ข้าพเจ้าคดอะไร
สมณะโพธิรักษ์
กำไร
ขาดทุนแท้ของอาริยชน
(ต่อจากฉบับที่ ๑๓๘)
ทีนี้ก็มาพูดถึง "นวัตกรรม" (innovation) ของสังคมมนุษยชาติ ที่ชื่อว่า "บุญนิยม" และกำลังอธิบาย
"นิยาม ๑๑ ข้อ ของบุญนิยม" ยังไม่จบ คงต้องอีกหลายคราว คราวที่แล้ว
ข้าพเจ้าได้อธิบาย ถึงข้อที่ ๕ ว่า "เป็นสัจธรรม" จบลงไปแล้ว
คราวนี้ก็มาถึงข้อที่ ๖ ที่ว่า "กำไร" แบบอาริยะ
เรื่อง "กำไร" หรือ
"ประโยชน์" (อัตถะ)นี้ ยังมีนัยที่ควรจะได้อธิบายเพิ่ม
เติมกันอีก เพราะมีความสำคัญ และลึกล้ำอยู่มาก
"กำไรหรือประโยชน์หรือรายได้"
ของอาริบุคคล ก็แบ่งออกเป็น ๓ ประการ เช่นกัน
๑. "ประโยชน์ตน" (อัตตัตถะ) ซึ่ง "ผู้ให้" ก็ตามหรือ "ผู้รับ"
ก็ตาม ในขณะที่มีกรรมกิริยา การให้และการรับอยู่นั้น ไม่ว่าจะให้วัตถุ แรงงาน
ทรัพย์สินเงินทอง ความเสพทางอารมณ์ อันมาจากรูปเสียงกลิ่นรสสัมผัส ความรู้
หรือให้อะไรอื่นๆ "แก่กัน และกัน" อยู่ หาก "ผู้ให้"
ก็ตามหรือ "ผู้รับ" ก็ตาม ผู้ใดปฏิบัติธรรมไปกับกิริยากรรมนั้นๆ
และสามารถลดกิเลสในจิตใจได้ นั่นก็คือ "ประโยชน์ตน" ที่เป็น
"ปรมัตถะ" (ประโยชน์ขั้นเลิศสูงถึงระดับมรรคผล) อันเกิดพร้อมกันกับกรรม ที่กระทำอยู่นั้นๆ ในขณะเวลาเดียวกันนั้น
ประโยชน์ถึงขั้น "มรรคผล" นี้ จึงหมายเอา "นามธรรม"
ทุกข้อ
๒. "ประโยชน์ผู้อื่น" (ปรัตถะ) หมายถึง ตนเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น นั่นคือ
ใครก็ตามที่ได้ให้วัตถุ แรงงานทรัพย์สิน เงินทอง ความเสพทางอารมณ์ อันมาจากรูปเสียงกลิ่นรสสัมผัส
ความรู้ หรือให้ อะไรอื่นๆ "แก่ผู้อื่น" อยู่ แล้วสามารถให ้"ผู้รับ" ทำจิตใจของเขาลดกิเลสไป กับสิ่งที่ได้รับนั้นๆสำเร็จ นั่นก็คือ "ประโยชน์ผู้อื่น" ที่เป็น "ปรมัตถะ"
อันเกิดพร้อมกัน กับกรรม ที่กระทำอยู่นั้นๆ ในขณะเวลาเดียวกันนั้น ซึ่ง "ประโยชน์"
ประการนี้ ทำสำเร็จได้ยาก
๓. "ประโยชน์ ๒ ฝ่าย"
(อุภยัตถะ) หมายเอา ทั้งตนและทั้งผู้อื่น หรือทั้งผู้ให้และทั้งผู้รับ ต่างก็ได้รับประโยชน์
ด้วยกันพร้อมๆกัน ในขณะเดียวกัน และกรรมเดียวกัน ซึ่งประโยชน์นั้น ต้องเป็น
"ประโยชน์ขั้นอาริยะ" หมายความว่า ทั้งตน
และทั้งผู้อื่น สามารถทำจิตใจ ให้ลดกิเลสไป กับกิริยากรรมนั้นๆได้ทั้งคู่ นี่คือ "ประโยชน์ ๒ ฝ่าย" ที่เป็น "ปรมัตถะ" อันเกิดพร้อมกัน
กับกรรมกิริยา ที่ได้ให้วัตถุ แรงงาน ทรัพย์สินเงินทอง ความเสพทางอารมณ์
อันมาจากรูปเสียงกลิ่นรสสัมผัส ความรู้ หรือให้อะไรอื่นๆ "แก่กันและกัน"
อยู่ เรียกว่า "ประโยชน์ ๒ ฝ่าย" (อุภยัตถะ)
"อัตถะ" ที่หมายถึง
"กำไร" หรือ "ผลได้-ผลประโยชน์-สมบัติ-ความเจริญ" ของชาวบุญนิยม
จึงนับเอาสภาพ ที่เข้าเขตโลกุตระ หรือที่ถึงขีดอาริยะ เป็นสำคัญ นั่นคือ
แม้ชาวบุญนิยม จะให้วัตถุ แรงงาน ทรัพย์สินเงินทอง
ความเสพทางอารมณ์ อันมาจากรูปเสียงกลิ่นรสสัมผัส ความรู้ หรือให้อะไรอื่นๆ
"แก่กันและกัน" อยู่ ถ้าแม้นกิริยากรรมนั้น
ขณะนั้น มีการปฏิบัติ จนจิตใจลดกิเลสได้จริง ไปพร้อมๆกัน ชาวบุญนิยมก็สามารถได้รับ
"กำไร"
"กำไร" ชนิดนี้
คือประโยชน์ขั้น "ปรมัตถะ" (บรมประโยชน์ หรือประโยชน์ขั้นสูงขั้นเลิศ) ซึ่งผู้ปฏิบัติต้องรู้แจ้ง ในความเป็น "จิต..เจตสิก..รูป..นิพพาน"
และมีความสามารถ ในการปฏิบัติ ตามวิธีของพุทธอย่าง "สัมมาทิฏฐิ"
ด้วย
"กำไร" ของชาวบุญนิยม
ที่เรียกว่า "ผลได้" หรือ "ผลประโยชน์" จึงคือ "สมบัติ"
อันเป็น "กุศลวิบาก" ที่ติดตัวตามเจ้าของ "บุญ" ไป เท่าที่ยังเวียนตาย
เวียนเกิด เพิ่มบารมีไปเรื่อยๆ ตราบปรินิพพานทีเดียว
"กำไร" ชนิดนี้ มีจริงเป็นจริง ด้วยความรู้แจ้งเห็นของจริง ที่เรียกว่า
"กำไร-ประโยชน์" (อัตถะ) ถึงความปรากฏแห่ง
"ภาวะ"จริง เฉพาะในศาสนาพุทธที่ ตรัสรู้โดยพระพุทธเจ้าเท่านั้น
"กำไร"
ของชาว "บุญนิยม" ตามนิยามข้อที่ ๖ นี้ เมื่ออธิบายกันมาถึงขนาดนี้
ก็จะเห็นแล้วว่า มันเป็นเรื่องน่าประหลาด ที่มัน "เป็นไปได้" ทั้งๆที่มัน
"ทวนกระแส" กันเปรี้ยงๆ กับ "ทุนนิยม" แต่ก็ยิ่งแปลกพิลึกที่
"บุญนิยม" กับ "ทุนนิยม" ทั้ง ๒ นี้ไม่ขัดแย้ง หรือไม่เป็นศัตรูกัน
แต่อย่างใด แถมสอดคล้อง อยู่ในสังคมร่วมกันดี ไปด้วยกันได้ อย่างลงตัว อีกต่างหาก
เพราะบุญนิยม "ให้" ส่วนทุนนิยมนั้น "เอา" เมื่อฝ่ายหนึ่งยินดี
"ให้" อีกฝ่ายหนึ่งยินดี "เอา" มันก็ไม่มีปัญหา ไม่มีแย่งกัน
ไม่ขัดแย้งกัน ก็ไม่เป็นศัตรูกันเลย ซ้ำเป็นมิตร ชนิดมีผลประโยชน์ร่วมกัน
ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน และต่างก็มีความยินดี ทั้งผู้ให้ทั้งผู้รับ สุขด้วยกันทั้ง
๒ ฝ่าย แม้จะสุขกันคนละเนื้อหา
กล่าวคือ "ผู้รับ"
สุขเพราะสมใจที่ "ได้รับ" สิ่งนั้น อย่างนี้ มาบำเรอความอยากของตนจาก
"ผู้ให้" (กามสุข) ส่วน "ผู้ให้"
นั้นก็สุข เพราะทำการลดละกิเลสของตนลง จนมีมรรคผล ในขณะที่ "ได้สละ"
สิ่งนั้นอย่างนี้ออกไป แก่ "ผู้รับ" (วูปสมสุข)
ดังนั้น จึงยังมีแง่ลึกซึ้ง
ที่ควรจะได้พูดสู่กันฟังอีก เพราะ "กำไร" ของชาวสังคมบุญนิยมมีความนับถือ
และเชื่อถือกันอยู่ ด้วยนัยสำคัญลึกๆ ที่แตกต่างจาก ชาวสังคมทุนนิยม
เช่น กระบวนการทางสังคมของชาว
"ทุนนิยม" มีแนวคิดอันเป็นคตินิยมทั่วไป ก็คือ "กำไร" นั้นหมายถึง "ส่วนที่เกินทุน" ขึ้นไป
ใครสามารถทำให้เกินได้มากยิ่ง เท่าใดๆ ก็ยิ่งยินดีปรีดา ยิ่งเชิดชูยกย่องกัน
ถือว่าเป็นความสำเร็จ อันสุจริต ยุติธรรม ที่มนุษย์พึงได้ พึงพากเพียร ทำให้ได้มากยิ่งๆ
ดังนี้เป็นต้น
แต่ชาว"บุญนิยม"กลับเห็นว่า
คตินิยมของบรรดา ชาว "ทุนนิยม" ที่มีแนวคิดดังกล่าวนั้น เป็นการ "ขาดทุน" อย่างเป็น สัจจะต่างหาก
ยิ่งบวกเอา"ให้เกินทุน"ไปมากเท่าใดๆ ก็ยิ่งเท่ากับ "ขาดทุน"
มากเท่านั้นๆ นี่ก็เป็น แนวคิดอันเป็นคตินิยม ของชาวบุญนิยม ที่นับถือ และเชื่อถือกันว่า
สุจริตยุติธรรม ดังนั้น ชาวบุญนิยม จึงพยายามที่จะลด "ให้ต่ำกว่าทุน"
ให้ได้ ลดได้มาก เท่าใดๆ ก็ยิ่งชื่อว่า "กำไร" มากเท่านั้นๆ
ชาวบุญนิยมเห็นว่า วิธีคิดและวิธีทำของชาวทุนนิยมนั้น
เป็นการทำร้ายคน ทำร้ายสังคมแท้ๆ
[มีต่อฉบับหน้า]
(เราคิดอะไร
ฉบับที่ ๑๓๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕) |