แว้ง
ที่รัก ตอน
สนุกสนานแบบเด็กบ้านป่า
"คืนนี้เธอจะไปดูวอแยไหมน้อย?" มณีพรรณถาม
"ไปซี
พี่แมะขออนุญาตแม่แล้ว พ่อก็ให้ไปได้เพราะไม่ไกลจากบ้าน แต่ไม่ให้กลับดึก" น้อยตอบ
"งั้นเราเจอกันที่นั่นนะ" เพื่อนรักของน้อย ลูกสาวคนเดียวของโต๊ะปาเก1เลาะห์ดีใจหนักหนาที่จะได้ไปนั่งดูหนังตะลุงด้วยกัน "พวกเพื่อนๆ เราจะไปกันหมดเลย"
เมื่อน้อยยังเล็กนั้นที่แว้งไม่มีมหรสพ
จากภายนอกอำเภอ เข้ามาเลย มีแต่การแสดงเมาะโยง กับดีเก นานๆครั้ง ที่แข่งขันกันมาก
ทุกหมู่บ้าน คือการเล่น บานอกึจิ๊ 2 ซึ่งพ่อว่า หนวกหูมากกว่าสนุก แล้วก็ไม่เห็นไพเราะ ตรงไหนเลย แต่มามุกับน้อยว่า
ยิ่งตีกันดัง ได้เท่าไร ก็ยิ่งสนุกเท่านั้น
หนังตะลุงที่น้อยกับพี่แมะและเพื่อนๆ
ไปดูกันในคืนนั้น เป็นหนังแบบแขก เรียกว่าวอแยกูเละ3 โต๊ะดาแล4 เล่นเรื่องที่มี พระเอก
ชื่อ รามา นางเอกชื่อ ซีตา แล้วก็มีตัวร้ายชื่อ ราวะนา น้อยชอบน้องพระเอก ที่ชื่อ ลักษมัน เพราะชื่อฟังดูดีมาก แล้วก็ชอบ ทหารเอก เป็นลิงเผือก ชื่อ หนุมาน มากที่สุด
โต๊ะอุมาที่เชิดหนังนั้นเป็นคนแว้งแท้ๆ
แต่นานๆ แกถึงจะเล่นสักครั้งหนึ่ง เพราะต้องลงทุน ลงแรงมาก ต้องมีงาน เช่นงานแต่งงาน
ที่เจ้าของงาน เขามีเงินพอ ที่จะจ้างแกให้เล่น คืนนี้วอแย เล่นข้างสุเหร่า
สัปปุรุษเขาเล่นฉลองการสิ้นสุด ปอซอ 5
โดยปรกติหนังตะลุงจะเล่นบนบาโงง (เนิน) เพราะเสียง จะได้ยินไปไกล และคนดู ดูได้ถนัดด้วย ไม่บังกัน สมัยนั้น
ยังไม่มีไฟฟ้า อย่างทุกวันนี้ เขาใช้ตะเกียงชนิดหนึ่ง เรียกว่า ตะเกียงเจ้าพายุ
แขวนไว้ ข้างหลังจอผ้าขาว พ่อบอกว่า สมัยที่ ไม่มีตะเกียง เจ้าพายุ เขาก็ใช้ตะเกียง
น้ำมันมะพร้าว จอขาว สว่างดีเหมือนกัน
คืนนั้นมีคนไทย ไปดูหนังกันหลายคนอยู่
ถึงจะฟังภาษาไม่ออก แต่เขาก็รู้เรื่องกันดีทุกคน คนไทยเรียกเรื่องนี้ว่า รามเกียรติ์ เนื้อเรื่อง เหมือนกับ เรื่องของมลายู โดยตลอด
มีแม่ค้าต้มไข่เป็ด ถั่วใต้ดิน
(ถั่วลิสง) แล้วก็มี ขนมเล็กๆ น้อยๆ มาขาย แม่ให้เงินพี่แมะกับน้อย
มาเหมือนกัน แต่ทั้งสองคน รับประทาน ข้าวอิ่มกันมา จากบ้านแล้ว จึงตกลงกันว่า
จะเก็บเศษสตางค์นั้น ไปหยอดกระปุก ลูกน้อยหน่ากันดีกว่า ที่นั่งดูหนังนั้น
มืดมาก แต่ยิ่งมืดเท่าไร ก็ยิ่งดี เพราะจะเห็น ตัวหนังชัดมาก นั่งดูกันไป
สักพักหนึ่ง เพื่อนคนที่นั่งติดกัน แบมือให้ดู ของประหลาด ที่เอาติดมาอวด
มันเป็นเห็ดเรืองแสง เหมือนแสงหิ่งห้อย แต่แสงขาวกว่า และเพราะเห็ดนั้น ค่อนข้างใหญ่
จึงดูเหมือนตะเกียง สว่างนวลสีขาว ใครๆ หันมาดูกันใหญ่ จนรู้สึกว่าเสียมารยาท
จึงซุบซิบให้เก็บเสีย น้อยกระซิบถาม แมะนะ เพื่อนลูกครึ่งแขกและจีนว่า "เธอเอามา จากไหนน่ะ แปลกดี"
"ไม่ใช่ของฉัน" แมะนะกระซิบตอบ "เด็กที่บ้านบือเลาะห์เขาเอามา
ในอำเภอนี่ไม่มีหรอก"
"ฉันอยากเห็นมันตอนกลางวันจังเลย" น้อยว่า
"เขาว่ากลางวันมันไม่มีแสง
ถ้าเธออยากเห็นก็ต้องไปในป่าหรือแถวๆ บือเลาะห์โน่น" แมะนะว่า
"ฉันจะชวนพี่แมะไป" น้อยกระซิบอย่างวาดหวัง เธอเป็นเด็กชอบการผจญภัยมาก โดยเฉพาะผจญภัยในป่า "แต่พี่ฉัน เขาไม่ซน เหมือนฉัน เขาอาจจะไม่ไปก็ได้"
"เธอชวนซี
ฉันจะชวนพวกเพื่อนๆ เราไปกันพรุ่งนี้เลย ตอนนี้ยังเป็นช่วงสนุกสนานอยู่ ผู้ใหญ่คงไม่ว่าหรอก
ไปกันหลายๆ คนสนุกดี เอาข้าวห่อ ไปกินกันด้วย เดี๋ยวพวกเราออกไป ตกลงกันนะ"
แล้วแผนการเที่ยวเล่นในป่าบือเลาะห์
ก็เกิดขึ้นในคืนนั้นเอง พี่แมะกับเพื่อน ที่เป็นเด็กรุ่นโต ก็ตกลงไปกัน เขาจะไปเที่ยว
แล้วขากลับ จะเก็บไม้ยางแห้งกลับบ้าน มาทำฟืนด้วย พวกน้อยกับเพื่อน เป็นเด็กรุ่นเล็ก
จะลองไปหาลูกไม้ป่า กับถ้าเผื่อโชคดี ก็อาจเจอส้มหลุมพี 6 ทะลายหวาน ที่หมีมันกินเหลือไว้
"แหม!
หมีมันคงเหลือไว้ให้พวกเธอเยอะแยะสินะ" เพื่อนพี่แมะคนหนึ่ง
เยาะความคิดของรุ่นน้อง
"ไม่แน่
เจอแล้วอย่ามาขอพวกเรากินก็แล้วกัน" วัลลีเพื่อนน้อยย้อนกลับ
พ่อกับแม่อนุญาตให้ลูกทั้งสองไปได้
เพราะเป็นเวลากลางวัน และเป็นหน้าร้อน ป่าไม่ทึบจนน่ากลัว ทั้งหนทางที่ไป
ก็เป็นทาง ที่ต้องผ่านบ้านด้วย ถนนสายใหญ่นี้ ตัดไปสู่ตำบล บูเก๊ะตา ที่ชายแดน ของประเทศไทย อีกด้านหนึ่ง มีผู้คนผ่านไปมาอยู่ไม่ขาด
สองคนพี่น้องต่างถือห่อข้าวของตน
สมทบกับขบวนเพื่อนๆ ที่ออกมาจากอำเภอ ตรงหน้าบ้าน พ่อร้องสั่งว่า "อย่าซนกัน
จนเกินไปนะเด็กๆ"
"อย่าลงไปเล่นน้ำในปึเจ๊าะห์ล่ะ
น้ำมันลึก เป็นอะไรไปไม่มีใครช่วย" แม่สั่งบ้าง
"อย่าเข้าไปในป่าจนลึกนัก
ไปแค่บ้านเจ้าดีก็พอแล้ว" พ่อสั่งอีก
เสียงเด็กๆ รับคำกันเป็นเสียงเดียวว่า
จะทำตาม มณีพรรณพูด เมื่อออกเดินกันไปว่า "พ่อแม่ฉันก็สั่งอย่างนี้แหละ"
"แม่ฉันก็เหมือนกัน
ผู้ใหญ่นี่ช่างห่วงเด็กเสียจริง ทำอะไรมากไปนิดหน่อยก็ไม่ได้" แมะนะว่า
น้อยเหลือบตาขึ้นมองเพื่อน
พูดว่า "ฉันว่าฉันก็ซนมากเหมือนกัน แต่เวลาซนในเรื่องที่พ่อกับแม่ห้ามแล้ว
ฉันมักเจ็บตัวอยู่เรื่อย_"
"อย่างเรื่องที่เธอเล่าว่าถูกปลาดุกมันยักเอาใช่ไหมล่ะ?" มณีพรรณขัดขึ้น
"ใช่
แล้วก็เรื่องอื่นอีกเยอะแยะ พ่อว่าพ่อเองก็เคยซนแล้วได้เรื่องเหมือนกัน ฉันเลยรู้ว่าที่พ่อแม่ห้ามพวกเรานั้น
ไม่ใช่เพราะ เขาดุหรอก เขาเคยทำผิดมาแล้ว จึงไม่อยากให้พวกเราต้องผิดซ้ำ
พี่แมะก็ว่าอย่างนั้น แต่รายนั้น เขาเป็นคนเรียบร้อย แม่ไม่ต้องว่าเขามาก
ไม่เหมือนฉัน" น้อยว่าพลางหันไปดูกลุ่มรุ่นโต ที่เดินตามหลังมา
นับแล้วขบวนเด็กผู้หญิงล้วน ในวันนั้น ตั้ง ๑๕ คน เดี๋ยวก็ได้สนุกสนาน กันอย่างแน่นอน
แป๊บเดียวเท่านั้นก็ผ่านป่าสาคูและสะพานที่สองนับจากบ้านของน้อย
พ้นจากป่าสาคู ก็ถึงทุ่งนาของเขตหมู่บ้าน จือมาแก๊ะห์ เห็นสุเหร่าขนาดเล็ก ของหมู่บ้าน แล้วจึงถึงตัวหมู่บ้าน ที่ตั้งอยู่บนเนิน
มีทางแยกซ้ายขวา ถ้าไปทางขวา ก็เข้าสู่กำปงจือแร แล้วก็ กำปงตอแล ก่อนที่จะขึ้นภูเขา
เทือกยาวเหยียด สลับซับซ้อน ไปถึงภูเขาที่รวยที่สุด ในประเทศไทย เพราะมีเหมือง
ทองใหญ่ คือ โต๊ะโมะ ได้ แต่พ่อว่า
ขึ้นไปยากมาก เพราะไม่มีถนน หรือทางเดินอะไรเลย ต้องปีนขึ้นไปสถานเดียว และป่าก็เป็น
ป่าดงดิบ มีแต่สัตว์ร้าย นับไม่ถ้วน จึงไม่มีใคร ขึ้นไปเส้นทางนี้ มีแต่พวก ซาไก อยู่กัน
ถ้าเลี้ยวซ้าย ไม่มีภูเขา
มีแต่ป่า ป่ายางก่อนแล้วถึงจะเป็นหมู่บ้านชื่อ บังขุด แล้วก็หมู่บ้าน กือดูนง น้อยเคยตามพ่อไปมาแล้ว ทั้งสองแห่ง แต่ไม่เคยไปเลยจากนั้น พ่อบอกว่าเลยไป
เป็นป่าดงดิบเรื่อยไป จนถึงคลองกั้นเขตแดน ระหว่างประเทศไทย กับประเทศมลายู
คลองนี้เมื่อไหลไป รวมกับคลองแว้ง ก็กลายเป็น แม่น้ำโกลก ที่ไหลไปออกอ่าวไทย
ขบวนเด็กนักเรียนหญิงโรงเรียนแว้ง
เดินผ่าน จือมาแก๊ะห์ แล้ว ทางเดินสูงๆ
ต่ำๆ ไปตามควน (เนิน) สองข้างทาง มีคูน้ำ ธรรมชาติ ที่น้ำใสสะอาด มองเห็นปลาตัวเล็กๆ
ว่ายกันอยู่เป็นฝูง กลุ่มรุ่นเล็กเดินบ้าง วิ่งบ้างนำหน้ากลุ่มรุ่นใหญ่ มาไกลโข
จึงมีเวลาเหลือ สำหรับเล่นซน ทุกคนหยักรั้งผ้าถุงขึ้นมา ไว้ที่สะเอว บ้างนุ่งใหม่
ให้สั้นเต่อขึ้นไปบ้าง ไม่เป็นไรหรอก ตลอดทาง เส้นนี้ ไปจนถึง บือเลาะห์ ไม่มีบ้านคนเลย สักหลังเดียว ไม่มีใครเห็น และวันนี้ ก็เป็นการเที่ยว
อย่างหญิงล้วน ไม่มีเพื่อน ผู้ชายมาด้วย แม้แต่มามุ ก็หมดสิทธิ์ น้อยบอกเพื่อนรักที่มา
มองขบวนตาละห้อย ก่อนออกจากบ้านว่า
"เหอะน่า
เดี๋ยวเราจะเอาส้มหลุมพีหวานๆ มาฝาก ประพนธ์กับสมัย ก็ไม่ได้ไปซักกะหน่อย
ไว้ไปเที่ยวกับเจ๊ะ วันหลังก็แล้วกันน่า"
น้อยนำขบวนลงคูข้างทาง ช้อนลูกปลาหัวตะกั่ว
ที่จุดบนหัวของมัน เป็นสีเงินวาววับ มันว่ายกันเป็นฝูง พอเอามือจะช้อน ทั้งฝูงก็หัน
ซ้ายขวาไป เหมือนมีหัวหน้าบอกแถว ไม่มีใครจับมันได้หรอก มันว่ายหนี วิบวับอย่างรวดเร็ว
เด็กๆเพียงแต่ จะเล่น สนุกเท่านั้น เพราะไม่ปรากฏว่า ใครไปนั่งพยายามจับ
ปลาหัวตะกั่ว ไปทำอาหาร ตัวมันเล็ก เท่าก้านมะพร้าว เท่านั้นเอง มีแต่น้อย
กับมามุ ที่เคยซน ตกปลาหัวตะกั่วกัน แล้ววันหลัง จะเล่าให้ฟัง
บางตอนที่น้ำนิ่งเป็นแอ่ง
ตรงริมที่มีหญ้าน้ำคลุมอยู่ มักจะเห็นฟองติดกันเป็นวง เรียกว่าหวอด น้อยบอกให้เพื่อนเงียบ
เธอรู้ว่า ข้างใต้หวอดนั้น เป็นเหมือนบ้าน ของปลาขี้หริม (กรุงเทพฯเรียกปลากริม)
ที่สวยคล้ายปลากัด ถ้าค่อยๆ ช้อนลึกลงไปข้างใต้ ก็จะได้แม่ปลา ติดอุ้งมือมาเลี้ยง
พี่จบเขาเลี้ยงปลากัด ไว้เยอะแยะ แต่ปลาขี้หริม เขาไม่เอา เขาว่ามันครีบและหางมัน
ไม่สวย เท่าปลากัด พ่อไม่อนุญาต ให้น้อยและมามุ เลี้ยงปลาอะไรทั้งนั้น เพราะเป็นบาป
ยิ่งเลี้ยงเพื่อให้มันกัดกัน ยิ่งบาปใหญ่ น้อยจึงเพียงแต่ ช้อนขึ้นมาให้
เพื่อนๆ ดูแล้วก็ปล่อยไป เพื่อนๆ ลองทำบ้าง แต่เพราะตรงแอ่งนั้นน้ำนิ่ง พอเห็นปลิงเข็มตัวเล็ก
แค่ว่ายเข้ามาหา อย่างรวดเร็ว ก็พากันหวีดหนี ขึ้นบนถนน แล้วก็ออกเดินกันต่อ
ถึงเขตที่ต้น ปาแน (เตย ในอิเหนาเรียก
ปาหนัน) ขึ้นทึบอยู่สองข้างแล้ว แถบนี้เอง ที่คนในหมู่บ้าน มาตัดใบของมัน
ไปทำตีกา หรือสาดใช้กัน (กรุงเทพฯ เรียกเสื่อ)
อำเภอแว้งนี้ แทบไม่ต้องซื้ออะไรเลยจริงๆ ด้วย แม้แต่สาด ก็สานกันเอง ไม่ต้องเสียเงิน
ทำสาดแล้ว ก็ยังสานเป็น ซูเป๊ะ (กระเป๋า)
สำหรับผูกติดไว้ ข้างสะเอวก็ได้ ทำเป็น กุบ (คำใต้ = กล่อง หรือ ตลับ) ขนาดเล็กไป จนถึงขนาดเท่ากระบุง ไว้บรรจุของ ก็ได้ทั้งนั้น
ตามกอเตยมีใบต่างดอก (ดอนญ่าป่า) สีขาว
สีแดง ประดับอยู่ เต็มไปหมด ต้นเหมล (อีสานเรียก เองอ้า) ขึ้นเป็นกอ
ติดกันแน่นเป็นพืด ดอกของมัน เป็นสีม่วงสดใส พอดอกหล่น ก็จะมีลูก รูปร่างเหมือนคนโท
ถ้าสุกก็จะแตกออก เห็นเนื้อใน สีม่วงแก่ กินได้ รสหวาน เด็กๆเก็บกินกัน ตามประสาซน
เดี๋ยวเดียว แลบลิ้นสีม่วง ให้ดูกัน
ลูกเหมลไม่อร่อยเท่าลูกนมแมว
แต่แถวนี้ไม่ค่อยมีนมแมวให้เก็บ เดินบ้างวิ่งบ้างต่อไปอีกสักพัก ก็ลงจากควน
เป็นบริเวณที่ราบ กว้างใหญ่ มีน้ำขังเป็นบึง อย่างที่เรียกเป็นภาษามลายูว่า ปือเจ๊าะห์ แต่ที่นี่ไม่ใช่เป็นแบบ พรุ ที่มีดินเป็นทราย และน้ำที่ขัง เป็นสีเหลือง แต่ปือเจาะห์ที่บือเลาะห์นี้
มีต้นสาคู และต้นหลุมพี ขึ้นหนาทึบ พ่อเคยเล่าว่า สัตว์ป่าชอบมาที่นี่ ตอนกลางคืน
โดยเฉพาะหมี มันมาหาลูก ส้มหลุมพี ที่หวานๆ กิน
"งั้นเราก็มาถึงบือเลาะห์แล้วซี" จำปาว่า เธอเป็นเด็กในอำเภอ ที่ฐานะและตระกูลดี ไม่เคยออกมา ตามป่าดงพงพีอย่างนี้
แม้จะอยู่ไม่ไกล จากตัวอำเภอนักก็ตาม
"ถึงแล้ว" น้อยบอก "แต่เราต้องคอยพวกพี่ก่อน เขาเดินกันช้าจังเลย
ทำไมก็ไม่รู้ เราไม่หยุดอยู่ตรงนี้หรอก เดี๋ยวเรา จะเข้าไป ในป่ากัน"
ท้องฟ้าเบื้องบนเป็นสีฟ้าจัด
เพราะไม่มีเมฆบัง และบริเวณตรงบึงนี้ ก็ไม่มีต้นยาง บังแดดด้วย พอพวกรุ่นพี่มาถึง
ก็นำขบวนน้อง เข้าไปในป่าทางขวา พากันเดินสูง ขึ้นควนอีกลูกหนึ่ง ที่ห่างบึงน้ำ
"พี่แมะ
เดี๋ยวก่อน เราจะไม่ไปหาส้มหลุมพีกันเหรอ?" น้อยถาม
"ไม่หรอก" พี่แมะตอบสั้นๆแบบหัวหน้าสั่ง
"ทำไมล่ะ
ก็น้อยสัญญาไว้กับมามุแล้วว่า จะเอาไปฝาก" น้อยต่อว่า เพื่อนๆเริ่มเคลื่อนเข้าหากลุ่ม
แบบรุ่นใครรุ่นมัน กลุ่มน้อยนั้น หวังจะได้ รับประทาน ส้มหลุมพี ที่เหลือจากหมี
กันมาตั้งแต่ต้น
"ใครจะลงไปเอาได้
น้ำก็ลึก แล้วตัวเอง จะไปหาที่ต้นไหน ไอ้ที่ว่าหมีมันมากินไว้น่ะ จะตัดมาได้ยังไง?" พี่แมะพูดดุๆ ตาก็ดุด้วย
"ก็ทีแขกยังเอาไปให้เรากินได้เลย
น้อยเอาลูกขวานมาด้วยแล้ว นี่ไง" น้อยยังยืนยัน พร้อมทั้งอวดขวาน
เล่มเล็กที่เหน็บไว้ ตรงสะเอว
"ถ้างั้นตัวเอง
ก็ลงไปเอาซี พวกเธอเป็นพยานให้ฉันด้วยนะ ถ้าแม่ฉันว่า ไอ้น้อยมันจะลงไปเอง
ชั้นห้ามแล้ว มันไม่เชื่อ คอยดู เกิดลงไปเจอะไอ้โขง ในป่าหลุมพี แบบที่ฉันโดนเข้า
ในป่าสาคู ฉันไม่รู้ด้วย เราไปกันเหอะ" ่ว่าแล้วพี่แมะก็ออกนำขบวน
รุ่นเขา ออกจากตรงนั้น
ไอ้โขง! ใช่แล้ว ไอ้โขง! น้อยกับพี่แมะเคยวิ่งหนีกันป่าราบมาแล้ว!
โดนเข้าไม้นี้ น้อยกับพวกก็รีบจ้ำตามรุ่นพี่ขึ้นควนอย่างว่าง่าย
เธอรู้สึกเสียหน้า อยู่ครามครัน จึงทำเป็นหันไปบุ้ยใบ้ กับเพื่อนว่า
"ไม่เห็นเป็นไร ไม่ได้กินส้มหลุมพีเดี๋ยวเราก็ได้กินอย่างอื่น"
หน้าร้อนอย่างนี้ ป่ายางไม่ทึบ ใบยาง
ลูกยางทิ้งขั้วหล่นลงสู่พื้นดิน จนสูงท่วมหลังเท้า ต้องเดินลุยกันไป เสียงสวบสาบๆ
ใบยางทับถม รอวันฝนตกลงมา ในหน้าฝน มันจะเปื่อยยุ่ย ลงไปเป็นปุ๋ยอย่างดีที่สุด
ให้ลำต้นเก่าของมัน ได้ดูดขึ้นไป เป็นอาหารอีก เด็กๆ มองเห็นอะไร สีแสด สดใส
ระบายแทรกอยู่ ตามใบยาง สีน้ำตาลคล้ำ
"พ่อบอกว่า
เขาเรียกว่าเห็ดชานหมาก" น้อยบอกเพื่อนๆ
"สีมันสวยจังเลย
กินได้ไหมเธอ?" จริยาลูกสาวหมอจรูญถาม
"เห็นเขาว่ากินได้
หวานด้วย แต่ไม่เห็นแขกกินกัน พ่อฉันเลยบอกว่า อย่ากินดีกว่า คนที่นี่เขาต้องรู้ดีกว่าเราแน่" น้อยอธิบาย เพื่อน ก่อนที่จะละ จากเห็ดสดสวย ไปยังลูกไม้ป่า
สีชมพู และแดง ที่ขึ้นอยู่ตามต้น เป็นพุ่ม
"นี่ฉันรู้จักดี
ทางละฮาร์ (ละหาน) ข้างบ้านฉันก็มี เขาเรียกลูกตาเป็ดตาไก่" มณีพรรณว่า
ลูกตาเป็ดตาไก่นี้ เวลาที่มันยังอ่อนอยู่จะมีสีขาว
พอเริ่มแก่ก็เปลี่ยนเป็นสีชมพู ที่แก่จัดจะมีรสหวาน รับประทานอร่อย สีจะเป็น
สีแดงก่ำ เด็กๆ วิ่งไปตามพุ่มโน้น พุ่มนี้ พอเก็บที่แดงได้เม็ดหนึ่ง ก็ใส่ปากเสียทีหนึ่ง
มีต้นตาเป็ดตาไก่นี้มากมาย ให้เก็บกัน เท่าไร ก็ได้ ไม่มีใครห้าม เป็นไม้ที่ขึ้นเอง
ตามธรรมชาติ ในป่ายาง
ยังมีผลไม้ป่าอีกชนิดหนึ่ง
ที่ทั้งสวยน่ารัก รสก็หวานหอมอร่อยกว่าลูกตาเป็ดตาไก่ไปเสียอีก เรียกว่า ลูกโทะ รูปร่างของมัน เหมือนกระโถน หรือเหมือนคนโท ขนาดจิ๋ว เวลาสุก
จะมีสีม่วง ผิวเหลือบนุ่มนิ่ม ชวนรับประทานเป็นที่สุด น้อยชอบลูกโทะนี้มาก
ข้างบ้านก็พอมี แต่มักไม่ทันมามุ ที่ชอบเก็บผลอ่อน ที่ยังแข็ง มาทำเป็นกระสุน
ไม้ซางเล่น ที่ป่าบือเลาะห์นี้ มันขึ้นเบียดกันแน่น เด็กๆ ต่างเก็บ รับประทานกัน
ตามสบาย น้อยนั้น รับประทานไปพลาง เก็บใส่ซูเป๊ะไปพลาง จะเอาไปฝากมามุ แทนส้มหลุมพี
เหลือหมีกิน รับประทาน ผลไม้ธรรมชาติ ที่แสนสะอาดกัน จนเต็มที่แล้ว ก็มาถึงยอดควน
มีรอยเท้าคนเดิน เป็นเส้นทางเล็กๆ คดเคี้ยวไป ตามโคนยาง นี่คือเส้นทาง ไปสู่หมู่บ้าน
คนไทย บือเลาะห์
คนไทยกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีความเป็นอยู่และภาษาที่แปลกไปจากคนไทยปักษ์ใต้ทั้งมวล
พ่อสนใจพวกเขามาก เขาพูดเสียง แปลกจริงๆ คำที่ใช้ก็แปลก ชนิดที่เมื่อมาอยู่
ที่แว้งใหม่ๆ ครอบครัวน้อย ฟังเขาไม่เข้าใจเอาเลย พวกเขา ไม่ไปเรียนหนังสือ
ในอำเภอ เขาเรียนกันเอง ในหมู่พวกเขา พวกเขาเป็นชาวพุทธ ที่เคร่งศาสนา เขานับวันเดือนปี
โดยมีปฏิทิน จันทรคติของเขาเอง ถึงวันสำคัญ ทางศาสนา เขาจะแต่งตัว สะอาดสะอ้าน
เดินทูนของถวายพระเป็นแถว ไปวัดในอำเภอ ซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้าน ของเขามากมาย
โดยที่วัด ไม่มีพระอยู่เลย แม้แต่รูปเดียว คนในตัวอำเภอ ยังไม่ทราบด้วยซ้ำไป
ว่าเป็นวัน "เพ็งเดือนสาม" หรือ "เพ็งเดือนหก" พวกเขาจะไป
รวมกันที่นั่น ผู้เฒ่าผู้แก่ จะนำลูกหลานสวดมนต์
ไม่มีใครบอกได้ว่า พวกเขามาจากไหน
แต่ดั้งเดิม เหตุใดจึงมาอยู่ใ นหุบเขาลึกที่นี่ เป็นกลุ่มๆ และทำไม เขาถึงพูดสำเนียง
ที่ไม่เหมือน คนจังหวัดไหนเลย ทั้งภาคนี้
"พวกสูมาไส
(พวกเธอมาทำไม)?" เสียงทักทายดังมา "มาเหม่อหรือ
นางน่อย (มาเมื่อไร นางน้อย?)"
อ๋อ! เจ้าดีนั่นเอง น้อยรู้จักทุกคน
ในหมู่บ้านบือเลาะห์นี้ เพราะเขาจะเอายางไปขาย ที่บ้านของเธอ อยู่เป็นประจำ
คำว่า "นาย" ที่นี่เขาจะว่า "เจ้า" และสำหรับผู้หญิง
ก็จะเรียก "นาง"
"มาเถี่ยวหยา(มาเที่ยวเท่านั้นเอง)" น้อยตอบด้วยสำเนียงบือเลาะห์ เช่นกัน "มาแรกกะเด๊นิ
(มาเมื่อสักครู่นี้เอง)"
"มากินข่าวก๊อน
ร่อนนี กลดก็หาไม่ (มากินข้าวก่อน ร้อนอย่างนี้ ร่มก็ไม่เอามาด้วย)" เจ้าดีผู้อารีชวน แบบฉบับคนไทยแท้ แต่โบราณ เด็กๆ กล่าวขอบคุณ พร้อมกับบอกว่า
จะรับประทาน ข้าวห่อกัน เสร็จแล้ว จึงจะไปขอน้ำดื่ม
ทุกคนต่างนั่งลงบนพื้นดิน
ที่คลุมหนา ด้วยใบยาง เปิดห่อข้าว ของแต่ละคน ออกวางตรงกลาง แล้วนั่งล้อมเป็นวง
วงรุ่นเด็ก วงหนึ่ง รุ่นพี่วงหนึ่ง อาหารที่เอามา คนละอย่าง พอมาวางรวมกันเข้า
ก็กลายเป็นอาหาร นานาชนิด ดูร่ำรวยดีแท้ ไม่มีใคร หวงขอ ต่างร้องบอก ให้เพื่อนๆ
หยิบกับข้าว ในห่อของตน ไปรับประทาน เพราะแม่หามาให้อย่างวิเศษ ตามประสาบ้านป่า
ถึงจะมีน้ำพริก ซ้ำกันบ้าง ก็เป็นน้ำพริก แบบไทยบ้าง น้ำพริกซามา แบบแขกบ้าง
ร่วมกันรับประทานกันอย่างเอร็ดอร่อยและสนุกสนาน
จนหมดเกลี้ยงทุกห่อแล้ว ก็พากันเดินไปในหมู่บ้าน เพื่อดื่มน้ำ ผ่านบ้าน เจ้าดำ
เจ้าเสาร์ เจ้าสุข ต่างก็ร้องเรียกให้ขึ้นบ้าน ที่บ้านเจ้าดี เด็กๆ ได้ดื่มน้ำมะพร้าว
และตักเนื้อมะพร้าวหวานๆ ลื่นๆ ที่เจ้าของ ผ่าให้ ผลแล้วผลเล่า จนอิ่มแปล้
ตามๆ กัน
ลูกหลานของเจ้าดี พาเด็กๆ
ในอำเภอ ไปเที่ยวในสวน ไปดูแม่ ยาย และเพื่อนบ้าน กำลังสีข้าว ด้วยเครื่องสีข้าวพื้นบ้าน
ที่ตำด้วย ครกกระเดื่อง อยู่ก็มี ที่กำลังร่อน และฝัดก็มี เด็กๆ ที่ทำเป็น
ก็ร่วมทำด้วย สักพักใหญ่ จึงบอกลาเจ้าของบ้าน เพื่อเดินทางกลับ
รุ่นพี่ และรุ่นน้อง ต่างชวนกันเก็บกิ่งไม้ยางที่แห้งหัก
ตกลงมาจากต้น เมื่อได้พอเหมาะ กับกำลังแล้ว ก็ช่วยมัด ด้วยเถาวัลย์ เส้นเล็กแต่เหนียว
ที่ขึ้นพันต้นไม้ อยู่มากมาย เถาวัลย์นั้น เรียกกันว่าย่านเพา มัดเสร็จ ก็ถึงคราวทดลอง
ทูนฟืนบนหัว แบบที่แขก ผู้หญิง ที่แว้งเขาทำกัน ขั้นต้น ก็เอาผ้าคลุมศีรษะผืนยาว
ม้วนเข้าเป็นวง ไม่ให้แน่นหรือหลวมนัก จากนั้น คนที่จะทูน ก็นั่งลง วางวงผ้านั้น
แหมะลงบนหัว รุ่นน้องสองคน ช่วยกันยกมัดฟืน ที่ยาวราว ๒ วา วางให้บนวงผ้า
คนทูน จะต้องเก่งพอตัว ค่อยๆลุกขึ้นยืน โดยใช้มือข้างเดียว หรือทั้งสองข้างก็ได้
ถ้ายังไม่เก่ง จับมัดฟืนไว้ แล้วจึงออกเดิน
รุ่นพี่ที่เป็นแขก และเคยทูนของมาแล้ว
ออกเดินได้เลย ซ้ำไม่ต้องใช้มือจับ เพียงแต่แกว่งแขน ช่วยดุลมัดฟืนให้ตรง
ไม่หล่น ลงมาเสีย
ถึงตาพี่แมะแล้ว! น้อยกลั้นหัวเราะ
เมื่อเห็นพี่สาว เม้มปากแน่น เหงื่อไหลออกมาเต็มหน้า สงสัยพี่แมะคงคิดว่า
คนอื่น เขาทำได้ ถ้าตัวทำไม่ได้ ก็อายเขา และที่สุด พี่แมะก็ทำได้จริงๆ ซ้ำนวยนาดแขนอย่างแขก
ให้ดูเสียด้วยซี!!
อากาศตอนบ่ายร้อนจัด ต้องชวนกันเดินริมถนน
ติดชายป่าเข้าไว้ เพื่ออาศัยเงาไม้ เสียงหัวเราะ หยอกล้อ ลดลงกว่าขามา แต่ก็ยัง
สนุกสนาน อยู่นั่นเอง กว่าจะถึงบ้าน ก็ต้องหยุดหลายครั้ง เพราะรุ่นพี่ ทั้งเมื่อยทั้งหนัก
มัดฟืน ที่ตอนแรกดูว่าเล็ก กลับหนักขึ้น พร้อมกับระยะทาง ที่เมื่อขามาดูใกล้
แล้วมาไกลแสนไกล ในขากลับ
การเที่ยวที่ตลอดชีวิตนี้
น้อยจะไม่มีวันลืม สิ้นสุดลง เมื่อขบวนเดินมาถึงบ้าน พ่อ แม่ โต๊ะซารี และมามุ
คอยอยู่หน้าบ้าน เมื่อขบวนเด็ก มาถึง แม่บอกให้ทุกคนหยุด เพื่อดื่มน้ำ และรับประทานขนม
ที่เตรียมไว้ให้ มามุค่อยๆ เลื่อนตัวเข้ามาหาน้อย อย่างอิจฉานิดๆ ถามว่า "สนุกมากไหม
น้อย ฉันคนเดียวไม่ได้ไป ไหนล่ะ ส้มหลุมพีเหลือจากหมี?"
"มามุ
ฉันมีของมาฝากเธอด้วยหละ นี่ไง ลูกโทะ ลูกตาเป็ดตาไก่ เยอะแยะเลย" น้อยตอบไม่ตรงกับที่เพื่อนรักถาม สายตามามุ เปลี่ยนไป เป็นดีใจทันที ที่ได้ของฝาก
"เดี๋ยวพอเธอหายเหนื่อยแล้ว
เราไปเล่นน้ำคลองกันนะ"
"ตกลง" น้อยตอบ "ฉันก็อยากไปเล่นน้ำ เย็นๆ ร้อนจะตาย"
เขียนที่บ้านซอยไสวสุวรรณ
เสร็จเวลา ๑๓.๓๐ น. ๒๕ พ.ย.๔๔
1 เป็นคำใช้เรียกผู้ทรงคุณวุฒิในศาสนาอิสลาม
2 เมาะโยง คล้ายลิเก และดีเกคล้ายลำตัด ส่วนบานอกึจิ๊เป็นกลองเล็ก
มักทำด้วยผลมะพร้าว ที่เอาเนื้อ และน้ำออกแล้ว ขึงปากด้วยแผ่นยาง หรือแผ่นหนัง
ใช้ไม้ตี
3 ภาษามลายูกลางเรียก ว่ายังกูลิต มีลักษณะ
และขนาดเท่าหนังตะลุงของไทย
4 แปลว่า คนเชิดหนัง ภาษามลายูกลางเรียก คาหลัง
ซึ่งตรงกับในพระราชนิพนธ์อิเหนา
5 เป็นคำที่มุสลิมตอนเหนือของมาเลเซีย และตอนใต้ของประเทศไทย
ใช้เรียกการถือบวช หรือ รอมอฎอน
6 เข้าใจว่าผลไม้ในตระกูลปาล์มชนิดนี้ มาจากภาษามลายูว่า
กะลูบี มีรสเปรี้ยวจัด ใช้เนื้อใส่น้ำพริก หรือบูดู หรือไม่ก็ดองเป็นของกินเล่น
(เราคิดอะไร
ฉบับ ๑๓๗ ธันวาคม ๒๕๔๔) |