สีสันชีวิต ทีม สมอ.
ยงยุทธ ตรีนุชกร (ตอนที่
๑)
ประวัติ เกิด ๒๕๐๐ ชาว สมุทรสาคร
พี่น้อง ๖ คน เป็นลูกคนที่ ๔
ภรรยา คุณอุทัยวรรณ อาชีพพยาบาล บุตร ๒ คน
การศึกษา -มัธยมศึกษา วัดราชโอรส กรุงเทพฯ
-ปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
-ปริญญาโท คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
รู้จักยงยุทธ
ตรีนุชกร
เติบโตมาในสังคมจีน ซึ่งมีการแข่งขันกันสูง ที่บ้านทำอาชีพประมง และให้ความสำคัญ เรื่องเงิน
เอาเงินเป็นตัวตัดสิน คบกันโดย วัดค่าที่ฐานะ ซึ่งให้ความรู้สึกที่ค่อนข้างขัดแย้ง
เพราะเราเองเป็นคนง่ายๆ จึงค่อนข้างจะเป็นลูกนอกคอก แม่เคยบ่นน้อยใจว่า เราอาศัย ท้องมาเกิดเท่านั้น
อาจเป็นความกดดัน ที่มีอยู่ในครอบครัว เพราะเป็นเด็กที่เกิดมา แล้วมีปัญหา
เกิดมาได้ ๑ วัน ตัวเขียวเป็นจ้ำ หมอจีนที่เป็นผู้ทำคลอดอยู่แถววงเวียนใหญ่
เขาเลยส่งข้ามฟากไปศิริราช หมอเจาะไขสันหลัง บอกว่าเส้นเลือดฝอย ในสมองแตก
และทำนายว่าเด็กคนนี้โตขึ้น ถ้าสมองไม่พิการ ก็จะมีอารมณ์ รุนแรง ชอบตามใจตัวเอง
ไม่ยอมใคร พ่อแม่ก็เลย ยึดเกณฑ์นี้ เป็นตัวตั้ง โดยเฉพาะพ่อ เรียกเรา ด้วยศัพท์ภาษาจีน
คำหนึ่ง เป็นคำดูถูก คล้ายๆ กับว่า เด็กคนนี้ไม่ได้เรื่อง จนเราเอง รู้สึกมีปมด้อยมาตลอด
จบ ป.๔ พ่อก็ไม่ให้เรียนต่อ
ให้ออกทะเลเป็นชาวประมง แต่เราไม่ชอบ ดิ้นรนที่จะเรียนต่อ จึงเข้าทางแม่
แม่ก็สนับสนุน ให้เรียนต่อ ในช่วงนั้นรู้สึกอยากเอาชนะพ่อ พ่อมีนิสัย ชอบคุย กับลูก
ชอบเรื่องการเมือง หรือใครมีทัศนะ อะไรแปลกๆ พ่อจะฟัง วิธีเอาชนะพ่อก็คือ
เราหาหนังสือปรัชญาต่างๆ ที่เราอ่านแล้ว ก็ไม่เข้าใจหรอก แต่จะจำคำพูด ไปโต้กับพ่อ
เป็นคำพูดแปลกๆ บ้าง เป็นปรัชญาของเดล คาร์เนกี้บ้าง เขาก็งง ไม่เข้าใจ ทำให้เรารู้สึก ภูมิใจ
หรือเวลาพ่อ ให้คำแนะนำอะไร เราก็จะทำอีกเรื่อง ที่ตรงกันข้าม มันเป็นความเก็บกด
ของวัยเด็ก พอเรียนจบ พ่อก็เริ่มที่จะมาง้อ เขาอยากให้เรา เป็นครูเป็นอาจารย์
เป็นอะไร ต่ออะไร แต่ก็เริ่มประชดประชัน สิ่งที่พ่อให้เป็น ก็ไม่เป็น สอบปลัดได้ก็ไม่ไป
ดื้อไปอย่างนั้น ชอบงานอิสระ เป็นบุคลิกส่วนตัว
บทเรียนแรกจากค่ายอาสา
ตอนเรียนอยู่รามคำแหง เคยออกค่ายที่ภาคอีสานบ่อย เป็นค่ายสร้างโรงเรียนต่างๆ ไปเพราะอยากรู้
มีความประทับใจ สังคมอีสาน ตอนเรียนรัฐศาสตร์รู้จักยูโทเปียว่า เป็นสังคม ที่มีความเสมอภาค
มีการสร้างสังคม ที่เป็นระบบ ในตัวของมันเอง ระบบคุณค่า ระบบการรักษาพยาบาล
และระบบผลิตอาหารต่างๆ ที่เป็นองค์ประกอบ ของสังคม ครบถ้วน เขาสร้างไว้ แม้กระทั่ง
ระบบการเรียนรู้ ที่จะสร้างคนขึ้นมา ให้เป็นคนของชุมชน ก็มีที่สำหรับให้
ทุกๆ คน ที่จะอยู่ได้ ไม่ว่าคนนั้น จะเป็นคนดี หรือไม่ดีอย่างไร ถ้ากลับตัว เป็นคนดี
ชุมชนก็ให้อยู่ได้ ถ้าไม่ดี ชุมชนก็มีวิธีควบคุม ก็ประทับใจสังคมยูโทเปีย
ซึ่งตรงกับ ที่กรมพระยาดำรงฯ เคยเสด็จไปตรวจราชการที่ภาคอีสานแล้ว ท่านพูดว่า
"อีสานเป็น ยูโทเปีย"
ช่วงที่ประทับใจที่สุดเมื่อไปออกค่าย
คือได้ไปใช้ชีวิตร่วมกับชาวบ้าน ไปตีข้าวในฤดูเก็บเกี่ยว ชาวบ้านอีสาน จะมีวัฒนธรรม
"หลอนตีข้าว" หมายความว่า เพื่อนบ้านจะไปทำงานให้ โดยที่ไม่บอกเจ้าของงาน
เจ้าของลอมข้าว ไม่ต้องมาบอก ขอแรงไปช่วย มันเหนือกว่า "ระบบการลงแขก"
ซึ่งต้องไปขอให้คนมาช่วย เขาจะตั้งอยู่ในท้องนา ใครจะมาตีก็มา และก็มีประเพณี
ซ่อนเหล้าสาโทไว้ ทำเสร็จก็มีการละเล่น หาเหล้าสาโทกัน ซึ่งเป็นเครื่องดื่ม
ที่ช่วยให้อุ่น ไม่ได้เมาอะไร ทำจนสว่าง แล้วก็นอนกองฟาง ซึ่งมักเป็นช่วงเดือนหงาย
มหาวิทยาลัยชีวิต
เริ่มทำงานปี ๒๕๒๒ ที่โรงพยาบาลราษีไศล โดยสำรวจปัญหา เด็กขาดสารอาหาร และ ไปเป็นครู
ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ที่บ้านกุง ต.คง อ.ราษีไศล ทำอยู่ ๒ ปีครึ่ง ได้บทเรียน เยอะ
ตอนนั้น เอ็นจีโอเมืองไทย ยังน้อยมาก โครงการอาสา เพื่อชุมชนของจุฬาฯ ก็ยังไม่เกิด
มีแต่โครงการบัณฑิตอาสา ของธรรมศาสตร์
ไปอีสานก็ไม่ได้มีอุดมการณ์อะไร
ไปเพราะว่าใจอยากจะไป ชื่นชมความสามารถ ในจิต วิญญาณ ของชาวอีสาน ที่เขาสร้างสังคมเหล่านี้ขึ้นมา
ก็อยากไปร่วมชีวิตตรงนั้น เลยไป เป็นอาสาสมัคร ที่ไปนี่ก็เป็นเรื่องท้าทาย
อย่างหนึ่งที่ว่า ในมหาวิทยาลัยเรา ก็เรียนรู้ชุมชน
ตามแบบที่เขาสอน เรารู้เรื่องของจีน อเมริกา ลัทธิต่างๆ มากมาย แต่เมื่อเรา
ลงไปชุมชน เรากลับมืดแปดด้าน ทั้งๆ ที่ตอนที่เรา ไปออกค่ายนักศึกษา
เราประทับใจทั้งอารมณ์ ความรู้สึก แต่ไม่สามารถเชื่อมโยง หรือบอกได้ว่า ความจริงที่เขาสร้างขึ้นมา
มีอะไร เป็น องค์ประกอบ ก็อยากไปเรียนรู้ ได้พบกับสิ่งน่าประทับใจ และที่สำคัญ
ได้ลด ความอหังการ์ ของคนที่จบปริญญาตรีด้วย
ช่วงนั้นเข้าไปอยู่กินในชุมชน
ไม่ได้พักที่โรงพยาบาล ทางราชการก็ไม่ไว้ใจ เพราะเป็นช่วง หลัง ๖ ตุลา ปี
๑๙ มีนักศึกษาเข้าป่ากันเยอะ เราไปอยู่ตรงนั้น เขาคิดว่าคงไปเป็นสหาย เวลาที่มาประสานงานในเมือง
ก็ถูกจับตามองตลอด มีหลายครั้ง ที่มีปัญหากับทางจังหวัด จะถูกทำร้ายด้วย
ก็ได้ผู้หลักผู้ใหญ่ ในสังคมลงมาช่วย เช่น คุณหมอประเวศ และช่วงนั้น คุณหมอเสม
เป็นรัฐมนตรีสาธารณสุขอยู่ ก็ช่วยลงไปคลี่คลายปัญหาให้
อหังการ์มนุษย์
ตอนไปอยู่ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก
เราเคยคิดว่า เรื่องขาดสารอาหารไม่ยากหรอก แก้ไข ด้วยการให้อาหาร ที่เหมาะสม
สำหรับเด็ก น้ำหนักก็จะขึ้น แต่พอไปอยู่จริงๆ ไม่ใช่ง่าย อย่างนั้น ปัญหาการขาดสารอาหาร
ไม่ใช่เป็นเรื่องแค่ ให้อาหารเด็กมื้อหนึ่ง แล้วน้ำหนักขึ้น มันเกี่ยวข้องกับปริมาณอาหาร
ที่มีในแต่ละฤดูด้วย อย่างเช่น ในหน้าแล้ง อาหารก็น้อย อากาศก็ร้อน
วิถีการกินของคนอีสาน ก็เปลี่ยนไป น้ำหนักเด็ก ก็ลดลงไป ตามธรรมชาติ ไม่ใช่ลด
จนกลายเป็นปัญหา แต่ว่าถ้าไปชั่งเด็กตอนนั้น ก็จะคิดว่าเด็กมีปัญหา
พอฤดูฝนมาถึง อาหารใหม่ๆ
ก็มาตามสายฝน ทั้งกบเขียด พืชผัก มันจะเปลี่ยนแปลง เร็วมากเลย จากแห้งแล้ง
กลายเป็นสีเขียวขจี เต็มท้องทุ่งไปหมด ช่วงนั้นเด็กก็น้ำหนักขึ้น จนถึงฤดูหนาว
ก็ยังมีน้ำหนักขึ้นอยู่ เพราะยังมีเผือกมีมันกินอยู่ พอหลังเก็บเกี่ยวอาหาร
ยังอุดมสมบูรณ์ และไม่นานก็เข้าหน้าแล้งอีก หมุนเวียนไปตามธรรมชาติ ซึ่งเราไม่ได้มอง
ความสัมพันธ์พวกนี้ พอเราไปเพิ่มให้อาหารเสริม เช่น นมถั่วเหลือง ตามหลักโภชนาการ ของคนเมือง
เมื่อไปชั่งน้ำหนัก ตอนฤดูร้อน น้ำหนักก็ลด เราก็รู้สึกไม่ค่อยสบายใจเท่าไร
นั่นเป็นการทำงาน ในรูปแบบสงเคราะห์ให้ฝ่ายเดียว ซึ่งพอใกล้ๆ เงินจะหมด ก็แนะนำ ให้ชาวบ้าน
รับทำโครงการต่อ ชาวบ้านบอกว่า ถึงแม้ไม่มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก
ชาวบ้าน ก็อยู่ได้ ไม่เห็นมีใครตาย ด้วยการขาดสารอาหาร มันก็เป็นความจริงของเขา
แต่เราหวังดี เข้าไปทำให้เขาเอง ซึ่งงานพัฒนาตอนนั้น ไม่มีเรื่องแนวความคิด
เพียงแต่ว่าชาวบ้านป่วย เราก็เข้าไปช่วย พอช่วยจริงๆ ก็ช่วยไม่ได้ เพราะเราไม่รู้บริบท
เกี่ยวข้องกัน ก็ได้บทเรียน อย่างหนึ่ง
อีกอย่างหนึ่งพอเข้าไปจริงๆ
แล้ว เราไปเห็นชุมชนหนึ่ง ที่แปลกจากคนลาวทั่วไป คือ ชุมชน ชาวเญอ เป็นชนกลุ่มน้อย
กลุ่มหนึ่ง ที่มาจากลาว แต่เป็นมอญเขมร เขามีภาษาที่ต่างจาก ส่วยเขมร ต่างจากลาว
มีภาษาเฉพาะของเขา เราเข้าไปอยู่กับเขาแล้ว งง มืดแปดด้านเลย! เหมือนไปอยู่ต่างประเทศ
เพราะเขาไม่พูดลาว เขาพูดเญอ ประเพณีของเขา ก็คือว่า
ถ้าเอาด้วย เขาจะเอาด้วยทั้งชุมชน ถ้ามีใครเกิดความขัดแย้ง นิดหน่อยขึ้นเมื่อไร
เขาจะหยุดหมด จะไม่เอา ซึ่งตรงนี้ ทำให้เราเกิดความคิดค่อนข้างหนักว่า
อะไรเป็นตัวรองรับ ให้เกิดความสัมพันธ์ ที่มันเกาะเกี่ยวกัน เป็นระบบ มันเป็นระบบผี ผีตัวนี้ไม่ใช่เป็นเรื่อง ของความกลัว แต่ผีเป็นเรื่องของ ความสัมพันธ์
ระหว่างมนุษย์ ที่คนโบราณ สร้าง สัญลักษณ์ ขึ้นมา สำหรับทำให้คนต้องรักกัน
เป็นสัญลักษณ์ อย่างหนึ่ง บางที กฎหมาย ก็คุมคนไม่ได้ แต่ผีมันอยู่ทุกที่
ใครทำผิด ผีเห็นหมด แล้วก็มีผีหลายเชิงชั้นมาก ผีดูแลหมู่บ้าน ผีดูแลครอบครัว
ผีดูแลคนคนหนึ่ง เราจึงเห็นวิธีการสร้างระบบนี้ขึ้นมา เป็นเรื่อง สำคัญมาก
คนถึงเชื่อฟังกัน
นอกจากระบบผีก็มีระบบวิทยาศาสตร์ ทุกคนจะมีความเก่งกาจ ไปคนละอย่าง คนละแบบ คนนี้เก่งสร้างบ้าน คนนี้เก่งหาปลา
คนนี้เก่งเป็นหมอกระดูก เป็นหมอยา เป็นหมออะไร ต่างๆ แล้วเขาก็เอาความเก่ง
เฉพาะทาง ไปช่วยเหลือคน โดยไม่คิดมูลค่า พอไม่คิดมูลค่า ก็กลายเป็นคุณค่า
ของความเอื้ออาทรต่อกัน ถือว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญ ด้านต่างๆ ในขณะที่ ผู้เชี่ยวชาญสมัยใหม่
ต้องการหาเงินเยอะๆ พวกเขาช่วยกันสร้างให้ตัวเอง ให้มีคุณค่า มากขึ้น เขาก็เลยร้อยรัดกัน
และถักใยแมงมุมเต็มไปหมดทั้งชุมชน ใครไปไหน ก็ติดกับ ติดใยตรงนั้น
นี่คือระบบที่สองที่เห็น ซึ่งคนภายนอกไม่เข้าใจ
ระบบนี้ดำรงอยู่ได้ บนพื้นฐานเกษตรกรรม แบบหลากหลาย หาอยู่หากิน ปลูกเอาไว้ที่สวนบ้าง
ไปหาในป่าบ้าง เขาเรียกว่า มีภูมิ ของชีวิต เป็นระบบที่สร้างขึ้นมารองรับการทำกิน
เป็นภูมิป่าเขา เวลาชาวบ้าน สร้างบ้าน จะสร้างใกล้ป่าเขา สามารถไปหายา หาไม้มาทำเชื้อเพลิงได้
เป็นที่มาของต้นน้ำ และ ชีวิตของเขา
ภูมิที่ลดหลั่นลงมาคือโคก
ซึ่งต่อจากเขาใหญ่ เล็กที่ลดหลั่นกันลงมา จนถึงตีนบ้าน ตีนบ้านจะปลูกพืช
ที่เขากินประจำ ที่เขาไว้ใช้แก้ปัญหาเฉพาะหน้า เช่น ขิง ข่า หอม ชะอม เนียม
ที่ใช้กินประจำวัน ต้องกินเร็วๆ ด้วย หรือบางทิศของหมู่บ้าน ก็ต้องมีต้นไม้บางต้น
เพื่อที่จะให้ได้กลิ่น โชยเข้าไปในบ้าน เวลาลมพัดผ่าน อันนี้เป็นภูมิปัญญา
ที่เขาสร้างไว้ ในนาข้าว มีความหลากหลาย ของอาหาร และสัตว์เยอะแยะ ทั้งหมดนี้ก็คือ
ภูมิที่เขา สร้างขึ้น และก็มาสัมพันธ์ กับเรื่องระบบผี ร้อยรัดกันเป็นระบบขึ้นมา
แล้วก็ยังมีระบบคุณค่า ระบบผู้หญิงในชุมชน
ผู้หญิงเป็นใหญ่ในสมัยนั้น เป็นคนคุม เศรษฐกิจ เวลามีอะไร ก็ต้องถาม ผู้หญิง
ผู้หญิงเป็นคนทำสต๊อก เวลาสร้างบ้าน หรือ ตัดสินใจ ทำอะไรที่เป็นเรื่องสำคัญ
ของครอบครัว ต้องพึ่ง ผู้หญิงหมดเลย ระบบ ๔-๕ ระบบนี้ มันร้อยเป็นอันเดียว
เมื่อระบบหนึ่งเปลี่ยนไป ก็เกิดผลกระทบกับระบบอื่นๆ
เช่น ถ้าระบบข้างนอก ไปทำลาย ภูมิป่า ก็เท่ากับ ทำลาย
ระบบเศรษฐกิจ ทำลายวิถีการหาอยู่ หากิน ทำลายฐานของภูมิชีวิต พอทำลายตรงนี้ปุ๊บ
ระบบมันก็เริ่มรวน เป็นคลื่นที่ซัด เป็นระนาบ ซึ่งระบบเหล่านี้ กว่าจะสร้างขึ้นมาได้
ใช้เวลาเป็น ๑๐๐ ปี แต่คนข้างนอกไม่เข้าใจ มันเป็นความงาม เป็นความเก่งกาจมาก
ของคนในภูมิภาคนี้ มีอยู่ตรงนี้มานานแล้ว ตามหลักฐาน ทางประวัติศาสตร์
แต่ก็กลายเป็นเรื่อง ที่คนไม่เข้าใจ ไปเห่อของนอกดีกว่าของใน ไม่เข้าใจ โดยที่ไม่ศึกษา
แล้วก็ปฏิเสธ เห็นตึกรามบ้านช่อง เห็นความทันสมัย ความรวดเร็ว ดีกว่า ของเก่าที่เป็นอยู่
ก็เลยทำให้ไม่เข้าใจคุณค่า และทำลายโดยไม่รู้ตัว ซึ่งในมหาวิทยาลัย ไม่เคยเรียนหรอก
เข้าวงการเอ็นจีโอ
พอ ๒ ปีครึ่งโครงการใกล้หมด เราก็บอกว่ามันไม่สำเร็จ ได้เรียนรู้จากชุมชนมากกว่า
จึงออกมาร่วมงาน กับพี่นักพัฒนา ชื่อ บำรุง บุญปัญญา ที่แอคฟอร์ด ของอาจารย์
ส.ศิวรักษ์ ไปอาศัยพี่เขาอยู่สักพัก ก็คิดโครงการขึ้นมา บังเอิญ ภาคอีสานในช่วงนั้น
ปี ๒๕๒๖ เกิดภาวะน้ำท่วม และมีความจำเป็นเร่งด่วน ต้องเอาสิ่งของ ไปช่วยพี่น้องทางราษีไศล
ก็เลยคิดโครงการ ผ้าป่าข้าวขึ้นมา ไปขอความช่วยเหลือ จากคนในเมืองแล้ว ก็ไปซื้อ ข้าวของชาวบ้าน
จากหมู่บ้าน ที่ได้ข้าว เอาไปให้หมู่บ้าน ที่ขาดแคลนข้าว แต่ก่อนจะไปให้
ต้องลงไป คัดเลือกชุมชน คุยกับชุมชนว่าทำอย่างไร ไม่ให้ข้าวจำนวนนี้หมดไป
ก็เป็น ต้นกำเนิด ของธนาคารข้าว โดยให้ชุมชนคิดกันเอง ว่าทำอย่างไร จะบริหารข้าวนี้
ให้ยั่งยืน ต่อไปข้างหน้า เราไปตั้งคำถาม ให้ชาวบ้านคิดเอง เพราะเราเริ่มมีบทเรียน จากราษีไศลว่า ถ้าเราคิดแทนชุมชน
และเราจะไม่รู้จักชุมชน โอกาสความล้มเหลว มันมีสูง ก็เลยตั้งหลักใหม่ ให้ชุมชนคิดเอง
เขาก็คิดระบบของเขาขึ้นมา เรียกว่าธนาคารข้าว หรือกองทุนข้าว แล้วแต่สะดวก
ตอนหลังเรียกธนาคารข้าว ชื่อนี้เกิดทีหลัง เดี๋ยวนี้ ๕ ชุมชน ที่ไปทำ ธนาคารข้าว
ก็ยังคงอยู่ บางแห่งเติบโต จนผลิตข้าวขายก็มี ทำอยู่ประมาณปีเศษๆ มีพี่นักพัฒนา อีกคนหนึ่ง
ชื่อ อภิชาติ ทองอยู่ ชวนไปอยู่ขอนแก่น ให้ไปทำงาน องค์กร พัฒนาเอกชน ชื่อ
เรดบาน่า หรือองค์กร อนุเคราะห์เด็กนอร์เวย์ ไปอยู่กับเขาหลายปี ตั้งแต่ราวปี
พ.ศ.๒๕๒๖ ถึงปี ๒๕๔๐
ชีวิตเป็นเพียงเศษเสี้ยวเล็กๆ ของจักรวาล
ช่วงที่ทำงาน มีโอกาสได้บวชกับหลวงพ่อคำเขียนที่ภูโค้ง
ชัยภูมิ ทำให้เรามีฐานของสมาธิ ได้สติกลับมาเยอะ ท่านให้ยกมือ ฝึกดูความเคลื่อนไหว
จับสติได้ตลอด ในขณะเดินจงกรม เรารู้สึกเหมือนเดินอยู่บนผิวโลก เหมือนเราเดินไปตามส่วนเว้า ส่วนโค้งของโลก รู้สึกว่า ชีวิตมีแค่ ๒ ก้าว เท้าซ้าย เท้าขวา
ก็เดินอยู่แค่นั้นแหละ สบายใจ รู้สึกว่า ชีวิตมีแค่นี้ เดินไปวันหนึ่งๆ เดินไปตามสภาพ
ที่มันเป็น และเราก็เป็นแค่เศษส่วนเล็กๆ ในจักรวาล ที่ยิ่งใหญ่
ไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไร รู้สึกใจคลายลง เราเริ่มมีปัญญามากขึ้น การปฏิบัติธรรม
ทำให้เรามองปรากฏการณ์ ได้ละเอียดขึ้น เหมือนเราเฝ้าดูสิ่งต่างๆ ที่มันเคลื่อนไหว
ที่มันแสดงออก ทำให้เราดูมันได้ละเอียด แต่ก่อนเจอปรากฏการณ์อะไร อารมณ์จะมาก่อน
โกรธ ไม่ชอบ อารมณ์จะเกาะก่อน แต่พอมาปฏิบัติธรรม มันทำให้เรามีมุมมองของเรื่องต่างๆ
เปลี่ยนไป มองอย่างมีคำถาม หาเหตุหาปัจจัย มองอย่างเชื่อมโยงมากขึ้น ซึ่งช่วยทำให้เรา
สามารถที่จะเชื่อม สิ่งที่มัน เป็นนามธรรม ที่คนสร้างขึ้น ให้เป็นระบบ เห็นความเกี่ยว เนื่องกัน
ความเป็นเหตุเป็นปัจจัยกัน ตรงนี้ช่วยได้เยอะมาก
เรียนรู้จากชุมชน
ไม่ใช่ไปสอนชุมชน
พอเข้าชุมชน เราได้เรียนรู้
เราได้อะไรจากชุมชนไม่สิ้นสุด เข้าชุมชนแต่ละครั้งจะได้ สิ่งใหม่ๆ ตลอด ทำให้เราไม่เบื่อ
โดยเฉพาะ เมื่อไปเจอชนกลุ่มน้อย หรือคนแก่ที่ใช้ภาษาเก่าๆ เรารู้สึกชีวิตมีพลังเยอะ
เพราะเป็นภาษา ที่สื่อออกมา ได้ตรงๆ เป็นภาษาของภาวะ ความรู้สึก เป็นภาษาที่เป็นข้อสรุป
เป็นสัจจะของชีวิต อีกอย่าง เห็นความสำคัญของชุมชน ที่เป็นรากหญ้า ขณะที่เราเคยมองว่าชุมชนเป็นแค่องค์ประกอบ
แต่จริงๆ แล้ว ชุมชนเป็น หน่วยหลักของประเทศ ระบบราชการเป็นเพียงส่วนเล็กๆ
จะเห็นว่าชุมชน มีระบบในตัว ของมันเอง องค์กรภายนอก
ที่จะเข้าไปพัฒนา ควรมีเป้าหมาย ในการทำงาน ที่พุ่งลงไป สู่ชุมชน ไม่ใช่เพียงเอาเขามามีส่วนร่วม
ไม่ใช่ไปตั้งหลักตั้งเกณฑ์ ที่จะต้อง ทำอะไรกับชุมชน ตามมาตรฐานของคนเมือง
ตามมาตรฐานอีกแบบหนึ่ง ที่กำหนดจากภายนอกเข้าไป แต่ต้องไปร่วมมือ สนับสนุนเขา
ในมุมที่เขายังขาดอยู่ มุมที่เสริมให้เขามีศักยภาพเพิ่มขึ้น ต้องมีกระบวนการทำงานใหม่
คือต้องไป ร่วมประชุม กับชุมชน เป็นการเรียนรู้ชุมชน ให้ชุมชนเป็นคนสำรวจตัวเอง
เรียนรู้ตัวเอง ทำแผนตัวเองออกมา
ขณะนี้เชื่อว่าเรายังผลักดันฝ่ายราชการไม่ได้
ซึ่งในระบบราชการ พอถึงจุดหนึ่ง ก็เดิน ไปถึงทางตัน เพราะขึ้นอยู่กับ งบประมาณเป็นหลัก
พอถึงจุดหนึ่งเงินก็หมด เพราะ ในระบบโลกตอนนี้ ชะลอตัวทั้งโลก
และมีแนวโน้ม จะชะลอ ลงไปอีกเรื่อยๆ แต่ราชการ ก็ยังใช้วิธีเก่าอยู่ คือหารายได้โดย
เอาเงินภาษี มาสร้างงบประมาณ มาทำงานชุมชน มาสร้างชุมชน อย่างที่ตนเองต้องการ
โดยไม่หันมาคิดว่า ทำอย่างไร จะให้ชุมชนเข้มแข็ง และอยู่ได้ด้วยตัวเอง แม้เศรษฐกิจจะชะลอ
เขาก็อยู่ได้ เพราะฉะนั้น ระบบราชการ ต้องเปลี่ยนแนวคิด โน้มเข้ามาหาชุมชน
ปัจจัยที่ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง
มีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของนักพัฒนาส่วนใหญ่
ซึ่งมักคิดถึงเฉพาะเรื่อง กิจกรรมที่ออกไป โดยกำหนด เป้าผลผลิต แต่ไม่ได้มองว่ากิจกรรมนั้น
ไปสร้างระบบเหล่านี้ ให้เกิดขึ้นใหม่ เช่น สร้างภูมิสร้างฐานของชีวิต สร้างสัมพันธภาพ
ระหว่างคนในวัยต่างๆ ความเป็นพี่เป็นน้อง ความเป็นเครือญาติ คนเฒ่าคนแก่
ปฏิบัติต่อเด็กอย่างไร เด็กปฏิบัติ ต่อคนเฒ่า คนแก่อย่างไร ระหว่างผู้หญิง
คนเป็นเขยเป็นสะใภ้ ตำแหน่งทางสังคม ของชุมชน ความเชื่อ ที่ร้อยรัดกัน เป็นตัวผูกมัดกัน
ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง ดำเนินไปได้ แต่เมื่อไม่ได้ทำแบบนี้ เพราะเราไม่ได้คิดทั้งระบบ
เราคิดแต่ว่า จะทำกิจกรรมเฉพาะ เราจึงไม่รู้ว่ากิจกรรมนี้ จะไปกระตุ้น ให้ระบบพวกนี้
เกิดขึ้นได้อย่างไร และทำอย่างไร ถึงจะมองชีวิตเล็กๆ ที่อยู่ในชุมชนทั้งหลาย
ให้เป็นเรื่องใหญ่ เขาอาจไม่ทันสมัย ไม่ได้อยู่ ห้องแอร์ แต่เขามีความสุข
นักพัฒนาอิสระ
ถ้าเรายังมีเรื่องรายได้เป็นเกณฑ์ของชีวิต มันก็อยู่ยาก เพราะชีวิตอย่างนี้ไม่มีความมั่นคง
พอให้คนกล้าทำ ความมั่นคง ของเรา คือสัมพันธภาพที่ดี กับคนหลายๆ ประเภท ซึ่งตรงนี้ คือกำไร
เรามองต้นทุน มองความมั่นคง คนละแบบ เราจึงมีเพื่อนเยอะ ทั้งในและ นอกประเทศ
เรามีเพื่อนเยอะ และทำในสิ่งที่ดี เพื่อนคือสังคม ไม่มีใครทิ้งเรา แม้ไม่มี
องค์กรมาหนุน เราก็อยู่ได้ เพราะว่าขีดความต้องการของเราไม่สูง เราอยู่ได้สบายๆ
ไม่ต้องไป ดิ้นรนอะไรมาก ไม่ต้องไปแข่งขันมาก และเราก็ ไม่อยากจะแข่งขันกับใคร
ชีวิตเราไม่ได้ถูกสร้างมา เพื่อการแข่งขัน และไม่มีศักยภาพ เพื่อการไปแข่งขันด้วย
คนที่อยู่ไม่ได้ อาจเป็นเพราะ เขายังไม่ได้ลดเกณฑ์ของชีวิต ดังนั้น จึงอยู่ที่วิธีคิด
ที่เราสะสม ความรู้มา มันมีสิ่งใหม่ตลอด เราไม่ได้คาดหวังว่า จะเป็นคนสร้างสังคม
ให้เป็นอุดมคติ แต่เราเรียนรู้จากสังคม เรียนรู้จากคนอื่น ได้ตลอดเวลา
(เราคิดอะไร
ฉบับที่ ๑๓๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕) |