เราคิดอะไร.

ชีวิตนี้มีปัญหา (๒) สมณะโพธิรักษ์


(ต่อจากฉบับที่ ๑๓๗)
เรื่องอย่างนี้ที่พากันหลงติดหลงยึด กันไปกับ"ผล"พลอยได้พวกนี้ เห็นเป็นเรื่องวิเศษ ก็หลง กันอยู่เต็มบ้าน เต็มเมือง เป็นเรื่อง หลงยึด หลงติดกันไป เสียเวลาเป็นชาติแล้วชาติเล่า กันมานานแสนนานแล้ว

การปฏิบัติธรรมแบบพุทธนั้น ไม่ใช่ไป"สร้างภพ-สร้างชาติ"ขึ้นมาอีก แต่ "ล้างภพ-จบชาติ" กันต่างหาก จึงจะถึงความเป็น "อนัตตา" ได้จริง ตามที่ได้อธิบายมา ยืดยาวนั่นแหละ ต้องตรวจสอบให้ดี ทั้งสภาพ ที่ได้ "ผล" จริงนั้นๆ ว่าตรงตาม "ปฏิจจสมุปบาท" ทั้งสาย "อนุโลม" (หมุนไปตามลำดับปกติ) และสาย "ปฏิโลม" (หมุนทวนกลับทิศ) ทวนไปทวนมา อย่างละเอียดเป็น "ปริวัฏฏ์" ว่า ได้ "ดับชาติ-ดับภพ-ดับอุปาทาน-ดับตัณหา-ดับเวทนา ในเวทนา"

ซึ่งเป็นความลึกซึ้ง ซับซ้อนของ "การดับเวทนา" ในเวทนาอีกที กระทั่งสามารถ "ทำใจในใจได้ อย่างแยบคายถ่องแท้" (โยนิโส มนสิการ) จนดับ "ตัวตน" หรือที่สำคัญคือ ได้ "ดับเหตุที่ทำให้เกิดตัวตน" นั้นๆ ชนิดแม่นมั่น คั้นตายกันจริงหรือไม่ ซึ่งมี ความลึกซึ้ง "เชิงซ้อน" อยู่ในการ "หมุน" ทวนไปทวนมา ทั้งในทิศตามและทิศทวนนั้นๆ

การ "หมุน" รอบแล้วรอบเล่า ที่มี "เชิงซ้อน" เช่นนี้ เรียกว่า "สภาพหมุนรอบเชิงซ้อน" หรือ "ปริวัฏฏ์" ที่มีความเป็น "ปฏินิสสัคคะ" (ย้อนกลับ, สลัดคืน, สัจจะย้อนสภาพ) สอดซ้อน สลับไปสลับมา ย้อนไปย้อนมา ดูเหมือนมัน "ย้อนแย้ง" กลับไปกลับมา อยู่ในที แต่ไม่ใช่ การกลับกลอก หลอกลวง

"ปฏินิสสัคคะ" ขั้นสูงนี้จึงเป็น "สัจจะย้อนสภาพ" ซึ่งออกจะดูยาก สำหรับผู้ภูมิยังไม่ถึง ว่า นี่คือ "สภาพหมุนรอบเชิงซ้อน ที่ย้อนไป ย้อนมา ทว่าสูงขึ้น" อย่างเป็นระบบ ไม่ใช่ "ย้อนกลับไปลงสู่ต่ำ" ที่เป็นการเวียนกลับ ของความเสื่อม หรือตกต่ำ แต่ทวนย้อน ที่เป็นรอบสูงขึ้น

สำหรับ "อาริยสัจ ๔" ก็เป็น "ปฏินิสสัคคะ ด้วยปริวัฏฏ์ ๓" คือหมุนรอบเชิงซ้อน แล้วๆเล่าๆ จนเห็นแจ้ง ครบทั้ง "สัจจญาณ" (ความรอบรู้ในสัจจะ) ทั้ง "กิจญาณ" (ความรอบรู้ ในการ ปฏิบัติ ที่ได้กระทำจริง) ทั้ง "กตญาณ" (ความรอบรู้ ในผลที่เสร็จลง แต่ละครั้งคราแล้ว ก็สมบูรณ์ขึ้น จนมั่นคงมั่นใจ เที่ยงแท้เป็นที่สุด) ผู้ที่รู้จัก "สัจจะ" (อาริยสัจ) และได้ปฏิบัติ จนเกิด "สัจจญาณ" จากการปฏิบัติ ก็จะเพิ่มพูนการปฏิบัติ อันเป็น "กิจ" ที่จะต้องทำ ให้เจริญ พัฒนายิ่งๆขึ้น ในขณะปฏิบัติ ก็มี "ญาณ" ตรวจ "กิจ" ที่ตนทำ ไปตลอด ไม่งมงาย และไม่ให้ผิดพลาด จึงชื่อว่า มี "กิจญาณ" ในการปฏิบัติ ต่อเมื่อ "เสร็จแล้ว, จบกิจ" ก็มีภูมิ รู้แจ้งของตนเองชัดเจน ว่า "จบจริง" อย่างมีหลักฐานเพียงพอ ที่จะมั่นใจ เพราะ มั่นคง, ยั่งยืน, เที่ยงแท้ ฯลฯ ดังได้อธิบายมาแล้ว นั่นคือ มี "กตญาณ" สมบูรณ์

ผู้มี "กตญาณ" สมบูรณ์แข็งแรงมั่นคงแล้วจริง สามารถ "ย้อนกลับ" หรือ "กลับคืน" ไปมี ไปเป็น ร่วมกับ หรือเหมือนกับ คนผู้ที่ยังมีพฤติกรรม ปุถุชนสามัญได้ ชนิด "ไม่เป็นทาส โลกียภาวะนั้นๆ" ด้วยใจที่บริสุทธิ์จริง เรียกว่า "ปฏินิสสัคคะ" หรือ "สัจจะย้อนสภาพ"

เช่น กลับไปทำ ในสิ่งที่เคยละ เคยเลิกมาแล้ว เป็นต้น แต่การย้อนกลับไปทำ คราวนี้ มันไม่ใช่ "กลับกลอก" หรือ "กลับไปทำ" เพราะตนตกต่ำ ตนทำเพราะโลภ ประโยชน์ตน ตนทำเพราะ จะได้เสพ อารมณ์โลกียสุข ในการทำนั้น จะเป็นเช่นนั้นหามิได้ ท่านผู้นี้ "ทำ" เพราะประโยชน์ผู้อื่น หรือแม้จะเป็น ประโยชน์ตน ก็เป็นสัจจกรรม อันย่อมได้ย่อมเป็นไป ตามสัจจะเท่านั้น ซึ่ง เป็น "ผลพลอยได้" จากการก่อประโยชน์ เพื่อผู้อื่นแท้จริง เป็นเอก และ ท่านจะมีภูมิพอจริงๆ ที่จะรู้ชัดในการ "ทำ" นั้นๆว่า หากตนจะมี "ผลพลอยได้" ไปด้วย ซึ่งเป็น ความเจริญ บารมีสูงขึ้นนั้น ที่สุดแล้ว ต้องไม่ใช่ประโยชน์ที่จะ "ย้อนผลมาบำเรอตน" เป็นอันขาด

ท่าน "หมดความอยาก-สิ้นความเสพ" แล้วจริงๆ

"ปฏินิสสัคคะ" แท้นั้น จึงมิใช่ตน "ทำ" เช่นนั้น เพราะหลอกคนอื่น เพื่อแอบแฝง เสพสม ให้แก่กิเลสตนเอง หรือเพราะผู้นั้น ยังไม่มีภูมิธรรม จนถึงขั้นรู้แจ้ง "ความจริง" นั้นๆด้วย "ญาณ" ของตนอย่างเพียงพอ เป็นแน่แท้

"ปฏินิสสัคคะ" นั้นเป็นคุณธรรม ขั้นปลาย ซึ่งผู้มีปฏินิสสัคคะ "ทำ" เพื่อประโยชน์ผู้อื่น ที่ยิ่งๆ ขึ้น สู่รอบกว้าง หรือนัยลึกซึ้งขึ้น เป็นการขยายผล

จะมิใช่ "ทำ" เพื่อหลอกใครๆ เป็นอันขาด

สภาพดังกล่าวนี้ ต้องเป็นเรื่องของ "ญาณ" อันแท้จริงของคนจริง ซึ่งมันเป็น "ช่องทาง" ที่คนเลว จะใช้เป็นเชิงชั้น "หลอกลวง" ผู้อื่นได้ หากผู้นั้น ไม่ใช่ผู้ปฏิบัติที่ "ซื่อสัตย์" ต่อการ ปฏิบัติจริง หรือมี "ผลธรรม" ในการปฏิบัติจริง

สภาพดังกล่าวนี้ ต้องเป็นเรื่องของ "ญาณ" อันแท้ จริงของคนจริง ซึ่งมันเป็น "ช่องทาง" ที่คนเลวจะใช้เป็นเชิงชั้น "หลอกลวง" ผู้อื่นได้ หากผู้นั้นไม่ใช่ผู้ปฏิบัติท ี่"ซื่อสัตย์" ต่อการ ปฏิบัติจริง หรือมี "ผลธรรม" ในการปฏิบัติจริง

[มีต่อฉบับหน้า]

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๓๘ มกราคม ๒๕๔๕)