เวทีความคิด
...เสฏฐชน
สายเกินแก้
ข่าวจากหนังสือไทยโพสต์ ซึ่ง
น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ร.ม.ต.ช่วยกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายนิคม จารุมณี
ผอ.กองสารวัตรนักเรียน นางกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา อธิบดีกรมสามัญศึกษาให้สัมภาษณ์ว่า
"พบ นร.ตั้งครรภ์ ออกกลางคันปีละนับพัน" บุคคลผู้มีหน้าที่สำคัญเหล่านี้
ยอมรับเป็นเสียงเดียวกันว่า ปัจจุบันปัญหาเรื่องวัยรุ่น นักเรียนเลียนแบบ จากการยั่วยวนทางเพศ
ที่สื่อนำเสนอ เพิ่มมากขึ้นทุกที จึงคิดแก้ไขปัญหานี้ด้วยการจัดค่ายเพศ หรือจัดสอนเพศศึกษาในโรงเรียน
เพื่อนักเรียน เยาวชน จะได้รู้จักป้องกัน การตั้งครรภ์ และรู้จักใช้เครื่องมือ
ในการป้องกัน ผลทางเพศสัมพันธ์ด้วย ถือว่าเป็นเรื่องของทักษะชีวิต ที่จะต้องนำมาใช้
เป็นแบบเรียน ที่สอดคล้องกับยุคนี้
ประเพณีนิยมบางประเทศมักส่งเสริมให้ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์
ตั้งแต่เริ่มมีระดูแต่งงาน สมัยก่อน พ.ศ.๒๕๐๐ พอเริ่มใช้นางสาว ซึ่งมักจะอายุ
ประมาณ ๑๕-๑๖ ปี ก็จะถูกผู้ใหญ่ จับคลุมถุงชน เป็นการเร่งให้ออกเรือนเร็วขึ้น
ไม่ได้รอให้ชาย-หญิงชอบ-รักกันเอง เพราะรู้ซึ้ง ถึงฤทธิ์เดช ของฮอร์โมนเพศ
ทั้งสองเพศได้ดี เพื่อป้องกัน ความอับอาย ขายหน้า เผื่อตั้งท้อง โดยหาผู้รับเป็นพ่อไม่ได้
บางประเทศวิตกกังวลเรื่องนี้จนต้องรวบรัดหมั้นหมายกัน
ตั้งแต่นอนอยู่ในเปลด้วยซ้ำ ให้อุ่นใจว่าลูกชาย โดยเฉพาะ ลูกสาว จะไม่ทำให้วงศ์ตระกูลมัวหมอง
ซึ่งสวนทาง กับความคิดของคนในยุค ๒๕๔๔ นี้ว่า เป็นการจำกัดสิทธิทางเพศ จิตใจคับแคบ
คนในยุคก่อนโน้น จึงต้องพบกับภาวะ อกตรมขมกลืน แม้จะไม่ชอบพอกันก็ตาม ก็ต้องยอมอยู่ด้วยกัน
จนตายจากกันไปข้างหนึ่ง เพื่อประคองชีวิตสมรส ให้ลุล่วงไปให้ได้ เพราะความรักในเกียรติยศ
ชื่อเสียงของวงศ์ตระกูล ระมัดระวังในการก่อเรื่อง "ไม่งามหน้างามตา"
ให้ผู้หลักผู้ใหญ่ ต้องเสียหายไปด้วย
ด้วยเหตุผลดังกล่าวกับเห็นแก่ลูกๆ
ที่เกิดมา ความเป็นปึกแผ่นของสถาบันครอบครัวจึงหนักแน่น มั่นคง มีผู้ใหญ่
เป็นหลักค้ำประกัน ในชีวิตครองเรือน ซึ่งตรงกับหลักศาสนาที่ว่า ผู้ใดล่วงละเมิดทางเพศ
ต่อบุคคล ในปกครองของพ่อแม่ พี่น้อง ญาติ ประเพณี ศาสนาคุ้มครองรักษา ถือว่ากระทำผิดศีลข้อ
๓ ใครคิดจะมีคู่ครอง จะต้องได้รับความเห็นชอบ จากสมาชิกในครอบครัว ว่าสมาชิกใหม่นั้น
เข้ากับคนเก่า ในครอบครัวได้ ต่างจากหนุ่มสาว ในยุคนี้ เมื่อรักใคร่ชอบพอกัน
พ่อแม่ พี่น้อง ญาติไม่มีโอกาสรู้เลยว่า เป็นใครมาจากไหน เพราะขึ้นอยู่กับข้าพเจ้า
แต่เพียงผู้เดียว แล้วยังแยกบ้าน แยกเรือนไปอยู่ต่างหากอีกด้วย บางคนหนี
พาคู่สมรส แยกไปอยู่ต่างจังหวัด ต่างประเทศ ด้วยซ้ำไป ญาติพี่น้องฝ่ายหญิง
ฝ่ายชายมีใครบ้าง ต่างก็ไม่ค่อยได้รู้จัก มักคุ้นกันและกันเลย ต่างฝ่าย ต่างก็คิดว่า
เป็นเรื่องส่วนตัว เฉพาะคู่สมรสเท่านั้น ปัญหาเรื่องการครองเรือน จึงเกิดมากขึ้นกว่าสมัยก่อน
เพราะต่างฝ่าย ต่างก็ไม่มีใครค้ำประกัน หรือเป็นหลักที่ตั้งไว้ ให้นับถือเกรงใจ
คนสมัยนี้ จึงเกิดรสนิยม "ลองอยู่กันก่อนสมรส" มากขึ้น ทดแทนประเพณีนิยมเดิม
เนื่องมาจากสังคมสมัยนี้แตกต่างจากสมัยก่อนมาก
ผู้หญิงมีโอกาสออกนอกบ้าน เล่าเรียน คบหาสมาคมกับคน ในวงกว้างขึ้น มีเวลาใกล้ชิด
กับเพศชายถี่ขึ้น มีการงาน มีกิจกรรมที่ทั้งสองเพศ ต้องทำร่วมกันหลากหลายขึ้น
สิ่งเหล่านี้ เป็นสื่อปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ช่องว่าง ระหว่างหญิงและชาย กระชับเข้ามาใกล้ชิดกันมากขึ้น
ความขวยเขิน เอียงอาย แบบผู้หญิงสมัยก่อน แทบจะหาดูไม่ได้อีก ผู้หญิงมีอิสระ
และการตัดสินใจ ที่เป็นเอกเทศมากขึ้น ความผิดพลาด ก็ย่อมมีมากขึ้น เป็นเงาตามตัว
หากผู้ใหญ่ครองตนดี มีวุฒิภาวะทางศีลธรรม เด็กก็จะครั่นคร้าม ไม่กล้าล่วงละเมิด
ออกนอกรีตนอกรอย ตรงกันข้าม หากไม่รักษาประเพณีที่ดีไว้ ตั้งแต่ต้นคน กลางคน
ปลายคน ก็ย่อมเดินตาม เหมือนลูกปู เดินตามแม่ปู ไม่ผิดแผกต่างกัน
ฉะนั้น เรื่องที่ผู้ใหญ่เป็นห่วงพฤติกรรม
ของเด็กที่ล่วงละเมิดทางเพศ จนทำลายคุณธรรม มนุษยธรรมจนปี้ป่น นอกจาก จะหาวิธี
กำหนดขอบเขต ไม่ลุกลามแล้ว ผู้ใหญ่เอง ก็ต้องกำราบตัวเอง ที่จะให้ความสำคัญ
ดูแลตัวเอง ให้ในเรื่องนี้ด้วย
ตามธรรมดาคนมักเลียนแบบ เอาอย่างตามคนที่ตัวเองนิยม
ชมชื่น รักชอบ นับถือ และผู้ที่มีชื่อเสียง มีบทบาท ถูกกล่าวขวัญถึงบ่อยๆ
ปรากฏตัวซ้ำซากในสังคม ยิ่งถ้าผู้นั้นได้รับสมญาว่า "ดารา" ด้วยแล้ว
ก็คาดคะเนได้เลยว่า ถูกยกเป็นตัวอย่าง ที่จะทำตามอย่างง่ายดาย ไม่ต้องผ่านการไตร่ตรองกลั่นกรองใดๆ
ทั้งสิ้น ไม่ยกเว้นกระทั่ง บทบาทผู้ร้าย ผู้ก่อกวน อาชญากร อันธพาล คนเจ้าสำเริงสำราญ
เจ้าชู้เจ้าเสน่ห์ โปรยมายา ประเภทดาวโป๊ดาวเปลือยทั้งหลาย กระทั่งระดับไฮโซ
ที่ใช้ชีวิตฟุ่มเฟือย รวยความหล่อ เริดความสวย ที่มีฐานะทางการเงินดี อยู่ในเส้นทางเกียรติยศ
มาตั้งแต่เกิด มีชื่อเสียงที่ค้ำประกัน จากบรรพบุรุษผู้ล่วงลับแล้ว หรือที่ฉาบฉวยที่สุด
ในยุคนิยมเทคโนโลยี ด้านประชาสัมพันธ์ จากการพูด เขียนกล่าวขวัญถึงล้วนคือ
การเดินทางไปสู่ความหายนะ ด้านศีลธรรม ของคน ทุกเพศทุกวัย
จะกล่าวไปไยถึงเด็ก เยาวชนที่จะผ่านพ้น
ปลอดภัย ในเมื่อเขาก็ยังต้องอาศัยผู้ใหญ่เป็นผู้ชี้แนะแนวทาง สั่งสอน บอกกล่าว
อาจรวมไปถึงต้อง "ห้าม" ด้วย เพื่อเป็นกันชน เป็นรั้วที่ล้อมไว้ชั้นหนึ่งก่อน
แม้จะตั้งความหวังไม่ได้ว่า จะช่วยได้ทั้งหมดก็ตาม ก็ยังดีกว่าไม่มีมาตรการใดๆ
ปกป้อง กักกันไว้เลย แล้วจะมาเดือดร้อนคิด "ล้อมคอก" ภายหลัง ที่วัวถูกเสือกิน
จนหมดแล้วนั้น จะเกิดประโยชน์อันใด?
การแก้ปัญหาทางเพศสำหรับเด็ก
เยาวชนไม่ควรแก้เฉพาะปลายเหตุดังที่คิดกัน เพราะการแก้เช่นนั้น ไม่ต่างจาก
การหยิบยื่นอาวุธให้ การทำร้ายนั้น ยืดเยื้อออกไปอีก ควรกำหนดบทลงโทษ ให้เห็นความร้ายแรง
ความเดือดร้อน ที่ผู้ก่อการ ต้องได้รับ เพื่อให้เกิดความกลัว ความเข็ดขยาด
ที่จะไปก่อกรรมนั้นด้วย นับตั้งแต่ พ่อแม่ผู้ปกครอง ผู้ที่รับผิดชอบชีวิต
เด็กเยาวชนเหล่านั้น ต้องเอาจริงเอาจัง ที่จะติเตียน ชี้โทษภัยที่ร้ายแรง
ให้เขาเกิดปัญญา เกิดความรู้สึก ที่จะไม่ไปกระทำอย่างนั้น ทั้งจากผู้ที่ปฏิบัติธรรม
เข้าถึงสัจจะเรื่องนี้จริงๆ ซึ่งเป็นการให้ทั้งกำลังใจ ให้การยืนยัน ให้ความมั่นใจ
และให้ตัวอย่างที่ดีอีกทิศหนึ่งว่าเป็นไปได้ ควรเป็นอย่างยิ่ง ให้เกิดความละอาย
ที่จะไปคิด ถึงเรื่องเพศ ให้เห็นภาระ เห็นความลำบากยากเย็น ที่จะเอาตัวเอง
ไปพัวพันกับเรื่องนี้ การอยู่อิสระเป็นโสด รักษาตัวรักษาใจ ให้บริสุทธิ์ผุดผ่อง
จะเป็นความภาคภูมิใจยิ่งกว่า ไม่หลงผิดไปสร้างค่านิยม พูดกระทบผู้หญิง ที่ไม่ไปพัวพัน
ในเรื่องชู้สาว ว่าเป็นพวกหัวโบราณ พวกขึ้นคาน พวกทึมทึก พวกดัดจริต ฯลฯ
ความลุกลามเรื่องเพศแผ่ขยายไปทั่วธรรมชาติฝ่ายต่ำ
ก็เกิดปรับเปลี่ยน เลียนรับกันเป็นทอดๆ ตามอาจิณกรรม ที่สั่งสม เป็นวิบากไว้
จึงปรากฏการณ์ระดูของผู้หญิงเร็วขึ้น อายุ ๑๐-๑๒ ปีก็มีระดูกันแล้ว อิทธิพลของอาหาร
ที่เต็มไปด้วยรูป รส กลิ่นจัดจ้าน ปรุงแปลกพิสดารมากขึ้น สถานที่เริงรมย์บันเทิง
สำหรับเด็ก เยาวชนก็เติบใหญ่ หยาบกร้านมากขึ้น สังเกตได้จากเด็ก เยาวชนยุคนี้
แทบจะหาเด็กที่รู้จักเล่น "ตามประสาเด็ก" หรือหา "ของเล่นอย่างเด็กๆ"
ไม่เจอ ตัวอย่างเช่น เด็กมัธยมต้น ก็ยังเล่นหมากเก็บ เล่นไม้หึ่ง เล่นเสือกินวัว
เล่นหุงข้าวต้มแกง เล่นตัดเย็บเสื้อให้ตุ๊กตา ฯลฯ ซึ่งเป็นการเล่น ตามธรรมชาติ
ที่มีบทฝึกการทำงาน ฝึกเรียนรู้ การใช้ชีวิต ที่เอาภาระ จำเป็นจริงๆ ในชีวิตจริง
เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ขึ้น อาจจะมีความเหมือนกันอยู่บ้าง ในการเล่นนี้ ก็คงจะเป็นเรื่อง
"เล่นเป็นผัว-เมีย" กัน สำหรับเด็ก ที่มีสัญชาตญาณเรื่องนี้ หนาแน่นกว่ามาตรฐานเด็กไปหน่อย
ซึ่งก็มีน้อยคน เพราะถ้าหากผู้ใหญ่มาพบเห็นเข้า ก็จะตำหนิ เฆี่ยนตี และไม่ให้ทำ
เช่นนั้นอีก
แต่เด็กสมัยนี้ขยายผลการเล่นชนิดนี้เป็น
"ทำจริงๆ" แต่ก็ยังไม่ทิ้งลาย "ทำเล่นๆ" อยู่ดี ตรงที่ไม่รับผิดชอบ
ในสิ่งที่ตัว กระทำลงไปจริงนั้น ไม่ยอมรับผล จากสิ่งที่ตัวทำลงไป จึงเกิดกรณีการทำแท้ง
การฆ่าทารก การฆ่าคู่เสพรสกันเอง ร้ายแรงไปจนกระทั่ง "ฆ่าศีลธรรม ในจิตวิญญาณของคน"
ทุกฐานะวัย ที่เปลี่ยนแปลง ความรู้สึกนึกคิดในอดีต จากความเห็นชอบดีแล้วที่ว่า
เรื่องเพศ เป็นเรื่องควรปกปิด ควรต้องห้าม ควรกำหนดมาตรฐาน การเกี่ยวข้อง
เหมือนพ่อแม่ ครูบาอาจารย์สมัยก่อน ร่วมมือกัน สั่งสอน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
โดยที่บ้านก็จะคอยดูแล เรื่องการแต่งตัว การแสดง กิริยากาย วาจา ความนึกคิด
ไม่ให้แวะเวียนไปในเชิงนี้ ทางโรงเรียนก็จะคอยตรวจตรา มีคะแนน บทลงโทษ หากใครไปทำ
พฤติกรรมเชิงนี้ แม้ภาษา ตำหนิ ก็ใช้คำรุนแรงว่า "หยาบโลน-อัปรีย์"
ตรงกันข้ามกับผู้ใหญ่ในปัจจุบันที่มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องปกติธรรมดา
ยกอ้างถึง ความวิวัฒนาการก้าวหน้า ของโลก วัตถุนิยม ที่มีแต่จะเคลื่อนไป
ในทิศทางของความรวดเร็ว มอมเมา พาให้หลงใหล เสพรสชาติ ติดอกติดใจ ติดในเบญจกามคุณมากยิ่งขึ้น
สมจริงดังคำตรัส ของพระพุทธองค์ที่ว่า "โลกอันกามชักพาให้หลงใหล เพลิดเพลิน
ไปสู่ไฟนรก ผู้เมาหมกอยู่ ย่อมประสบกับทุกข์เป็นอันมาก"
เพราะคนมัวแต่ไปกังวลเรื่องสร้างฐานะ
แสวงหากาม แสวงหาโลกธรรม ซึ่งล้วนเป็นสิ่ง ที่แม้ใครจะมีมากล้นแค่ไหน ก็ไม่อาจนำติดตัวไปได้
แต่เพื่อเพียง "เสพรส" เพราะ "ติดรสเสพ" ตามอำนาจของกิเลส
ตัณหา อุปาทานที่ก่อตัวขึ้น ที่ภาษาพระท่านเรียกว่า "อวิชชา" เป็นตัวผลักดันให้
"มิจฉาทิฏฐิ" เห็นกงจักรเป็นดอกบัว ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ว่า
เป็นปัจจัยยังชีวิตที่จำเป็น จนบรรจุไว้เป็นปัจจัย ๕ นอกจากอาหาร เครื่องนุ่งห่ม
ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรคแล้ว ก็ยังมีเรื่อง สัมผัสทางเพศ ที่ต้องบริโภค ต้องอาศัยปัจจัยเนื้องอกคือ
"เงิน" เข้ามาร่วมด้วย เพิ่มขึ้นอีก
"เงิน" เป็นพาหะสำคัญที่ทำให้เรื่องเพศรุนแรงขึ้น
เพราะคนที่ต้องการเงิน จะใช้วิธีหาเงินที่ง่ายดาย จากสิ่งที่ใกล้ตัว หรือตัวมีนั่นแหละ
เป็นที่สุด "ขายตัว" เพื่อได้เงินมาแลกเพศ แลกกามสุข เด็ก เยาวชนสมัยนี้รู้จักใช้เงิน
ตั้งแต่ อายุไม่ถึง ๕ ขวบ แตกต่างจาก สมัยก่อนลิบลับ เด็กในชนบท แทบจะไม่รู้จักเงินเลย
