กระบวนการวิเคราะห์และปฏิบัติตามแนวพระบรมราโชวาท เรื่องคุณธรรม ๔ ประการ บทที่ ๕ ๕.๓ การตั้งจิตอธิษฐาน (ต่อ) ขณะที่ถ้าใช้ปัญญาวิเคราะห์ให้เห็นถึงเหตุมูลฐานแท้จริงของปัญหานั้นๆ ที่บีบคั้นชีวิตให้เป็นทุกข์ แล้วกำหนดเป็น "สัจจะ" ที่จะประพฤติปฏิบัติเพื่อแก้ไขเหตุมูลฐานดังกล่าวอย่างใดอย่างหนึ่ง ภายใต้ขอบเขตที่เหมาะสมกับองค์ประกอบต่างๆ ตามลำดับขั้นตอน และตามกำลังที่ตนจะพึงประพฤติปฏิบัติได้ (ดังกระบวนการวิเคราะห์และปฏิบัติตามพระบรมราโชวาทเรื่องคุณธรรม ๔ ประการที่ได้กล่าวมาแต่แรก) การตั้งจิตอธิษฐาน เพื่อขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในวัฒนธรรมของศาสนาหรือลัทธิความเชื่อที่ตนเคารพบูชา ช่วยบันดาลให้ตนมีพลังที่จะสามารถ ประพฤติ ปฏิบัติตาม "สัจจะ" ที่ตั้งใจไว้ ให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย การอธิษฐานแบบนี้ จะให้อานิสงส์ ในการช่วยแก้ ปัญหา และยกระดับ ภูมิธรรมของชีวิตให้สูงขึ้น เหนือกว่าการอธิษฐานที่เป็นการ "อ้อนวอนขอ" แบบแรกมากมาย ตัวอย่างเช่น คนที่มีลูกติดยาเสพติด ถ้าคนผู้นั้นสวดมนต์อธิษฐานขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือ "พระเจ้า" ได้ช่วยลูกของตน ให้พ้นจาก การเป็นทาสของยาเสพติดซึ่งโดยปกติการอธิษฐานขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนเคารพบูชาช่วยเหลืออะไร เราก็มัก จะต้อง ประพฤติตัวให้สอดคล้องกับความต้องการของ "สิ่งศักดิ์สิทธิ์"ดังกล่าวตามลัทธิความเชื่อนั้นๆ อยู่แล้ว หากลัทธิความเชื่อดังกล่าวไม่มีหลักธรรมอะไรที่ลุ่มลึก เพียงสอนให้แก้บนด้วยการนำของที่ "สิ่งศักดิ์สิทธิ์" ชอบไปถวาย เป็นการเอาอกเอาใจก็พอ อาทิ จัดนางรำไปฟ้อนรำให้ดูบ้าง หรือจัดหัวหมูบ้าง จัดปลาร้าบ้าง จัดของดำ ๕ อย่างบ้าง ไปถวาย บูชา ฯลฯ การอธิษฐานในลักษณะบนบานเช่นนั้น ก็จะไม่มีคุณูปการอะไรมากนัก ต่อการช่วยให้ลูก เลิกยาเสพติด แต่ถ้าเป็นการอธิษฐานภายใต้วัฒนธรรมของหลักคำสอนทางศาสนาที่มีนัยลุ่มลึกขึ้น อันมีบทบัญญัติหรือคำสอน ให้ประพฤติ ปฏิบัติใน "สิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรม" ต่างๆ เมื่อจะสวดมนต์อธิษฐานขอให้ "สิ่งศักดิ์สิทธิ์" หรือ "พระเจ้า" ในศาสนา นั้นๆ ช่วยให้ลูกของตนพ้นจากการเป็นทาสยาเสพติด โดยตนจะตั้งใจประพฤติปฏิบัติตามหลักคำสอนที่ดีงาม ของศาสนา ดังกล่าวเป็นพันธะแลกเปลี่ยน อาทิ จะถือศีลกินเจบ้าง เลิกอบายมุขสิ่งเสพติด ที่เป็นข้อห้าม ของบทบัญญัติ ทางศาสนาบ้าง ฯลฯ ในที่สุดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของชีวิตตนเองในทิศทางที่ดีขึ้น จากการปฏิบัติตามคำสอน ของศาสนา ก็อาจมีอานิสงส์ ส่งผลช่วยให้ลูกได้รับความรักความอบอุ่นจากครอบครัวมากขึ้น และเลิกยาเสพติดได้สำเร็จ เป็นต้น ยิ่งถ้ามีการวิเคราะห์ถึงเหตุมูลฐานแห่งการติดยาเสพติดของลูกว่า เกิดจากความบกพร่องในการดูแลลูกของตนอย่างไร อาทิ พบว่า เกิดจากการที่ตนไม่มีเวลาให้กับลูก เนื่องจากมัวแต่สำมะเลเทเมานอกบ้าน กลับมาก็เอะอะโวยวาย หาเรื่องทะเลาะ ตบตีลูกเมียบ้าง ด่าว่าลูกต่างๆ นานาที่ทำอะไรไม่ได้ดังใจตนบ้าง หรือบังคับลูกมากเกินไปด้วยความหวังดี แต่ขาด ความเข้าใจ ในจิตวิทยา ของเด็กบ้าง ฯลฯ เมื่อลูกขาดความรักความอบอุ่น จากครอบครัว ก็เลยหันไปเสพยาเสพติด เป็นการประชด ตอบโต้พ่อ เมื่อเห็นเหตุดังนี้แล้ว ก็ตั้งเป็น"สัจจะ" ที่จะประพฤติใน "สิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรม" เพื่อแก้ไขมูลเหตุแห่งปัญหานั้นๆ โดยการ "อธิษฐาน" ขอให้พระเจ้าหรือสิ่งที่ตนเคารพบูชาภายใต้วัฒนธรรมของศาสนาดังกล่าว ช่วยประทานพลังให้ตน สามารถ เอาชนะใจตนเองที่จะประพฤติปฏิบัติตามสัจจะที่ตั้งไว้ให้จงได้ เช่น จะเลิกอบายมุขสิ่งเสพติด ไม่สำมะเลเทเมา จะไม่แสดง อารมณ์โกรธ อย่างขาดสติต่อภรรยา หรือลูกๆ จะให้เวลาและให้ความรักกับครอบครัว ฯลฯ การสวดอธิษฐาน หรือการตั้งจิต อธิษฐาน ต่อสิ่งที่ตนสักการะบูชาอย่างถูกวิธีเช่นนี้ จะยิ่งมีพลังแห่งอานิสงส์ต่อการช่วยให้ลูก พ้นจากการตก เป็นทาสยาเสพติด ตามที่มุ่งหวังไว้ ได้ตรงจุดยิ่งๆ ขึ้น เป็นต้น
ถ้าเข้าใจหลักการเหล่านี้แล้ว เราก็สามารถจะออกแบบกระบวนการตั้ง "สัจจะ" เพื่อประกาศความตั้งใจประพฤติปฏิบัติ "สิ่งที่เป็น ประโยชน์และเป็นธรรม" ให้สอดคล้องกับเงื่อนไขของแต่ละวัฒนธรรม แต่ละกาลเวลาสถานที่ หรือแต่ละสถานะ บทบาททางสังคม ได้อย่างเหมาะสมและมีพลังในการพัฒนาชีวิตให้สมบูรณ์ขึ้นต่อไป อาทิ วัดบางแห่งอาจใช้วิธีให้ผู้ติดยาเสพติดจุดธูปสาบานตน เพื่อตั้งสัจจะว่าจะเลิกยาเสพติดนั้นๆ ต่อหน้าหมู่สงฆ์ (ดังวิธีการ ของวัดถ้ำกระบอก หรือสำนักสัจจะโลกุตระ เป็นต้น) หน่วยราชการบางแห่งก็ใช้วิธีให้ผู้ติดยาเสพติดดื่มน้ำมนต์ และ ประกาศ สาบานตน ต่อหน้าพระบรมสาทิสลักษณ์ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่าจะเลิกเสพยาเสพติด หรือ มัสยิดบางแห่ง ก็อาจใช้วิธีให้ผู้เสพยาเสพติดที่มาเข้าค่ายบำบัดรักษา กระทำละหมาด และประกาศปฏิญญา ต่อพระ อัลเลาะห์ว่า จะเลิกเสพยาเสพติดให้จงได้ ฯลฯ ในขณะที่ครูก็สามารถจะออกแบบกระบวนการเรียนการสอนโดยบูรณาเรื่องการปฏิบัติคุณธรรม ๔ ประการตาม พระบรม ราโชวาทนี้ เข้าไปในหน่วยการสอนวิชาพุทธศาสนาได้เช่นกัน ด้วยการแบ่งนักเรียนในชั้นเรียนเป็นกลุ่มย่อย แล้วให้ นักเรียน แต่ละคน วิเคราะห์ปัญหาชีวิตของตนเอง ให้เพื่อนในกลุ่มช่วยกันให้ข้อคิดเห็น อันเป็นกระบวนการเรียนรู้ ร่วมกัน ในเชิง ประสบการณ์ (Experiential Learning) จากนั้นก็ให้นักเรียนแต่ละคนในกลุ่มกำหนด "สัจจะ" ที่แต่ละคน ตั้งใจ จะประพฤติ ปฏิบัติ เพื่อคลี่คลายปัญหาชีวิตของตนเองจากในแง่มุมใดแง่มุมหนึ่ง โดยมีเพื่อนนักเรียนในกลุ่ม และครูผู้สอน ช่วยเป็น กัลยาณมิตร รับรู้ถึงความตั้งใจที่แต่ละคนมีความมุ่งมั่นที่จะทำ "สิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรม" นั้นๆ เพื่อพัฒนา ชีวิตของตนเอง ให้ดีขึ้น เป็นต้น (อ่านต่อฉบับหน้า)
-เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๘๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ - |