เราคิดอะไร.

แว้งที่รัก.. ชบาบาน
ฮารีรายอ! ฮารีกายอ!

อังคารนั้นเป็นวันก่อนฮารีรายอสองวัน พี่แมะนุ่งผ้าถุงและสวมเสื้อตัวใหม่ไปโรงเรียน แถมยังคาดเข็มขัดเพ็ดสะติก ติดกิ๊บเพ็ดสะติกเสียด้วย น้อยติดกิ๊บเพ็ดสะติกเหมือนกัน แต่ยังต้องนุ่งถุงสำเร็จสีแดงซีดๆ และสวมเสื้อผ้าป่าน ดอกสีน้ำเงินลายแดงตัวเดิม ทั้งนี้เพราะเข็มขัดเพ็ดสะติกของเธอ ได้หายไปอย่างไร้ร่องรอย ทั้งที่เพิ่งรับมาจากแม่ พร้อมพี่แมะ เมื่อวานนี้เอง จนแล้วจนรอด ก็ไม่มีใครทราบว่า มันหายไปได้อย่างไร

แม่ได้ดึงผ้าถุงผืนใหม่ลงจากเอวของน้อยด้วยสองมือที่เปื้อนกะปิ ผ้าถุงใหม่ก็เลยเปื้อนกะปิไปด้วย นุ่งมาโรงเรียนไม่ได้ เสื้อที่เข้าชุดกัน ก็อดสวมเหมือนกัน

อะไรก็ไม่ร้ายเท่ากับการที่เครื่องประดับเพ็ดสะติก ทำให้น้อยกลายเป็นเด็กพูดเท็จไปแล้ว เมื่อเช้านี้เอง! ถึงเธอจะถูกแม่ตี ด้วยไม้เรียว จนน่องเป็นริ้วๆ ห้อเลือด รอยไม้ก็ไม่สามารถ เปลี่ยนความจริง เรื่องเธอได้ตอบแม่ว่า เชือกป่าน ที่พี่แมะรัดให้ แทนเข็มขัดที่หายไปนั้น เป็นเข็มขัดเพ็ดสะติก


พ่อเอาตัวน้อยไปจากแม่และสอนต่อว่า "น้อยต้องจำไว้ ต่อไปจะต้องไม่พูดเท็จอีก คนพูดเท็จเป็นคนไม่ดี ต่อไปน้อยพูดอะไร ถึงพูดจริง ก็จะไม่มีใครเชื่อ เหมือนกับเด็กเลี้ยงแกะ อย่างนี้จะดีไหม?"

"น้อยกลัวแม่ตี แล้วก็กลัวที่ทำของหายด้วย" น้อยพูดกับพ่อตามที่รู้สึก แล้วเธอก็นึกถึงนิทานอีสป ที่เพิ่งอ่านขึ้นมาได้ "น้อยไม่ได้อยากเป็น เหมือนเด็กเลี้ยงแกะ- แต่น้อยกลัวแม่ตี"

"นั่นแหละลูก น้อยจะได้จำไว้ว่าลงคนเราได้ทำอะไรไปแล้ว สิ่งนั้นก็จะอยู่กับเราตลอดไป แม่เขารู้ทันลูก น้อยก็เลยโชคดี ที่ถูกแม่ตี จะได้รู้ว่าการพูดเท็จ เป็นบาปที่ลูกจะต้องไม่ทำอีกต่อไป" พ่ออธิบาย พลางลูบแข้งขาของน้อย ที่เป็นริ้วรอย ไม้เรียว "รอยไม้ที่แม่ตีนี่ เดี๋ยวก็หาย แต่รอยที่ลูกพูดเท็จจะไม่หาย"

"แต่ถ้าแม่เชื่อที่น้อยหลอก น้อยก็ไม่ถูกแม่ตี น้อยก็ไม่เจ็บ" น้อยพูด

"น้อยไม่เจ็บเพราะไม่ถูกตี แล้วน้อยว่าน้อยไม่ได้พูดเท็จกับแม่หรือเปล่าล่ะ แล้วที่พูดเท็จนั้น มันหายไปหรือเปล่า?" พ่อถามให้น้อย ซึ่งอายุแค่เจ็ดขวบคิด

"ไม่หายค่ะพ่อ" น้อยตอบพลางส่ายหน้า เริ่มเข้าใจแล้วว่าถึงหลอกแม่ได้ เธอก็คงต้องกลัวแม่ถามอยู่เรื่อยไป แล้วสักวันแม่ก็ต้องรู้ว่าเข็มขัดหาย "ให้แม่ตีน้อยดีกว่าค่ะ ตีแล้วน้อยก็หายบาป"

พ่อยิ้ม พูดว่า "อย่างนั้นน้อยก็เข้าใจแล้วสิลูก ดีที่สุดก็คือลูกต้องกล้าหาญ ไม่พูดเท็จ ยอมให้แม่ตี เพราะทำของหาย ดีกว่าถูกแม่ตีเพราะพูดเท็จ แล้วก็ไม่ต้องเป็นเด็กเลี้ยงแกะด้วย"

"ถ้าแม่ไม่ตีน้อย พ่อจะตีไหมคะ?" น้อยถาม นึกไม่ถึงว่าพ่อผู้ไม่เคยตีเธอเลย จะตอบว่า "ตี ตีเจ็บกว่าแม่อีก เอ้า! ไปเปลี่ยนเสื้อผ้าเสียที เหม็นกะปิจัง"

พ่อมีวิธีทำให้น้อยรู้สึกดีขึ้นเสมอ และวันนี้เธอก็จะเดินตามหลังพี่แมะ เข้าโรงเรียนโดยไม่รู้สึกน้อยใจ แม้จะมีแค่กิ๊บ เพ็ดสะติกอันเดียว ไปอวดเพื่อนๆ ก่อนถึงวันสำคัญที่สุด สนุกที่สุด เก๋ที่สุด ของอำเภอแว้ง ชายเขตแดนประเทศ ของชาติไทยแห่งนี้ นั่นคือวัน ฮารีรายอ ที่จะมาถึงมะรืนนี้แล้ว!

มามุถือสมุดหนังสือมาหาน้อย เพื่อไปโรงเรียนด้วยกันเช่นเคย เดินไปได้หน่อยหนึ่ง มามุก็หยุดบ้วนน้ำลาย น้อยหันหน้า ไปทางอื่น เธอไม่ชอบดูภาพนั้น

"มะรืนนี้เธอก็ไม่ต้องบ้วนน้ำลายแล้วซินะ หมดปอซอแล้วนี่" น้อยว่า

"ไม่แน่ ฉันอาจจะบ้วนตลอดไปก็ได้" มามุแกล้งตอบ เพราะทราบดีว่าน้อยไม่ชอบ

น้อยไม่ชอบก็เพราะตลอดช่วงเข้าปอซอ เธอเดินไปทางไหน มีแต่คนบ้วนน้ำลาย โรงเรียนแว้งมีนักเรียน เป็นมุสลิม เกือบทั้งหมด ทุกคนบ้วนน้ำลายกัน เดี๋ยวๆ ก็เดินกันออกไปบ้วน นอกพื้นซีเมนต์ จนครูใหญ่ต้องสั่งให้ทุกคน เอากะลาใส่ทรายของตน ติดมาจากบ้าน ให้บ้วนลงไปในนั้น จะได้ไม่เลอะเทอะ ถึงอย่างนั้น น้อยก็ต้องพยายาม ไม่มองกะลาของเพื่อนๆ เธอไม่เข้าใจว่า ทำไมพวกเขา ถึงต้องบ้วนน้ำลายด้วย และเธอก็ไม่เห็นด้วย ที่มามุ ตอบเอาง่ายๆว่า

"ผู้ใหญ่เขาบอกให้บ้วน ก็บ้วนน่ะซี น้อยก็ เธอไม่ได้เป็นอิสลาม ไม่ต้องเข้าปอซอ ก็ไม่ต้องบ้วน"

เมื่อน้อยถามโต๊ะซารีว่า ทำไมต้องบ้วนน้ำลายกันด้วย ยายของมามุอธิบายว่า

"มามุพูดไม่ได้เรื่อง หนู มุสลิมทุกคนต้องไม่กลืนน้ำลาย ในช่วงเดือนปอซอ ก็เพราะน้ำลายเป็นสิ่งหนึ่ง ที่อาจจะไม่สะอาด ตลอดกลางวัน เราจะต้องอดทน ไม่ดื่มน้ำ ไม่กินอาหาร จนกว่าตะวันตกดิน"

"หิวแย่เลย" น้อยว่า "น้ำก็ดื่มไม่ได้ น้ำลายก็กลืนไม่ได้ ข้าว ขนมก็กินไม่ได้ ต้องคอยให้ตะวัน ตกดินเสียก่อน เธอเก่งจัง มามุ เป็นฉันคงแย่เลย"

"ฉันเคยเผลอเหมือนกันแหละ ตอนแรกๆน่ะ" มามุสารภาพ

"งั้นเธอก็ดอซอแล้วซี" น้อยว่า

"บางทีคนเราก็มีเผลอบ้าง ถ้าไม่ควบคุมสติให้ดี" โต๊ะซารีอธิบายให้น้อยฟัง มามุนั่งตาโต ฟังด้วยอย่างตั้งใจ เพราะที่ผ่านมา ตนก็ยังเข้าใจไม่ชัด และต้องการให้เพื่อนซิแย (สยาม) ของตนเข้าใจด้วย "ช่วงเข้าปอซอแค่เดือนเดียว ต้องทำให้ได้ คนเราไม่ค่อยได้ระวังตัวหรอก หนูว่าเราทำสิ่งไม่ดี อยู่แทบตลอดเวลา ศาสนาอิสลามจึงวางเป็นกฎเรียกว่า ศีล หรือ บัญญัติ ๕ ข้อให้ถือปฏิบัติ ใน ๕ ข้อนั้น ก็มีให้เข้าปอซอ หนึ่งเดือนนี้อยู่ด้วย แล้วก็ไม่ใช่แค่อดข้าว อย่างที่เรียกกันว่า ศีลอดเท่านั้นหรอกหนู"

"ห้าข้อ มีอะไรบ้างคะโต๊ะที่มามุต้องถือ ในศาสนาพุทธก็มีศีลห้าค่ะ หนูท่องได้" น้อยพูด

"ข้อแรกต้องเชื่อในพระเจ้า" โต๊ะซารีอธิบาย น้อยพับนิ้วของตนไปพลางในใจ ก็ท่องศีลห้าไปทีละข้อ ขณะที่ยายของมามุ กล่าวถึงบัญญัติ ในศาสนาอิสลาม ข้อต่อๆ ไป "ข้อสอง ต้องสะมะหยัง๓ วันละ ๕ ครั้ง ข้อสาม ต้องเข้าปอซอ หนึ่งเดือนทุกปี ข้อสี่ ต้องทำบุญทำทาน และข้อสุดท้าย นี่ยายก็ยังไม่รู้ว่า จะมีโอกาสทำไหม มามุอาจจะได้ไป คือไปทำพิธีฮัจที่มะก๊ะห์"

"โต๊ะคะ แล้วเวลาเข้าปอซอนอกจากต้องไม่กินอะไรเลย ตอนกลางวันแล้ว มามุต้องทำอะไรอีกคะ?" น้อยยังอยากทราบต่อ เมื่อเห็นว่า ที่ตนท่องไปในใจนั้น ไม่สู้ตรงกับบัญญัติอิสลามนัก

"อ๋อ นั่นระหว่างเดือนปอซอหรือรอมฎอน ต้องปฏิบัติอยู่ ๔ ข้อ คือ หนึ่ง ต้องงดการกระทำที่ไม่ดีทั้งทางกาย วาจา และใจ ทำร้ายคนอื่นก็ไม่ได้ พูดเท็จ หรือด่าว่า คนอื่นก็ไม่ได้ แม้แต่คิดอาฆาต พยาบาทใคร ก็ไม่ได้ทั้งสิ้น ข้อที่สอง ต้องอดทนอดกลั้นสำรวม เริ่มตั้งแต่การกินการดื่มนั่นแหละ นี่หนูเข้าใจแล้ว ข้อต่อไป ตลอดเวลาที่เข้าปอซอ หนึ่งเดือนนี้ ถือเป็นการล้างสิ่งสกปรก ที่สะสมมาตลอดสิบเอ็ดเดือน ออกให้หมด ข้อที่สามนี่สำคัญมาก คือตลอดทั้งเดือนนี้ หนูจะต้องปฏิบัติตามกฎศาสนา อย่างเคร่งครัด โต๊ะยังกลัวว่า มามุก็ยังทำมั่งไม่ทำมั่ง พระคัมภีร์อัลกุรอ่าน วางเป็นบัญญัติไว้ ให้มุสลิมทุกคนทำตาม น้อยเข้าใจไหม?"

"แล้วถ้ามามุเกิดเผลอ กินขนมที่หนูเผลอชวนล่ะคะ?" น้อยถาม

"หนูก็ต้องไม่เผลอไปชวนเขาเข้า แต่ถึงหนูเผลอ มามุก็ต้องไม่เผลอ ถ้าเขาเป็นเด็กมุสลิมที่ดี ก็น้ำลายยังกลืนไม่ได้ เพราะปากอาจไม่สะอาด แล้วจะเผลอกินขนมได้อย่างไร" โต๊ะซารีอธิบาย น้อยกำลังจะถามต่อว่า แล้วถ้ามามุไม่สบาย และหิวน้ำหิวข้าวเล่า จะรับประทานได้หรือไม่ ก็พอดียายของมามุ อธิบายต่อให้ฟังเลยว่า "ยายหมายความว่า ถ้าหนูสบายดี และตั้งใจไว้แล้วว่า จะเข้าปอซอให้ตลอด แต่ถ้ามีเหตุจำเป็นจริงๆ ที่จะต้องกินข้าว กินน้ำ หรือขาดศีลไปบ้าง หลังวันฮารีรายอแล้ว ก็ถือชดเชยได้ หรือจะเก็บไว้ถือล่วงหน้า ก่อนเข้าปอซอปีหน้าก็ได้ ไม่มีใครว่าอะไรหรอก เรารู้ตัวเราดีกว่าคนอื่น"

เดินกันไปพ้นตลาดหน่อยหนึ่ง มามุบ้วนน้ำลายอีกทีก่อนพูดว่า

"วันนี้โต๊ะฉันเริ่มทำขนมแล้ว ทำตั้งหลายอย่างแน่ะ มะรืนนี้ เธอจะได้กินนาซิดาแฆ (ข้าวเหนียวมูนกับแกงไก่)แน่ ตูป๊ะโต๊ะก็ทำด้วย แต่ไม่ได้ทำโรตีจานา (โรตีจิ้มน้ำแกงถั่ว)"

"พวกอะเนาะ๕ของแม่ในกำปง (หมู่บ้าน) ก็ต้องเอามาให้แม่เยอะแยะอยู่แล้ว เธอมากินที่บ้านฉันก็ยังได้" น้อยว่า

"ไม่อร่อยเท่าของโต๊ะหรอก โต๊ะทำไว้เยอะแยะ เพราะพวกญาติมาเยี่ยม ก็ต้องมีของให้เขากิน แต่น้อยมาไม่ได้ เพราะเธอไม่ได้เป็นมุสลิม ฉันจะเอาไปให้เมาะ(แม่)เอง" มามุบอก

"แล้วทำไมพวกญาติเธอมาได้ล่ะ?" น้อยถามเพราะครอบครัวเธอ รู้สึกต่อครอบครัวของเพื่อนรัก เหมือนญาติสนิท

"ก็เขาต้องมาซาหลาม (คารวะ) กัน แล้วก็ต้องมาขอมะอาส (ขออโหสิในสิ่งที่ทำผิดไปแล้ว) ด้วยโต๊ะว่า เมื่อญาติมาเยี่ยม ในวันสำคัญ มีมากมีน้อย ก็ต้องเลี้ยงเขา เธอไม่ได้เป็นมุสลิม ก็ไม่ต้องทำ แล้วเธอก็ไม่ได้ ทำผิดอะไรกับฉันด้วย ไม่ต้องมาขอมะอาสฉันหรอก ฉันเอาไปเลี้ยงเธอเอง แต่ต้องหลังจากฉันไปกับแช (ตา) ก่อน" มามุบอก

"ไปไหน? ฉันไปด้วยคนนะ" น้อยพูด

"เฮ่ย! เธอจะไปด้วยเหอ ไปกุโบร์(สุสาน)น่ะ" มามุตอบ น้อยหัวหด เพราะคำว่ากุโบร์ ทำให้เธอกลัวผี ขึ้นมาทันที "วันฮารีรายอ มุสลิมทุกคน ต้องไปสะมะหยัง ที่มัสยิดก่อน แล้วไปที่กุโบร์ต่อ"

"ไปทำอะไรที่กุโบร์ล่ะ ไม่กลัวเหรอ?" น้อยซักต่อ

"กลัวอะไรล้าว?" มามุลากเสียง แสดงความกล้าหาญ "คนไปกันตั้งเยอะแยะ เขาไปสวดกุรอ่านให้ผู้ที่ตายไปแล้วไง นี่แหละ ทั้งหมดที่ฉันต้องทำ ในวันฮารีรายอ แต่ฮารีรายอปีนี้ เป็นวันพฤหัส ฉันเลยต้องลา โรงเรียนหนึ่งวัน เสียดายเหมือนกัน"

เอาเข้าจริงมามุไม่ต้องลาหยุดหรอก เพราะตอนบ่าย ครูใหญ่ได้เรียกประชุม เด็กทั้งโรงเรียน นักเรียนบางกอก ที่ชื่อเด็กชายไพฑูรย์ ก็เข้าประชุมด้วย แต่งตัวโก้เช่นเคย มีทั้งถุงเท้า รองเท้า แถมถือกระเป๋านักเรียน เป็นหนังสีดำด้วย แล้วแม่เขายังทาขมิ้นให้ เสียตัวเหลืองอ๋อยเชียว

คุณครูใหญ่ที่ใครๆ กลัวกันทั้งโรงเรียนได้อธิบายให้ฟังว่า มะรืนนี้เป็นวันสำคัญของศาสนาอิสลาม โรงเรียนจะหยุดให้ ๑ วัน เพื่อนักเรียนที่เป็นมุสลิม จะได้ฉลองวันสำคัญ ที่เรียกว่าวัน ฮารี-รายอ นี้โดยไม่ถือว่าขาดเรียน คุณครูใหญ่ พูดเสร็จแล้ว ก็ถามทบทวนเช่นเคยว่า

"วันสำคัญของศาสนาอิสลาม ที่ทางโรงเรียนจะหยุดให้หนึ่งวัน มะรืนนี้เรียกว่าวันอะไร ?"

เด็กนักเรียนแว้งทราบกันแล้วทั้งนั้นว่าเรียก วันฮารีรายอ ถ้าตอบก็ถูก แต่ยังไม่ทันที่เด็กคนไหน จะยกมือลุกขึ้นตอบ ไพฑูรย์ก็ลุกขึ้นยืน ตอบด้วยสำเนียงคนบางกอก พูดภาษามลายู คือแบบแข็งๆ ว่า "วันฮารีกายอครับ"

ทุกคนหัวเราะลั่น ทำให้ไพฑูรย์เลิ่กลั่ก เพราะคิดว่าตนเองตอบถูกต้อง ทั้งยังเก่งกว่าคนอื่น เพราะกล้าตอบคุณครูใหญ่ ก่อนใครหมด แล้วทำไมจึงถูกหัวเราะ คุณครูที่นั่งอยู่ในห้องประชุม ก็อมยิ้ม

ก็เขาตอบผิดนี่นา "รายอ หรือ รายา" แปลว่า ราชา หรือ ผู้เป็นใหญ่ ส่วน"กายอ"ที่เด็กชายไพฑูรย์ นักเรียนคนโก้ จากบางกอกตอบนั้น แปลว่า รวย จึงกลายเป็นว่า วันมะรืนนี้ จะเป็นวันรวย โรงเรียนจึงหยุดให้ฉลองกัน ทุกคนถึงได้ หัวเราะขำเขา

แล้ววันฮารีรายอของพี่น้องมุสลิม และวันรวยที่เด็กชายไพฑูรย์ว่า ของชาวอำเภอแว้ง ชายเขตแดน ประเทศของชาติไทย ก็มาถึง!! ช่างเป็นวันที่โก้เก๋ ร่ำรวย สดใส และเป็นสุข สนุกสนานอะไรอย่างนั้น !!

บรรดาแม่ๆของอะเนาะมุสลิมของแม่มาที่บ้านก่อนล่วงหน้า ๑ วัน พวกเขามายืมสร้อยคอ สร้อยมือ ตุ้มหู กำไล แหวน รวมทั้งเข็มกลัด ที่มีสายโซ่ทอง เส้นเล็กๆติดกัน สำหรับกลัดติดเสื้อแบบมลายู ไปประดับประดาร่างกาย พ่อนั่งอมยิ้ม
มองดูแม่มีความสุข อย่างล้นเหลือ ที่จะได้เห็นบรรดาลูกๆ บุญธรรม แต่งตัวเฉิดฉายงดงาม ด้วยเครื่องประดับ ที่แม่ทูนหัว เอาออกมาแต่งให้ ในวันสำคัญนี้

พ่อไม่เคยปรามแม่ เรื่องให้บ้านอะเนาะๆ ยืมเครื่องทองหยองไปแต่งตัว ในวันฮารีรายอนี้ และแม่ก็ไม่เคยต้องกังวล แม้แต่น้อย เพราะชาวแว้ง ไม่ขโมย หรือคดโกงใครๆ ทั้งนั้น

ตอนนั้นอำเภอแว้งมีกิ่งอำเภอโต๊ะโมะห้อยติดอยู่ด้วยเหมือนเมืองบริวาร โต๊ะโมะมีเหมืองทอง ที่ใหญ่ที่สุด ในประเทศไทย ทำให้อำเภอเล็กๆ อย่างอำเภอแว้ง มีร้านทำทองอยู่หลายร้าน น้อยเคยเห็นทองรูปพรรณ แขวนอยู่ ในร้านเหล่านั้น เต็มไปหมด ทั้งที่เป็นสร้อยคอ แบบสร้อยน้ำมัน สร้อยก้านไม้ขีด สร้อยดอกพิกุล สร้อยดอกหมาก ลูกประคำแบบเส้นเดี่ยว แบบสองเส้น แบบสามเส้น ล็อกเก๊ตเป็นเหรียญ เหมือนเหรียญเงินอังกฤษก็มี เป็นหัวใจ เป็นกุญแจ เป็นนก เป็นปลา เป็นลูกทับทิมน้อยๆ ฝังเพชร มรกต ทับทิม ก็มี แหวนก็มีทั้งแบบผู้ชาย และผู้หญิง ทั้งที่มีหัวแหวน เป็นเพชรนิลจินดา เกาะบนเรือน ด้วยหนามเตย และที่ช่างเขาลงยา สีต่างๆ กำไลแบบไทย ที่เรียกว่า หัวบัวก็มี แบบแขกก็มี ที่มากที่สุด เห็นจะเป็น แบบที่ขยับให้วงเล็กหรือวงใหญ่ ตามขนาดข้อมือ ข้อเท้าเด็ก ที่สวมได้ มีกระดิ่ง กรุ๋งกริ๋งห้อยอยู่ด้วย

โอ๊ย! มากมายหลายแบบจนน้อยบรรยายไม่ไหว แต่ที่เธอเห็นว่าน่ารัก และเคยคิดอยากได้ เป็นของตัวสักสองอันนั้น เป็นล้อกเก๊ตปลา และผีเสื้อ ที่ช่างแว้ง เขาทำน่ารัก เป็นหนักหนา ปลามีเกล็ดเล็กๆ รอบตัว ผีเสื้อก็มีปีกเป็นชั้นๆ ขยับได้ ทั้งเกล็ดปลา และปีกผีเสื้อ เหมือนมันมีชีวิต น้อยชอบมาก แต่ก็เพียงอยากได้ ไว้ดูเล่นเท่านั้น ไม่เคยชอบสวมใส่ เครื่องทองเหล่านั้นเลย ไม่เหมือนพี่แมะ ที่เขารักสวยรักงาม มาตั้งแต่เล็ก จนกระทั่ง เกิดเรื่องในบ้าน ครั้งหนึ่ง นานมาแล้ว ทำให้พ่อ ไม่ยอมให้ทั้งสองพี่น้อง ใช้ของพวกนี้อีกเลย แล้ววันหลัง น้อยจะเล่าให้ฟัง

วันนั้นทั้งน้อยและพี่แมะ อาบน้ำแต่งตัวด้วยชุดใหม่ อย่างเรียบร้อยงดงาม แม่อนุญาตให้สวมสร้อยคอ และ สร้อย ข้อมือเส้นเล็ก มีหอยสังข์ห้อยตุ้งติ้ง เส้นละหลายตัว "อย่าให้คอว่างเกินไป" แม่ว่าอย่างนั้น และพ่อก็ยอม เพราะเห็นว่า เป็นวันพิเศษจริงๆ

น้อยอยากออกไปดู ผู้คนที่ตลาด ที่สนามหน้าอำเภอ และที่หน้ามัสยิด เพราะใครๆ จากที่ไหนๆ ก็คงไปที่นั่น แต่นั่นเป็นได้ แค่ความคิด เพราะแม่เคร่งครัดมาก ในเรื่องกิริยามารยาท พี่แมะและน้อย เป็นผู้หญิง ไม่มีทาง ที่แม่จะอนุญาต ให้ออกไป เที่ยวตลาด ในวันอย่างนี้ ถ้าไปก็ต้องมีผู้ใหญ่ไปด้วย สองคนพี่น้อง จึงเพียงออกมานั่งหน้าบ้าน คอยดูผู้คนที่ผ่านไปมา

ตามปรกติ แขกผู้ชายที่แว้งไม่ค่อยพิถีพิถันเรื่องการแต่งกายนัก เพราะเสื้อผ้าหลังสงคราม ขัดสนมาก และพวกเขา ต้องทำงานหนัก ท่ามกลางอากาศร้อน แค่ผ้าโสร่งเก่าๆ ก็พอแล้ว เสื้อสวมบ้างไม่สวมบ้าง ผ้าขาวม้าเท่านั้น ที่ไว้ใช้ สารพัดประโยชน์ อย่างเดียวที่ต้องมีไม่ขาดก็คือกฤช หรือไม่ก็ขวาน เหน็บไว้ที่สะเอว แขกผู้หญิงค่อยดีหน่อย ถึงไม่หรูหรา ก็มิดชิดครบถ้วน ทั้งผ้านุ่ง เสื้อแขนยาว และผ้าคลุมศีรษะ

แต่สำหรับฮารีรายออย่างวันนี้ ทุกคนแต่งตัวกันอย่างเต็มที่ ที่มีเงินพอ ก็หาเสื้อผ้าใหม่มาสวมใส่กัน ที่ไม่มี ก็เลือกเอา ที่คิดว่าสะอาด และดูดีที่สุด ยิ่งตอนไปสุเหร่าด้วยแล้ว ดูทุกคนสะอาดเอี่ยม ผู้ชายสวมกางเกงขายาว สวมเสื้อแขนยาว สีอ่อนคอปิด แถมยังนุ่งผ้าทับนอกกางเกง และเสื้ออีกชั้นหนึ่ง บนศีรษะ ก็มีหมวกกลมสีขาว สำหรับคนที่เป็นหะยีแล้ว ถ้ายังไม่เป็น ก็ใช้หมวกหนีบสีดำ มามุก็แต่งอย่างนี้

พวกผู้หญิงยิ่งสวยใหญ่เลย แม้แต่แยนะที่ตามปรกติดูอ้วน และม่อกล่อก ลีเมาะห์ที่มีปานเสื้อ (ปานดำที่เกิดขึ้นทั้งตัว คือทั้งแผ่นหลัง และหน้าอก เว้นอยู่ตรงกลาง เหมือนสาบเสื้อ) เกือบเต็มตัว ไม่เว้นแม้แต่ใบหน้า หรือเยาะ บ้าน บาโงงยืองึง (เนินต้นเนียง) ที่หน้าเป็นรอยฝีดาษ วันนี้ก็ดูสวยมาก ทุกคน เพราะเสื้อผ้าใหม่เอี่ยม ไม่ต่างจาก อะเนาะ คนอื่นๆ ของแม่ แม้ผู้หญิงมุสลิม จะไม่ทาเล็บมือ เล็บเท้าก็ตาม แต่วันนี้ เขาสะอาดสะอ้านมากจริงๆ

ลูกบุญธรรมของแม่ทยอยมากันแล้ว มากับแม่ส่วนมาก ที่มาทั้งพ่อแม่ก็มีเหมือนกัน ส่วนใหญ่อายุน้อยกว่าน้อย จนถึงที่ยังเป็นทารกก็มี จึงล้วนเป็นน้องบุญธรรมของเธอ ที่อายุเท่าๆน้อยก็มีบ้าง แขกมลายูที่แว้ง ให้ความนับถือพ่อ แต่กับแม่แล้ว เขาทั้งรัก สนิทสนม และไว้วางใจเป็นที่สุด

ครอบครัวของน้อย ไม่เคยกินหมู และที่แว้งไม่มีใครเลี้ยงหรือขายเนื้อหมูเลย แขกจึงเข้านอกออกในบ้านจนถึงครัว อย่างสนิทใจ แม่เองก็ไม่เคร่งครัด เรื่องความต่าง ของศาสนาด้วย คือ แม่พร้อมที่จะอุทานว่า "อิโก๊ะโต๊ะแฮลา! (สุดแท้แต่พระผู้เป็นเจ้าเถิด)" หรือถ้ามีใคร ที่สนิทสนมเสียชีวิต แม่ก็จะถอนหายใจ พลางพูดกลางๆว่า "ตะเดาะอะเฆาะห์ลา โต๊ะแฮบูวีดียอมารีซีกะตู!(สุดวิสัยแล้ว พระผู้เป็นเจ้า อนุญาตให้เขา มาเพียงนั้น) แม่เคารพแขกอาวุโส ของอำเภอแว้งทุกท่าน แม่พร้อมและเต็มใจ ที่จะช่วยด้านการเงิน แก่เพื่อนมลายู ที่จะไปมะก๊ะห์ บางคนไปเสียชีวิตที่โน่น ทางนี้แม่ก็ช่วยลูกๆ เขา อะเนาะของแม่หลายคน ไปเรียนที่โรงเรียนปอเนาะ โดยที่แม่ช่วยเงิน แก่ครอบครัวเขา

อะเนาะๆ ทั้งหลายของแม่ ที่มาเยี่ยมแม่ ในวันฮารีรายอนั้น พ่อแม่เขาเอามา ยกให้เป็นลูกบุญธรรม และขอให้แม่ เป็นแม่ทูนหัว ตั้งแต่พวกเขายังเล็กมาก เด็กๆ เหล่านั้น จึงเรียกแม่ของน้อยว่าเมาะ (แม่) กันทุกคน น้อยภูมิใจนัก เวลาได้ยินพวกเขา เรียกแม่อย่างนั้น และเขาก็รัก และกตัญญู ต่อแม่จริงๆ ด้วย

กะละมังในบ้านทั้งเล็กทั้งใหญ่ ที่แม่ให้พี่แมะและน้อย ไปหยิบจากในครัว ออกมาให้อะเนาะๆ ไม่ทราบว่ากี่คนของแม่ ใส่ของเยี่ยมวัน ฮารีรายอ เต็มเรียงรายไปหมด ตรงที่ว่างหน้าโต๊ะทำงานของพ่อ ในนั้นส่วนใหญ่ จะเป็นปูโละ (ข้าวเหนียวมูน) ตูป๊ะ(ต้ม) แล้วก็แกงไก่ แกงปลา โรตี แล้วก็ขนม ผลไม้ก็มี

น้อยรับประทานของเหล่านั้น ร่วมกับพ่อแม่ และพี่แมะตอนกลางวัน แต่เพียงเล็กน้อย ตกบ่าย มามุเพื่อนรัก ก็มา พร้อมด้วย ถาดของกินสารพัด ที่พร้อมจะ ไปรับประทาน กันใต้ต้นมังคุดเช่นเคย มามุถามว่า

"เมาะจะเอาของในกะละมังไปไหนน่ะ จะกินกันหมดได้ยังไง?"

"ไม่หมดหรอก เห็นแม่ว่าจะอุ่นแกงไว้ ส่วนข้าวเหนียว แม่จะห่อด้วยใบตอง แล้วช่วยกันย่างคืนนี้ พรุ่งนี้ย่างอีกทีให้หอม พรุ่งนี้หมดฮารีรายอแล้ว แต่ตอนเย็น แม่เชิญบ้านอะเนาะๆ มากินเลี้ยงกันต่อที่บ้าน" น้อยบอกเพื่อนรัก "แชกับโต๊ะ (ตากับยาย) ก็จะมากับเธอด้วย แม่บอกให้พี่แมะชวนเพื่อนมา ฉันก็จะชวนเพื่อนๆ เรามาด้วย เธอว่าดีไหมล่ะ?"

"บาโฆส(เยี่ยม)ดีจังเลย พรุ่งนี้วันศุกร์ ไป สะมะหยังเสร็จ ก็มากินกันต่อเลย เธอชวนไพฑูรย์ด้วยไหม?" มามุถาม

"ชวนซี มณีพรรณ วัลลี มานิต จริยา อุทัย ประพนธ์ สมาน ก็มาด้วย จะได้กินกันเต็มที่" น้อยว่า

"น้อยรู้ไหม วันนี้ตรงเชิงตะพานฝั่งโน้นโต๊ะอุมากำลังปลูกโรงหนังแล้ว คืนพรุ่งนี้เขาจะเล่น วอแย (ภาษามลายูกลาง ว่าวายัง คือ หนังตะลุง) ด้วย เธอกับพี่แมะ ขอเจ๊ะกับเมาะ (พ่อกับแม่) ไปดูนะ" มามุว่า ท่าทางสนุกสนานเต็มที่

"ตกล้ง! เห็นไหมมามุ ถึงฉันไม่ได้เป็นมุสลิม ฉันก็ชอบวันฮารีรายอเหมือนเธอ ได้กินอะไรๆ ตั้งหลายอย่างเหมือนเธอ ไม่เห็นเป็นไรเลย แล้วฉันก็จะไม่ทำอะไร ที่ดอซอ(บาป)ด้วย" น้อยว่า

"ฮื่อ! ฉันก็ว่างั้นแหละ คอยดูพรุ่งนี้นะ ฉันจะบอกไพฑูรย์ว่า วันฮารีรายอ เป็นวัน ฮารีกายอ อย่างที่เขาว่าจริงๆ ด้วย"

ทั้งสองต่างหยิบตูป๊ะลูกต่อไปขึ้นมาปอกใบพ้อออกรับประทาน พลางหัวเราะอย่างแจ่มใส เหมือนท้องฟ้า อากาศ และทุ่งนาป่าเขา ในฮารีรายอ ของแว้งวันนั้น

(อ่านต่อฉบับหน้า)

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๓๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕)


*เขียนเสร็จเมื่อ ทุ่มตรง วันศุกร์ที่ ๒๕ ม.ค.๔๕ ที่บ้านซอยไสวฯ เขียนอยู่หลายขยักมาก เพราะเป็นเรื่องศาสนา ต้องระมัดระวัง กลัวผิด หรือความจำเสื่อมไปแล้ว บางเรื่องต้องโทรศัพท์ ไปสอบกับทางแว้ง เข่าที่แตกค่อยยังชั่วแล้ว พรุ่งนี้จะฝืนไปช่วยเป็น M.C. ให้งานวัฒนธรรมไทย_อิหร่าน แล้วไปธ.ก.ส.หินผาฯ ต่อด้วยงานปอยภูผาฯ ถ้าเป็นได้
๖ ภาษามลายูกลางว่า tuhan แปลว่า เทวดา หรือ ผู้เป็นใหญ่ เป็นคำเดียวกับที่มาใช้ในปัจจุบันว่า ต่วน หรือ ตวน เช่นเดียวกับชื่อ Lord Jim (Tuhan Jim)ในนวนิยายเลื่องชื่อของJoseph Conrad