เราคิดอะไร.

กติกาเมือง ประคอง เตกฉัตร ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักงานศาลยุติธรรม
ช่วยทำงาน ในตำแหน่ง ผู้พิพากษา หัวหน้าศาลจังหวัด นครศรีธรรมราช


จริยธรรมผู้พิพากษา

เ ดิมมีเพียงธรรมเนียมปฏิบัติในการวางตัวของผู้พิพากษาที่ปฏิบัติติดต่อกันมาเท่านั้น สิ่งใดกระทำได้ สิ่งใดกระทำไม่ได้ เป็นธรรมเนียมปฏิบัติต่อๆ กันมา เพราะผู้พิพากษาในประเทศ มีเพียงจำนวนน้อย   ต่อมาจำนวนผู้พิพากษาได้เพิ่มขึ้น ธรรมเนียมปฏิบัติต่างๆ ที่เคยปฏิบัติกันมา บางอย่าง ก็มีการเปลี่ยนแปลง แก้ไข   เพราะการเปลี่ยนแปลง ของสังคมภายนอก ทำให้การปฏิบัติตัว ของผู้พิพากษา บางครั้ง มองดูแล้ว ไม่เหมาะสมบ้าง ที่ประชุมคณะกรรมการ ตุลาการครั้งที่ ๖/๒๕๒๗ เห็นว่า ผู้พิพากษาบางท่าน ประพฤติตนในบางสิ่งบางอย่าง ซึ่งที่ประชุมยังโต้เถียงกันอยู่ว่า การกระทำดังกล่าวนั้น เหมาะสมหรือไม่ เพราะยังไม่มีกฏเกณฑ์วางไว้ เป็นที่แน่นอน ที่ประชุมจึงมีความเห็นว่า น่าจะมีระเบียบ หรือคำแนะนำ หรือมีการวางแนวปฏิบัติไว้ ให้ผู้พิพากษาประพฤติ เพราะแม้จะมีวินัย อยู่ในกฎหมายว่า ด้วยระเบียบ ข้าราชการฝ่ายตุลาการ ก็เป็นเพียงกา รวางหลักเกณฑ์ไว้กว้างๆ บางเรื่องยังคลุมไปไม่ถึง และบางเรื่อง เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ที่ไม่ได้เขียนไว้ จึงตั้งคณะกรรมการ วางหลักเกณฑ์ เรียกว่า ประมวลจริยธรรม ข้าราชการตุลาการขึ้น ซึ่งในด้านจริยธรรม เกี่ยวกับกิจการอื่น และเกี่ยวการดำรงตน และครอบครัวนั้น ได้บัญญัติไว้ทั้งหมด ๑๖ ข้อ ซึ่งจะนำมาให้ดู ดังต่อไปนี้

๑. ผู้พิพากษาจักต้องไม่เป็นกรรมการ
ผู้จัดการ ที่ปรึกษาหรือดำรงตำแหน่งอื่นใด ในห้างหุ้นส่วน บริษัท ห้างร้าน หรือธุรกิจของเอกชน เว้นแต่เป็นกิจกรรม ที่มิได้แสวงหากำไร ผู้พิพากษาจักต้องไม่ประกอบอาชีพ หรือวิชาชีพ หรือกระทำกิจการใด อันจะกระทบกระเทือน ต่อการปฏิบัติหน้าที่ หรือเกียรติศักดิ์ ของผู้พิพากษา

๒. ในกรณีจำเป็นผู้พิพากษาอาจได้รับมอบหมายหรือแต่งตั้งจากหน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่น ของรัฐ ให้ปฏิบัติ หน้าที่อันเกี่ยวกับหน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานนั้นได้ ในเมื่อการปฏิบัติ หน้าที่ดังกล่าว ไม่กระทบกระเทือน ต่อการปฏิบัติหน้าที่ หรือเกียรติศักดิ์ ของผู้พิพากษา ทั้งจักต้อง ได้รับอนุญาต จากกระทรวงยุติธรรม แล้ว

การเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจ หรือกิจการอื่นของรัฐ ในทำนองเดียวกัน จักต้องได้รับอนุมัติจาก ก.ต.ด้วย

ผู้พิพากษา ไม่พึงแสดงปาฐกถา บรรยาย สอน หรือเข้าร่วมสัมมนา อภิปราย หรือแสดงความคิดเห็นใดๆ ต่อสาธารณชน ซึ่งอาจกระทบกระเทือน ต่อการปฏิบัติหน้าที่ หรือเกียรติศักดิ์ ของผู้พิพากษา

๓. ผู้พิพากษาไม่พึงเป็นกรรมการ สมาชิก หรือเจ้าหน้าที่ของสมาคม สโมสร ชมรม หรือ องค์การใดๆ หรือเข้าร่วม ในกิจการใด ๆ อันจะกระทบกระเทือน ต่อการปฏิบัติหน้าที่ หรือ เกียรติศักดิ์ ของผู้พิพากษา

๔. ผู้พิพากษาไม่พึงรับเป็นผู้จัดการมรดก ผู้จัดการทรัพย์สิน หรือผู้ปกครองทรัพย์ เว้นแต่เป็นกรณีที่ ตัวผู้พิพากษาเอง คู่สมรส ผู้บุพการี ผู้สืบสันดานของตน หรือญาติสืบสายโลหิต หรือเกี่ยวพัน ทางแต่งงาน ซึ่งผู้พิพากษา ถือเป็นญาติสนิท มีส่วนได้เสียในมรดก หรือทรัพย์นั้นโดยตรง

๕. ผู้พิพากษาไม่พึงรับเป็นอนุญาโตตุลาการ หรือผู้ประนอมข้อพิพาท

๗. ผู้พิพากษาจักต้องสนับสนุน การปกครองระบอบประชาธิปไตย ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นพระประมุขแห่งรัฐ

๘. ผู้พิพากษาจักต้องไม่เป็นกรรมการ สมาชิก หรือเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมือง หรือกลุ่มการเมือง และจักต้อง ไม่เข้าเป็น ตัวกระทำการ ร่วมกระทำการ สนับสนุน ในการโฆษณา หรือชักชวนใดๆ ในการ เลือกตั้ง สมาชิกรัฐสภา หรือผู้แทน ทางการเมืองอื่นใด ทั้งไม่พึงกระทำใดๆ อันเป็นการฝักฝ่ายการเมือง หรือกลุ่มการเมืองใด นอกจาก การใช้สิทธิ เลือกตั้ง

๙. ผู้พิพากษาจักต้องเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด อยู่ในกรอบของศีลธรรม และพึงมีความสันโดษ ครองตน อย่างเรียบง่าย สุภาพ สำรวมกิริยามารยาท มีอัธยาศัย ยึดถือจริยธรรม และประเพณีอันดีงาม ของตุลาการ ทั้งพึงวางตน ให้เป็นที่เชื่อถือ ศรัทธาของบุคคลทั่วไป

๑๐. ผู้พิพากษาพึงปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้นเป็นลำดับ และพึงขวนขวายศึกษาเพิ่มเติม ทั้งในวิชาชีพ ตุลาการ และ ความรู้รอบตัว ผู้พิพากษาจักต้อง ไม่ก้าวก่าย หรือแสวงหาประโยชน์ โดยมิชอบ จาการ ปฏิบัติหน้าที่ ของผู้พิพากษาอื่น

๑๑. ผู้พิพากษาจักต้องไม่ยินยอมให้บุคคลในครอบครัว ก้าวก่ายการปฏิบัติหน้าที่ของตน หรือ ของผู้อื่น และจักต้อง ไม่ยินยอมให้ผู้อื่น ใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตน แสวงหาประโยชน์ อันมิชอบ

๑๒. ผู้พิพากษาพึงยึดมั่นในระบบคุณธรรม และจักต้องไม่แสวงหาตำแหน่ง ความดีชอบ หรือประโยชน์อื่นใด โดยมิชอบ จากผู้บังคับบัญชา หรือ จากบุคคลอื่นใด

๑๓. ผู้พิพากษาจักต้องระมัดระวังมิให้การประกอบวิชาชีพ หรืออาชีพ หรือการงานอื่นใดของ คู่สมรส ญาติสนิท หรือบุคคล ซึ่งอยู่ในครัวเรือนของตน มีลักษณะเป็นการ กระทบกระเทือน ต่อการปฏิบัติหน้าที่ หรือเกียรติศักดิ์ ของผู้พิพากษา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านความเชื่อถือศรัทธา ของบุคคลทั่วไป ในการประสาทความยุติธรรม ของผู้พิพากษา

๑๔. ผู้พิพากษาและคู่สมรสจักต้องไม่รับทรัพย์สินหรือประโยชน์ใดๆ จากคู่ความ หรือจากบุคคลอื่นใด อันเกี่ยวเนื่อง กับการปฏิบัติหน้าที่ ของผู้พิพากษา และจักต้องดูแลให้บุคคลในครอบครัว ปฏิบัติเช่นเดียวกันด้วย

๑๕. ผู้พิพากษาและคู่สมรสจักต้องไม่รับของขวัญของกำนัล หรือประโยชน์ อื่นใดอันมีมูลค่า เกินกว่า ที่พึงให้กัน ตามอัธยาศัย และประเพณีในสังคม และจักต้องดูแล ให้บุคคลในครอบครัว ปฏิบัติเช่นเดียว กันด้วย

๑๖. ผู้พิพากษาจักต้องละเว้นการคบหาสมาคมกับคู่ความ หรือบุคคลอื่น ซึ่งมีส่วนได้เสีย หรือ ผลประโยชน์ เกี่ยวข้อง กับคดีความ หรือบุคคล ซึ่งมีความประพฤติ หรือมีชื่อเสียง ในทางเสื่อมเสีย อันอาจจะกระทบกระเทือน ต่อความเชื่อถือ ศรัทธาของบุคคลทั่วไป ในการประสาท ความยุติธรรม ของผู้พิพากษา ต่อมาได้มีการประกาศใช้ รัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน จึงได้มีการแก้ไข ประมวลจริยธรรม ใหม่ขึ้น ตามประมวลจริยธรรมฉบับใหม่นี้ ท่านประธานศาลฎีกา มีอำนาจ ออกคำแนะนำ ในการดำรงตน ของผู้พิพากษา ซึ่งท่านประธานศาลฎีกา ได้ให้ความกรุณา ออกคำแนะนำ ให้การดำรงตน ของผู้พิพากษาไว้ ซึ่งคำแนะนำดังกล่าวนี้ ผู้เขียนมีความรู้สึก ชื่นชมต่อ ท่านประธานศาลฎีกา เป็นอย่างยิ่ง เพราะมีหลายข้อ ที่ผู้เขียน เคยตะขิดตะขวงใจ หรือลำบากใจ ในการวางตัว และไม่แน่ใจว่า สิ่งดังกล่าวนั้น เหมาะสม และ สมควร ในการดำรงตน ของผู้พิพากษาหรือไม่ เพื่อท่านได้ออกกำหนดมาชัดเจนเช่นนี้ ย่อมเป็นผลดีต่อ ผู้พิพากษา และผลดี ต่อประชาชน และประเทศชาติ เป็นอย่างยิ่ง ดังคำแนะนำขอท่าน ที่นำมาให้ลงไว้นี้

คำแนะนำของประธานศาลฎีกา
เกี่ยวกับการดำรงตนในโอกาสต่างๆ ของข้าราชการตุลาการ ตามประมวลจริยธรรม ข้าราชการตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๔

เพื่อให้การดำรงตน ในโอกาสต่างๆ ของข้าราชการตุลาการ เป็นไปในแนวทางเดียวกัน จึงเห็นสมควร ให้คำแนะนำ ในโอกาสต่างๆ เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ตามประมวลจริย-ธรรมจาก ราชการตุลาการ ไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑. การตรวจราชการ
(๑) ผู้ตรวจราชการควรคำนึงถึงความจำเป็น ในการไปตรวจราชการ และระมัดระวังเกี่ยวกับความประหยัด ในการต้อนรับ และระยะเวลา ที่ผู้รับการตรวจ ต้องใช้ในการปฏิบัติ หน้าที่ราชการ

(๒) ผู้ตรวจราชการ ควรจำกัดเฉพาะผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงเท่านั้น และ ให้มีจำนวนน้อยที่สุด

(๓) ผู้ตรวจราชการเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ในการไปตรวจราชการ ตามกฎหมายว่าด้วยค่าใช้จ่าย ในการเดินทางไปราชการ เช่น ค่ายานพาหนะ ค่าที่พักและเบี้ยเลี้ยง เป็นต้น

(๔) ผู้ตรวจราชการควรงดเว้นการรับการอำนวยความสะดวกในทุกด้าน ที่เกินความรับผิดชอบตามปกติ ของผู้รับการตรวจ

(๕) ผู้รับการตรวจพึงอำนวยความสะดวก ตามสมควรแก่ผู้ตรวจราชการ และงดเว้นการยืมยานพาหนะ จากบุคคลภายนอก การเกณฑ์ผู้คน มาให้การต้อนรับ และงดเว้นการจัดหา ของที่ระลึก ของขวัญ หรือ สิ่งของอื่นใด มอบให้แก่ผู้ตรวจราชการ และคณะ

(๖) ผู้รับการตรวจพึงรอต้อนรับผู้ตรวจราชการอยู่ภายในที่ตั้งของตน งดเว้นการไปรอรับจากจังหวัดอื่น หรือตามไปส่งยังจังหวัดอื่น

(๗) การไปสัมมนาของหน่วยงานราชการ ให้ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ พึงปฏิบัติ เช่นเดียวกับที่กล่าวมาแล้ว ข้างต้น

ข้อ ๒. การเดินทางไปรับตำแหน่งและการเดินทางไปเพื่อภารกิจส่วนตัว
(๑) ผู้เดินทางไปรับตำแหน่งควรคำนึงถึงจำนวนคนที่จะร่วมเดินทางไป พึงงดเว้นการชักชวน หรือยอม ให้บุคคลอื่น ติดตามไปส่ง เป็นจำนวนมาก และไม่ควรให้เป็นภาระ แก่ผู้ให้การต้อนรับ และพึงรับผิดชอบ ค่าใช้จ่าย ในการเดินทาง รวมรวมตลอดทั้งค่าอาหาร และค่าที่พัก ของผู้ร่วมเดินทาง ไปส่งเอง

(๒) ศาลที่ผู้เดินทางไปรับตำแหน่งพึงให้การต้อนรับและอำนวยความสะดวกตามสมควรแก่ผู้เดินทาง มารับตำแหน่ง เช่นจัดให้เข้าที่พัก ของทางราชการ และอำนวยความสะดวก ในสิ่งอื่นที่จำเป็น เพื่อให้ ผู้เดินทาง มารับตำแหน่ง รู้สึกอบอุ่นใจ และเกิดความรู้สึกที่ดี ต่อกันตามสมควร

(๓) การเดินทางไปเพื่อภารกิจส่วนตัว ผู้เดินทางไม่ควรรบกวน ข้าราชการในพื้นที่

ข้อ ๓. การจัดเลี้ยงในโอกาสต่างๆ
๑ ข้าราชการตุลาการพึงงดเว้นการชักชวนหรือสนับสนุนให้มีการเดินทางไปอวยพร หรือจัดเลี้ยง ในโอกาส ต่างๆ เช่น วันขึ้นปีใหม่ วันสงกรานต์ วันเกิด หรืองานขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น เว้นแต่เป็นการกระทำกัน ภายในหมู่ญาติมิตร หรือเฉพาะ ในหน่วยงานของตนเอง โดยมิได้รบกวน บุคคลภายนอก หรือ ให้บุคคล ภายนอกมาร่วมจัดงาน

(๒) ข้าราชการตุลาการพึงงดรับของขวัญ ของมีค่า ของกำนัลจากผู้ใต้บังคับบัญชา และบุคคลอื่น

(๓) ผู้ใต้บังคับบัญชาพึงงดเว้นการเดินทางไปอวยพร ผู้บังคับบัญชา เว้นแต่เป็นการกระทำกัน ภายใน หน่วยงานนั้นเอง ข้าราชการ ซึ่งอยู่ต่างท้องที่ หรืออยู่ห่างไกล หากประสงค์ จะอวยพร ควรใช้บัตรอวยพร ทางไปรษณีย์แทน

การจะพิจารณาว่า ผู้พิพากษาท่านใด ดำรงตนได้เหมาะเพียงใดหรือไม่ ก็คงจะใช้ประมวลจริยธรรม และ คำแนะนำ ของท่าน ประธานศาลฎีกา ดังกล่าวนี้ เป็นบรรทัดฐาน ได้ในระดับหนึ่ง นอกจากกฎหมาย จารีต ประเพณี และธรรมเนียมปฏิบัติอื่นๆ ที่ได้ปฏิบัติกันมาแล้ว สำหรับหน่วยงาน หรือองค์กรอื่น จะมีประมวล จริยธรรม ของตนเอง หรือมีคำแนะนำ ข้อปฏิบัติ ของหัวหน้า ส่วนราชการอย่างไรนั้น ก็เป็นของ แต่ละหน่วยงาน เห็นเหมาะสม และสมควร ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ ของประชาชน และความน่าเชื่อถือ ของบุคลากร ของหน่วยงานนั้นๆ

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๓๘ มกราคม ๒๕๔๕)