บางคนอยู่มัธยมปลายแล้ว ผู้ใหญ่ใช้ให้ไปซื้อของ ก็ยังไม่รู้จักใช้เงิน ทอนเงิน
บางครอบครัว ไม่มีเงินติดบ้านเลย แต่เขาก็มีกินมีอยู่ อย่างร่มเย็นเป็นสุข
แม้ลูกเต็มบ้าน หลานเต็มเรือน ก็ไม่มีปัญหา เรื่องการครองชีพ เพราะการผลิต
การกินการอยู่ ไม่กระจัดกระจาย สมาชิกในครอบครัว ช่วยกันทำ เฉลี่ยช่วยกันทุกด้าน
ไม่ต้องมีเงินมาเป็นตัวกลาง ในการแลกเปลี่ยน มีแต่การให้ ใช้ต่อๆ กัน เช่น
เสื้อของพี่ ให้น้องรุ่นหลังๆ ใส่ต่อมา หนังสือของพี่ให้น้องเรียนต่อๆ มา
รถของพี่ให้น้องขับต่อๆ มา แทนที่จะเอาออกไปขาย มุ่งแต่รายได้คืนมาอย่างเดียว
การแบ่งปัน แจกจ่าย กระจายให้คนอื่นๆ ทั้งที่เป็นพี่น้อง ญาติ เพื่อนฝูง
เพื่อนบ้าน คนอื่นๆ ทั้งหลายในสังคม ที่เป็นแบบอย่างของวัฒนธรรม "การให้ทาน"
อันเป็นคุณสมบัติของ พุทธศาสนิกชน ผู้อยู่ครองเรือน ขาดหายไปทุกที
การกินข้าวในบ้าน การจัดงานที่บ้านถ้าจำเป็นจะต้องมีงาน
ซึ่งมักอาศัยแรงงานของคนในครอบครัว ร่วมด้วยช่วยกัน แทบจะไม่มีให้เห็น เพราะต่างคนต่างก็ฝากท้อง
ไว้กับโต๊ะอาหาร ตามฟุตปาธบ้าง ตามแผงลอย รถเข็น ร้านอาหาร ภัตตาคาร โรงแรม
สถานเริงรมย์ ทั้งที่มียี่ห้อ และไม่มียี่ห้อ ที่โฆษณาตามสื่อต่างๆ การใช้จ่ายเงิน
ก็จำเป็นยิ่งขึ้น จึงต้องมุ่งหาเงินกันเป็นหลัก เป็นสำคัญ เพื่อนำมาใช้จ่ายซื้อบริการเสพสุข
เวลาที่จะมาทำความเข้าใจ เข้าถึงจิตใจ ความรู้สึกนึกคิดของกันและกัน ถูกช่วงชิงไป
ส่วนใหญ่จึงต่างคิด ต่างทำตามที่กิเลสบงการ ไม่ยกเว้นแม้เด็กๆ ประเพณีนิยมดั้งเดิมนั้น
คนจะคิดมีครอบครัว-แต่งงาน จะต้องสร้างฐานะให้ดีก่อน ต้องหันมาทบทวนฐานะตนเองก่อน
ทั้งด้านวัยอายุ ความรู้สึกรับผิดชอบ และฐานะการเงิน เศรษฐกิจซึ่งต้องรองรับภาระ
ที่เกิดขึ้นแน่นอน เรื่องสืบพันธุ์ ไม่ใช่เรื่องเพศรส ที่สนองอารมณ์ตัณหา
แต่เป็นเรื่องการ "วางรากฐานความเป็นผู้นำ" ไปตามลำดับ ตั้งแต่การ
"ครองตน -ครองเรือน -ครองคน -ครองเมือง -ครองโลก" ซึ่งกรรมบทต่างคานกันไว้
อย่างสมดุลดีแล้ว ถ้าไม่มีกิเลส ตัณหา เป็น"ตัวแปร" เข้าไปขับเคลื่อน
จึงเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะประสบการณ์ชีวิตที่ดีกว่า
ต้องพยายามช่วยกันคิด ช่วยกันสร้างอุปกรณ์ วิธีการใด ที่จะดึงเยาวชนกลับมา
ในทิศทางที่ถูกต้อง ด้วยวิธีที่ถูกต้อง ไม่ใช่เพียงการแก้ปัญหาปลายเหตุ หรือแก้ปัญหา
เฉพาะรักษาหน้า แต่ไม่ได้ช่วยบรรเทา หรือยุติทุจริตกรรมเหล่านั้นลง และอาจเป็นการเพิ่มวงเวียนกรรม
ให้ผูกปม ซ่อนเงื่อน ขึ้นไปอีก
ข้อมูลเพิ่มเติม จากหนังสือพิมพ์รายวันยักษ์ใหญ่
วันเสาร์ที่ ๒๗ ต.ค. ๒๕๔๔ เล่าถึงเรื่องการเสวนา ของแพทยสภา จากศูนย์อำนวยการ
สุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุขว่า ปัจจุบันทั้งผู้ชาย-ผู้หญิง มีความผันแปรทางเพศยิ่งขึ้น
ผู้หญิงนิยมแย่งผู้ชาย ผู้ชายนิยมมีผู้หญิงหลายคน แม้แต่เยาวชนอายุตั้งแต่
๑๗-๒๐ ล้วนมีทัศนคติ ที่จะไม่นิยม การแต่งงาน มีหลักฐาน เพราะไม่อยาก เป็นเมียหลวง
สอดรับกับ พฤติกรรมของผู้ชาย ที่ไม่นิยมมีภรรยาคนเดียว เหตุผลที่สำคัญ น่านำมาคิดคือ
แพทย์กรมสุขภาพจิต ลงความเห็นว่า ผู้ชายที่มีเมียน้อย จะมีบุคลิกภาพบกพร่อง
มาตั้งแต่เด็ก อาทิขาดความมั่นใจในตัวเอง ขาดความยับยั้งชั่งใจ อ่อนไหวง่าย
ไม่กล้าตัดสินใจ ต้องพึ่งพาคนอื่น แทบทุกเรื่อง ควบคุมตัวเองไม่ได้ สำหรับผู้หญิงนิยมความเป็นเมียน้อย
หรือนางบำเรอ ในทัศนะของวัยรุ่น ที่มีรสนิยม สามีสำเร็จรูป เหมือนบะหมี่แกะซอง
เพราะไม่ต้องไปสร้างฐานะใหม่ ไม่ต้องมีพันธะ ผูกมัดระยะยาว ฯลฯ สิ่งเหล่านี้
ล้วนเป็นบ่อเกิด ของเชื้อ "กามโรค" (ทั้งทางกาย-ทางใจ) ที่ต้องพึ่งพิงธรรมะเยียวยา
ทั้งสิ้น
ทั้งนี้ไมได้ปฏิเสธว่าสัญชาตญาณการสืบพันธุ์
มีอยู่ในสัตวโลก ที่ไม่ได้ฝึกฝน อบรม บ่มนิสัยให้ละหน่าย คลายจาง บรรเทาตัดขาดในเรื่องนี้
แต่การ "เสพรสสัมผัส" ที่เป็นส่วนงอกร้าย แทรกแซงมา กับการสืบพันธุ์มีมากกว่า
การล่วงละเมิด ทางเพศ จึงล้ำเส้นเขตแดน "มนุษยธรรม" มากขึ้น สมควรที่ผู้ใหญ่
ต้องพินิจพิจารณา ช่วยกันคัดเฟ้น ให้ละเอียดลออ ประณีตกว่านี้ ไม่ใช่ปิดกั้น
จนกดดัน แต่ควรเป็นการ "ปก-ป้อง-กัน-ไข-แก้" ทำนองเดียวกับ ที่คนรุ่นทวด
ปู่ย่า ยายเรา เคยทำได้ผลดีมาแล้ว
ความกตัญญูกตเวทีด้วยการให้ความเชื่อฟัง
คำแนะนำ ตักเตือน สั่งสอนของบรรพบุรุษ บุพการี ไม่ควรทิ้งไว้ให้ฝุ่นจับ หรือ
"ลอยแพ" ทิ้งไปอย่างไม่มีเยื่อใยไมตรี มุ่งแต่จะคิดค้นหาวิธีใหม่ๆ
จากคนรุ่นใหม่ที่ได้รับการศึกษาสูงๆ มีดีกรีหลายใบ มาเป็นหลักประกัน ให้ความเชื่อถือ
โดยลืมคิดถึง ความจริงส่วนหนึ่งว่า คนรุ่นใหม่ที่ เราคิดว่าแน่กว่า เก่งกว่านั้น
ล้วนเติบโต มาจากน้ำมือ น้ำพักน้ำแรง ของคนรุ่นเก่าทั้งสิ้น แต่เมื่อเติบใหญ่แล้ว
กลับมองเมินความจริงส่วนนี้ ไม่ต่างไปจาก "ต้นไผ่ตายเพราะขุยไผ่ ต้นกล้วยตายเพราะหน่อกล้วย"
ฉะนั้น
เพราะเหตุนี้กระมัง จึงทำให้คนรุ่นนี้
ต้องรับผลอกุศล วิบากกรรมร่วมกัน จากทัศนคติของคนร่วมรุ่น อย่างเดียวกัน
"ต้องเป็นทุกข์ เพราะสิ่งอันเป็นที่รัก ทำเหตุ ต้องเป็นทุกข์ กับการประสบกับ
สิ่งที่ไม่รักเป็นเหตุ" ต้องหวาดวิตก กังวลกับโรคแปลกๆ เก่า -ใหม่ที่มา
พร้อมกับการ เสพกามเมถุน ที่ทำความ ปวดเศียรเวียนเกล้า ให้วงการแพทย์ยิ่งขึ้น
ถ้าเราไม่ช่วยกันให้ตรงเหตุจริงๆ ชีวิตคงจะสายเกินไป ดังพระพุทธทำนาย ที่บันทึกไว้
ในประวัติศาสตร์ ศาสนาพุทธเรื่อง "มหาสุบินของพระเจ้าโกศล" ที่ทรงเฉลยถึง
อุบัติการณ์ประหลาด น่าสนเท่ห์ เป็นปมปริศนา ให้ผู้ครองบ้านครองเมืองทุกๆ
ยุคพึงนำมาพิจารณาเทียบเคียง คิดประกอบกับรูปรอย นิมิตหมายจากธรรมชาติ และพฤติกรรม
ของคนในบ้านเมือง ในโลกขณะนั้นไว้ว่า
๑. ในกาลที่โลกถึงภาวะเสื่อม ฝนจะแล้ง (หรือท่วม) ตีนเมฆจะขาด ข้าวกล้าจะแห้ง
(หรือจมเน่าตาย) ทั่วท้องทุ่ง ทุพภิกขภัย จะเกิด
๒. มนุษย์จะมีอายุน้อยลง สัตวโลกจะมีราคะกล้า จะสมสู่กันตั้งแต่อายุยังเด็ก(อายุน้อย)
๓. จะไม่มีความกตัญญูกตเวทีกันระหว่างผู้ใหญ่และเด็ก เพราะต่างแสวงหาทรัพย์เพื่อตนเอง
ผู้เฒ่าผู้สูงอายุ จะต้องง้อ ลูกหลาน
๔. พระราชา (หรือผู้ปกครอง ราชการ) จะประทานยศตำแหน่ง ให้แก่คนหนุ่มที่มีความรู้
จะไม่เชิดชู ข้าราชการสูงอายุ
๕. คนหนุ่มสาวจะได้รับการแต่งตั้งในการวินิจฉัยความ ผู้โลเล ผู้ไม่มีธรรมะที่นั่งตำแหน่งสูง
จักพิจารณาคดีอย่างไร ก็สามารถกินสินบน จากทั้งสองฝ่าย
๖. ผู้ที่ไร้สกุลรุนชาติจะได้เป็นใหญ่ คนที่เป็นใหญ่อยู่ในสกุลสูง จะแต่งงานกับคนตระกูลต่ำ
๗. บุรุษและสตรีเละ โลเลชอบดื่มเหล้า เมายา ชอบแต่งตัว ทุศีล ชอบใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย
ชอบเที่ยวเตร่
๘. ผู้อยู่ชนบทที่ทำเกษตร จะละทิ้งท้องถิ่นของตน รายได้จากการเก็บภาษีจะลดลง
เงินในท้องพระคลัง จะขาดแคลน ขัดสน
๙. ผู้ปกครอง นักการเมืองจะกินสินบน
ขาดเมตตา มีอาชญากรรมเยอะ ชนบทจะว่างเปล่า เพราะคนอพยพ ไปทำงาน ต่างถิ่นกันหมด
เมื่อนำเอามหาสุบินนี้มาเทียบเคียงกับปัจจุบัน
พอเข้าเค้าในทำนองนี้บ้างไหม? ข่าวจากสื่อสารที่แม้ปุถุชนส่วนใหญ่ จะยังคิดปลอบใจ
เข้าข้างตัวเองกันอยู่ แล้วระเริง ลืมตัว ลืมสัญญาณภัยเหล่านี้ ที่อาริยปราชญ์ท่านฝากไว้
ให้เป็น มรดกโลก เราจึงขอหยิบยก ขึ้นมาตักเตือน กันอีกครั้ง เผื่อว่าจะได้ช่วย
ชะลอหายนภัย ต่างๆ ให้ช้าลงบ้างเท่านั้นเอง
บุคคลที่ต้องทำหน้าที่ตักเตือนให้สติ
ควรจะเป็นภิกษุ พระ สมณะ นักบวชทั้งชายและหญิง ในพุทธศาสนา รวมไปถึง ผู้ตั้งใจปฏิบัติธรรม
เพื่อความละ หน่าย จางคลาย บรรเทา ทำให้หมดสิ้นไปซึ่ง "ความกำหนัดใคร่ในกาม"
ทั้งหลายด้วย เพราะบุคคลเหล่านี้ เป็นผู้อยู่แถวหน้า เป็นผู้ทำนำก่อน ทำได้แล้ว
ต้องพาทำ ทำให้สม่ำเสมอต่อๆ ไป เป็นบุคคลตัวอย่าง ที่ยืนหยัดยืนยัน ในความเป็นผู้ประเสริฐ
ผู้ผ่านพ้น ในเรื่องนี้แล้ว จึงมีสิทธิที่จะชี้โทษ บอกถึงภัยอันตราย ชักชวนให้คน
งดเว้น หยุดพฤติกรรมเชิงนี้ให้ได้ เพราะตัวท่านเองที่ทำได้ ทำถึงแล้วนั่นแหละ
จะเป็นหลักฐานอย่างดีที่สุด ที่คนจะพึ่งพา อาศัย เป็นเยี่ยงอย่าง ในความประพฤติ
ที่ประเสริฐนี้ต่อไป
อย่าเข้าใจผิดว่าเป็นเรื่องของชาวบ้านที่นักบวช
ผู้ถือศีลบำเพ็ญพรตไม่ควรเกี่ยวข้อง ไม่ควรรับรู้รับฟัง เอาใจใส่ ซึ่งบางคน
มีความรู้สึกค้านแย้ง อย่างรุนแรงที่จะปิด กัน ไม่ให้ผู้ทรงศีลเอาภาระ ด้วยวาทะชวนให้เชื่อถือว่า
"เป็นเรื่องโลกีย์-เรื่องคนมีบ้านมีเรือน" ไม่สมควรที่นักบวช จะไปยุ่งเกี่ยว
โดยไม่คิดให้รอบคอบว่า ที่ว่ายุ่งเกี่ยวนั้น ไปยุ่งเกี่ยวเชิงใด ไปทำให้เขาต้องทุกข์ยิ่งขึ้น
หรือไปช่วยคลี่คลาย ช่วยฉุดให้เขา พ้นจากความทุกข์ อันเป็นจิตใจ ของผู้มีวิสัยทนได้ยาก
ต่อความกรุณา ดังที่พระศาสดา เคยตรัสอย่างรู้สึกอ่อนพระทัยว่า "โลกกำลังลุกเป็นไฟ
(เพราะถูกไฟราคะ โทสะ โมหะเผาผลาญ)อยู่เป็นนิตย์ ท่านทั้งหลายจะมัวแต่แสวงหา
ความเพลิดเพลินอยู่ไย ทำไมไม่คิดแสวงหา แสงสว่าง" โลกที่สว่างด้วยแสง
สี เสียง เป็นดั่งกับดักสัตว์ ให้ตกเป็นเหยื่อ
โลกที่สว่างด้วยปัญญาญาณ
แสงธรรม เป็นดั่งประทีป ส่องทาง ให้สัตว์ไม่หลง
พระอาทิตย์ต้องมีวันดับ
จักรวาลต้องมีวันแตก ชีวิตของคนเรา แต่ละวันที่ผ่านไป ก็กำลังเคลื่อนไปหา
ความแตกดับทุกวินาที
แต่ความทุกข์ที่กัดกร่อนจิตวิญญาณ จากความ "หลงโลกีย์"
ไม่มีวันดับหรืออย่างไร?
ตื่นเถิด! "คนไท" แม้อาจสายไปบ้าง
หยุดเถิด! อย่าเข้าข้างธรรมฝ่ายดำจนเกินแก้
ชีวิตที่มีอยู่ใช่ควรยึดถือว่าของแท้
เป็นเพียงแต่ศาลาร้างชั่วครั้งคราว
จิตท่องเที่ยวไปไกล
เที่ยวไปดวงเดียว ไม่มีรูปร่าง
อาศัยอยู่ในร่างกายนี้ ใครควบคุมจิตนี้ได้ ย่อมพ้นจากบ่วงมาร
พุทธวจนะ
พลาดไปนิด
ผิดตั้งโยชน์ |