ตอน... "แผลงฤทธิ์" ตอนน้อยเรียนชั้นประถมปีที่ ๒ โรงเรียนประชาบาลแว้งนั้น เธอและเพื่อนๆ ได้เรียนวิชาหน้าที่ศีลธรรมด้วย ถึงนักเรียน เกือบทั้งห้อง จะไม่ได้นับถือ พระพุทธเจ้าเป็นศาสดา และเขามีพระนาบีมะหะหมัด เป็นผู้ประกาศศาสนา ที่เรียกว่า ศาสนา อิสลามก็ตาม พวกเขาก็ได้มีโอกาสรู้จักเรื่องราวของอีกศาสนาหนึ่งด้วยวิชานี้ "ฉันนึกว่าพระพุทธเจ้าของเธอเป็นคนไทย เหมือนเธอเสียอีก" มณีพรรณว่า "เมื่อก่อนฉันก็ไม่รู้หรอก มณีพรรณฉันนึกว่า ถ้าเราอยู่ในประเทศไทย นับถือพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็ต้องเป็นคนไทย ตอนหลัง พี่แมะถึงได้บอกว่า ไม่ใช่ ในหนังสือเขาเขียนไว้ว่า พระพุทธเจ้า เป็นคนอินเดียต่างหาก" น้อยบอก เพื่อนตามตรง "อย่างนั้นพระพุทธเจ้าของเธอก็คงพูดภาษาไทย ไม่ได้ซีนะ" มณีพรรณตั้งข้อสังเกตอีก "จริงด้วย ขนาดเธออยู่ในประเทศไทย แต่ไม่ได้นับถือพระพุทธเจ้าก็ไม่ได้พูดภาษาไทยนี่นะ" น้อยตอบพลางมองดูเพื่อนรัก อย่างชั่งใจ อะไรสักอย่าง ก่อนที่จะตัดสินใจถามว่า "แล้วท่านนาบีของเธอล่ะเป็นคนมลายู หรือเปล่า ท่านนาบีพูดภาษามลายูอย่างที่เราพูดกันไหม?" "ไม่ใช่เหมือนกัน ท่านไม่ได้เกิดที่นี่หรือเป็น คนมลายูหรอก ท่านพูดภาษาอาหรับ อย่างที่ พวกฉันหัดอ่านหัดเขียนตั้งแต่เล็กๆ นั่นไง ต้องเรียนกัน ตั้งแต่ยังไม่เข้าโรงเรียนเสียอีก" มณีพรรณตอบ "ที่เธอเรียกว่า บาซออาหระ [บาซออาหระ เป็นคำเพี้ยนมาจากคำว่า บาหฺซาอาหรับ (bahasa arab) เข้าใจว่า คำว่า บาหฺซา เป็น คำเดียวกับคำว่า ภาษา ในภาษาสันสกฤต ไม่ใช่จากภาษาอาหรับ แสดงถึงอิทธิพลร่วม ที่ทั้งภาษาไทย และภาษามลายู รับมาจากสันสกฤต อันเป็นภาษาเก่าแก่ที่สุด ของมนุษยชาติภาษาหนึ่ง] น่ะหรือ?" น้อยถาม "ใช่ แต่ที่เธอว่าบาซออาหระนั้นเป็นภาษา ของพวกเราที่แว้งหรอกนะ พวกเราพูดภาษามลายู ที่อ่านกันเช้าๆ นั้นเป็นภาษา อาหรับ ท่านนาบี พูดภาษาอาหรับ สอนเป็นภาษาอาหรับ พวกฉันจึงต้อง เรียนภาษาอาหรับไง" มณีพรรณ อธิบายต่อ เธอเป็นลูกสาวของโต๊ะปาเกเลาะห์ ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ ทางศาสนาอิสลาม แต่ท่านยังไม่เคย ไปมะก๊ะห์ มณีพรรณบอกว่า