บ้านเมืองอาริยะ (หัตถิปาลชาดก)
ตอนจบ
เช้าวันรุ่งขึ้น พราหมณ์ปุโรหิต นั่งขบคิดอยู่ที่เรือนของตนใน
ที่สุดก็ตัดสินใจ ปรึกษากับนางพราหมณีว่า "ดูก่อน แม่วาเสฏฐิ ต้นไม้จะถูกเรียกชื่อว่าต้นไม้ได้ ก็เพราะมีกิ่งและใบ
ส่วนต้นไม้ที่ไม่มีกิ่งและใบนั้น ชาวโลกเรียกว่า ตอไม้
ก็บัดนี้ลูกทั้ง๔ ของเราออกบวชกันหมดแล้ว เราเป็นผู้ไม่มีบุตร
เหลือกันอยู่ตามลำพังเป็นเสมือน "มนุษย์ตอไม้" ถึงเวลาแล้วที่แม้เราก็จะออกบวชเช่นกัน"
จากนั้นปุโรหิตจึงเรียกพราหมณ์หมื่นหกพันคน
มาประชุมกันแล้วกล่าวว่า "เราจะละทิ้งโลกียสุขอันเร่าร้อน จะไปบวชในสำนักของลูกชายเรา
แล้วพวกท่านจะทำอย่างไรกันเล่า"
พราหมณ์เหล่านั้นตอบว่า "ท่านอาจารย์ นรกนั้นเป็นของร้อนเฉพาะตัวท่านผู้เดียวก็หาไม่
แม้พวกเราก็จะบวชตามท่านด้วย"
เมื่อเป็นดังนั้น พราหมณ์ปุโรหิตจึงยกทรัพย์สมบัติทั้ง
๘๐ โกฏ ิ(๘๐๐ล้าน) ให้แก่นางพราหมณีทั้งหมด แล้วพาพราหมณ์ ทั้งหลายมีแถวยาวประมาณโยชน์หนึ่ง
ไปสู่ฝั่งแม่น้ำคงคา หัตถิปาลกุมาร จึงแสดงธรรมให้แก่พราหมณ์ทั้งหลายฟัง
ต่อมาในวันรุ่งขึ้น...นางพราหมณีได้คิดว่า
"ลูกของเราตัดตาข่ายคือกามไปแล้ว ละทิ้งราชสมบัติ ออกบวช สามีของเราก็ทิ้งสมบัติ
๘๐ โกฏิพร้อมตำแหน่งปุโรหิต เพื่อออกบวช เหลืออยู่แต่เราผู้เดียว จะทำอะไรได้
ไฉนเราไม่ปฏิบัติตามลูก และสามีของเราเล่า"
เมื่อนางพราหมณีรู้แจ้งชัดอย่างนี้ จึงตกลงใจว่าจะออกบวช
ดังนั้นจึงเรียกนางพราหมณีทั้งหลายมา บอกว่า "เธอทั้งหลาย เราจะออกบวชในสำนักของลูกชายเรา
แล้วพวกเธอจะทำอย่างไรกันเล่า"
นางพราหมณีเหล่านั้นตอบว่า "ข้าแต่แม่เจ้า
ถ้าท่านออกบวช พวกข้าพเจ้าก็จะบวชด้วย" นางพราหมณี จึงสละทรัพย์สมบัติทั้งหมด
แจกจ่ายออกไป แล้วพาบริวารราวโยชน์หนึ่ง ไปยังฝั่งแม่น้ำคงคา หัตถิปาล
กุมาร จึงแสดงธรรมให้ฟัง
วันรุ่งขึ้น...พระราชาเอสุการีได้ตรัสถามถึงพราหมณ์ปุโรหิต
ราชบุรุษจึงกราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ ท่านปุโรหิตและภรรยา ได้ละทิ้งสมบัติทั้งหมด
แล้วพาบริวารของตน ไปยังสำนักของหัตถิปาลกุมาร แล้วพะยะค่ะ"
พระราชาทราบเรื่องแล้ว ทรงดำริว่า "ทรัพย์สมบัติที่ไม่มีเจ้าของปกครอง
สมควรตกเป็นสมบัติของเรา" จึงสั่งให้ราชบุรุษ ไปขนเอาทรัพย์สมบัติ ที่เหลือจากเรือนของปุโรหิต
มาเก็บไว้
เมื่อพระอัครมเหสีของพระราชาสดับข่าวนี้เข้า
ทรงดำริขึ้นว่า "พระราชสวามีของเรานี้ ช่างหลงใหล งมงายนัก ไยไปขนเอาทรัพย์สมบัติ
ที่เป็นประดุจคบเพลิง เป็นประดุจก้อนน้ำลาย ที่เขาบ้วนทิ้งแล้ว เอามาบรรจุไว้ในพระคลังหลวง
เราจะทำให้พระราชาได้สติ ละทิ้งสมบัติเหล่านั้นไปเสีย"
พระอัครมเหสีจึงรับสั่งให้คนไปขนเอาเนื้อวัวและเนื้อสุนัข
มากองไว้ที่หน้าพระลานหลวง แล้วขึงตาข่ายล้อมไว้โดยรอบ เมื่อบรรดานกแร้งพอเห็นเนื้อแต่ไกล
ก็โผลงมาเพื่อจะกินเนื้อ หากแร้งตัวใดมีปัญญา ก็ได้คิดว่าเขาขึงตาข่ายดักไว้ ถ้ากินเนื้ออิ่ม
แล้ว ร่างกายหนัก จะไม่อาจบินออกไปได้ ดังนั้นจึงคายสำรอกเนื้อออกมา แล้วบินขึ้นได้
ไม่ติดตาข่ายนั้น ส่วนแร้งตัวใดโง่เขลา พากันกินเนื้อเพลิดเพลินจนร่างกายหนัก
ไม่อาจบินออกจากตาข่ายได้ ต้องติดอยู่กับตาข่ายนั้น ราชบุรุษก็จะจับแร้งเหล่านั้นมาถวาย
พระอัครมเหสี พระนางจึงนำแร้งเหล่านั้น ไปให้พระราชาทอดพระเนตร แล้วทูลว่า
"ขอเดชะ ขอเชิญพระองค์เสด็จไปทอดพระเนตร กิริยาของฝูงแร้ง ที่หน้าพระลานหลวงด้วยเถิด"
ขณะที่พระราชาทรงทอดพระเนตรอยู่นั้น
พระอัครมเหสีกราบทูลว่า "แร้งฝูงนี้ ตัวใดกินเนื้อแล้ว ยอมสำรอกออกเสีย
ก็จะบินหลุดออกจากตาข่ายได้ แต่แร้งตัวใดกินเนื้อแล้ว ไม่ยอมสำรอกออกมา
ก็จะบินติดอยู่ในตาข่าย ตกอยู่ในเงื้อมมือของหม่อมฉัน ข้าแต่พระองค์
พราหมณ์ได้คายกามทั้งหลาย ออกทิ้งแล้ว ส่วนพระองค์กลับรับเอากามนั้นบริโภคอีก
ผู้ใดบริโภคสิ่งที่ผู้อื่นคลายออกแล้ว เสมือนได้กลืนก้อนน้ำลายของผู้อื่น
ไม่พึงได้รับคำสรรเสริญ"
พระราชาทรงสดับคำของพระนางแล้ว บังเกิดความสลดพระทัยยิ่งนัก
ได้สติรู้สึกตัว จึงตรัสกับพระนางอย่างสำนึกผิดว่า "เปรียบเสมือนผู้มีกำลัง
ช่วยฉุดผู้ทุพพลภาพ ให้ขึ้นมาจากเปือกตม ได้ฉันใด เธอก็ช่วยพยุงฉัน ให้ขึ้นมาจากกามได้ด้วยคำ
สุภาษิตฉันนั้น และฉันก็ละอายแก่ใจจริงๆ จึงคิดว่าฉันจะสละราชสมบัติ ออกบวชเสียในวันนี้ทีเดียว"
จึงสั่งเรียกอำมาตย์ทั้งหลายมาเฝ้า แล้วตรัสว่า
"เราจะไปบวชอยู่ในสำนัก ของหัตถิปาลกุมาร แล้ว พวกเจ้าจะทำอย่างไร" เหล่าอำมาตย์กราบทูลว่า
"ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ก็จะบวชติดตามพระองค์ไป พระเจ้าข้า"
ดังนั้น พระเจ้าเอสุการี จึงทรงละทิ้งราชสมบัติ
และรัฐสีมาถึง ๑๒ โยชน์ (๑๙๒ กม.) ทรงประกาศว่า "ผู้ใดต้องการราชสมบัติ
จงมาขึ้นครองราชย์เถิด" แล้วเสด็จออกบรรพชา ดุจช้างตัวประเสริฐ สลัดเครื่องผูกให้ขาดไปได้
และนำหมู่อำมาตย์ ราชบริพารประมาณ ๓ โยชน์ (๔๙ กม.) เสด็จไปยังฝั่งแม่น้ำคงคา
หัตถิปาลกุมารจึงแสดงธรรมให้ฟัง
ต่อมาวันรุ่งขึ้น...ประชาชนที่เหลืออยู่ในพระนคร
ประชุมกันแล้ว ได้พากันไปยังประตูพระราชวัง ขอเข้าเฝ้ากราบทูลต่อ พระอัครมเหสีว่า
ก็พระราชาผู้กล้าหาญประเสริฐสุด ทรงพอพระทัยในการบรรพชา ละรัฐสีมาไปแล้ว
ขอพระนางทรงโปรดเป็นพระราชา แห่งข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พระนางเจ้าโปรดเสวยราชสมบัติ
เหมือนพระราชาเถิด
พระอัครมเหสีทรงสดับถ้อยคำของมหาชนแล้ว
ได้ตรัสว่า "เมื่อพระราชาทรงเสด็จออกบรรพชาแล้ว แม้เราก็จะละกามทั้งหลายอันน่ารื่นรมย์ใจ
เพราะเวลาย่อมล่วงเลย ไป ราตรีย่อมผ่านไป ช่วงแห่งวัยย่อมละลำดับไป เราจะเป็นผู้เย็นใจ
ก้าวล่วงความข้องในกามทั้งปวง เที่ยวไปในโลก แต่ผู้เดียว ไม่มีกามเป็นเพื่อนสอง"
ตรัสดังนี้แล้ว พระนางรับสั่งให้เรียกภรรยาอำมาตย์ทั้งหลายเข้าเฝ้า
แล้วตรัสถามว่า "เราจะออกบวช แล้วพวกเธอจะทำอย่างไรกัน" เหล่าภรรยาอำมาตย์ทูลตอบว่า
"แม้พวกหม่อมฉัน ก็จะบวชตามเสด็จ ด้วยเพคะ"
พระอัครมเหสี จึงทรงรับสั่งให้จารึกพระสุพรรณบัฏ
(แผ่นทองคำจารึกพระราชสาสน์ เป็นคำสั่ง) ว่า "ขุมทรัพย์ใหญ่ฝังไว้ในที่โน้นบ้าง
ในที่นี้บ้าง ใครมีความต้องการ จงขนเอาทรัพย์ ที่เราพระราชทานไว้แล้วนี้ไปเถิด"
แล้วผูกพระสุพรรณบัฏไว้ที่เสาต้นใหญ่ ให้พนักงานเปิดประตู พระคลังทอง และให้ตีกลอง
ป่าวประกาศทั่วพระนคร จากนั้นพระนางทรงสละราชสมบัติ เสด็จไปสู่ฝั่งแม่น้ำคงคา
ขณะนั้นมหาชนพากันเดือดร้อนโกลาหล เพราะทั้งพระราชาและเทวี
ทรงสละราชสมบัติออกบวชหมด ประชาชนทั้งหลาย จึงต่างพากันละทิ้งบ้านช่อง
ทั้งคนจนและคนมั่งมี พากันจูงลูกหลาน ออกตามเสด็จพระเทวี บรรดาร้านรวงและตลาด
จึงมีสิ่งของวางเกลื่อนกลาด แต่ไม่มีผู้ใดจะสนใจ เหลียวกลับมาดูเลย พระนครถึงกับกลายเป็นเมืองร้าง
ปราศจากผู้คน ประชาชนติดตามพระ เทวีไปยาวประมาณถึง ๓ โยชน์ (๔๘
กม.) พอถึงแล้ว หัตถิปาลกุมาร ได้แสดงธรรม ให้ทั้งหมดได้รับฟังกัน จากนั้นจึงพามหาชนทั้งปวง
มีประมาณถึง ๑๒ โยชน์ (๑๙๒ กม.) บ่ายหน้าไปสู่หิมวันตประเทศ
นครอื่นๆ ในแคว้นกาสิกรัฐ
ซึ่งอยู่ใกล้ๆนั้น ชาวเมืองพากันลือกระฉ่อนไปว่า
"หัตถิปาลกุมารพาผู้คน ๑๒ โยชน์ไปจากเมืองหมด จนทำให้นครพาราณสี ถึงกับรกร้างว่างเปล่า
นำมหาชนออกบวชมุ่ง สู่หิมวันตประเทศ ฉะนั้นเราจะอยู่ไปไยในเมืองนี้"
จึงต่างพากันออกบวชตาม จนประชาชนเพิ่มถึง
๓๐ โยชน์ (๔๘๐ กม.) ในที่สุด หัตถิปาลกุมาร ก็พาผู้คนทั้งหลายมา จนถึงป่าหิมพานต์
แล้วบรรพชา เป็นฤาษี
หัตถิปาลฤาษีให้ช่วยกันจัดสร้างอาศรมขึ้น
เป็นหมู่กลุ่ม โดยให้บรรดาหญิงแม่ลูกอ่อน และเด็กอยู่ตรงกลาง ถัดออกมา
เป็นอาศรมของหญิงชรา ถัดออกมาอีก เป็นของหญิงวัยปานกลาง ส่วนชั้นนอกสุด
เป็นอาศรมของเหล่าผู้ ชายทั้งหมด
เมื่อเป็นดังนี้ พระราชาในแคว้นอื่นๆ
อีก ๖ แคว้น พอได้ทราบข่าวว่า นครพาราณสีไร้พระราชา ครองบัลลังก์แล้ว จึงต่าง
เสด็จมาดูความจริง ได้ทอดพระเนตรเห็น กองแก้วแหวนเงินทอง เครื่องประดับตกแต่งอันมีค่ามากมาย
เกลื่อนทั่ว จนต้องดำริขึ้นว่า" เหตุไฉนหนอ พระเจ้าเอสุการี ทรงสละละทิ้งพระนคร
ที่มีสมบัติมากมายเยี่ยงนี้ไปได้ แล้วทรงออกบวช ชะรอยการ
บรรพชานี้ จะต้องเป็นสิ่งมีคุณค่าอันโอฬารยิ่งใหญ่กว่าสมบัติ เหล่านี้เป็นแน่แท้"
พระราชาทั้งหลายจึงทรงสอบถามหนทาง แล้วเสด็จตามไปยังอาศรมของหัตถิปาลฤาษี
ครั้นหัตถิปาลฤาษีทราบว่า พวก พระราชา เสด็จมาถึงแนวป่า จึงเดินทางออกไปต้อนรับ
และแสดงธรรมให้พระราชาทั้งหลายฟัง
พระราชาทั้งหมด ๖ พระองค์ล้วนมีจิตยินดีในการออกบวช
พากันสละราชสมบัติ เสด็จออกบรรพชาบ้าง อาศรมจึงกว้าง ไกลออกไป มีปริมณฑลได้ถึง
๓๖ โยชน์ (๕๗๖ กม.) เนืองแน่นไปด้วย มวลหมู่สังคมนักบวช
หากนักบวชรูปใดมีกามวิตกเกิด
หัตถิปาลฤาษีก็จะแสดงธรรมให้ผู้นั้นพ้นทุกข์ไปได้ คำสั่งสอนต่างๆ มากมาย
ของหัตถิปาลฤาษี ทำให้มหาชนเป็นอันมาก ปราศจากทุคติ คือ ไม่ดำเนินชีวิตชั่ว
ไม่ไปสู่นรก คือความเร่าร้อนใจ ไม่กำเนิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน คือความมืดมัวโง่เขลา
ไม่กำเนิดเป็นเปรต คือความหิวกระหายไร้สุข และไม่กำเนิดเป็นอสุรกาย คือความสะดุ้งหวาดกลัวภัย
ด้วยประการฉะนี้
ในครั้งนั้น พระเจ้าเอสุการีคือ
พระเจ้าสุทโธทนะในบัดนี้ ปุโรหิตคือ พระกัสสป ในบัดนี้ ส่วนหัตถิปาลกุมาร
ก็คือเรา ตถาคตนั่นเอง
(พระไตรปิฎก เล่ม ๒๗ ข้อ ๒๒๔๕ อรรถกถาแปล
เล่ม ๖๑หน้า ๒๓๙)
|