คำกรองกรองคำ
ไฟ
หากแม้ไฟ
ไหม้ฟาง อยู่กลางทุ่ง
ไฟจะมุ่ง โหมแรง ไปทางไหน
ตามทิศทาง ที่ลม โหมแรงไฟ
แล้วจะสร้าง ประโยชน์ใด ให้กับดิน
ไฟที่ไหม้ ขุนเขา ในราวป่า
ย่อมเปล่าค่า กลับสร้างทุกข์ ควรถวิล
เมื่อสัตว์ป่า นั้นมีป่า ไว้หากิน
เผาชีวิน ผลาญพร่า ทรัพยากร
ไฟเผา ที่โชติแดง ด้วยแรงระเบิด
ไฟก่อเกิด สงคราม ไม่หยุดหย่อน
เลือดสีแดง จะโลมหล้า อย่างถาวร
สันติภาพ ภราดร จะนอนตาย
หากจุดไฟ ในคืน ที่มืดมิด
คงวิจิตร เฉิดแสง ร่อนแรงฉาย
ค่อยค่อยส่อง กระจ่างหล้า อย่างท้าทาย
จุดประกาย ไม่วายมอด ตลอดคืน
ส่องความมืด ที่ยืดยาว และหนาวหนัก
ให้คนอุ่น ละมุนรัก แห่งดาวดื่น
จวบจนแสง ตะวันทาบ ทออาบพื้น
จึงมอดดวง เพื่อปวงอื่น ตื่นอีกครา
ไฟสมดุล เอื้ออุ่นนี้ มีน้อยนัก
เป็นแสงไฟ แห่งรัก ในราวป่า
ส่องโชติช่วง ห่มดวงใจ ให้ประชา
ไฟศรัทธา จุดแรงไฟ ไฟใฝ่ธรรม
ม.๕ สัมมาสิกขาปฐมอโศก
วันรู้ค่า
สำนึกคุณจำต้องลา เพื่อค้นหาความเป็นจริง
อยากรู้แจ้งทุกสิ่ง จึงต้องเพียรอ่านเขียนไป
เหน็ดเหนื่อยลูกยอมทน จะฝึกฝนอย่างตั้งใจ
รักษาศีลวินัย ปัญญาได้เพิ่มทวี
จะทุกข์สุขแค่ไหน ยากอย่างไรไม่ถอยหนี
นำมาซึ่งความดี มอบบิดรและมารดา
ตั้งจิตอธิษฐาน ดวงวิญญาณมอบพุทธา
ให้โลกได้รู้ค่า คุณสัมมาอยู่นิรันดร์
ธารธรรม
ถ้าสิ้นลายเสือ
เอกลักษณ์สมศักดิ์ศรีเรามีชาติ
เลิศศิลป์ศาสตร์อารยชนสยาม
โลกเลื่องลือลายสือไทยวิไลนาม
พ่อขุนรามทรงประดิษฐ์พิชญ์ราชัน
อักษร ก ถึง ฮ ก่อเกิดศัพท์
สระรับสะกดร้อยเรียงถ้อยสรร
เสนาะเสียงสำเนียงหวานสื่อสารกัน
พจน์ผูกพันมิตรภาพทราบเผ่าพงศ์
ยุคกระแสนิยมนอกลางบอกเหตุ
ลืมประเทศลืมภาษาถ้าราษฎร์หลง
หากสยามตามต่างชาติขาดมั่นคง
เชิญไตรรงค์จักบรรเลงด้วยเพลงใด
เสียงศิลาจารึกสะอึกสะอื้น
ศัพท์ขมขื่นเมื่อลูกหลานมิขานไข
สุภาษิตคำพังเพยละเลยไป
ถ้อยคำไทยใช้แสลงแปลงสำนวน
สิ้นลายสือคือสังคมล่มสัญชาติ
อรรถอุบาทว์อาจอุบัติรัฐปั่นป่วน
วรรณกรรมเคยล้ำค่าน้ำตาครวญ
วรรณคดีถูกตีตรวนล้วนโศกตรม
มนต์จำหลักอักขระประวัติศาสตร์
ชนทั้งชาติควรรักษ์ไว้ใช้เหมาะสม
หยุดขบถวัฒนธรรมค้ำสังคม
โลกชื่นชมเลิศล้ำชื่อลายสือไทย
โกวิท บุญทวี
รู้รักสามัคคี
ผูกรักใต้ร่มพื้น ภูมิสยาม
รังสฤษฏ์ผืนโลกงาม สง่าพร้อม
เป็นน้ำหนึ่งเชิดนาม แห่งมนุษย์ นี้นอ
ตระหนักแผ่รักล้อม สถิตแท้โลมสถาน
ประสานสันติภาพด้วย ดวงใจ
จักเกิดวิกฤติใด ดับถ้วน
ร่วมพิทักษ์ประคองไทย พ้นเทวษ สิ้นแล
วิเศษสามัคคีล้วน สืบหล้าสมานฉันท์
สมบัติ ตั้งก่อเกียรติ
(เราคิดอะไร
ฉบับที่ ๑๓๘ มกราคม ๒๕๔๕) |