คนที่เคย ไปมะก๊ะห์แล้ว จะเรียกกันว่า โต๊ะหะยี น้อยตัดสินใจแล้วว่าคืนนี้เธอจะถามพ่อว่า พระพุทธเจ้าพูดภาษาอะไรกันแน่ "พ่อบอกว่าพระพุทธเจ้าตรัสด้วยภาษาบาลี พ่อว่าเราต้องไม่ว่าพระพุทธเจ้าพูด ต้องว่า ตรัส จึงจะถูก ถ้าเธอว่าพระอัลเลาะห์ พูด ก็ไม่ถูกเหมือนกัน ต้องว่าพระอัลเลาะห์ตรัส แล้วตัว หนังสือที่เขา จดคำสอน ของพระพุทธเจ้าไว้นั้น เรียกว่าตัว เทวนาครี" "อย่างนั้นน้อยก็ต้องหัดอ่านภาษาบาลี เขียนตัว-อะไรนะ-เรียกยากจัง เหมือนที่ฉันหัดภาษาอาหรับด้วยซีนะ ยากไหมนะ น้อย? แต่แท (ท่าน-พ่อของน้อย) สอนเธอก็ได้นี่นา" "ฉันก็ไม่รู้ว่าตัวเทวนาครีเป็นยังไง พ่อบอกว่าตัวอักษรเทวนาครีจะคล้ายๆ กับตัวหนังสือที่แขกอินเดียที่บ้านป้าแดงเขาเขียนไว้ ข้างฝา ฉันถามพ่อเหมือนกันว่า พ่อสอนฉันได้ไหม แต่พ่อว่าพ่อสอนไม่ได้ พ่อไม่เคยเรียน ตอนหนุ่มๆพ่อบวชเป็นพระ ก็เรียน อ่านเขียนตัวหนังสือขอม" น้อยบอกเพื่อน ป้าแดงที่พ่อบอกนั้นเป็นคนไทยแต่แต่งงานกับแขกอินเดีย เวลาลุงเครายาวสามีป้าแดงพูดไทยกับน้อยทีไร เธอไม่รู้เรื่อง สักคำเดียว พวกเขาเช่าห้องแถว ข้างบ้านหลั่นสินอยู่และมีอาชีพขายผ้าและทำสวนยาง มณีพรรณนิ่งไปเป็นครู่ก่อนที่จะพูดว่า "อย่างนั้นเราก็ลำบากพอๆ กันแหละ ฉันเรียนภาษาไทยที่โรงเรียน พูดภาษามลายูที่บ้าน หัดอ่านเขียนภาษาอาหรับ ของเธอ พูด ภาษามลายูนอกบ้าน ในบ้านพูดภาษาไทย ถ้าเรียนที่พระพุทธเจ้าของเธอสอน ก็ต้องเรียน ภาษาอะไรก็ไม่รู้ อีกตั้ง หลายอย่าง" "เรียนภาษาบาลี เขียนตัวอักษรเทวนาครี แล้วยังตัวหนังสือขอมอีก ฉันว่าอย่างนั้นเหมือนกัน แต่พ่อว่า ไม่ต้องก็ได้ ฉันยังเด็ก แค่ท่อง ศีลห้าให้ได้ และปฏิบัติตามก็พอแล้ว" น้อยตอบเพื่อน ก่อนจะจูงมือกันเข้าห้องเรียน ของครูมนัส สัปดาห์หนึ่งต่อมาการเรียนวิชาศีลธรรมที่โรงเรียนก็ทำให้เกิดเรื่องใหญ่ขึ้นที่บ้านจนได้ บ่ายวันนั้นน้อยเดินกลับจากโรงเรียนด้วยความรู้สึกแปลกๆ อะไรสักอย่างในใจทำให้เธอเอียงคอมองหน้าร้านผ่านดงกล้วย และ ต้นมะม่วงส่วนตัว มาแต่ไกล เห็นแม่นั่งคุยอยู่กับเพื่อนแขก สองสามคน เช่นเคย เธอมองเลยไปอีกซีกหนึ่งของหน้าร้าน และ มองลึกเข้าไป ถึงโต๊ะทำงานของพ่อ แต่พ่อไม่อยู่ที่นั่น น้อยหยุดชะงัก แม่หันหน้ามามองตามสายตาของแขกที่มองมายังเธอ แล้วแม่ก็พูดขึ้นว่า "คอยดู พ่อไม่อยู่ ถ้าพ่อเป็นอะไรไปแม่ก็ช่วยไม่ได้" น้อยรู้ทันทีว่าลงแม่พูดแบบนี้แสดงว่าพ่อของเธอจะต้องถูกชวนไปร่วมงานเลี้ยงที่ไหนสักแห่ง
และคนที่นั่นจะต้องชวนให้พ่อ กินเหล้า ด้วยอีกแล้ว น้อยหยุดยืนนิ่ง กลืนอะไรบางอย่างในคอที่แห้งผาก
ลงไปอย่างยากเย็น แม่จะไม่คอยพ่อ จะเข้าห้องนอนใหญ่และขัดกลอนอย่างแน่นหนา พี่แมะก็จะตามแม่เข้าห้องนอนเล็กของสองพี่น้อง เหลืออยู่ แต่น้อยคนเดียว ที่จะนั่งคอยพ่อ อยู่ข้างนอก ในห้องโถงกลาง ถึงจะกลัวและร้องไห้ไม่หยุด เธอก็จะนั่งคอยพ่อ อยู่อย่างนั้น เพราะแม่บอกว่า "คอยดู ตอนที่พ่อเดินข้ามสะพานไม้มะพร้าวต้นเดียว พ่อจะต้องตกลง ในคลองแน่ๆ" "พ่อไม่ตกหรอก แม่อย่าว่าพ่อของน้อยจะต้องตกคลองนะ พ่อไม่เคยตก" น้อยเถียงแม่ "ถ้าไม่เมาก็ไม่ตก แต่นี่ตั้งสองทุ่มแล้วยังไม่มา ก็ต้องเมาแน่ๆ เดือนก็มืดด้วย แมะว่าพ่อจะตกคลองไหม?" แม่พูดเหมือนกึ่งล้อ ลูกคนเล็ก ที่ไม่ชอบเหล้าพอๆ กับแม่เหมือนกัน อาจจะเป็นเพราะ แม่ชอบพูดให้กลัวก็ได้ "พี่แมะอย่ามาว่าพ่อเค้าจะตกคลองนะ ถ้ามาว่าเค้าจะโกรธตัวเอง พ่อไม่ตกหรอก" น้อยจะแผดเสียงใส่พี่แมะลั่นข้ามห้อง เสียงร้องไห้ฮือๆ ของเธอ จะมีเสียงหัวเราะเบาๆ ของแม่และพี่แมะ ดังปนมา จากในห้อง น้อยรู้สึกเหมือนทุกคนในโลก โหดร้าย ไม่รักพ่อ และทิ้งให้เธอต้องผจญกับภาพพ่อเมาเหล้า และช่วยพ่ออยู่เพียงคนเดียว เธอเคยได้ยินแม่เล่าให้น้าเหลี่ยนฟังว่าพ่อของเธอนั้นแปลกมากในเรื่องดื่มเหล้า "ฉันนี่เกลียดเหล้าจริงๆ น้องเหลี่ยน เมื่อไหร่พ่อน้อยเขาเมามาฉันจะไม่ช่วยเลย
ฉันไม่ชอบเสียงพูดอ้อแอ้ แล้วก็พูดไม่รู้เรื่อง ยิ่งเวลา ผู้ชายเมาแล้วอ้วกออกมา
ยิ่งแล้วใหญ่ มันเหม็นจนฉันทนไม่ได้ จะพาลอ๊วกไปด้วย ใครช่วยเค้าน่ะหรือ
ถ้าไม่มีใคร ก็ปล่อยให้นอนรำพันไปจนหลับ แต่เรื่องนี้แปลกอยู่นะ พ่อน้อยเขาจะไม่เมา
จนกว่าจะถึงบ้าน ไปกินเลี้ยงถึงโกลก ตั้งเกือบ ยี่สิบกิโล เดินถือไม้เรียว
หวดข้างทางกลับมา ยังกะไม่ได้กินเหล้า สักหยดงั้นแหละ ใครเห็นก็ไม่มีใครรู้ว่าเมา
แต่พอถึงบ้าน เท่านั้น..." ทำไมนะพ่อที่แสนดีจึงเป็นไปเช่นนั้นได้ ต้องไอ้เหล้านี่แน่ๆ! ทำไมพ่อถึงต้องรำพันแบบที่ย้ำให้เธอกลัวว่าที่แม่พูดจะเป็นจริง ต้องไอ้เหล้านี่แน่ๆ! เธอเคยทำตามแบบแม่ ตามแม่เข้าไปอยู่เสียในห้องใหญ่ แต่พอพ่อรำพันหาว่า "น้อยออกมาหาพ่อหน่อย พ่อจะตายอยู่แล้ว" แค่นั้น น้อยก็จะกลัวพ่อตาย ต้องรีบออกมาหา กระโถนให้พ่อ ตักน้ำมาให้พ่อบ้วนปาก และช่วยเช็ดหน้าให้พ่อ ตลอดเวลา เธอร้องไห้อ้อนวอน ให้แม่กับพี่แมะออกมาช่วย แต่ดูเหมือนไม่มีใครเข้าใจ ความรู้สึกเจ็บปวดของเธอเลย สักคนเดียว การเมา ของพ่อ ซึ่งแท้จริง นานแสนนาน จะเกิดขึ้นสักครั้ง ทำให้น้อยเป็นคนกลัวตาย อย่างรุนแรง เธอกลัวพ่อจะตาย ตามที่พ่อรำพัน และ ถ้าพ่อตาย ก็จะมีแต่เธอคนเดียวเท่านั้น ที่คอยช่วยอยู่ข้างๆ น้อยรู้สึกด้วยว่า ทุกคนโหดร้าย ที่ไม่ออกมาช่วยพ่อ ไอ้เหล้านี่เองที่มันจะทำให้พ่อตาย น้อยเกลียดเหล้าเป็นที่สุด เกลียดที่สุดในชีวิตไม่มีอะไรเท่าอีกแล้ว มณีพรรณเขาโชคดีที่ไม่ต้องกลัวว่าพ่อเขาจะกินเหล้าตาย คนนับถือศาสนาอิสลามเขาไม่ดื่มเหล้าเลย
"ไม่ได้ไปโกลกหรอก เป็นห่วงพ่อก็ลองไปตามดูซี พ่อออกไปกับลุงขิแล้วก็ลุงวอนแน่ะ ไม่ได้บอกแม่ว่าจะไปไหน" แม่ตอบ น้อยนิ่งไป สักครู่ใหญ่ ก่อนที่จะเดินเข้ามาใต้ถุนข้างที่แม่นั่ง ยื่นกระเป๋าจันทบูร สำหรับใส่หนังสือ ขึ้นไปให้แม่ พลางพูด เสียงต่ำว่า "แม่คะน้อยจะไปตลาดค่ะ" น้อยเดินผ่านสวนมะพร้าวและสวนละไม ข้ามสะพานต้นมะพร้าวที่ทอดข้ามคลองแว้งซึ่งเมื่อครู่นี้เองเธอกับมามุเพิ่งจะลุยน้ำ ข้ามกัน อย่างสนุกสนาน จากนั้นก็เดินผ่าน เข้าไปในตัวตลาดที่เริ่มจะวายแล้ว บรรดาแม่ค้า กำลังวุ่นเตรียมตัวกลับบ้าน เพื่อหุงหาอาหาร ห้องแถวขายของชำ ก็เริ่มเก็บของที่ไปวางขายนอกร้าน เข้ามาใน ใครๆ เขาก็เตรียมกลับบ้าน แล้วใครนะมาชวนพ่อไปจากบ้าน? ทำไมพ่อต้องไปด้วย? พ่อไปไหน? "เดินไปทางบ้านหลั่นสิน เดี๋ยวเจอเพื่อน เขาจะถามว่าไปไหนอีก ไปทางนี้ดีกว่า เร็วดีด้วย เผื่อพ่ออยู่บ้านป้ามุล" น้อยบอกตัวเองก่อนที่จะเดินผ่าถนนกลางที่ตัดตรงไปหลังอำเภอและโรงพัก เดินพลางก็ปรายตามองไปตามร้านชำ สองข้าง ถนน ที่หน้าบ้านป้ามุล มีตำรวจหนุ่มๆ ออกเวรที่โรงพักแล้ว มาเดินเตร่กันอยู่หลายคน ทั้งที่ตรงนั้น ไม่มีร้าน น้ำชากาแฟ อะไรสักหน่อย ลุงแดงที่ใครๆชอบล้อ เรื่องศีรษะล้านเลี่ยน กำลังทำสีหน้าดุลูกสาวคนเดียวอยู่ว่า เก็บของช้า ไม่ทันใจพ่อ เอาเสียเลย ถ้าเป็นวันธรรมดา น้อยอาจจะแอบเสา ดูพวกตำรวจมาจีบลูกสาวป้ามุล แล้วจะได้ไปเล่าให้พี่แมะฟัง แต่วันนี้ เธอไม่มีอารมณ์เอาเสียเลย เพราะต้องไปตามหาพ่อให้พบ ก่อนค่ำมืด เธอเดินเลี้ยวไปทางมุมถนนหลังบ้านประพนธ์ซึ่งเป็นบ้านพักประจำตำแหน่งผู้กองหัวหน้าตำรวจอำเภอแว้ง น้อยมองขึ้นไป บนบ้านสวย สีฟ้าอมเทานั้นหน่อยหนึ่ง ไม่มีเสียงคนคุยกัน อยู่บนบ้านนั้น แสดงว่า พ่อไม่อยู่ที่นั่น ที่ร้านกาแฟของอาลี มีคนนั่งอยู่เต็มเหมือนเป็นสโมสรคนแว้ง ที่มาคุยกันอย่างสนุกสนาน ส่วนมากจะเป็นคนไทยมุสลิม พ่อก็ไม่ได้อยู่ที่นั่นกับเขา น้อยนึกขึ้นได้ บอกตัวเองว่า "จริงซี พ่อชอบกาแฟของร้านนี้ แต่พ่อจะมาที่นี่เฉพาะตอนเช้าเท่านั้น
ตอนบ่ายพ่อจะไปนั่งดื่มน้ำชากับเพื่อนที่ร้านโกฟุก ที่ตลาดล่างโน่น เราต้องรีบเดินไปที่นั่น
พ่อต้องอยู่ที่นั่นแน่" เด็กๆ ชายแดนอย่างที่แว้งนี้สามารถหาเรื่องเล่นกันได้สารพัดไม่มีติดขัด เว้นเสียแต่ตอนน้ำพะ [น้ำพะ แปลว่า น้ำท่วม แต่จะใช้ กับน้ำที่ท่วม ตามฤดูกาลเท่านั้น ดู แว้งที่รัก ตอน หน้าพะ] แต่วันนี้น้อยไม่มีกะใจ แม้แต่จะมองดูเด็กๆ พวกนั้น อย่าว่าแต่จะไป ร่วมเล่นขย่มด้วยเลย เธอจะต้องรีบเดินเลียบไปตามทางเดินริมห้องแถวจนถึงตึกสองชั้นสองคูหา ชาวแว้ง จะเรียกกันว่า โฮเต็น [โฮเต็น คือ โรงแรม คนไทยมุสลิมสมัยโน้น เรียกคำนี้ตามภาษาอังกฤษว่า hotel] เพราะเคยเป็นโรงแรม สำหรับฝรั่ง และคนที่พักเพื่อรอช้างต่าง ขึ้นไปโต๊ะโมะ หรือไม่ก็เรียกกันว่า อุเมาะห์บาตู [อุเมาะห์บาตู เป็นภาษา มลายูพื้นถิ่น เพี้ยนมาจาก ภาษามลายูกลาง rumah-batu แปลตรงตัวว่า บ้าน-หิน หมายความถึงอาคารที่สร้างเป็นตึก ซึ่งถือว่า ค่อนข้างโก้ เพราะสมัยโน้น แว้งมีแต่อาคารไม้] ถัดจากตึกนี้ไป สองสามคูหา ก็เป็นร้านน้ำชาโกฟุก อันเป็นจุดหมายหนึ่ง ที่น้อย จะมาตามหาพ่อ "พ่อเราต้องมานั่งกินน้ำชาและคุยอยู่กับลุงขิและลุงวอนที่นี่แน่"
น้อยบอกตัวเองอีก "มาฆีจาฆีเจ๊ะกอ แทสมุห์เตาะมาฆีมาแก-แตซีนิงอาฆีนิง(มาตามหาพ่อหรือ วันนี้ท่านสมุห์ไม่ได้มากินน้ำชาที่นี่) "เจ๊ะอามอเตาะมาฆีซีนิง เตาะอะปอลา อามอกึเละเดาะห์เด๋ (พ่อหนูไม่มาที่นี่หรือ ไม่เป็นไรค่ะ งั้นหนูกลับแล้ว)" น้อย ได้ยินเสียง ตัวเองตอบไป ราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น เธอไม่ได้พูดเท็จให้ผิดศีลที่เพิ่งเรียนมา แต่ชั่วแวบหนึ่ง น้อยไม่อยาก ให้โกฟุกรู้ว่า พ่อของเธอต้องไปกินเหล้า อยู่กับลุงขิและลุงวอน ที่ไหนสักแห่ง "หรือพ่อจะไปคุยกับลุงเต๊กเคี้ยง [ครอบครัวนี้มีตัวตนจริงทั้งสามพ่อแม่ลูก นามสกุล สมุทวานิช ผู้เขียนไม่ทราบว่า ปัจจุบัน อยู่ที่ไหน แต่บุตรชาย คือ สุชิน สมุทวานิช เป็นนักเขียน สารคดี ปรากฏงานเขียน ในนิตยสารต่างๆอยู่บ้าง] ไปยืมหนังสือใหม่ ของลุงไปอ่าน ต้องใช่แน่นอน โธ่! ถัดร้านโกฟุก ไปแค่สองหลังนี่เอง ทำไม้เราถึงเพิ่งคิดออกนะ" น้อยเดินแกมกระโดดหย็อยๆ ไปยังห้องแถวของลุงเต๊กเคี้ยง พี่สุชินนั่งอยู่หน้าบ้าน เธอไม่อยากเสียเวลาคุยกับพี่สุชิน เพราะอยาก พบพ่อเร็วๆ จะได้เดินจูงมือกัน กลับบ้านเสียที ขืนคุยกับพี่สุชิน ก็จะนานอีก เพราะพี่เขาพูด ติดอ่างมากจังเลย น้อยเดิน เข้าไปในบ้านอย่างคุ้นเคย เพราะแม่เป็นเพื่อนสนิท ของป้าเชียร ชอบคุยกันเรื่องทำขนม และพ่อก็สนิทกับ ลุงเต๊กเคี้ยง มาก เพราะชอบอ่านหนังสือเหมือนกัน และลุงเป็นคน รับสั่งหนังสือ จากบางกอก มาให้พ่อที่แว้ง น้อยร้องถามเข้าไปว่า "ป้าเชียร ลุงเต๊กเคี้ยง พ่อน้อยมาที่นี่หรือเปล่าคะ?" แต่แล้วน้อยก็ต้องผิดหวังอีกครั้งเมื่อได้รับคำตอบจากป้าเชียรว่า "ไม่เห็นพ่อมาที่นี่นี่ แม่เป็นไงมั่งวันนี้ เข้ามาหาป้าเชียรหน่อย มาเอา ขนมทองหยอดนี่ไปให้แม่ด้วย บอกแม่ว่า ป้าเชียรฝากมาให้" น้อยยกมือไหว้รับห่อขนมมา และรับหนังสือดวงประทีปที่ลุงฝากไปให้พ่อด้วย จากนั้นก็เดินคอตกผ่านพี่สุชินออกมาที่ทางเดิน "เหลือที่เดียวแล้ว ไม่อยากไปเลย พ่อไม่น่าไปตรงนั้นเลย" น้อยผิดหวังมาตลอดเส้นทางที่ไม่พบพ่อ แต่เมื่อมาถึงห้องแถวทึบทึมขายเหล้าห้องนั้น เธอกลับดีใจจนยิ้มออกมาได้ทันทีที่ไม่เห็นพ่ออยู่ที่นั่น ! "พ่อไม่ได้ไปกินเลี้ยงที่โกลก พ่อไม่ได้ไปร้านโกฟุก ร้านอาลี บ้านป้าเชียร ร้านขายเหล้า พ่อกับลุงทั้งสองคนต้องไปที่บ้านพัก ข้าราชการแน่ ว่าแต่จะเป็น บ้านของใครกัน?" น้อยเดินคนเดียวไปตามบ้านพักปลัดอำเภอก่อน ร่ายไปทีละหลัง บ้านปลัดแพ ปลัดสันทัด ปลัดหริ่ง ปลัดสว่าง ปลัดทุกคน ไม่อยู่บ้าน พ่อก็ไม่ได้ไป บ้านพักเหล่านั้น เธอยืนงงอยู่ครู่หนึ่ง ลังเลที่จะไปถามคุณนายนายอำเภอ แล้วโดยบังเอิญที่สุด น้อยมองไปทางที่ว่าการอำเภอ ตามปกติที่นั่นจะมืดสนิท แต่คืนนี้ตะเกียงเจ้าพายุหลายดวง จุดสว่างโร่ อยู่ เร็วเท่าความคิด เธอออกวิ่งเต็มฝีเท้า ข้ามสนามฟุตบอลตรงไปที่นั่น วิ่งขึ้นบันได ไปชั้นบนที่ตะเกียง จุดสว่างไสวอยู่ พ่ออยู่ที่นั่น จริงๆ ด้วย นายอำเภอ ปลัดทุกคน ลุงขิ ลุงวอนก็อยู่ที่นั่น นั่งล้อมวงบนพื้นห้องโถงใหญ่ กำลังกินเลี้ยงกัน อย่างสนุกสนาน ทันทีที่น้อยเห็นขวดเหล้ากลางวงเลี้ยงและแก้วเหล้าข้างหน้าแต่ละคน เธอไม่คิดอะไรแล้ว นอกจากจะต้องเอาพ่อกลับบ้าน ให้ได้ ก่อนที่พ่อจะเมา เดินตกคลอง ร่างผอมแห้ง แขนขายาวของเธอ เดินตรงเข้าไป กระทืบเท้าตรงกลางวง แล้วหยุดยืนนิ่ง อยู่อึดใจหนึ่ง เมื่อผู้ใหญ่พากันหัวเราะลั่น และพ่อจำต้องบอกลาทุกคนว่า ลูกสาวมาตามกลับบ้าน เย็นวันต่อมาลุงขิมาที่บ้าน มาเล่าให้แม่ฟังซ้ำว่าถึงการแผลงฤทธิ์ของน้อยบนอำเภอ พ่อกับแม่หัวเราะกันจนน้ำตาไหล พี่แมะ ก็พลอยหัวเราะน้องไปด้วย น้อยนึกอะไรขึ้นได้ จึงเดินเข้าไปในห้องนอน และกลับออกมา ด้วยหนังสือเรียน ที่เธอรับมรดก มาจากพี่แมะ เปิดหาหน้าที่ต้องการอย่างรวดเร็ว เอาไปยื่นให้ลุงขิ พูดว่า "ลุงขิคะ น้อยเพิ่งเรียนมา ครูสั่งให้ท่องศีลห้า น้อยท่องได้หมดแล้ว นี่ไงลุงขิ ศีลข้อห้า สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี สิกขาปทัง สมาทิยามิ นี่ เขาเขียนไว้นี่ แปลว่า ห้ามไม่ให้ดื่มสุรา เครื่องมึนเมา ทั้งหลาย ลุงขิผิดศีลข้อห้า" ทุกคนยิ่งหัวเราะดังขึ้นไปอีก เมื่อลุงขิพูดว่า "ไหนมาให้ลุงดูซิ อ่านผิดหรือเปล่า ท่องผิดหรือเปล่า หนังสือของน้อย พิมพ์ผิดละมั้ง"
-เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๘๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ - |