เราคิดอะไร.

จรรไร จรรยา เวทีความคิด... เสฏฐชน


เดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๔ ภาพยนตรืที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากมายในวงการบันเทิง มีอยู่ ๓ เรื่องคือ "สุริโยไท จันดารา - ๑๔ ตุลาฯ" ในแง่มุมต่างๆโดยเฉพาะเรื่อง "จันดารา" ซึ่งเป็นเรื่องพฤติกรรมคน ชาวบ้านที่สุด ไม่ได้มีอุดมการณ์ เนื้อหากว้างขวาง ระดับชาติ เหมือนกับอีกสองเรื่อง แต่มีผู้ออกมาร่วมแสดงข้อคิด ความเห็นผ่านคอลัมน์ ในหนังสือพิมพ์ รายการวิทยุต่างๆ มากมาย นับเป็นนิมิตดี ประการหนึ่ง ของนักอ่าน นักฟัง เพราะได้มีโอกาส ศึกษาความหลากหลาย แนวคิด ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออก ในเชิงของการ "ออกตัว" หรือ "ออกรับ" อย่าง "ออกหน้าออกตา" ล้วนเป็นการผลักดัน ให้เกิดอาหาร ทางปัญญาได้ทั้งสิ้น แม้จะต้องเสี่ยงกับอาหาร เป็นพิษบ้างก็ตาม ก็คงเป็นบทเรียน ให้ระมัดระวัง ในภายหลัง

ในที่นี้จะขอเขียนถึงในเชิงทัศนวิสัยที่ผู้เขียนเรื่อง จัน ดารา เอ่ยพาดพิงถึง ด้วยประโยคที่ว่า "พวกมือถือสาก ปากถือศีล" แม้ชีวิตประจำวันจริงๆ แล้วมือไม่ได้ถือสากมานานร่วม 30 ปีแล้ว และปากก็ถือศีลจริงด้วย เพราะดำรงชีวิต อยู่ด้วยอาหาร มังสวิรัติ ไม่ได้ประทุษร้าย สัตว์ใดๆ ด้วยมือ หรืออาวุธอื่นๆอีกเลย จะพูดจาก็ต้อง ระมัดระวังศีลข้อ ๔ แม้กระทั่งความคิด ก็ต้องรู้จักระงับ ไม่ตรึกไปในกาม ไม่ตรึกไปใน ความพยาบาท ไม่ตรึกไปในความเบียดเบียน เมื่อพลาดพลั้ง หรือถูกกล่าว ท้วงติง ก็ต้องสารภาพผิด ต่อหมู่พวก

เคยอ่าน เรื่องจัน ดารามาแล้ว ตั้งแต่ยังรับเงินเดือนของธนาคารอยู่ และได้มาอ่านเรื่องย่อ ในหนังสือพิมพ์อีกครั้ง ในระยะ ที่ถูกวิจารณ์ อย่างหนัก ติดต่อกันหลายวัน

ชื่อจัน ดารา มาจาก "จัญไร" ตามการผูกเรื่องของผู้ประพันธ์ "จัญไร" กับ "จรรยา" ต่างกันดั่งดินกับฟ้า ต่างกันดั่งนรก กับสวรรค์ ต่างกันดั่งผู้หลงโลก กับผู้เหนือโลก ถ้าแยกแยะเป็น แยกแยะถูก ก็จะพาให้ถึงนิพพาน โน่นเทียว

ธรรมเนียมไทยโบราณครั้งก่อน เพียงช่วงอายุของผู้เขียน ๕๐ ปีกว่าๆ ยังได้ผ่านสมัยศีลธรรม เจริญดีงามอยู่ แม้จะเปรียบดั่ง ปลายฝน ก่อนฝนจะทิ้งฟ้าแล้วก็ตาม ก็ยังอดดีใจไม่ได้ ว่าเรายังมีของจริง ยกขึ้นมาเท้าความถึง เป็นหลักฐานยืนยัน ให้คนน้อมใจ เชื่อได้บ้าง เพื่อที่จะสร้างกำลังใจ ในการทำสิ่งที่ดีๆ รักษาสิ่งที่บริสุทธิ์ไว้

ในยุคนั้น จะมีธรรมเนียมปฏิบัติเป็นหนึ่งเดียวกันว่า พฤติกรรมทางเพศทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นสื่อภาพ การพูดถึง การแสดงกิริยา ท่าทางใดๆ หากส่อแววไปในทาง สองแง่สองง่าม ปลุกหรือเร้า สัญชาตญาณทางเพศให้เกิดขึ้น เขาจะถือว่า เป็นความจัญไร หากใครพูดถึงเรื่อง ทำนองนี้ จะโดนตำหนิว่า เอาแต่เรื่องจัญไรมาพูด หากใครทำเรื่องเช่นนี้ อย่างเปิดเผย จะถูกติเตียนว่า ทำเรื่องจัญไร ใครมีนิสัยเจ้าชู้ มักมากในทางนี้ จะถูกกล่าวโจษว่า ชอบเรื่องจัญไร ใครมักคิดแต่เรื่องอย่างนี้ จะถูกรังเกียจว่า คิดแต่เรื่องจัญไร โดยไม่ยกเว้นว่า เป็นผู้ใหญ่ หรือเด็ก ยิ่งเป็นคนโตๆ ด้วยแล้ว ยิ่งจะต้องระวัง เป็นที่มาของคำพังเพยว่า "อย่าขี้ให้เด็กเห็น" นั่นเทียว

เพราะเรื่องเพศ เรื่องการสังวาสนั้น เป็นเรื่องต้องห้ามสำหรับคนสุภาพ ทั้งสุภาพสตรี และสุภาพบุรุษ แม้ทั้งสองเพศ ยังต้องทำ กิริยานี้ อยู่ก็ตาม แต่ก็ต้องมีมารยาท (จรรยา) ในการสนองกามตัณหาเหล่านี้ กำกับไว้ด้วย เช่น แม้แต่ถึงขั้น จะแต่งงาน เป็นคู่สามี ภรรยากันแล้ว ก็ต้องยังระมัดระวังตัว ซึ่งกันและกัน คู่หมั้นหมายกัน จะไม่มีสิทธิ์ อยู่ใกล้ชิด หรือ ไปไหนมาไหน สองต่อสองเลย แม้ส่งตัว เข้าหอแล้วด้วยซ้ำ ก็ยังต้องอดใจอีก ไว้เป็นอาทิตย์ก็มี

เห็นได้ว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะ "มักง่าย" ไม่ยกเว้นกระทั่ง ผู้ที่อาจจะมีนิสัย "มักมาก" ในกามอยู่ก็ตาม เรื่องในมุ้งในม่าน ในบ้านในเรือน ไม่พึงนำมาตีแผ่เปิดเผย แม้จะประสบกับปัญหา ในชีวิตคู่เพียงใด ก็ต้องอดกลั้นไว้ ต้องนำประโยค ที่กล่าวว่า "ปลูกเรือนผิด คิดจนเรือนทลาย มีคู่ผิด คิดจนกระทั่ง ใครคนหนึ่งคนใดตาย" ไปนั่นแหละ จึงต้องรอบคอบให้มาก อย่าเห็น เป็นเรื่องเล่นๆ ทำเล่นๆ เพราะกิจกรรมทางเพศ เป็น "นวัตกรรม" สร้างคน ไม่ใช่มุ่งเป้าตรงที่สังวาส แนวคิดในเชิงนี้ ทำให้ศาสนาพระเจ้า กำหนดโทษผู้กระทำร้าย ผลผลิตจากการสังวาส ว่าบาปอย่างยิ่ง

ในทางศาสนาพุทธ พระพุทธเจ้าตรัสว่า พฤติกรรมเสพเมถุนเป็นโทษ เป็นภัย เป็นทุกข์ คนควรละเว้นเสีย แม้จะมี ความจำเป็นว่า "กายนี้เกิดแล้วจากอาหาร บุคคลอาศัยนั้นแล้ว ละความยินดีในอาหารนั้นเสีย กายนี้เกิดแล้ว จากตัณหา บุคคลอาศัยตัณหา แล้วละตัณหานั้นเสีย กายนี้เกิดเพราะมานะ บุคคลอาศัยมานะ แล้วละมานะนั้นเสีย กายนี้เกิดจากเมถุน (เพศสัมพันธ์) บุคคลพึงละเมถุน ด้วยการชักสะพานเสีย" ย่อมยืนยันได้ว่า ทรงสั่งสอน ให้ตัดขาดจริงๆ ซึ่งเป็นคนละเรื่อง กันกับใครจะตัดได้ ตัดขาด หรือใครจะไม่ตัด หรือตัดไม่ขาด ถ้าอดไม่ไหวจริงๆ พระพุทธเจ้าก็อนุโลม ให้แค่ผัวเดียว เมียเดียว ซึ่งก็เป็นภาระ ทุกข์มากแล้ว ไม่ใช่ให้มากผัว มากเมียสำส่อน

ผู้ที่ตัดได้ขาดจริงๆ ก็มีสิทธิ์ยืนยันว่าดีจริงๆ เช่นเดียวกับผู้ที่ตัดไม่ได้ หรือตัดไม่ขาด ก็ย่อมจะยังยืนยัน ที่จะเสพพฤติกรรม เช่นนั้นจริงๆ ขณะเดียวกัน เราก็คงไม่ปฏิเสธ เรื่องของความสุภาพ ที่ควรเป็นแกนหลัก ในการก่อพฤติกรรม อย่างนี้ด้วย เหมือนบรรพบุรุษที่ดี ได้กระทำเป็นตัวอย่างมา เช่น ตอนเด็กๆ เราไม่เคยเห็น พ่อแม่เรา กระทำกิริยา พิศวาสกัน จนทำให้ เด็กรุ่นนั้น มักตั้งคำถามผู้ใหญ่ว่า "พ่อกับแม่เป็นอะไรกัน" หรือ "หนูเกิดมาจากทางไหน" แม้จะดูประหนึ่ง เป็นคนโง่ ในความรู้สึก ของคนรุ่น ๒๕๔๔ นี้ก็ตาม แต่คนสมัยนั้น ก็ครองคู่กันอย่างราบรื่น ปัญหาการหย่าร้าง ข่มขืนชำเรา ก่อคดี เรื่องเพศ สร้างความเดือดร้อน เรื่องเพศน้อย

การครองคู่ครองเรือน ในสมัยโน้นมีแกนนำสำคัญตรงที่ "ความรับผิดชอบ" การครองชีพ ภายในครอบครัว การผดุงคุณธรรม ชื่อเสียงที่ดีงาม ของวงศ์ตระกูล ไม่ใช่เรื่องของการ "เสพสมรส-เพศสมรส" เด็กๆ เยาวชน ก็ได้รับการถ่ายทอด ในเรื่องนี้ ให้เป็นผู้ใหญ่ ที่มีวุฒิภาวะ ทางอารมณ์สูงขึ้น ดีขึ้น ไม่ใช่ไปพุ่งเพ่ง ในเรื่องเมถุนกามเป็นใหญ่ แม้อาจจะมีผู้ชาย ที่มักมาก ในเรื่องนี้อยู่ ไม่น้อยก็ตาม ก็ยังมีกติกาทางศีลธรรม ตราไว้ด้วย คือ ต้องเลี้ยงดูภรรยา มากคนเหล่านั้น ให้ทั่วถึง ต้องรับภาระ ลูกเต้า เหล่านั้นทุกคน ไม่คิดแขวะ เรื่องน้อยเรื่องหลวง เรื่องเล็กเรื่องใหญ่ ทั้งเล็กและใหญ่ จะต้องวางตัว ให้เหมาะสม เล็กต้องเคารพใหญ่ ใหญ่ต้องเมตตาเล็ก คนกลางต้องไม่ลำเอียง และผู้ที่จะมี "มากบ้าน" ได้ ต้องมีฐานะดีเพียงพอ ไม่ใช่เรื่อง ที่จะเลียนแบบ เอาอย่างตามๆ กัน ให้คนเขาหัวเราะเยาะ คนกลางต้องเก่ง สามารถจริงๆ ที่จะทำมาหาเลี้ยงทั้ง "แม่-ลูก" ให้เจริญรุ่งเรือง ทำมาหากินเป็น มีนิสัยดีได้ ชาวบ้านเคารพนับถือ กล่าวขวัญถึง ครอบครัว อย่างยกย่อง เอาเป็นตัวอย่าง จนกระทั่ง บางคนได้รับเกียรติ ให้เป็นผู้รับ เจ้าบ่าวเจ้าสาวเข้าบ้าน กิริยาใด ที่ส่อไปในทางเพศ จะถูกเรียกว่า "นิสัย...หรี่" คนดีๆ ไม่พึงกระทำ ยิ่งเป็นผู้หญิงด้วยแล้ว จะถูกตัดไม้ข่มนาม ไว้มากทีเดียว จนกระทั่ง คนสมัยนี้ รู้สึกว่า ถูกจำกัด อิสระทางเพศ ส่วนผู้ชาย ก็จะถูกมองว่า เป็นเกย์ ทั้งๆ ที่เกย์ก็ไม่ได้ละเว้น เรื่องนี้เลย กลับจะทำผิด ยิ่งกว่าด้วยซ้ำ

ชีวิตคฤหัสถ์ต้องมี "ความสำรวมในกาม" อันเป็นบรรทัดฐานของสังคม ดังนั้น ความร่มเย็น เป็นปึกแผ่นมั่นคง และ ความราบรื่น เรียบงาม ในการครองเรือนจึงมีมาก เป็นเกียรติยศ เป็นศักดิ์ศรี เป็นความภาคภูมิ น่านิยมยินดี ไม่ละเว้น แม้แต่ ความต่างเพศ ระหว่างพี่ชาย น้องสาว พี่สาว น้องชาย พ่อกับลูกสาว แม่กับลูกชาย ขีดเส้นของศีลธรรม จะต้องตีกรอบ อยู่เสมอ เป็นเครื่องเตือนสติไว้ ไม่สมควรประมาท แต่ไม่รู้สึกว้าเหว่ หงอยเหงา อ้างว้างเดียวดาย กลับจะยิ่งกระชับ ความอบอุ่น มั่นใจ ปลอดภัย มั่นคงหนักแน่น ในความศักดิ์สิทธิ์ ของสถาบันครอบครัว สถาบันสังคมด้วยซ้ำ เพราะเชื่อได้ ในความนับถือ ที่มีต่อกันและกัน

กิจกามทางเพศเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับผู้ยังไม่ถึงวัยเจริญพันธุ์ ผู้ใหญ่จะตักเตือนไม่ให้อยากรู้อยากเห็น เพราะถึงจะไม่ได้เรียน "เพศศึกษา" อย่างที่คนใน พ.ศ.๒๕๔๔ นี้มีความเห็นว่า ควรสนับสนุนก็ตาม ฤทธิ์เดชของสัญชาตญาณ โดยธรรมชาติฝ่ายต่ำ ก็ยังทำหน้าที่ ของมันอยู่แล้ว ดังที่พระพุทธองค์ตรัส เรียกกิจกรรมพวกนี้ว่า เป็นธรรมสถุล เป็นเรื่องชั่วหยาบ เป็นมารยาท ของคนชั้นต่ำ ส่วนผู้ที่เป็นบัณฑิต จะเว้น ตัดขาด และชีวิตของผู้ที่ยังฝักใฝ่ในเรื่องนี้ เป็นชีวิตที่เศร้าหมอง ผู้ไม่ต้องไปทำ อาการอย่างนี้ เป็นผู้ประเสริฐ

"เมถุนสังโยค" เป็นเรื่องที่ต้องศึกษายิ่งกว่า "เมถุนธรรม" เพราะเป็นต้นทางของการสั่งสม หน่วยกิตให้ "กามารมณ์" เติบใหญ่ขึ้น จนกระทั่งวิปริต วิตถารสลับซับซ้อนต่างๆ นานา จนแทบจะพูด ภาษาคนไม่รู้เรื่อง ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ต้องเฉลียวฉลาด ในวี่แววของเรื่องเหล่านี้ ไม่ปล่อยกาย ปล่อยใจ ปล่อยความคิดให้เกิด รูปรอยของกลกาม ต้องหมั่น ฝึกฝนอ่าน เรียนรู้ แยกแยะ และสกัดกั้น สลัดออก ซึ่งความเกาะกุม ของมันให้ได้ เพียง "กำหนัด-ยินดี" เพลิดเพลิน เป็นสุข กับสัญลักษณ์ของมัน ก็ไม่สมควร พึงมองให้เป็น อสุภกรรมฐานว่า เนื้อหนังมังสา เป็นของเน่าเปื่อย และไม่เที่ยง มีความเสื่อม และความตายเป็นที่สุด

จากปฏิจฉันนสูตร กล่าวถึงสิ่งที่ปิดดี เปิดเผยไม่ดี 3 ประการคือ

1. มาตุคาม ปิดบังเอาไว้จึงจะงดงาม เปิดเผยไม่งดงาม
2. มนต์ของพราหมณ์ ปิดบังเข้าไว้จึงรุ่งเรือง เปิดเผยไม่รุ่งเรือง
3. มิจฉาทิฏฐิ ปิดบังเอาไว้จึงเจริญ เปิดเผยไม่เจริญ

เมื่อนำเอาพระสูตรบทนี้ มาเทียบเคียงกับการนำเสนอเรื่อง "จัน ดารา" ผู้อ่านก็คงจะพอมองเห็น ทิศทางชัดเจนขึ้นว่า เป็นเรื่องที่ สมควรเปิดเผยหรือไม่? และย่อมตอบได้เองว่า ผู้เห็นด้วยกับการให้นำ ออกมาฉาย เป็นทิฏฐิ เป็นจำพวกไหน?

ถ้าหากจะให้เหตุผลแก้เก้อ เพื่อสนองความอยากรู้ อยากเห็นลีลาการเล้าโลมสัมผัสจากตัวแสดง ในเรี่องว่าเป็น "ศิลปะ" ก็ยังไม่พ้นจาก "ศิลปะกลกาม" อยู่ดีนั่นแหละ ซึ่งเป็นวิธีคิดท่าปลุกเร้า เพื่อผลปลายทาง คือการสังวาส ก็ยิ่งจะเป็น เรื่องต้องห้าม ที่ประเพณีไทยเรา ไม่นิยมมาเปิดเผย เพราะกรรมกิริยาเช่นนั้น ควรทำในที่รโหฐาน (ที่เฉพาะส่วนตัว) ที่มิดชิดมุงบัง หาใช่ภาพ ที่สมควรตีแผ่ ออกมาสู่สาธารณชน

จริงอยู่ที่บางคนประชดประชันว่า ผู้ที่ตำหนิบทบาทตัวแสดง ไยดัดจริต รังเกียจ รังงอน ในการนำเสนออย่างนี้ ทั้งๆ ที่ตัวเอง ก็ทำกิริยานี้ ในชีวิตประจำวัน ไม่ต่างไปจากคน จำพวกเกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง ผู้สร้างไม่ได้มุ่งหมาย ให้คนดู ไปดูความลามก เว้นเสียแต่ผู้ดู คิดลามกไปเอง เรื่องจึงกลับกลายเป็น ความผิดตกอยู่กับ คนดูไปเต็มๆ ทั้งๆ ที่มีนักเขียน บางคนยอมรับ ตรงๆ ว่า หากไม่ดูบทสังวาส ก็ไม่รู้ว่า จะมีอะไรให้ดู จากเรื่องจัน ดารา

หรือจะมองในแง่ดีว่า เรื่องนี้สะท้อนภาพชีวิตคนที่มัวเมาในราคะ ตัณหาได้ชัดเจน จนกระทั่งส่งผลให้เกิดผลเสีย ต่อตัวเอง และคนอื่นๆ ทั้งครอบครัว เตือนสติให้คนเห็นโทษภัย ของผู้หมกมุ่น ในกามเมถุน เห็นความเลว ความต่ำของจิตใจ ที่ไม่ได้รับการอบรม ให้รู้ถึงคุณค่า ของพรหมจรรย์ ไม่มีจรรยาบรรณ ในการครองชีวิตคู่ ไร้จิตสำนึกที่ดี ในการเป็น ผู้นำครอบครัว ผลสุดท้าย ก็ต้องรับผลกรรมชั่วที่ตนก่อ หมดสมรรถภาพทางเพศ ที่จะแสวงหาโลกียสุข จากการเสียดสี เช่นเคย มิหนำซ้ำ ชีวิตยังต้องทุกข์ตรม หม่นไหม้ ตกอยู่ในแวดวง ของผู้ขาดตกบกพร่อง เสียจริต ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต บกพร่อง อันมาแต่ผลวิบากเลวเหล่านั้น

เมื่อนำข้อเปรียบเทียบ ระหว่างข้อดีกับข้อเสียมาประเมินดู ออกจะรู้สึกไม่สมดุลนัก ในสภาวะกาลยุคนี้ ซึ่งเป็นยุคที่ ความตกต่ำ เรื่องศีลธรรมของคน ค่อนข้างสูง ยืนยันข้อมูลนี้ได้จากสถิติ จากหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง กับการตรวจสอบ ความเป็นไป ของสังคม เช่น คนทำผิดทางเพศมากขึ้น ความวิปริตวิตถารทางเพศ ก็เพิ่มพูนขึ้น ความตื่นตัวทางเพศ ของเยาวชน รุนแรงขึ้น ดังที่เราได้รับทราบ จากรายงาน ข่าวสารต่างๆ ดังเช่น หนุ่มนักศึกษาวัย ๒๒ และสาววัย ๑๘ จอดรถในมุมมืด เสพสัมผัสกาม ตำรวจสงสัยไปส่องไฟดู ถึงกับตะลึง เมื่อเห็นสภาพไร้ผ้าผ่อน ของทั้งคู่ สั่งปรับโทษ ฐานทำอนาจาร ในที่สาธารณะ ๕๐๐ บาท

คำ "ละอาย" ดูเหมือนจะถูกลืมเลือนไปจากความทรงจำของคนเราทุกที ทำให้ทั้งผู้หญิง และ ผู้ชาย พูดถึงสิ่งที่ควรพูด ในที่เร้นลับอย่าง "ไม่ละอายปาก" โฆษณาชวนเชิญกันไปดู ในสิ่งที่ไม่สมควรดูอย่าง "ไม่ละอายตา" ที่สุดแห่งที่สุด อันยากสุดๆ ที่จะแก้ไข เพราะอาศัยการแก้ตัว อย่าง "ไม่ละอายใจ" นี่แหละคือ ช่องว่างที่ห่างไกล ระหว่างความ "จัญไร-กับจรรยา" ดังกล่าวแล้ว

หลักธรรมในพระพุทธศาสนากล่าวไว้ว่าสิ่งที่เสพไม่รู้จักอิ่ม 3 อย่างนั้นมีอยู่ คือ ความหลับหนึ่ง สุราเมรัยหนึ่ง เมถุนธรรม อีกหนึ่ง ฉะนั้นปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ไม่ได้ปฏิบัติเพื่อความละ หน่าย คลายกำหนัด ย่อมเสี่ยงต่อภัย ที่จะถูกอกุศลธรรม ลามกเหล่านี้ครอบงำ ทำให้ไปสู่ความเสื่อมอื่นๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นความเสื่อมโภคะ ความเสื่อมญาติ ความเสื่อมศีล และ ความเสื่อมของทิฏฐิ

ฉะนั้นใครที่มีความเห็นว่ากามเมถุนเป็นสุข เป็นสิ่งควรเสพ ผู้นั้นย่อมเห็นขัดแย้งกับหลักคำสอน ของพระศาสดา

ในเมื่อมันเป็นของร้อน มันเป็นทุกข์ มันเป็นของไม่เที่ยง สัญญาวิปลาส จิตวิปลาส ทิฏฐิวิปลาส ทำให้เข้าใจผิดว่า สิ่งที่ไม่เที่ยง นั้นเที่ยง สิ่งที่เป็นทุกข์นั้นเป็นสุข สิ่งที่ไม่ใช่ตนว่าเป็นตน สิ่งที่ไม่งามว่างาม (จากวิปัลลาสสูตร) เป็นความรับผิดชอบ ของสัตบุรุษ ที่ต้องชี้แจง เพื่อเตือนสติ ก่อปัญญา ให้เหล่าพุทธศาสนิกชน รับทราบ เพื่อผดุงไว้ ซึ่งจรรยาของมนุษย์

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๓๘ มกราคม ๒๕๔๔)