหารนักปกครอง สิทธิการิยะท่านว่า ต้องไปอ่านจิตวิทยาวัยรุ่น

เข้าใจวัยรุ่น เราจะเข้าใจผู้บริหารมากขึ้น



โลกจะสุขเย็นสันติได้ เพราะคนเป็นอาริยะ
เห็นแจ้งได้ชัดว่าภาระส่วนตนนั้นมันน้อยนิดเหลือเกิน
ทำให้มันเสียหน่อยเดียวก็เสร็จแล้ว
ก็จะมีชีวิตประจำวันอยู่ด้วยการขวนขวาย
สร้างสรรเพื่อผู้อื่นอยู่เท่านั้นเป็นนิจ

*** โศลกธรรม สมณะโพธิรักษ์

-เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๘๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ -