กติกาเมือง - ประคอง
เตกฉัตร - ปฏิรูปคน ปฏิรูประบบราชการ ใครๆ ก็พูดเรื่องการปฏิรูประบบราชการ แต่ไม่มีใครเฉลียวใจบ้างเลยหรือว่า ระบบราชการนั้น ขับเคลื่อนด้วยตัวข้าราชการ ที่ทำกับคน คนที่ช่วยแก้ และเป็นตัวสร้าง ปัญหาต่างๆ ไม่ว่าในระบบราชการ หรือระบบสังคมเศรษฐกิจ ฉะนั้นไม่ว่าปฏิรูป อะไรถ้าไม่ปฏิรูปคนก็คงไม่สำเร็จ การปฏิรูประบบราชการนั้น ต้องเริ่มจากการกำหนดวัตถุประสงค์เสียก่อน แล้วจึงกำหนดแนวยุทธศาสตร์ ที่จะนำพาไปสู่ จุดมุ่งหมาย ที่ต้องการได้ เมื่อเราจัดแนว ยุทธศาสตร์แล้ว ก็ต้องมาจัดกระบวนการ ทำงาน (System) และองค์กร (Organization) ที่จะทำให้เราบรรลุวัตถุประสงค์ได้ เมื่อเรา จัดองค์กรเสร็จแล้ว เราต้องหาคนมาเพื่อให้องค์กรนั้นทำงานได้ หรือ สร้างคนมาทำงาน ตามที่เราต้องการ ผู้เขียนได้อ่านบทความ ของท่าน อมเรศ ศิลาอ่อน เรื่อง การปฏิรูประบบราชการ ซึ่งท่านเขียนไว้ดีมาก ผู้เขียนใคร่ขออนุญาต นำบางส่วนมานำเสนอ ท่านเสนอว่าระบบราชการเป็นกลไกที่สำคัญในการบริหารราชการแผ่นดิน ทำหน้าที่แปรนโยบาย ของฝ่ายการเมือง ให้เกิดผล ในทางปฏิบัติ รวมทั้งรักษา กฎระเบียบ กติกาต่างๆ ให้เกิดประสิทธิผล ในการทำงาน และมีความเป็นธรรมในสังคม สังคมมนุษย์ มีการพัฒนา ความเจริญ ที่สลับซับซ้อนขึ้น พลเมืองมีสิทธิเสรีภาพทางการเมืองมากขึ้น ระบบราชการ ก็ต้อง ปรับเปลี่ยน เพื่อให้เป็นเครื่องมือสำคัญ ที่จะรักษา กติกาต่างๆ เมื่อสังคมมีความซับซ้อนมากขึ้น มีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ภายใต้กระแส โลกาภิวัตน์ ระบบราชการก็ถูกเรียกร้องให้ปรับบทบาท มาเป็นกลไก ที่จะต้องสามารถสนับสนุน ส่งเสริมให้ คนในประเทศ มีความสามารถที่จะแข่งขัน กับประเทศอื่นๆ ได้ หรืออย่างน้อยที่สุด ก็ไม่เป็นอุปสรรค ในการแข่งขัน กับประเทศอื่น ระบบราชการของประเทศใดไม่สามารถปรับบทบาทให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลง เช่น ยังคงมุ่งเน้นที่จะรักษาความมั่นคง หรืออำนาจ ของผู้ปกครองอยู่ ในขณะที่ประเทศอยู่ภายใต้ภาวะ ของการแข่งขันอย่างรุนแรงทางเศรษฐกิจ ระบบราชการ ก็อาจนำพาประเทศ ไปสู่ภาวะวิกฤต ได้โดยง่าย ดังเช่นที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยในปี ๒๕๔๐ ผู้เขียนเห็นด้วยกับท่านอมเรศว่า ระบบราชการของเรามีส่วนอย่างมากในกรณีที่เศรษฐกิจของเราล่มสลาย แต่ผู้เรียนยังเห็นว่า แม้เราจะปรับปรุง ระบบอย่างไร ก็ไม่สามารถเดินไปได้เท่าทันโลกตะวันตก เพราะเราไม่ได้เริ่ม ที่คนก่อน เราไม่ได้สร้างคน ได้มาก เพียงพอ การคิดค้นระบบ ดีอย่างไรออกมา ก็ล้มเหลว เพราะเราไม่มีคนที่จะรักษาระบบ การปฏิรูประบบราชการไทยมีความเป็นรูปธรรมชัดเจนเพียง ๒ ครั้งเท่านั้น คือ ในสมัยสมเด็จ พระบรมไตรโลกนาถ ประมาณ พ.ศ. ๑๙๙๑ และในสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๕ ก่อนการปฏิรูป พระองค์ท่านส่ง พระราชโอรส และคนไทยจำนวนมาก ไปศึกษาวิชาแขนงต่างๆ ในโลกตะวันตก เพื่อเตรียมคนไว้ ทั้งก่อนหน้านั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ก็ทรงได้เตรียมการ ส่งคนไทยไปศึกษาเล่าเรียน ในโลกตะวันตกมาก่อน เพื่อเป็น การเตรียมคน ปัจจัยที่ทำให้การทำหน้าที่ของภาคราชการ ประสบปัญหา อาจแบ่งเป็น ๒ ปัจจัยใหญ่ๆ คือ ปัจจัยภายใน ประเทศ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลง ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในสังคม ระบบราชการก็ต้องมีการ ปรับตัว เพื่อปรับเปลี่ยนหน้าที่ ให้สอดรับกับ ความเปลี่ยนแปลงนั้นๆ โดยเฉพาะการเปลี่ยนของสังคมที่สร้างให้ทุกคนเห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้ มุ่งกอบโกย จนน่าเกลียด น่ากลัว วงการเมือง ก็ทำทุกวิถีทาง เพื่อให้ได้รับชัยชนะ โดยไม่คำนึงถึงความถูกผิด ทางเศรษฐกิจ ก็ไม่เคยสนใจ ถึงการค้าขาย ในสิ่งมอมเมา ทำลาย ทำร้ายสังคม เด็กเยาวชน จะเป็นเช่นใด ไม่เคย สนใจ ขอกำไร เพียงอย่างเดียว องค์กรทางศาสนาแทบไม่ต้องพูดถึงว่า ช่วยอะไรได้บ้าง และได้สัดส่วน พอจะถ่วงดุล กับสิ่งชั่วร้าย ได้หรือไม่ ปัจจัยภายนอกซึ่งหมายถึง ความเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญที่เกิดขึ้นในโลก ระบบราชการของเราต้อง ปรับเปลี่ยนอย่างไร จึงจะสามารถสนับสนุน ให้ประเทศชาติ แข่งขันกับประเทศอื่นๆ อย่างได้ผล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแข่งขันในโลก ไร้พรมแดน เช่นปัจจุบันซึ่ง IT (Information Technology) จะเป็นเครื่องมือ ในการแข่งขันที่สำคัญในสภาวะที่มีการแข่งขัน การแข่งขันนั้น จะขึ้นอยู่กับความสามารถ ในการตอบสนอง ความต้องการตลาด ให้เร็วกว่าคนอื่น เราเตรียมคนทางด้านนี้ ไว้เพียงใดกับคำถาม ที่ยังไม่มีคำตอบ เพราะแค่ผู้สร้างคนก็ยังไม่มี แล้วผลงาน คือคนที่พร้อมจะปฏิรูป จะออกมาได้อย่างไร สำหรับประเทศไทยนั้น ท่านอมเรศได้แสดง คิดเห็นว่า สภาพปัญหาของระบบราชการที่ทำให้ข้าราชการ ไม่สามารถปรับตัว ตอบสนอง ความเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอกได้ ทันท่วงที เนื่องจาก ๑. การบริหารราชการมีการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางมากเกินไป ปัญหาทุกอย่างจึงมากระจุกตัว รอการตัดสินใจของรัฐบาล ซึ่งไม่เพียงแต่ ทำให้เกิดความล่าช้า ในการแก้ไขปัญหาเท่านั้น หากแต่ยังทำให้ การแก้ไขปัญหาต่างๆ ไม่ตรงกับสภาพปัญหา หรือ ความต้องการ ของประชาชน อย่างแท้จริง ๒. การขยายตัวของระบบราชการ และการทำงานซ้ำซ้อน ๓. ความยุ่งยากในเรื่องของระเบียบและกฎหมาย กฎหมายบางฉบับก็ล้าสมัยแล้ว แต่ยังขาดการทบทวน หรือยกเลิก ทำให้ จำเป็นต้อง มีหน่วยงาน และกำลังคน ที่ต้องรับผิดชอบ เรื่องเหล่านั้นอยู่ ในขณะเดียวกัน ก็ขาดการปรับปรุง หรือตรากฎหมาย ใหม่ๆ ๔. การแสวงหาผลประโยชน์จากตำแหน่ง หน้าที่ เนื่องจากการแทรกแซงของฝ่ายการเมือง และทั้งจากสาเหตุ ที่ข้าราชการ มีรายได้ต่ำ เมื่อเทียบกับ ภาคเอกชน ๕. การเน้นความมั่นคงในอาชีพมากเกินไป เมื่อเป็นข้าราชการหรือพนักงานของรัฐแล้ว ต้องดูแลกัน จนกระทั่ง เกษียณหรือตาย เป็นเหตุ ให้คนในระบบ ไม่มีแรงกดดัน ที่จะต้องพัฒนาตนเอง และหากหน่วยงาน ไม่ให้ความสำคัญ กับการพัฒนาคนแล้ว หน่วยงานนั้น ก็ยิ่งไม่สามารถ ปรับเปลี่ยน การทำงานของตน ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมได้ ๖. การต่อต้านการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากวัฒนธรรมองค์กรที่เข้มแข็งในลักษณะของอำนาจนิยม ทำให้มาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวกับ การลดกำลังคน ไม่อาจนำมาใช้ได้ ๗. การขาดผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ การเปลี่ยนแปลงระบบราชการ จะต้องอาศัยนักการเมือง และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ที่มีวิสัยทัศน์ มองออก ถึงทิศทาง การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม ทั้งภายใน และนอกประเทศ ในอนาคตได้ และมีสติปัญญา ตลอดจน ความกล้าหาญ ที่จะผลักดันให้ราชการ เดินไปในทิศทาง ที่เหมาะสมในระยะยาว นอกจากสาเหตุดังกล่าวทั้งเจ็ดประการข้างต้นที่ท่านอมเรศแสดงความคิด ผู้เขียนเห็นว่า
สาเหตุใหญ่ อีกประการหนึ่ง ที่ท่าน ไม่ได้พูด อย่างชัดเจน คือ "คน"
อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องมีการปรับเปลี่ยน ในการปฏิรูป ระบบราชการ ผู้เขียนเห็นว่า
การปรับปรุง ในเรื่องคน เป็นหัวใจสำคัญ ของระบบราชการ และต้องกระทำ อย่างเป็นกระบวนการ
นับแต่การวางกรอบการผลิต กำลังคน เข้าสู่ตลาดแรงงาน การสรรหา การพัฒนา การรักษา
และจูงใจให้คน ที่อยู่ใน ระบบราชการ ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าเรายังปล่อย
ให้สื่อเป็นเช่นนี้ ปล่อยให้กระแสสังคมเป็นไปเช่นนี้ เราเตรียมคนที่จะมา
ทำการปฏิรูปราชการ แทบไม่ได้เลย -เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๘๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ - |