- ฟอด เทพสุรินทร์ -

กว่าจะได้บ้านสักหลัง

"ตุม ตุม..." เสียงกลองเพลจากวัดท้ายหมู่บ้านดังแว่วมาแต่ไกล พร้อมกับเสียงนาฬิกาปลุกข้างตัวดังแทรกขึ้น ลักขณา ผลุนผลันลุกขึ้นล้างหน้าแล้วเข้าครัว เริ่มงานประจำวัน ปั่นเมล็ดถั่วเหลืองเพื่อทำน้ำเต้าหู้ไปขายตลาดเย็น พอบ่ายสองโมง น้ำเต้าหู้ และอุปกรณ์เตรียมขายครบชุดก็พร้อมอยู่ในรถสามล้อเข็น

พอมีช่วงเวลาว่าง ลักขณา รีบเก็บกวาดเช็ดถูบ้าน ล้างถ้วยจานและซักเสื้อผ้า แล้วเจียดเวลางีบพักผ่อนเอาแรง

สี่โมงเย็น ลักขณาพร้อมขายน้ำเต้าหู้ที่ตลาดเย็น ขายอยู่จนถึงทุ่มกว่าๆ ก็หมด เก็บข้าวของใส่รถเข็นกลับบ้าน รีบอาบน้ำ กินข้าว แล้วเข้านอนไม่เกินสองทุ่ม พอหัวถึงหมอนก็หลับปุ๋ยเพราะอ่อนล้า

เที่ยงคืน เสียงนาฬิกาปลุกดังขึ้น ลักขณาเก็บที่นอนล้างหน้าล้างตา เริ่มงานประจำวันอีกรอบหนึ่ง ปั่นเมล็ดถั่วเหลือง ทำน้ำ เต้าหู้ ไปขายตลาดเช้าเช่นเคย ตอนเช้า น้ำเต้าหู้จะขายได้มากกว่าตอนเย็นถึงสองเท่า จึงต้องทำน้ำเต้าหู้ มากกว่า ตอนเย็น กว่าจะเสร็จก็ตีสองครึ่ง อาบน้ำอาบท่าเสร็จแล้วเข็นรถไปถึงตลาดตีสามพอดี ลักขณาตักน้ำเต้าหู้ใส่ถุง ขายส่ง ๗ ถุง ๑๐ บาท ให้พวกรถสามล้อเครื่อง (รถพ่วง) จากหมู่บ้านที่มาซื้อของในตลาดไปเร่ขายตามหมู่บ้านอีกทอดหนึ่ง ซึ่งมีสามล้อเครื่อง เจ้าประจำอยู่ ๑๐ กว่าคัน นอกจากนั้นลักขณาก็ขายปลีกเรื่อยไป ราวเจ็ดโมงเช้าก็หมด ไม่เคยเหลือสักวัน

น้ำเต้าหู้ของลักขณาขายดีกว่าเจ้าอื่นๆ เพราะเธอเน้นคุณภาพ สะอาด เข้มข้น แม้จะได้กำไรน้อยลงก็ยินดี ที่ไม่เอาเปรียบ ลูกค้า

พอเข็นรถมาถึงบ้านก็รีบขนถังและหม้อพร้อมข้าวของใช้สอยเข้าบ้าน ล้างแล้วจึงกินข้าว กว่าจะเสร็จก็เกือบเก้าโมง หลังจากนั้น จึงพักนอนเอาแรงไว้สู้งานรอบใหม่ตอนพระตีกลองเพล

ลักขณาเป็นลูกชาวนา พ่อแม่ยากจน เคยทำนาหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินมาก่อน จึงแข็งแกร่ง อดทน ขยัน "เราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือก ทางเดินชีวิตได้" เธอจึงหนักเอาเบาสู้ อดออม อยู่อย่างเรียบง่ายตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง จึงพอมีกินมีอยู่ มีออม ไว้ใช้สอยยามจำเป็น และอยู่อย่างผาสุก เพราะไม่ดิ้นรนใฝ่หาเกินฐานะ ไขว่คว้าเกินจำเป็น

แม้จะทำงานหนัก พักผ่อนน้อย แต่ก็ไม่เจ็บป่วย เพราะจิตใจเบิกบานแจ่มใส

สินชัย แต่งงานได้ สี่ปี พ่อแม่เห็นสมควรออกเรือนได้แล้ว จึงแบ่งที่นาที่สวนรวม ๘ ไร่ ให้แยกทำกิน สินชัย จึงสร้างฉางข้าว เป็นเรือนไม้เสาคอนกรีต หลังคาสังกะสี ฝาสังกะสี มั่นคงถาวร และต่อเติมด้านข้างเป็นที่พักชั่วคราว จนกว่าจะมีเงินทอง ปลูกบ้านได้

หลังปักดำนาแล้วไม่ถึงสิบวัน เพื่อนบ้านที่เคยไปทำงานก่อสร้างในกรุงเทพฯ ชวนไปทำงานก่อสร้างที่มาบตาพุด ระยอง ได้ค่าแรงวันละ ๑๒๕ บาท สินชัยเห็นว่าเป็นช่วงว่างงานนา จึงตกลงและเหมารถไปกับเพื่อนๆ รวม ๑๐ คน ที่พักคนงาน เป็นเพิงมุงสังกะสี พอกันแดดกันฝน อาหารการกินก็เตรียมข้าวสารเหนียวและเสบียงกรังไปจากบ้าน และหาเพิ่มเติม เอาข้างหน้า ตั้งโรงครัวหุงหากินรวมกัน จดรายจ่ายไว้ พอเงินค่าแรงออกก็เฉลี่ยจ่ายกัน

เวลาทำงานเริ่มเจ็ดโมงเช้าครึ่ง เลิกสี่โมงเย็นครึ่งทุกวัน สองเดือนกว่าโครงการงานก็เสร็จ รับค่าแรงหักกกลบลบค่าใช้จ่าย กินอยู่แล้ว ต่างก็มีเงินเหลือเป็นก้อน พอเป็นทุนรอนทำมาหากินต่อไป พากันกลับบ้านพบหน้าลูกเมียอีกครั้ง

เงินที่ได้มา สินชัยก็ซื้อเสาคอนกรีต ๙ ต้น เตรียมไว้ปลูกบ้านในโอกาสต่อไป ต้องสะสมไว้ทีละอย่างสองอย่างจนกว่า จะครบ จึงจะปลูกบ้านได้ โดยไม่ต้องกู้หนี้ยืมสิน

พอเกี่ยวข้าวนวดข้าวเอาข้าวขึ้นฉางเสร็จ เพื่อนๆ ชุดเดิมก็มาชวนไปทำงานก่อสร้างที่แสมดำ บางขุนเทียน สินชัย เห็นว่า เป็นโอกาส ที่จะได้เงินเพิ่มเติม มาสร้างบ้าน จึงจากบ้านนาเข้าเมืองอีกครั้ง

ทำงานคราวนี้ ต้องอยู่นานถึง ๓ เดือนจึงเสร็จ ได้ค่าแรงสูงกว่าคราวก่อน เสร็จงานแล้วจึงมีเงินเหลือมากกว่า

เมื่อกลับถึงบ้าน สินชัยก็เอาเงินที่ได้มาจ้างชาวบ้านตัดไม้ในสวน หัวไร่ปลายนาแปรรูปเป็นไม้สร้างบ้าน ไม่ต้องซื้อหาไม้ จากโรงไม้ ซึ่งราคาแพงมาก พอวันงามฤกษ์ยามดี สินชัยก็ขอแรงเพื่อนๆ ที่เคยไปทำงานก่อสร้างด้วยกัน มาช่วยลงแขก ยกเสา ขึ้นโครง มุงหลังคาสังกะสีให้ ส่วนงานฝาและพื้นสินชัยก็ค่อยๆ ทำเอง

ไปเรื่อยๆ ตามกำลังเงินและเวลาที่มี วิถีชีวิตชาวบ้านดั้งเดิมก็เป็นอย่างนี้ จึงไม่มีหนี้สินรุงรังเหมือนคนสมัยนี้ ที่รายได้ต่ำ แต่รสนิยมสูง

สินชัยยังจำคำพระวัดป่าท้ายหมู่บ้านได้ ท่านเทศน์เตือนสติว่า "คนช่วงอายุ ๒๐ ปีแรก เหมือนเมล็ดพันธุ์พืชในฝัก ต้องอาศัย พ่อแม่กินอยู่ ช่วงอายุ ๒๐-๓๐ ปี เหมือนเมล็ดพันธุ์พืชที่ลงดินแล้ว เริ่มงอกงามเติบโต (เริ่มทำมาหากิน) ครั้นช่วง ๓๐-๔๐ ปี ก็เหมือนต้นไม้ กำลังออกดอกออกผลเต็มต้น คนที่จะทำมาหากิน มั่งคั่งมั่นคง ต้องมีความพร้อม ฉลาด ขยันอดออม ในช่วงวัยนี้ เพราะพร้อมทั้งร่างกายและสติปัญญาและทุนรอนเบื้องต้น"

นึกถึงอดีตที่เริ่มต้นชีวิตแยกมาออกเรือนใหม่ ปลูกฉางข้าวเป็นหลัก เพราะคนอยู่ได้ด้วยอาหาร และต่อเติมฉางข้าว พอเป็น ที่พักอาศัยชั่วคราว กว่าจะมีบ้านหลังใหญ่พออยู่อาศัยกันได้สะดวกสบายทั้งครอบครัว ต้องใช้เวลาทำงานหนัก เก็บออม ตลอดมานานถึง ๑๕ ปี ...๑๕ ปีแห่งความหลังที่น่าภาคภูมิใจ

ในยุควัตถุนิยมระบาดรุนแรงเช่นทุกวันนี้ หากใครรู้ไม่เท่าทันโลก หันหลังให้เศรษฐกิจพอเพียงทางเกวียนสายเก่า มุ่งหน้า ไปหลงใหลฟุ้งเฟ้อ ไปตามกระแสค่านิยม แปรสินทรัพย์เป็นทุน ถ้าหมุนไม่ทัน หนี้จะท่วมหัวโดยไม่รู้ตัว

-เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๘๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ -