๖๐ ปีแห่งการเสริมสร้างสันติภาพไทย
ที่ว่ามานี้คือการเสริมสร้างสันติภาพของไทย แต่สมัยเมื่อ ๖๐ ปีมาแล้ว ตั้งแต่วันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๘ ทั้งในระดับ ภูมิภาค ต่างๆ ของราชอาณาจักร และประเทศต่างๆ ที่เป็นสมาชิกอยู่ในสมาคมสหชาติเอเชียอาคเนย์ -๓- การเสริมสร้างสันติภาพไทย ทั้งภายในราชอาณาจักรและกับประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยขบวนการประชาธิปไตย มาสะดุด และ ยุติลงเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ด้วยการยึดอำนาจการเมืองการปกครองโดยคณะรัฐประหาร ภายใต้การนำของแปลก พิบูลสงครามและผิน ชุณหะวัณ แม้รูปแบบทางด้านประชาธิปไตยยังดำรงคงอยู่จน พ.ศ. ๒๕๐๑ แต่เนื้อหาสาระ ได้ปลาสนาการ ไปยิ่งๆ ขึ้นทุกที กล่าวคือความเป็นไทของราษฎรลดหายไป เสรีภาพในการแสดงออก ถูกสะกดและลิดรอน ลงไปเรื่อยๆ ความเป็นเอกราชของภูมิภาคต่างๆ แม้ในขอบเขตอันจำกัดก็ถูกก้าวก่ายโดยรัฐบาลเผด็จการยิ่งๆ ขึ้น จนเกิด คำว่า กบฏแยกดินแดน ออกมาอย่างหนาหู และเกิดความรุนแรงขึ้น ทั้งทางภาคอีสาน และภาคใต้ นักการเมืองและ นักหนังสือพิมพ์ ที่รักความเป็นธรรม ถูกประหาร ถูกจองจำ ถูกจองล้างจองผลาญด้วยประการต่างๆ แม้พระภิกษุสงฆ์ ที่มีความเป็นตัวของตัวเอง ก็ไม่ได้รับการยกเว้น เป็นอันว่าสันติภาพปลาสนาการไปในแทบทุกระดับ ที่สำคัญยิ่งกว่าอะไรอื่น ก็ตรงที่สัจจะได้ปลาสนาการไปยิ่งๆ ขึ้นทุกที คนดีที่มีความสามารถไม่อาจดำรงคงอยู่ได้ ในทาง การเมือง มีแต่คนกึ่งดิบกึ่งดี หรือนักฉวยโอกาสที่พร้อมจะพินอบพิเทาเผด็จการ ผู้ปราศจากจุดยืนในทางจริยธรรมใดๆ สิ้น คนที่ กลิ้งกะล่อน และปลิ้นปล้อน ได้รับคำสรรเสริญเยินยอ อย่างปราศจากคำวิพากษ์วิจารณ์ อันชอบธรรม ความเป็น ร่างทรง ของมาคิอาเวลลี โดยบุคคลเช่น กิมเหลียง วิจิตรวาทการ และคึกฤทธิ์ ปราโมช ไม่ได้รับการโต้ตอบอย่างจริงจัง ในทางเหตุผล งานเขียนของคนทั้งสองนี้ยังแพร่หลายอยู่ แม้ในปัจจุบัน นักการเมืองที่โกงบ้านกินเมืองและเป็นฆาตกร ในทางต่างๆ มีอนุสาวรีย์ ไว้ขายความอาย อย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็น แปลก พิบูลสงคราม สฤษดิ์ ธนะรัชต์ หรือ เผ่า ศรียานนท์ โดยมิไย ที่ต้องเอ่ยถึง ลูกสมุนที่รองๆ ลงมา ดังขอให้ดูชื่ออนุสรณ์สถานต่างๆ ของทางราชการเป็นตัวอย่าง ได้เกือบทุกแห่ง สถาบันกษัตริย์ ซึ่งควรธำรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ให้พระเจ้าแผ่นดินเป็นธรรมราชาดุจสามัญชน หากทรงไว้ซึ่งเทวธรรม กลับกลายไปเป็นเทวราช