ข้าพเจ้าคดอะไร
กำไรขาดทุนแท้ของอาริยชน (ต่อจากฉบับที่ ๑๓๖)
ทีนี้ก็มาพูดถึง "นวัตกรรม" (innovation) ของสังคมมนุษยชาติ ที่ชื่อว่า "บุญนิยม" และกำลังอธิบาย "นิยาม ๑๑ ข้อ ของบุญนิยม" ยังไม่จบ คงต้องอีกหลายคราว
คราวที่แล้วข้าพเจ้าได้อธิบายถึงข้อที่ ๕ ว่า "เป็นสัจธรรม" จบลงไปแล้ว
คราวนี้ก็มาถึงข้อที่ ๖ ที่ว่า "กำไร" แบบอาริยะ
เรื่อง "กำไร" หรือ "ประโยชน์"
(อัตถะ)นี้ ยังมีนัยที่ควรจะได้อธิบายเพิ่ม เติมกันอีก เพราะมีความสำคัญและลึกล้ำอยู่มาก
ประเด็นที่ใคร่จะอธิบายขยายความให้เห็นความสำคัญลึกซึ้งต่อไปนั้น
คือ "ประโยชน์แบบโลกียะ" ที่มีนัยสำคัญ แตกต่างไป จากที่ได้อธิบายมาแล้ว
คราวนี้แบ่งเป็น ๓ ประการ ซึ่งมีความลึกซ้อน เพิ่มยิ่งขึ้นไปอีก
๑. "ประโยชน์ตน"(อัตตัตถะ) ประโยชน์ชนิดนี้
ไม่มีศักดิ์ศรีเลย ไม่มีคุณค่าด้วย ไม่น่าภาคภูมิใจสักนิด เพราะ "ตนต้องพึ่งผู้อื่น" กล่าวคือ ตน "เอา" จากผู้อื่นมาให้แก่ตน
หรือตน "ได้รับ" จากผู้อื่น
เช่น ได้รับวัตถุ ได้รับทรัพย์สินเงินทอง
ได้รับแรงงาน ได้รับความเสพทางอารมณ์ อันมาจากรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส
ได้รับ ความรู้ หรือ รับอะไรอื่นๆมา "จากผู้อื่น" แล้วเรียกผลชนิดนี้ว่า
"ประโยชน์ตน" เพราะตนเป็น "ผู้เอา" "ตน" เป็น "ผู้ได้" จากผู้อื่น
ลักษณะนี้ คนทุกคนเข้าใจดี และต่างก็ยอมรับนับถือกันว่าเป็น
"ประโยชน์ตน" กันอยู่ทั่วไป ในสังคมโลกียสามัญ หรือ สังคม ทุนนิยม
โดยมองด้วยเชิงตื้นๆว่า "ตนเป็นผู้รับอยู่โทนโท่" ก็เป็น "กำไร"
หรือ "ตนได้" อยู่แท้ๆ มันก็คือ "ประโยชน์ตน" แน่ๆ ยิ่งเป็นการ
"ได้เปรียบ" มาให้แก่ตนมากเท่าใดๆ ก็ยิ่งหลงว่า นี่คือ "กำไร"
หรือ "ประโยชน์ตน" มากยิ่งๆเท่านั้น จึงเป็น "การโลภ มาให้แก่ตน" แล้วก็หลงดีใจใน "ความโลภของตน" ที่เจริญงอกงาม นี่คือ ทุนนิยมแท้
๒. "ประโยชน์ผู้อื่น"(ปรัตถะ)
ประโยชน์ชนิดนี้ น่าภาคภูมิใจกว่า มีทั้งศักดิ์และศรีกว่า และนับว่าเป็นคนมีคุณค่า
เพราะ "ตนเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น" กล่าวคือ ตนเป็น "ผู้ให้" เช่น ได้ให้วัตถุ ได้ให้แรงงาน ได้ให้ทรัพย์สินเงินทอง
ได้ให้ความเสพ ทางอารมณ์ อันมาจากรูปเสียงกลิ่นรสสัมผัส ได้ให้ความรู้ หรือได้ให้อะไรอื่นๆไป
"แก่ผู้อื่น" ผลชนิดนี้ จึงเรียกว่า "ประโยชน์ผู้อื่น"
เพราะตนเป็น "ผู้ให้" "ผู้อื่น"
เป็น "ผู้ได้" จากเรา
ลักษณะนี้ หากจะเรียกขานว่า"ตนได้กำไร"
ก็เข้าใจยากขึ้นกว่าลักษณะที่ ๑ เพราะ"ตนเป็นผู้จ่ายออกให้ไปแก่ผู้อื่น"แท้ๆ
แล้วจะชื่อว่า "ตนได้" ได้อย่างไร
แต่ถ้าตั้งใจตรองตามดีๆสักนิด ก็พอรู้พอเข้าใจได้ ว่า "ตนเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น" เพราะเรา "ได้ให้แก่ผู้อื่น"
อย่างนี้คือ "ความเป็นประโยชน์ที่จริงยิ่งกว่า"
และควรเรียกว่า "กำไร" ยิ่งกว่า เพราะใครๆก็รู้ว่าเป็น
"กุศล หรือ คุณงามความดี" แน่ๆ เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นแท้ๆ มีคุณมีค่าต่อผู้อื่นกันอย่างเห็นๆเป็นรูปธรรม
จึงเป็น "ประโยชน์" หรือ เป็น "กำไร" ที่คนทั้งหลายต่างก็รู้ว่า
ผู้เสียสละ คือ ผู้ "ได้บุญ" นี่คือ "กำไร" หรือ "ผลได้" ที่แท้ของชาวบุญนิยม
๓. "ประโยชน์ ๒ ฝ่าย" (อุภยัตถะ)
ซึ่งทั้งตนและทั้งผู้อื่น หรือทั้งผู้ให้และทั้งผู้รับ ต่างก็ได้รับประโยชน์ด้วยกัน
พร้อมๆกัน ในขณะเดียวกัน และกรรมเดียวกัน ทว่า "ผู้ให้หรือผู้รับ"
ยังไม่สามารถทำจิตใจ ให้ลดกิเลสไปกับ กิริยากรรมนั้น แต่ทั้ง "ผู้ให้"
และ "ผู้รับ" ต่างก็ได้ "ประโยชน์" เป็นนามธรรม จากกรรมกิริยา
ที่ทำกันในขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็น การให้วัตถุ แรงงาน ทรัพย์สิน เงินทอง ความเสพทางอารมณ์
อันมาจาก รูปเสียงกลิ่นรสสัมผัส ความรู้หรือให้อะไรอื่นๆ "แก่กันและกัน"
หากมองทางรูปธรรม "ผู้ให้" เป็น "ผู้จ่ายออก" รูปธรรมนั้นๆ
อยู่โทนโท่ ไม่น่าจะเป็น "ผู้ได้" แต่ในประเด็นนี้ เป็นเรื่องของนามธรรม
"กำไร" หรือ "ประโยชน์" ที่ได้คือ ผลทางใจ เมื่อทั้ง "ผู้รับ" และทั้ง "ผู้ให้"
ในขณะที่เกิดกิริยากรรมนั้นๆ ต่างก็เป็น "ผู้ได้ทั้งคู่" ผลชนิดนี้
จึงเรียกว่า "ประโยชน์ ๒ ฝ่าย" (อุภยัตถะ)
เช่น "ผู้ให้" ก็มี "ผลทางใจ"
คือมีความสุขหรือมีความ ดีใจที่ "ได้ให้" "ผู้รับ" ก็มี
"ผลทางใจ" คือมีความสุข หรือมีความดีใจที่ "ได้รับ"
จึงเป็น "ผู้ได้" ด้วยกันทั้งสองฝ่าย เพียง แต่ต้องกำหนด ให้แม่นเป้าว่า
"ประโยชน์" หรือ "กำไร" ลักษณะนี้ ไม่ใช่เรื่องของ "รูปธรรม"
กันแล้ว แต่หมายเอา "การได้ทางนามธรรม" ทว่าเป็นนามธรรมที่ยังเป็น "โลกียะ" เท่านั้นเอง
กล่าวคือ ยังไม่เป็น "โลกุตระ"
เพราะยังเป็น "สุข" ขั้น "โลกีย์" ธรรมดา ที่ "ผู้รับ"
ดีใจเพราะ "ได้จากผู้อื่น" กิเลสก็โต ก็อ้วนขึ้น ส่วน "ผู้ให้"
ก็ดีใจที่ตนได้ "ทำความดี" ซึ่งก็เป็น "โลกียกุศล" แน่แท้
แต่ "การให้" หรือ "การทาน" ครั้งนี้ จะเป็น "การเสียสละ
หรือ เป็นการลด ความโลภให้แก่ตน" จริงแท้หรือไม่ แค่ไหน ผู้ให้ยังไม่มี
"ญาณรู้แจ้ง" จิต..เจตสิก ของตนเอง (วิปัสสนาญาณ) และ ไม่สามารถรู้จัก
"กิเลสตัวแท้" ในจิตตนจริงๆว่า "ตนมีกิเลสโลภอยู่ มากน้อยเท่าใดหรือไม่
หรือยังหวงแหน หรือยังเสียดาย หรือยังต้องการได้รับผลตอบแทน คืนมาให้ตน อยู่มากบ้าง
น้อยบ้างอย่างไร ฯลฯ" หรือ แม้ตนจะรู้จักกิเลส และลดกิเลสพวกนี้ได้
เป็น "โลกุตระ" แล้วด้วยซ้ำ แต่เรายังมี "ปีติ ปัสสัทธิ สุข
อุเบกขา อากาสานัญจายตนะ ฯลฯ" ซึ่งยังเป็น "อุปกิเลส หรือ วิปัสสนูปกิเลส"
เราก็ยังจะต้องมาละ มาลดอีก "อาการ" ต่างๆที่ยกมานี้ เป็นเพียงตัวอย่าง
ของ "กิเลส" ที่ยังมีได้มากแบบ หลายนัย อันยัง "เหลือความเป็นตัวตนของกิเลส"
อยู่ทั้งสิ้น ซึ่งหากไม่เรียนรู้ อย่าง "ถูกถ้วน" (สัมมา) ก็ไม่สามารถจะ
"รู้ของจริง ตามความเป็นจริง" (ญาณทัสสนะ) ที่มีความหยาบ-กลาง-ละเอียด
ชนิดลึกซึ้ง (คัมภีรา) ซึ่งจะรู้ไม่ได้ ด้วยการคาดคะเน (อตักกาวจรา) หรือ
รู้ไม่ได้ด้วยทฤษฎี ของเหตุผลเท่านั้น (อตักกาวจรา)
"ผู้ให้" อาจจะรู้สึกว่า ตนเต็มใจที่
"ได้ให้" ก็เป็นการเสียสละขั้นหยาบๆ แต่การรู้จัก "ในภายใน"
คือ รู้จักรู้แจ้ง รู้จริง (วิปัสสนาญาณ, วิชชา) สภาพของ "จิต..เจตสิก..รูป..นิพพาน"
นั้น มันเป็นความจริงของ "นามธรรม" อันลึกล้ำ ที่ผู้เรียนรู้จะต้อง
"รู้แจ้งเห็นจริงในภาวะจริง" นั้นๆ ชนิดสัมผัสรู้ สัมผัสเห็นด้วย
"ญาณทัสสนะ" ซึ่งเป็น "ญาณ" ในภายในของ ผู้เป็นเจ้าตัว
ซึ่งเป็นการ พิสูจน์ความจริง เช่นเดียวกันกับ การพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์
(มีต่อฉบับหน้า)
(เราคิดอะไร
ฉบับที่ ๑๓๗ ธันวาคม ๒๕๔๔) |