กำไรขาดทุนแท้ ของอาริยชน

หนังสือพิมพ์ เราคิดอะไร ฉบับที่ 131เดือน มิถุนายน 2544

ข้าพเจ้าคดอะไร กำไรขาดทุนแท้ของอาริยชน (ต่อจากฉบับที่ ๑๓๐)

ชาวอโศกได้พิสูจน์ว่า "เป็นไปได้" ถึงขนาดเกิดกระบวนการทางสังคม เป็นหมู่กลุ่มชุมชนที่ไม่มีอบายมุข แม้แต่คนสูบบุหรี่ คนดื่มเหล้า คนเล่นการพนัน ฯลฯ ก็ไม่มีในชุมชน ที่เป็นหมู่บ้านคนบุญนิยม เป็นต้น

คนไม่ต้องโลภมาก จนต้องแย่งชิงคดโกงอำมหิต สังคมชาวอโศก ก็สามารถรวมกันอยู่ อย่างเป็นชุมชนกลุ่มหมู่ ที่มีวัฒนธรรม แบบ "สาธารณโภคี" หมายความว่า คนในชุมชนทั้งชุมชนทุกคน ล้วนช่วยกันทำกินทำใช้ "เป็นส่วนกลาง" หรือแบบสาธารณะ ต่างทำงานมุ่งฝึกฝนตนตัดกิเลส ลดความเห็นแก่ได้เห็นแก่ตัว ตั้งใจพยายามเสียสละ คนในชุมชนทำงานฟรี รายได้เข้าส่วนกลาง ใช้จ่ายร่วมกันในส่วนกลาง ไม่มีใครรับรายได้จากส่วนกลาง ไม่มีใครสะสมทรัพย์สิน "เป็นส่วนตัว" เพื่อร่ำเพื่อรวยเลย มีแต่เพื่อผู้อื่นยิ่งๆ ขึ้น หากจะรวยก็เป็น"ส่วนกลาง"นั่นเองรวย ส่วนตัวจะไม่มีใครรวย

"ความเป็นไปได้" ตามนัยอย่างนี้ จึงเป็น "นวัตกรรม" (innovation) ทางสังคม ที่น่าจะได้ศึกษาพัฒนากันอย่างยิ่ง เพราะ "ความเป็นไปได้" ของมนุษย์แบบนี้ มันสุดแสนแปลกประหลาดเกินจะเชื่อได้ ไม่เคยเป็นเคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ นอกจากในนิทาน แต่นี่เป็น "ของจริง" ที่กำลังปรากฏอยู่โทนโท่ ท่ามกลางสังคมทุนนิยมอันเชี่ยวกราก ณ กาละปัจจุบันนี้ทีเดียว จะว่าไปแล้ว มันแปลกประหลาดยิ่งไปกว่า คนผู้มีอิทธิปาฏิหาริย์ ที่เหาะเหิน เดินน้ำ ดำดินได้เสียอีก

กระนั้นมันก็"เป็นไปได้"จริง และ"เป็นไปได้"แล้ว ทั้งยังยืนหยัด "ความเป็นไปได้" อย่างนั้นๆอยู่ แถมยังกำลังพยายามเสริมสร้าง ให้พัฒนาเจริญก้าวหน้า ยิ่งๆขึ้นไปอีกด้วย ซึ่งมี "ของจริง" ให้ดูได้ สัมผัสได้ พิสูจน์ตรวจสอบได้

ชาวอโศกฝึกฝนปฏิบัติธรรมะของพระพุทธเจ้า ตามทฤษฎี "มรรค มีองค์ ๘" ตั้งแต่ "สัมมาทิฏฐิ" ก็พยายามประพฤติให้บรรลุ "สัมมา" ครบองค์แห่งมรรคทั้ง ๘ จนก่อเกิด "เป็นส่วนแห่งบุญ" (ปุญญภาคิยา) ให้ผลแก่ขันธ์ (อุปธิเวปักกา) และถึงขั้นเป็นผล ๒ คือ "สัมมาญาณ" กับ "สัมมาวิมุติ" กันคนละพอสมควร จึงมีประชากรชาวอโศก ที่ลดละกิเลสได้ในระดับ "พ้นมิจฉาชีพ" ถึงขั้นที่ ๕ คือ พ้นสภาพที่ยัง "แลกลาภแลกผลประโยชน์กันอยู่" (พ้น มิจฉาชีพ ข้อ ๕ ที่ว่า ลาเภน ลาภัง นิชิคิงสนตา) หมายความว่า ปฏิบัติธรรมกระทั่ง ลดละกิเลส เป็นผู้มักน้อยสันโดษได้ ถึงขนาดสามารถทำงานอาชีพ โดยไม่เอาเงินค่าจ้าง หรือทำงานฟรี ทำงานไม่แลก เอาสิ่งตอบแทนค่าแรงใดๆเลย ปานนั้นทีเดียว

ในชุมชนชาวอโศก การทำงานให้แก่ชุมชนโดยไม่รับเงินรายได้ใดๆ จึงเกิดจึงเป็นจริง และ "วิถีชาวอโศก" นั้น คนผู้มีสมรรถนะยิ่งสูง สร้างสรรได้มาก ก็ยิ่งเสียสละมาก จะเอาไว้เป็นของตนน้อยลงๆๆ ผู้มีภูมิยิ่งสูง ก็ยิ่งจะลดการเอามาให้ตนลงไป กระทั่งสามารถทำงานฟรีได้ ก็คือดีที่สุด ใช้ชีวิตอยู่กับหมู่กลุ่ม เป็นคนส่วนกลาง หรือเป็นคนของสังคมบุญนิยม ร่วมวัฒนธรรม "สาธารณโภคี" หมายความว่า ร่วมกันอยู่ในสังคมเดียวกัน มีอะไรก็กินใช้ร่วมกันได้ทั่วไป ทำมาหาได้ก็เอาเข้าเป็นส่วนกลาง ซึ่งมันต้อง ได้ฝึกตน เป็นคนเสียสละความเป็นของตน ลดละกิเลสได้จริงพอสมควร จึงจะเกิดสังคม "สาธารณโภคี" สำเร็จ ผู้ละลดกิเลสในจิตได้จริง ก็เป็นอาริยบุคคล ก็มีทั้งที่ลดละได้มาก ได้ปานกลางและได้น้อย ตามฐานานุฐานะ

นี่คือ "ความเป็นบุญนิยม" ของสังคมชาวอโศก อันมีทั้งเศรษฐศาสตร์บุญนิยม มีทั้งสังคมศาสตร์บุญนิยม มีทั้งรัฐศาสตร์บุญนิยม มีทั้งธนศาสตร์บุญนิยม มีทั้งพาณิชยศาสตร์บุญนิยม ฯลฯ มีทั้ง "บุญนิยม" อื่นๆอีกหลากศาสตร์หลายศิลป์ ซึ่ง "เป็นไปได้" กันมาแล้วเกือบ ๓๐ ปี

ชุมชนชาวอโศกเป็นแค่สังคมเล็กที่ยังไม่กว้างใหญ่ระดับประเทศ ได้พิสูจน์ระบบ "บุญนิยม" แล้วว่า "เป็นไปได้" แม้แต่ "สัมมาอาชีพ" ก็สามารถปฏิบัติ พิสูจน์ได้ถึงขนาด "พ้นมิจฉาอาชีวะ" ขั้นที่ ๕ กันทีเดียว กล่าวคือ สังคมนี้มีประชากร ประกอบอาชีพสุจริตสูง ถึงขนาด...พ้น "มิจฉาชีพ" ขั้นที่ ๕ ได้จริง นั่นคือ สามารถ พ้น "ลาเภนะ ลาภัง นิชิคิงสะนะตา" ซึ่งหมายความว่า "ทำงานโดยไม่รับ รายได้ใดๆ ทำงานฟรี ก็สามารถยังชีพอยู่ได้" ดังกล่าวแล้ว

นั่นก็หมายความว่า ในสังคมนี้มีความเป็นอยู่ ที่ได้พัฒนาประชากร ให้มีอาชีพสุจริตสูงขึ้นได้ ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ในหลักมรรคองค์ ๘ ข้อ "มิจฉาอาชีวะ" ซึ่งมีถึง ๕ ระดับ สังคมชาวอโศกสามารถ "พ้นมิจฉาอาชีวะ" ไม่มี "มิจฉาชีพ" ตั้งแต่ขั้นหยาบต่ำ ไปจนถึงละเอียดสูงสุดขั้นที่ ๕ นั่นก็คือ สามารถประกอบอาชีพกันได้ ถึงขนาด "พ้นมิจฉาชีพ" ขั้นละเอียดสูงสุด คือขั้น "ทำอาชีพโดย ไม่รับเงินค่าแรงงาน ไม่ว่าในรูปใดๆ ทำงานฟรี ก็ยังชีพอยู่ได้" ซึ่งทำอาชีพสุจริตหรือ "สัมมา" ถึงขั้นนี้ คนทำได้ยากแน่ ยิ่งทำกันเป็น ระบบแข็งแรง เป็นกลุ่มเป็นแกนในสังคม เป็นวัฒนธรรมของสังคม ก็ยิ่งยากมากที่จะทำได้ แต่ก็ทำได้ "เป็นไปได้" ในชาวอโศกทุกวันนี้ เป็นได้และเป็นอยู่จริง

" มิจฉาชีพ" ๕ ขั้น ได้แก่ ขั้นต่ำหยาบสุด คือ "อาชีพทุจริตขี้โกงชัดๆ" (กุหนา) ขั้นต่ำที่ ๒ "อาชีพที่ยังเป็นคนพูดโกหกหลอกๆ ลวงๆเขากิน" (ลปนา) ขั้นที่ ๓ "อาชีพพ้นทุจริตขั้น ๒ ขึ้นไปอีก แต่ก็ยังมีการตลบตะแลง" (เนมิตตกตา) ขั้น ๔ อาชีพที่ตัวเอง สุจริตได้แล้วแต่ก็ยังมอบตนอยู่ในทางผิด หรือตนสะอาด แต่ก็ยังร่วมหัวจมท้ายอยู่กับคน หรือกลุ่มคนไม่สุจริต (นิปเปสิกตา) ส่วน ขั้นที่ ๕ อาชีพทำงานยังเอารายได้ หรือยังมีลาภแลกลาภ (ลาเภน ลาภัง นิชิคิงสนตา) มิจฉาชีพทั้ง ๕ ขั้นนี้ ชาวอโศกพยายาม ปฏิบัติพิสูจน์ ถึงวันนี้ขอยืนยันว่า "เป็นไปได้" แม้ขั้นที่ ๕ ก็มี ก็เป็นได้ในปริมาณที่เป็นแก่นแกน อย่างมีรูปธรรมที่เด่นชัดยืนยัน เข้าขั้นมีพฤติกรรมเป็น "วัฒนธรรมของชุมชน" ทีเดียว

นี่แค่ในสังคมเล็กๆ เป็นแค่ชุมชนเล็ก ทำธุรกิจกับสังคมภายนอก มีรายได้เข้าชุมชนก็ยังไม่มาก และซ้ำมิหนำ "ธุรกิจพาณิชยศาสตร์ก็แบบบุญนิยม" ซึ่งมีแนวคิดทวนกระแส กับ "ธุรกิจพาณิชยศาสตร์แบบทุนนิยม" กัน คนละขั้วเสียอีก ยัง "เป็นไปได้"

(มีต่อฉบับหน้า)

อ่านฉบับ 130  

ข้าพเจ้าคดอะไร สมณะโพธิรักษ์ (เราคิดอะไร ฉบับ ๑๓๑ มิถุนายน ๒๕๔๔ หน้า ๑๐ - ๑๓ )