ที่ศักดิ์สิทธิ์มหัศจรรย์ต่างๆ ผนวกกับอภิสิทธิ์นานาประการ ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และอื่นๆ ทั้งนี้นับว่าเป็นอันตรายยิ่งนัก โดยเฉพาะก็ในทางขจัดสันติภาพและประชาธิปไตยที่เนื้อหาสาระ ความกึ่งจริงกึ่งเท็จ เข้ามาแทนที่สัจจะ การเรียนรู้เป็นไปอย่างมอมเมายิ่งกว่าการแสวงหาความจริง ความงาม หรือความดี หากมีแต่ความกึ่งดิบ กึ่งดี ยิ่งจำเดิมแต่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเปลี่ยนชื่อไป สาระแห่งการเมือง ในทางธรรม ก็ขาดหายไปจากสถาบันการศึกษาแห่งนี้ ดังที่สถาบันการศึกษาของเราแทบทุกแห่งก็ว่าได้ ล้วนรับใช้เงิน รับใช้อำนาจ และรับใช้วิทยาการกระแสหลักจากฝรั่ง ซึ่งเป็นไปอย่างเป็นเสี่ยงๆ โดยปราศจากองค์รวม และเน้นที่หัวสมอง อย่างปราศจาก การโยงใย มาถึงหัวใจ ให้ได้แต่ความรู้ ปลูกฝังคุณงามความดีไม่ได้ เป้าหมายของการศึกษาเป็นไปเพียง ให้ผู้เรียน ได้ไต่บันไดทางสังคมขึ้นไปเรื่อยๆ และถ้าสำเร็จการศึกษาย่อมหมายความว่าจักมีอาชีพที่เหมาะสมกับชั่วโมงบินที่ใช้มาในสถาบันการศึกษานั้นๆ โดยที่นั่น จะเป็นสัมมาชีพหรือมิจฉาชีพไม่ใช่ประเด็น และแม้อาชีพสำหรับผู้สำเร็จการศึกษาจะเป็นจริงได้เสมอไปหรือไม่ ก็เกือบ จะไม่ได้พิจารณากันเอาเลยด้วยซ้ำ ที่จะให้สถาบันการศึกษาเป็นแหล่งความคิดอย่างอิสระ ให้คนรุ่นใหม่ มีความกล้าหาญ ทางจริยธรรม เพื่ออุทิศชีวิตเพื่อมหาชนผู้ยากไร้ เกือบจะเป็นไปไม่ได้เอาเลย ชื่อของนายปรีดี พนมยงค์ กลายไปเป็นตัวแทนของมารร้าย ที่แย่งชิงประชาธิปไตยมาจากในหลวงรัชกาลที่ ๗ ซึ่งกำลัง จะพระราชทาน รัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ทั้งนี้โดยไม่ต้องกล่าวถึงข้อกล่าวหาที่ว่า บุคคลผู้นี้วางแผนลอบปลงพระชนม์ในหลวง รัชกาลที่ ๘ ทั้งๆ ที่เขาผู้นี้แล คือผู้ที่ปกป้อง สถาบันกษัตริย์ไว้ ให้ธำรงคงอยู่คู่กับรัฐธรรมนูญ เมื่อเขาตายจากไป ในปี ๒๕๒๕ นั้น สมาชิกรัฐสภาไทย ที่เขาก่อตั้งขึ้นมา และเป็นเลขาธิการคนแรก ไม่ได้ยืนไว้อาลัยให้เขา แม้แต่หนึ่งนาที หนังสือตำราเรียน ประวัติศาสตร์ ประชาธิปไตยไทย แม้จนประวัติมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์บางเล่ม ก็ไม่ได้เอ่ยชื่อเขา ทั้งๆ ที่เขา เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้ง และเป็นผู้ประศาสน์การคนแรก มิไยต้องเอ่ยถึงว่าใครบ้าง ที่เข้าใจข้อแตกต่าง ระหว่างผู้ประศาสน์การ กับอธิการบดี หรือ นักศึกษากับนิสิต แม้เมื่อฉลองชาตกาลครบศตวรรษของเขาในปี พ.ศ. ๒๕๔๓ ก็มีการวางแผนเอาชื่อเขาออกจากบัญชีที่รัฐบาลไทยเสนอ ไปให้ยูเนสโก รับรองว่า เป็นบุคคลสำคัญในระดับโลก เพราะเขาเกิดปีเดียวกับ ปีพระราชสมภพของสมเด็จ พระบรมราชชนนี ซึ่งมีความชอบธรรม ประการใด ในฐานะบุคคลสำคัญในระดับโลก งานฉลองชาตกาลของเขา ภายในประเทศ ที่ทางรัฐบาล จัดให้ ก็เป็นไปอย่างกล้าๆ กลัวๆ คือชนชั้นปกครองของเรา ยังกลัวสัจจะและกลัวคนดี ที่มีความกล้าหาญ ทางจริยธรรม โดยเข้าไม่ได้ถึง คุณงามความดีของคนที่ปิดทองหลังพระ เพื่อสันติประชาธรรมของไทย อย่างนายดิเรก ชัยนาม ดังชื่อของเขา ก็ตกไปจาก สังเวียนบุคคลสำคัญในระดับโลก ที่รัฐบาลไทยเสนอไปให้ยูเนสโกพิจารณา สำหรับปีนี้ เคราะห์ดีที่ชื่อนายกุหลาบ สายประดิษฐ์ ผ่านยูเนสโกไปได้ ในฐานะบุคคลสำคัญของโลก ทั้งๆ ที่นายกุหลาบติดคุกมาแล้ว ในฐานะ ผู้นำขบวนการสันติภาพไทย มิไยต้องเอ่ยถึงราชภัยอื่นๆ อันเขาได้รับมาจากเผด็จการ ป. พิบูลสงคราม และ ส. ธนะรัชต์ จนเขาต้องตายจากไปที่เมืองจีน ในฐานะผู้ลี้ภัย ว่าไปทำไมมี คำว่าสันติภาพได้กลายเป็นคำโสโครกไป แต่เกิดกบฏสันติภาพขึ้นในปี ๒๔๙๕ โดยที่คำๆ นี้ กลับกลายมาเป็น ถ้อยคำ ที่ควรแก่การยอมรับในโลกที่เรียกตัวเองว่าโลกเสรี ก็ต่อเมื่อประธานาธิบดีเคนเนดี้ ตั้งหน่วยงานสันติภาพ หรือ Peace Corps ขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๐๔ นั้นแล้วต่างหาก โดยคนมักไม่คิดกันเอาเลยว่า ประธานาธิบดีผู้นี้ ทำการอย่างรุนแรงยิ่งๆ ขึ้น กับสงคราม เวียดนาม ยิ่งกว่าประมุขสหรัฐก่อนหน้าเขา และสหรัฐได้เข้ามาเป็นจักรวรรดิอย่างใหม่ แทนที่อังกฤษ ฝรั่งเศส และประเทศอื่นๆ ในยุโรปทั้งหมด ดังที่สหรัฐก็ได้ทำการทุกๆ อย่างที่ขัดขวางสันติภาพ โดยร่วมกันผูกขาด ในสิ่งซึ่งเรียกว่า การพัฒนา และโลกาภิวัตน์ กับบรรษัทข้ามชาติจำนวนน้อย ที่เอาเปรียบมหาชนทั้งโลกและทำลายสิ่งแวดล้อม ทางธรรมชาติ อย่างสาหัส โดยใช้คำว่าพัฒนาและโลกาภิวัตน์สะกดผู้คน คนเป็นอันมากเห็นพ้องต้องกันมากขึ้นแล้ว ว่าคำพัฒนาเป็นคำที่มีความหมายไปในทางเลวร้าย ดังคำว่าสันติภาพ เคยเป็น มาก่อน สำหรับโลกที่เรียกตัวเองว่าอยู่ฝ่ายเสรีประชาธิปไตย หากชนชั้นนำของไทยยังไม่เข้าใจประเด็นนี้ ดังเรามองไม่เห็น เอาเลยว่า การที่ประเทศชาติของเราเดินตามก้นสหรัฐมาแต่ พ.ศ. ๒๔๙๐ นั้น ได้ทำลายราชอาณาจักรนี้ ทั้งทางสันติภาพ เอกราช และประชาธิปไตย รวมทั้งศาสนธรรมและวัฒนธรรมอย่างเลวร้ายยิ่ง (อ่านต่อฉบับหน้า) -เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๘๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ - |