ชีวิตไร้สารพิษ โดยล้อเกวียน

การอนุรักษ์พลังงานและน้ำ(๑)

 

หนังสือพิมพ์ เราคิดอะไร ฉบับที่ 129

เดือน เมษายน 2544


 

๑. การอนุรักษ์พลังงาน

พลังงาน คือหัวใจของการดำรงอยู่ ของระบบทุกระบบ เพียงแต่คนเรา ไม่เคยใส่ใจ ศึกษาสภาพการดำรงอยู่ ของระบบเล็กระบบน้อย ในธรรมชาติ เราทำลายทุกอย่าง เพื่อให้ประเทศก้าวหน้า ทัดเทียมกับประเทศที่พัฒนาแล้ว รู้สึกว่าการก้าวหน้า แทนที่จะก้าวไปสู่ทางที่ดี ก็จะเป็นการก้าวสู่หน้าผา เราน่าจะมาฉุกคิดกัน ก่อนที่จะก้าวจนตกหน้าผาตาย

แท้จริงคนไทยมีบ้านที่ดี และสุขภาพ อาหารดี อย่าได้ไปตามหลังใครเลย ทำตามประเพณี ของเราดีกว่า ในประเทศอัฟริกา บางประเทศ ประชาชนไม่เคยมีไฟฟ้าใช้และไม่มีรถใช้ เขาก็ไม่เดือดร้อน เพราะเขาไม่เคยใช้ บางประเทศมีการออกระเบียบกันแล้วว่า ต่อไปนี้ก่อนที่จะสร้างบ้าน เจ้าของบ้าน หรือผู้ที่จะสร้างบ้าน ต้องแสดงให้รัฐบาลเห็นว่า มีความสามารถที่จะดูแลเรื่องพลังงาน หมายความ ถึงการช่วยตัวเองในเรื่องพลังงาน เพราะรัฐบาลไม่สามารถส่งน้ำให้ รัฐบาลไม่สามารถเก็บขยะให้ รัฐบาลไม่สามารถให้มี เครื่องอำนวยความสะดวก สาธารณูปโภคอื่นๆ อีกแล้ว ผู้ที่แสดงไม่ได้ว่า จะสามารถจัดการ กับขยะของตัวเองหรือ จัดการกับระบบพลังงานของตนเองได้ ก็จะไม่ได้รับอนุญาตให้สร้างบ้าน

การสนับสนุนให้มีการสร้างเขื่อน เพื่อจะเอาน้ำมาใช้ผลิตไฟฟ้าบ้าง เพื่อการเกษตรบ้าง มีผลให้เกิดการทำลายสิ่งแวดล้อม จนกระทั่งมีหลายคนเสนอว่า ต่อไปอนาคต การแสวงหาพลังงาน การเพิ่มพลังงาน และการใช้พลังงาน ก็จะต้องลดลง คนที่จะต้องการใช้เครื่องไฟฟ้า ควรจัดหาพลังงานไฟฟ้าด้วยตัวเอง

แหล่งพลังงานที่สำคัญ ของประเทศในแถบภาคพื้นแปซิฟิค ก็คือ ต้นไม้ คนตัดต้นไม้ เอามาทำฟืน โดยเฉพาะจากต้นโสน (Sesbania) ซึ่งเป็นไม้ตระกูลถั่ว จะช่วยตรึงไนโตรเจน เราสามารถตัดกิ่งมาทำฟืน ใช้หุงหาอาหารในครัวเรือนได้ นอกจากนี้ ลำต้นของมันยังบำรุงดิน ให้ร่มเงา รักษาความชุ่มชื้นในดิน ต้นไม้ประเภทนี้เป็นต้นไม้ที่ไม่กินเนื้อที่มาก รูปทรงของมันไม่เปลืองพื้นที่ และสามารถใส่แทรกลงไประหว่างต้นไม้ใหญ่ได้

โดยความต้องการพื้นฐานแล้ว คนเรามีความต้องการใช้ไฟฟ้า น้อยมากทีเดียว บ้านสมัยนี้ ในออสเตรเลีย บางท้องที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ จากโซล่าเซลส์ ซึ่งจะถูกกว่าที่จะตั้งเสาไฟฟ้า เข้าไปในหมู่บ้าน ใช้โซล่าเซลส์ ๕ ปีก็จะคุ้มทุน และเท่ากับว่าเราจะได้ของฟรี หลังจาก ๕ ปีไปแล้ว โซล่าเซลส์เพียงแค่ ๓ อัน ก็เพียงพอที่จะใช้ในบ้าน สำหรับการอ่านหนังสือ ใช้ทำอะไรต่อมิอะไร แต่ถ้าหากว่าจะใช้ในตู้แช่แข็ง ขนาดใหญ่ๆ หรือใช้กับอุปกรณ์ ไฟฟ้า ที่ต้องการกำลังไฟมากๆ เช่น เครื่องซักผ้า ก็จะใช้โซล่าเซลส์ไม่ได้ อย่างไรก็ตามในชนบท การแก้ปัญหาการขาดแคลนพลังงานทำได้ง่ายกว่าในเมือง เช่น ถ้ามีคนรวมกันเป็นกลุ่ม ประมาณ ๕-๖ ครอบครัว รวมกันทำห้องซักผ้ารวม ซึ่งมีเครื่องซักผ้าใช้ร่วมกันอยู่เครื่องหนึ่ง มีตู้แช่แข็งใช้ร่วมกัน โดยแต่ละคนมีส่วนเฉพาะของตน และมีกุญแจของตัว แทนที่แต่ละบ้าน จะต้องมาเสียพลังงานไฟฟ้ามากมาย พลังงานไฟฟ้าที่จะใช้งานหลักๆ ก็จะไปรวมกัน ค่าใช้จ่ายก็ถูกลง

ส่วนของใช้ภายในบ้าน เวลานี้เขากำลังคิด เครื่องกำเนิดไฟฟ้าหมุนได้ง่ายๆ คล้ายๆ กับขี่รถจักรยาน จะเป็นเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่ใช้ภายในบ้าน ในเมืองไทยนี่ยังโชคดี ที่เราไม่ต้องมีปัญหาเรื่อง จะต้องทำความร้อนในบ้าน ตอนช่วงฤดูหนาว ถ้าเราจำเป็นจะต้องมีอุปกรณ์ ทำความอบอุ่น เราก็ใส่เสื้อกันหนาวตัวเดียวก็พอ นับว่าเป็นโชคดีแล้ว ที่เราไม่มีปัญหาเรื่องพลังงานเหล่านั้น แต่ว่าเราอาจมีปัญหาว่า จะต้องทำความเย็นให้บ้าน อย่างเช่น ตามโรงแรมใหญ่ๆ จะมีเครื่องปรับอากาศ อันนี้เป็นลักษณะของการออกแบบ ที่ไม่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม ถ้าหากเราคิดสักหน่อย ก็จะประหยัดพลังงานได้ ตามบ้านก็คงจะไม่มีปัญหาอย่างนั้น

เรื่องน้ำร้อนนี้ ในประเทศเมืองหนาว มีการใช้พลังงาน เพื่อทำน้ำร้อนถึง ๖๘ เปอร์เซ็นต์ ของการใช้พลังงานทั้งหมด แต่จริงๆ แล้ว ถ้าจะอาบน้ำร้อนจัดๆ ก็มีระบบง่ายๆ คือ ทำเครื่องทำน้ำร้อนเป็นขดลวด ใช้ท่อเหล็กหรือท่อโลหะไปไว้บนหลังคา ให้มันรับแดดตลอดทั้งวัน เราก็จะได้น้ำร้อน จากพลังงานธรรมชาติ คือถ้าหากเอาแท็งค์น้ำ ไว้ระดับเดียวกับเส้นลวดอันนั้น น้ำในแท็งค์ก็จะร้อนไปด้วย เป็นระบบที่ใช้ตามโรงพยาบาล เพื่อฆ่าเชื้อโรค เพราะในปัจจุบันค่าใช้จ่ายในเรื่องพลังงาน เริ่มจะเป็นปัญหาใหญ่ ของสถาบันใหญ่ๆ ตึกใหญ่ๆ เช่น โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย

ความสำคัญของการออกแบบ ในประเทศออสเตรเลียนั้น ในชนบทแก้ปัญหาได้ง่ายกว่าในเมือง เพราะคนในชนบทพร้อมที่จะช่วยกันสร้างระบบที่ดีให้โรงพยาบาล ซึ่งคนในเมือง ไม่ค่อยจะทำกันนัก ในชนบทหลายแห่ง จะมีท่อน้ำเย็น ที่จะช่วยในเรื่องการเก็บรักษา วัสดุอุปกรณ์ที่ต้องการความเย็น ซึ่งประชาชนจะทำให้แก่ โรงพยาบาลเองเลย เหตุผลก็เพราะ ชนบทเป็นชุมชน ที่ประชาชนจะมีความห่วงใย ในเรื่องเหล่านี้ เพราะมันหมายถึง ความรับผิดชอบร่วมกัน ของชุมชนนั้นด้วย และเพื่อความเป็นอยู่สุขในสังคมของชุมชน แต่ในเมืองใหญ่นั้น ไม่ได้เป็นอย่างนั้น ต่างคนต่างอยู่ ไม่ได้มีความห่วงใยกัน และไม่เห็นความจำเป็น ที่จะต้องมาสร้างอะไรให้กัน เพื่อความเป็นอยู่ร่วมกัน เพราะในเมืองใหญ่นั้น คนไม่ได้ใช้ชีวิตร่วมกัน ต่างกับในชุมชนเล็กๆ ที่คนจะใช้ชีวิตร่วมกัน ตัดสินใจ อะไรก็เป็นการตัดสินใจร่วมกัน

การใช้พลังงานไฟฟ้าและเชื้อเพลิง ในระบบนิเวศน์เมืองในปัจจุบันนี้ เป็นการสูญเสีย และผลาญพร่าทรัพยากรมาก มีการใช้พลังงาน ซึ่งไม่มีความจำเป็น สำหรับชีวิตเลย ยกตัวอย่าง เช่น การประหยัดพลังงาน ที่แคลิฟอร์เนีย เขามีระเบียบว่า ถ้าไม่จำเป็น ห้ามออกจากบ้าน ถ้าทำงานที่บ้านได ้ก็ไม่ต้องไปทำงานที่อื่น มีมาตรการหลายอย่าง ในเรื่องสภาพบ้าน แบบบ้าน การใช้สี การใช้หน้าต่าง การตกแต่ง เพื่อที่จะประหยัดพลังงาน เวลานี้ทั่วโลกมีปัญหา เรื่องการขาดแคลนพลังงาน เนื่องจากว่าโลกกำลังร้อนขึ้น เพราะเราใช้พลังงาน มากเกินไป

การออกแบบบ้านที่อยู่อาศัย จะเกี่ยวข้องโดยตรง กับการใช้พลังงาน บ้านแบบไทยๆ ที่ทำจาก วัสดุธรรมชาติ ใช้ไม้ ใช้จาก เป็นบ้านที่ดีที่สุด และหลังคาทรงจั่ว สามเหลี่ยมก็เหมาะที่สุด สำหรับเมืองร้อน อนึ่งบ้านใต้ถุนสูง ก็เหมาะกับเมืองร้อนเป็นอย่างยิ่ง เพราะน้ำและลม จะไหลพัดผ่านได้ ทำให้มีการระบายความร้อนได้ดี และแข็งแรงทนทาน แต่ถ้าปลูกบ้าน ใต้ถุนราบติดดิน ก็สามารถใช้วิธีใส่ท่อลอดใต้บ้าน โดยให้ปากท่อยื่นออกมา วางท่อเอียงลงเพื่อไม่ให้น้ำไหลเข้าบ้าน ส่วนที่ยื่นออกจากบ้านจะถูกแดด และเกิดความร้อนขึ้น ทำให้อากาศภายในท่อร้อน และลอยตัวขึ้น อากาศเย็นภายนอก ก็จะถูกดูดเข้ามาในบ้าน บ้านก็จะเย็นสบาย เมืองไทยมีของดีอยู่แล้ว ทั้งบ้าน ทั้งอาหาร จึงไม่ควรไปลอกเลียน ระบบวิถีชีวิตของคนชาติอื่น ทำให้สิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา ต้องเสียสมดุลไป

๒. การอนุรักษ์น้ำ

น้ำเป็นองค์ประกอบหลักของชีวิต ทางขวามือสุดก็คือทะเล เส้นลูกศรที่ชี้ขึ้นไปก็คือ น้ำที่ระเหยลอยขึ้นไปในอากาศ กระทบกับอากาศเย็นเบื้องบน แล้วกลั่นตัวเป็นหยดน้ำ เกาะรวมตัวกันเป็นเมฆ พอเมฆลอยขึ้นไปถึงร่องอากาศเย็น ก็จะทำให้ฝนตก พอฝนตกลงมาบนพื้นดิน น้ำก็จะระเหยกลายเป็นเมฆ และก็เป็นฝนตกลงมาอีก แต่น้ำจะมีทางซึมเซาะไปได้ บางทีน้ำก็ซึมลงไปในดิน และถูกเก็บสำรอง บางครั้งก็จะเก็บไว้ที่ต้นไม้ ถ้าไม่มีที่เก็บสำรองน้ำไว้ น้ำก็จะไหลลงทะเล และระเหยไปในอากาศ ประมาณว่า ๘๔ เปอร์เซ็นต์ของน้ำฝน จะระเหยขึ้นไปในอากาศ และจะมีเพียง ๑๕ เปอร์เซ็นต์ของน้ำฝนเท่านั้น ที่จะเหลือไว้ในโลกได้ใช้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ ในด้านเกษตรกรรม การเพาะปลูก หรือน้ำใช้สอย

(จาก Permaculture โดย Bill Mollison)

(อ่านต่อ ฉบับหน้า)

    อ่านต่อฉบับ 130

(เราคิดอะไร ฉบับ ๑๒๙ เม.ย. ๔๔ หน้า ๖๖ - ๖๘)