เราคิดอะไร.

ชีวิตนี้มีปัญหา ๒
ตอนนี้เรากำลังอธิบาย ถึงเรื่องของ "รูปพรหม-อรูปพรหม" หรือ "รูปฌาน-อรูปฌาน" แบบพุทธ และกำลังเจาะลึกถึง "อารมณ์ของฌาน" แล้วก็กระจายความ ไปถึง "โลกียรส" กับ "ธรรมรส" ว่ามีความแตกต่างกัน ในนัยละเอียด อย่างไร กระทั่งอธิบายมาถึง "การเข้าถึง ไตรลักษณ์" และกำลังแจก ละเอียดหยั่งลึกลงไปถึง "อุปาทาน" ลงไปถึง "อัตตา" ซึ่งเป็นเรื่องลึก สำคัญยิ่ง สำหรับผู้ปรารถนา จะหลุดพ้น ไปถึงขั้นนิพพาน ก็จะต้องปฏิบัติกัน ให้ถึง "อนัตตา" ทีเดียว และผู้จะถึง "อนัตตา" ได้นั้นก็จะต้องเป็น ผู้สามารถแยก "เวทนาในเวทนา" ลงไปถึง "เคหสิตเวทนา" อันเป็น "โลกียะ" กับ "เนกขัมมสิตเวทนา" อันเป็น "โลกุตระ" ว่าแตกต่างกันอย่างไร แล้วจึงจะ "ดับโลกียะ" สนิทเป็น "อนัตตา" หรือ "พ้นจากโลกียะ" เข้าสู่ "โลกุตระ" ได้สำเร็จ โปรดอ่านต่อได้เลย]

(ต่อจากฉบับที่ ๑๓๕)


ซึ่งกพระไตรปิฎก เล่ม ๓๐ ข้อ ๖๕๙ ที่ชี้บอกถึงคุณลักษณะว่า "นิพพาน"นั้น กล่าวถึงคำว่า "นิจจัง" ก็ดี "ธุวัง" ก็ดี "สัสสตัง" ก็ดี "อวิปริณามธัมมัง" ก็ดี ตลอดจนคำว่า "อสังหิรัง" ซึ่งหมายความว่า ไม่มีอะไรๆจะมาเอาชนะหรือหักล้างได้ ก็ตาม ดังที่กล่าว ถึงมาข้างต้นนั้น ล้วนชี้บอกถึงคุณลักษณะของ "ความจริง" ที่ได้แล้ว เป็นแล้ว คือ "ความไม่มีตัวตน" ซึ่งได้แก่ "อนัตตา" นั่น ต่างหาก ที่ "เที่ยง,แท้" (นิจจัง) "คงที่,ถาวร" (ธุวัง) "ยั่งยืน, ตลอดกาล" (สัสสตัง) "ไม่แปรปรวน เป็นธรรมดา" (อวิปริณามธัมมัง) หรือ "ไม่มีอะไรๆ จะมาเอาชนะ หรือหักล้างได้" (อสังหิรัง) และ"ปลอดภัย,ไม่กลับกำเริบ" (อสังกุปปัง)

ไม่ได้ หมายความว่า "นิพพาน" จะไปมี "ตัวตน" (อัตตา) ขึ้นมา "เที่ยง,คงที่,ยั่งยืน ฯลฯ" เป็น "เมืองนิพพาน" เป็น "กายทิพย์" นิรันดร์อะไรนั้นหรอก แต่กลับเป็นว่า..ที่เป็น "นิพพาน" นั้น เพราะ"ความไม่มีตัวตน"(อนัตตา)ต่างหาก ที่..เที่ยง,คงที่,นิรันดร์ ฯลฯ

ดังนั้น "นิพพาน"จึงเป็น"อนัตตา" ด้วยประการฉะนี้แล

นั่นคือ "นิพพาน" ย่อมไม่ใช่หรือไม่เป็น"อัตตา"

แต่กลับ "ดับสิ้นอัตตา" อย่างเป็น "สูญ" ชนิดสะอาดสนิทสัมบูรณ์ด้วยซ้ำ

เพราะ "อดีต" ก็สูญมาแล้วด้วยสามารถอย่างดีเยี่ยมไม่บกพร่อง ตลอดสาย บวก "ปัจจุบัน" ก็สูญได้ "อย่างเป็นเอง" (ตถตา) เป็นได้อย่างนั้นจริง (ตถตา) ไม่แปรเปลี่ยน (อวิตถตา) ความเป็นอย่างอื่นไม่มี (อนัญญถตา)

มีแต่ว่า...
เมื่อมีสิ่งนี้ คือ "นิพพาน" เป็นเหตุ จึงจะมีสิ่งนั้น อันก็คือ "นิพพาน" นั่นเอง เป็นผลสืบต่อไป (อิทัปปัจจยตา)

ถ้าหากสิ่งนี้ คือ "นิพพาน"ไม่มี สิ่งต่อๆไป คือ "นิพพาน"ก็ไม่มี (อิทัปปัจจยตา)

หรือมีสิ่งที่เป็นนิพพานชนิด "ไม่ถูกต้อง" เป็นเหตุ สิ่งที่เป็นนิพพานชนิด "ไม่ถูกต้อง" ก็ต้องมี เป็นผล ต่อไป (อิทัปปัจจยตา)

เพราะมี "นิพพาน" จึงเป็น "ผู้มีพันธุ์แท้เชื้อแท้" ที่จะ "สืบเชื้อต่อพันธุ์" แห่งพงศ์เผ่าของพุทธต่อได้ เป็น "อิทัปปัจจยตา" ที่มี "เชื้อเนื้อแท้" สืบต่อพันธุ์ของแท้ ซึ่ง "พันธุ์" ดังกล่าวนี้ เกิดได้เป็นได้ด้วย "กรรม" ด้วย การศึกษา และปฏิบัติจน "เกิดทางจิตวิญญาณ" (โอปปาติกโยนิ) นี่แหละคือ "กรรมเป็นกำเนิด - กรรมเป็นเผ่าพันธุ์" เ เกิดเป็น "อาริยบุคคล" หรือ "มนุษย์โลกุตระ"
ตามที่ได้พิสูจน์มาแล้วว่า
อนัตตา = สุญญตา หรือ = ๐
เมื่อ อดีต = ๐ ปัจจุบัน ก็ = ๐
และ อดีต + ปัจจุบัน = อนาคต [ตามทฤษฎีของกรรมวิบาก]
เพราะฉะนั้น "อนาคต" ก็แน่ยิ่งกว่าแน่ว่า ต้อง "สูญ"
จากหลักฐานของ "ความจริง" (ภาว)
ที่มี อดีต + ปัจจุบัน = อนาคต
เพราะได้พิสูจน์ด้วยตนมา มากมายแล้วว่า
อดีตก็อนัตตา + ปัจจุบันก็อนัตตา = อนาคตก็อนัตตา
อันมีค่าเท่ากับ อนัตตา + อนัตตา = อนัตตา ดังนั้น ผลก็คือ ๐ + ๐ = ๐
นักคณิตศาสตร์อาจจะท้วงว่า สมการข้างบนนี้ "ผิด"
มันต้อง อนัตตา + อนัตตา = ๒ อนัตตา จึงจะ "ถูก"
แต่ในกรณีนี้ เพราะว่า อนัตตา = สุญญตา = ๐ เพราะฉะนั้น ก็เท่ากับ
สุญญตา + สุญญตา = สุญญตา
นั่นคือ ๐ + ๐ = ๐
ชนิดเที่ยงแท้ถาวรด้วย มี "ของจริงหรือความจริง" รองรับเป็น "ความปรากฏ, ของจริง" (ภาวสัจจะ) แก่ผู้ปฏิบัติ บรรลุสัมบูรณ์ อยู่โต้งๆ

หมายความว่า "อัตตาอดีต" ของเรา เราก็สามารถดับได้ อย่างมั่นใจ อ่านจากอดีตของตน จนมั่นใจมามากมาย มานาน เพียงพอแล้วว่า "มันดับสนิท" แม้ "อัตตาปัจจุบัน" ก็ "ดับอยู่" ไม่ได้แปรเปลี่ยน ชนิดเป็นจริงได้เอง หรือเป็นอัตโนมัติยิ่ง ด้วยซ้ำ

อดีต + ปัจจุบัน = อนาคต
จึงเท่ากับ ๐ + ๐ = ๐ แน่นอนสัมบูรณ์ นี่คือการจบกิจ ที่ต้องรู้ด้วยตน

พระพุทธเจ้าทรงสอนเราไว้ละเอียด มีเครื่องตรวจสอบ "ผลธรรม" ด้วย "กาละ" ทั้งอดีต-ปัจจุบัน-อนาคต ถึง ๓ กาล ด้วยประการฉะนี้

และผู้สามารถทำ "ผล" สำเร็จได้ก็เป็น "นิพพานัง ปรมัง สุขัง" คือ นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง หรือยิ่งกว่าสุขของโลกีย์ ที่ผู้ทำได้สำเร็จนั้นๆ เป็นผู้มี "ธรรมรสที่สุขอย่างยิ่ง" นั้นเอง และจะเป็น "รสสงบ" ที่ชื่อว่า "สุญญตวิหาร" อย่างพิเศษ เพราะเป็น "เครื่องอยู่ที่สูญหรือว่างจากอกุศลเหตุสนิทแล้ว" เป็น "สุญญตารมณ์" ของคนปกติ มีชีวิตสามัญ ซึ่งมันมี "อารมณ์เป็นสูญ" เพราะความเป็น "อนัตตา" หรือเพราะ "ความไม่มีตัวตน" ของกิเลสตัณหาอุปาทาน แล้วอย่างสูญสนิท เที่ยง ยั่งยืน ถาวร คงที่

"สุญญตารมณ์" หรือ "อารมณ์เป็นสูญ" นี้ เป็น "อีคิวโลกุตระ" ขั้นสุดยอดทีเดียว เป็น "ความฉลาดทางอารมณ์" แบบพุทธโดยแท้

"สูญ" ที่ว่านี้ ไม่ใช่ "สิ่งสร้าง" หรือ "นิมิต" หรือไม่ใช่ "อารมณ์ที่ถูกสร้างขึ้นมาใส่จิต" ด้วยวิธีต่างๆ แล้วก็ยังต้อง "ทำตามวิธี" ที่เคยทำมานั้นๆอยู่ (แบบฤาษี) กระทั่งเกิด "อารมณ์ว่างๆหรือนิมิตว่างๆ" มาให้ตนเสพ อย่างไม่รู้แล้ว รู้เสร็จ [จะ "ว่าง" อย่างรูปฌาน หรืออรูปฌาน ก็มิใช่ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ของฌาน ๔ แห่งรูปฌาน หรือ อากาสานัญจายตนะ ไปจนกระทั่ง เนวสัญญานาสัญญายตนะ แห่งอรูปฌาน หรืออสัญญี ก็ตาม]

ไม่ใช่ "รูปฌาน" หรือ "อรูปฌาน" ที่ได้รับการ "สร้าง" ขึ้นด้วยวิธีการต่างๆ อันโบราณาจารย์และฤาษีเก่าก่อนพากันคิด "สร้าง" ขึ้นใส่จิต ซึ่งมีกันมานานแล้ว แม้สมัยใหม่ ก็มีผู้ค้นหาวิธีใหม่ๆ "สร้างอารมณ์ว่างๆ" นัยะนี้ ด้วยวิธีใหม่อีกมากมาย

ไม่ใช่ "ภพ" ที่เป็น "รูปภพ หรืออรูปภพ" ซึ่งผู้จะ "ได้อาศัย" ต้องสร้างขึ้นมาให้แก่ตนอีกที ไม่ใช่ "ชาติ" ที่ต้องมีความเกิด ซ้อนขึ้นมา เสพสมสุขสม บำเรอตน อยู่ในจิต

[มีต่อฉบับหน้า]

เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๓๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๔)

}