ชีวิตไร้สารพิษ โดยล้อเกวียน
การเริ่มต้นเตรียมพื้นที่
ในพื้นที่เล็กๆ
เช่น สวนครัว สิ่งแรกที่ควรทำ คือ การกำหนดขอบเขตพื้นที่ เมื่อกำหนดพื้นที่แล้ว
จึงดายหญ้า คลุมไว้ ชั้นหนึ่งก่อน แล้วจึงเอา กระดาษแข็ง หรือกระดาษอะไรก็ได้
วางคลุมหญ้าให้มิด ให้หนาพอสมควร เอาน้ำมาพรม ให้กระดาษแฉะ แล้วจึงเอาฟาง
คลุมไว้ อีกชั้นหนึ่ง ทับด้วยแกลบผุๆ ถ้าหาแกลบผุไม่ได้ ก็ใช้แกลบสด หรือแกลบเผาก็ได้
จากนั้น รดน้ำอีก รวมแล้วเหนือดิน จะมีวัสดุคลุมอยู่ทั้งหมด
๔ ชั้น ชั้นแรก คือ หญ้า ชั้นที่ ๒ เป็นกระดาษแข็ง
ชั้นที่ ๓ เป็นฟาง ชั้นที่ ๔ เป็นแกลบผุ หรือ แกลบเผา ทำวิธีนี้ ทำให้ไม่ต้อง
ตัดหญ้าแต่อย่างใด ให้วางวัสดุ คลุมทับไปได้เลย จากนั้น ก็เอามันแกวมาปลูก
แล้วเอาต้นกล้วยมาใส่ แล้วทิ้งไว้เฉยๆ ต้นพืชที่ปลูกลงไป จะขึ้นมาเอง วัสดุที่ใส่ลงไป
เป็นชั้นๆ นั้น ก็คือปุ๋ย ประมาณ ๖ เดือน ก็กลับมารดน้ำ แล้วจะลงพืช ได้ตามต้องการ
เมื่อลงพืชแล้ว ไม่ต้องกลับไปทำอะไรอีก มันจะเจริญเติบโตเอง ถ้าไม่มีฟาง
ก็ใช้หญ้าแห้ง ที่เกี่ยวตอนยังไม่มีเมล็ด แทนก็ได้ เมื่อลงพืช ไปแล้ว ปีแรกต้องรดน้ำ
โดยเฉพาะ ในช่วงแล้งจัด แต่เมื่อขึ้นปีที่ ๒ แล้ว ก็ไม่จำเป็น ต้องรดน้ำอีก
ต้นไม้ที่จะเป็นหลักในการบำรุงดิน
เราต้องปลูกก่อน ส่วนต้นไม้เสริมยังไม่ต้องปลูกก็ได้ รอให้ต้นไม้หลัก ซึ่งเป็นพี่เลี้ยง
โตสักหน่อยก่อน ต้นไม้บางชนิด ควรปลูกด้วยเมล็ด บางชนิดควรปลูกด้วยต้นกล้า
ที่เพาะชำแข็งแรง ดีกว่า ถ้าหากพื้นที่เล็กก็ใช้ ต้นกล้า ได้เหมือนกัน อย่าปล่อยให้พื้นดินว่าง
อยากจะให้ทดลอง ปลูกพืชหมุนเวียน หลายๆ ชนิดดู แล้วเราจะมีกิน ตลอดปี เพราะว่า
มันทำได้อย่างง่ายๆ
ฟางกับแกลบที่คนเขาเผา ถ้าเราไปขอมาใช้ประโยชน์
มันจะกลายเป็นดิน การใช้ฟางและแกลบคลุมดินแบบนี้ จะไม่มีการ
เสียน้ำเลย เพราะการคลุมดิน แบบนี้จะอุ้มน้ำได้ดี เมื่อจะนำวัสดุ
มาคลุมดินใหม่ๆ เราใส่ฟางอย่างเดียว ไม่ต้องใช้แกลบ ฟางรุ่นหนึ่งๆ จะมีอายุ
อยู่ได้ถึง ๒ ปี แต่ถ้าเราสร้างป่า ในพื้นที่ของเรา เราก็ไม่ต้องใช้ฟางเลย
อาจจะใช้ ต้นไม้นิดหน่อย ในสวนครัวของเรา ก็อาจจะ ไม่ใช้ ฟางเลย เพราะในเมือง
หาฟางได้ยาก เราอาจจะปลูก มันเทศแทน เพราะมันเทศ ช่วยคลุมดิน ดังได้กล่าวแล้ว
ข้างต้น
วิธีดังกล่าวนี้จะใช้ได้ดีในพื้นที่เล็กๆ
ส่วนพื้นที่ใหญ่ๆ ที่มีพื้นที่กว้างขวาง จะใช้วิธีนี้ก็ได้ แต่จะเป็นการยาก
ในการเตรียมวัสดุ คลุมที่กว้างใหญ่ เพราะจะต้องใช้เวลาหลายปี ในการเตรียมพื้นที่
ถ้าใช้วัสดุพวกนี้ เพราะว่าจะต้องแบ่ง ทำทีละส่วน บางคน ใช้เวลา ๕ ปี สำหรับพื้นที่
๕ ไร่ ทั้งนี้เพราะว่า ในพื้นที่ใหญ่นั้น หญ้าจะขึ้นรวดเร็วมาก เราจะไม่มีเวลา
และแรงงาน ที่รบกับหญ้า การจะหาอะไร ไปคลุมใน พื้นที่ใหญ่ๆ จึงควรใช้ระบบ
ปลูกพืชคลุมดินไว้ เพื่อไม่ให้หญ้า ได้รับแสงแดด ซึ่งจะทำให้ หญ้างอกน้อยที่สุด
หรือ ไม่งอกเลย
ดังนั้นในพื้นที่ขนาดใหญ่เราจะต้องใช้ระบบที่ไม่ใช้วัสดุนอกระบบ
เพราะเพียงเอาต้นกล้วย หรือเมล็ดพันธุ์ พืชบำรุงดิน หยอดลงไป แล้วก็เสร็จ
พอต้นกล้วย หรือพืชเจริญเติบโต มีพุ่มใบรกแล้ว ก็ตัดกิ่ง และใบลงคลุมดิน
นี้เป็นระบบที่สามารถ ใช้แรงงาน ภายในครอบครัว ถ้ามีพื้นที่สักไร่หนึ่ง
เมื่อทำอย่างนี้ ก็จะมีอาหารกินไป เป็นเดือนๆ ปีๆ เลย วิธีทำงานอย่างนี้
จะมีทั้งผัก ผลไม้ กิน และ ถ้ามีสระน้ำ เล็กๆ ด้วย ก็จะมีปลากินด้วย หรือถ้าเรามีสวน
แต่อยากทำเป็นป่า ก็ให้หยอดเมล็ดพันธุ์ พืชบำรุงดิน หรือไม้ป่าโตเร็ว ลงในดิน
ไม่จำเป็น จะต้องดายหญ้า ไม่จำเป็นต้องรดน้ำ
ถ้ามีที่ราบลุ่มน้ำขัง เราอาจจะสร้างเกาะ
ในที่น้ำขังนั้น แล้วสร้างบ้านบนเกาะ ไปอยู่บนเกาะ ปลูกพืชผักบนเกาะ อาจจะใช้แรงงาน
ประมาณ ๒ วัน แต่ในการวางแผน จะเสียเวลามาก ลักษณะอย่างนี้ จะปลอดภัย จากไฟป่า
แต่ในการวางผัง จะเสียเวลามาก แล้วถ้าเลี้ยงเป็ด อีกสัก ๒-๓ ตัว ก็เอาดินใส่กระถาง
ใส่หม้อปลูกผัก ปลูกพืชกินเลย เช่น ที่ราบลุ่มแถวอยุธยา ต้องขุดคู ไว้ด้านหลังที่ดิน
พอฝนตก ก็จะไหลลงคู การขุดคูทำท้องร่องอย่างนี้ เมืองไทยทำกัน มาแต่โบราณ
เพียงแต่ปัจจุบัน เราได้ทำลาย คูคลอง ของเราหมดแล้ว เลยต้องซื้อน้ำ กินน้ำใช้
เมล็ดพืชที่เราไม่ใช้เราก็จะไม่ทิ้ง
เพราะถ้าเมื่อไหร่ เราจะขยายพื้นที่ออกไป หรือเอาพืชที่ไม่ต้องการ ออกไปแล้ว
ก็จะมีพื้นที่ว่าง ให้ได้ปลูก เมล็ดพืชนั้นได้ ร่องที่กว้างเพียง ๒-๓ เมตร
ก็จะเป็นที่ปลูกธัญพืช พวกข้าวต่างๆ ได้และ ทางเดินระหว่างต้นพืช ที่ปลูก
ก็จะใช้ปลูกพืช ได้อีกเช่นกัน โดยเริ่มแรก อาจจะปลูกตาล ปลูกมะพร้าว ระหว่างพืชก็ได้
ถ้ามีองค์ประกอบอย่างนี้ ในสวน ในไร่ ในนา แม้กระทั่ง ในป่า เราก็จะไม่ต้อง
ใช้ยาฆ่าแมลงเลย เพราะจะมีนกต่างๆ มาอยู่ในสวน แต่ตอนเริ่มต้น อาจมีนกเพียง
๒-๓ ชนิด แต่ต่อๆ ไป จะมีนกมาอาศัย มากมาย เมื่อต้นไม้ที่เราปลูก ใหญ่พอให้นก
เป็นที่อาศัย นกจะช่วยกินแมลง และนำเมล็ดพืช จากที่อื่นๆ มายังพื้นที่ของเรา อย่างไรก็ดี ไม่ว่า เราจะปลูกอะไร สิ่งที่ขาดเสียมิได้ ก็คือพืชคลุมดิน เพราะฉะนั้น
ถ้ามีทางเลือก เราก็ควรจะเลือก พืชคลุมดิน ที่เหมาะสมที่สุด
[Permaculture โดย Bill Mollison]
(เราคิดอะไร
ฉบับที่ ๑๓๖พฤศจิกายน ๒๕๔๔) |