เราคิดอะไร.

นัยปก
ผู้เคร่งศาสนา
แม้ที่สุดไม่มีศาสนา ที่โหดร้าย คืออะไร?


เป็นคนคงเคยเห็นงูจงอาง ไล่จับงูด้วยกันเองกินเป็นอาหาร ก็จะรู้สึกได้ว่า งูที่กัดกินงู ด้วยกันเอง ย่อมโหดร้ายไม่ธรรมดา

แต่ ถ้าเจองูที่กินคนได้ งูตัวนั้นย่อมโหดร้ายกว่า แต่ถึงกระนั้น งูกินคน ก็ย่อมไม่โหดร้ายเท่าคนกินงู กินกันเป็นๆ ผ่ากินกันสดๆ ไม่ว่าดีงู เลือดงูสดๆ ยิ่งเป็นงูเห่า งูจงอาง ยิ่งร้ายเท่าไหร่ได้ยิ่งดี พวกงูเขียว งูปลา ไม่น่าสนใจเพราะไร้พิษสง

คนกินงู คนฆ่างู ก็ดูว่าโหดแล้ว แต่โหดสุดๆ ก็คงไม่มีอะไรเกินไปกว่า คนฆ่าคนด้วยกัน โดยเฉพาะ ฆ่าแต่ละที เป็นสิบ เป็นร้อย เป็นพัน ก็ยิ่งน่าสยอง

ดังนั้น ศาสดาของทุกๆ ศาสนา จึงมีคำสอนให้ศาสนิกของตนมีชีวิตอยู่ ร่วมโลกกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกันอย่างสันติสุข โดยไม่ต้อง สยองกันไป สยองกันมา เช่น

ในคำสอนของศาสนาคริสต์ เมื่อพระเยซูถูกถามว่า "ธรรมบัญญัติข้อใด สำคัญที่สุด" พระองค์รับสั่งว่า "พระเจ้าของเราทั้งหลาย เป็นองค์เดียวกัน และพวกท่าน จงรักพระเจ้า ด้วยสุดจิต สุดใจของท่าน ด้วยสุดความคิด และด้วยสิ้นสุด กำลังของท่าน พระธรรม บัญญัติที่ ๒ นั้น คือ จงรักเพื่อนบ้าน เหมือนรักตนเอง ธรรมบัญญัติอื่น ที่ใหญ่กว่า ธรรมบัญญัติ ทั้ง ๒ นี้ ไม่มี"

นอกเหนือจากความรักแล้ว คำสอนที่เด่นชัดควบคู่ กัน คือ การให้อภัยซึ่งเป็นคำสอน ที่รู้จักกันดี คือ "ผู้ใดตบแก้มขวาของท่าน ก็จงหันแก้มซ้ายให้เขาด้วย" และชาวคริสต์ ยังต้องอธิษฐานให้แก่ศัตรูด้วย ดังปรากฏในคำสอนที่ว่า "จงรักศัตรูของท่าน และจง
อธิษฐาน เพื่อผู้ที่ข่มเหงท่าน ทำดังนี้แล้ว ท่านจะเป็นบุตรของพระบิดา ผู้ทรงสถิตในสรวงสวรรค์ "

ส่วนคำสอนในศาสนาอิสลามนั้น ท่านนบีมูฮัมมัด ได้กล่าวไว้อยู่ หลายตอน เช่น "สามประการที่ให้ความปลอดภัย (แก่มนุษย์) คือ ยำเกรงต่ออัลอฮฺ ทั้งในที่ลับ และที่เปิดเผย มีความยุติธรรม ทั้งเวลาปกติ และเวลาโกรธ และประหยัด ทั้งเวลายากจน และเวลามั่งคั่ง"

หรือ อีกตอนหนึ่งว่า "บุคคลสองจำพวกที่ไม่ได้รับ ความเอ็นดู ในวันกิยามะฮฺ (วันพิพากษาความดีความชั่ว)คือ คนที่ตัดญาติ ขาดมิตร และเพื่อนบ้านที่เลว

และในคำสอนของศาสนาพุทธ พระพุทธองค์ทรงสอนให้สาวก อดทน อดกลั้น แม้ถึงขั้น จะต้องเสียชีวิตก็ตาม ดังคำตรัสที่ว่า :

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากจะมีพวกโจร ผู้มีความประพฤติต่ำช้า เอาเลื่อยที่มีที่จับทั้งสองข้าง เลื่อยอวัยวะใหญ่ น้อยของพวกเธอ แม้ในเหตุนั้น ภิกษุหรือภิกษุณีรูปใด มีใจคิดร้ายต่อโจรเหล่านั้น ภิกษุหรือภิกษุณีรูปนั้น ไม่ชื่อว่าเป็นผู้ทำตาม คำสั่งสอนของเรา เพราะเหตุที่ อดกลั้นไม่ได้นั้น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้ในข้อนั้น เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จิตของเราจักไม่ แปรปรวน เราจักไม่เปล่งวาจาที่ลามก เราจักอนุเคราะห์ ผู้อื่น ด้วยสิ่งที่เป็นประโยชน์ เราจักมีเมตตาจิต ไม่มีโทสะในภายใน เราจักแผ่ เมตตาจิตไปถึงบุคคลนั้น และ เราจักแผ่เมตตาจิต อันไพบูลย์ ใหญ่ยิ่ง หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท ไปตลอดโลก ทุกทิศทุกทาง ซึ่งเป็นอารมณ์ของจิตนั้น ดังนี้"

จะเห็นได้ว่าคำสอนของศาสดาทุกๆ ศาสนา ต่างก็ต้องการให้มนุษย์มีความมุ่งมาดปรารถนา ดีต่อกันและกัน ไม่ให้มีจิตคิดร้ายต่อใคร แม้ผู้นั้น จะเป็นดังศัตรู ผู้มุ่งหมายเอาชีวิตเราก็ตาม

นอกจากคำสอนแล้ว พิธีกรรมของศาสนา ทุกๆ ศาสนา ต่างก็เป็นไป เพื่อให้มนุษย์มีจิตใจช่วยเหลือ เอื้อเฟื้อกันทั้งสิ้น เช่น พิธีรับศีล ศักดิ์สิทธิ์ ของศาสนาคริสต์ พิธีถือศีลอด ของศาสนาอิสลาม ในเดือนรอมฎอน (เดือนที่ ๙ ตามจันทรคติ) พิธีสมาทาน อุโบสถศีล ในวันพระ หรือ ในช่วงเข้าพรรษา ของศาสนาพุทธ หรือ แม้แต่ ประเพณี ถือศีล กินเจ ที่มุ่งช่วยชีวิตสรรพสัตว์ทั้งหลาย ในโลกนี้ (๑ มื้อกินเจ หมื่นชีวิต รอดตาย)

พิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ของศาสนา ถ้าผู้ใด เข้าถึงแก่นแท้ได้ ก็จะพบกับสัจธรรมที่ว่า "โลกทั้งผองพี่น้องกัน"

ผู้ใดที่โหดร้ายฆ่าได้แม้กระทั่งรู้ว่านั่นคือคน ซึ่งไม่ควรถูกฆ่า ผู้นั้นน่าจะได้ชื่อว่า "ผู้ก่อการร้าย" ตัวจริง

‘จริงจัง ตามพ่อ‘

}