เราคิดอะไร.

กฎหมายกับการโคลนมนุษย์
กติกาเมือง ‘ประคอง เตกฉัตร (ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ประจำสำนักงานศาลยุติธรรม ช่วยทำงานในตำแหน่ง ผู้พิพากษา หัวหน้าศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช)


การโคลนแกะดอลลี่เมื่อ ค.ศ.๑๙๙๖ ทำให้วงการวิทยาศาสตร์ในด้านโคลนสิ่งมีชีวิต เป็นที่สนใจของนักวิทยาศาสตร์ และ ประชาชนทั่วไป และทำให้วงการแพทย์ของทั่วโลก เริ่มตื่นตัว ในการทดลอง ในการโคลนสิ่งมีชีวิต

ผู้เขียนเห็นว่าการทำสำเนาพันธุกรรมสิ่งมีชีวิต ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และการพยายามแยกแยะ ความแตกต่าง ระหว่าง การทำสำเนา พันธุกรรมมนุษย์ตลอดมานั้น มีผลกระทบในทางจริยธรรม และกฎหมายเป็นอันมาก แม้จะมีผู้สนับสนุน บางส่วน และ มีผู้คัดค้าน บางส่วน แต่เมื่อได้วิเคราะห์ ถึงปัญหาต่างๆ ในเชิงกฎหมาย ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตแล้ว นับว่าน่าเป็นห่วง เป็นอย่างยิ่ง รวมถึงการให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ในสิ่งมีชีวิตอันจะนำมาสรุป ซึ่งการเปลี่ยนแปลง ประวัติศาสตร์ ของมนุษยชาติ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

การโคลนหรือการทำสำเนาพันธุกรรมนั้น ในอดีตเราเคยทำเฉพาะพืชเช่น การตอนกิ่งหรือปักชำในพืชบางชนิด วิธีการดังกล่าวนี้ ไม่ต้องใช้ความรู้ ความสามารถมาก และไม่ยุ่งยาก ในขั้นตอนวิธีการ เพียงเราต้องการเพิ่มปริมาณเซลล์ของพืช เพื่อนำไปใช้ ในการทดลอง ความพยายามในการโคลนเซลล์ และยีนส์ของพืช จึงมีมากขึ้นเป็นลำดับ และต่อมาได้พัฒนา จนถึงสัตว์ชนิดต่างๆ ดังที่ปรากฏมาแล้ว เซลล์ของมนุษย์นั้น มีความสามารถ ในการแบ่งตัว ในช่วงระยะเวลาอันจำกัด ดังนั้น เมื่อเซลล์หนึ่งเซลล์ใด ได้มีการแปรรูปไปทำหน้าที่หนึ่งหน้าที่ใดแล้ว เซลล์นั้นก็ไม่สามารถ กลับมาทำงาน ในหน้าที่เดิมได้อีก แกะดอลลี่ ก็ได้เกิดขึ้น จากเทคนิค ในการโคลนสิ่งมีชีวิตอย่างหนึ่ง ที่เรียกว่าการถ่ายโอน นิวเคลียสของเซลล์ร่างกาย เซลล์ร่างกายนี้ เป็นเซลล์ที่ม ีโครโมโซม ๒ ชุด ที่แตกต่างกัน จากเซลล์สืบพันธุ์ เมื่อมีการกระตุ้นด้วยไฟฟ้า แล้วนำนิวเคลียสหลอมกับไข่ดังกล่าว จึงทำให้เกิด การแบ่งตัว และสามารถกลับมาทำหน้าที่เดิมได้อีก ต่อมาได้มีการนำเซลล์ไข่นั้น เข้าไปฝากในครรภ์ของแม่แกะ เพื่อการเจริญพันธุ์ ต่อไป แม่แกะดังกล่าว จึงเกิดลูกแกะตัวดังกล่าวออกมา ต่อมาก็ได้มีการประกาศ ความสำเร็จ ในการ โคลนนิ่งหนู และวัว และตัวอ่อน ของมนุษย์ขึ้น

การโคลนมนุษย์อาจจะจำแนกได้ตามกระบวนการและตามความประสงค์ของการโคลน ซึ่งแบ่งประเภทการโคลนมนุษย์ เป็น ๒ ประเภท คือ การโคลนโดยใช้ตัวอ่อน การโคลนประเภทนี้ เป็นการใช้เซลล์ของตัวอ่อนมนุษย์ มาเป็นวัตถุดิบ ในการโคลน ส่วนการโคลน อีกชนิดหนึ่ง คือการโคลนโดยการใช้ ดีเอ็นเอของตัวเต็มวัย ซึ่งหมายถึง การนำเอาเซลล์ ที่มีการแบ่งตัว การดำเนินการ เช่นเดียวกับ แกะดอลลี่

ประโยชน์ในการโคลนนั้นอาจจะมีความมุ่งหมายต่างกัน เช่น การโคลนเพื่อทำการบำบัดรักษา ในวงการแพทย์ โรคบางชนิด เกิดจากการทำงานผิดปกติ อย่างใดอย่างหนึ่งของเซลล์นั้น ก็สามารถรักษาให้หายได้ โดยการนำเซลล์ ที่สามารถทำงานได้ อย่างเป็นปกติ เข้าไปทดแทน การโคลนเพื่อการสืบพันธุ์ ซึ่งได้เริ่มมาตั้งแต่ ค.ศ.๑๙๗๘ จวบจนปัจจุบันนี้ มีการผสมเทียม โดยวิธีต่างๆ ของคู่สมรสที่มีบุตรยาก จำนวนมาก ปัญหา เช่นฝ่ายหญิงมีความผิดปกติในท่อรังไข่ แพทย์จะใช้วิธีการปฏิสนธิ นอกร่างกาย ส่วนผู้หญิงที่ไม่สามารถ ตั้งครรภ์ด้วยตัวเองได้ เนื่องจากมดลูกผิดปกติ ก็ให้ผู้อื่นตั้งครรภ์แทน ถ้าความผิดปกติ เกิดจากฝ่ายชาย ในภาวะอสุจิน้อย แพทย์ก็ใช้วิธีฉีด สเปิร์มเดี่ยวเข้าไปในไข่ นี้คือความเป็นมา ในการพยายาม ในการโคลนมนุษย์ อย่างจริงจัง แม้การโคลนดังกล่าว จะมีประโยชน์อยู่บ้าง เพราะต้องการช่วยเหลือคู่สมรส ที่ไม่สามารถมีบุตรได้ตามธรรมชาติ แต่การโคลน อีกชนิดหนึ่ง ที่น่ากลัวมาก คือการพยายามโคลนบุคคล แทนบุคคลที่ตนเองรัก หรือเคารพ เช่น คู่สมรส ที่สูญเสียบุตร คนใดคนหนึ่งไป ต้องการโคลนบุตรคนใหม่ขึ้นมา แทนบุตรคนเดิม หรือโคลนบิดามารดา หรือสามีภริยา ที่เสียชีวิตไปแล้ว ปัจจุบันนี้ มีบุคคล อีกกลุ่มหนึ่ง คือกลุ่มรักร่วมเพศ ซึ่งมีความผิดปกติ ในทางจิตใจ ไม่สัมพันธ์กับสภาพของร่างกาย ต้องการจะมีทายาท ก็จะทำการ ใช้นิวเคลียส จากเซลล์ของร่างกายของผู้หญิง ที่ว่าเลสเบียนมาผสมกับไข่ของผู้หญิงอีกคนหนึ่ง แต่สำหรับกลุ่มผู้ชาย ที่เรียกว่า เกย์นั้น การโคลนจะไม่ได้ใช้วิธีดังกล่าว เพราะยังต้องรับบริจาคไข่ จากบุคคลภายนอก ซึ่งเป็นผู้หญิง ตามธรรมชาติ เพื่อทำให้ การโคลน สำเร็จไปได้

การปลูกถ่ายอวัยวะ ก็เป็นการโคลนโดยวิธีหนึ่ง ซึ่งคิดว่าในอนาคต จะต้องเป็นประโยชน์ในวงการแพทย์พอสมควร เช่น การปลูกถ่าย ไขกระดูก หรือมีการโคลนร่างกาย สำหรับเตรียมการไว้ในอนาคต กรณีตนเองเจ็บป่วย จะได้มีการเปลี่ยน อวัยวะ ในส่วนดังกล่าว ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถก้าวหน้า ไปถึงขั้นตอนดังกล่าวได้

การโคลนเพื่อหลีกเลี่ยงความผิดปกติทางพันธุกรรม ซึ่งมาจากสายเลือด เพื่อหลีกเลี่ยง ไม่ให้บุตรของตนเอง มีความผิดปกติ ทางพันธุกรรม เช่นเดียวกับบรรพชน เช่น คู่สมรส บางคู่เป็นพาหะ ของโรคบางโรค โอกาสที่จะเกิดขึ้น แก่บุตรของบุคคล ทั้งสองนั้น มีมากจึงใช้วิธีโคลนบุตร ที่ไม่ได้มีความผิดปกติ เช่นเดียวกับบิดามารดา หรือบุคคลของสมาชิก ในครอบครัว หรือบรรพชน หรือ สายสกุล ดังกล่าวนั้น

การโคลนมนุษย์ดังกล่าวนี้เกิดผลกระทบ ทางจริยธรรม เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องสิทธิ และศักดิ์ศรี ของความเป็นมนุษย์ คนเดิม ปัญหาเหล่านี้ หลายฝ่ายได้แสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ เป็นจำนวนมาก ทั้งในและต่างประเทศ เพราะมีการ ใช้มนุษย์ เป็นเครื่องทดลอง มนุษย์ที่ถูกโคลนจะขาดอัตลักษณ์ ทางพันธุกรรม เพราะลักษณะของมนุษย์ ที่ถูกโคลนขึ้นมา จะมีลักษณะ เหมือนต้นแบบ ถ้าจะพูดว่า มนุษย์ที่ถูกโคลนดังกล่าวขึ้นมานี้ เป็นเหมือนวัตถุสิ่งของ หรือสัตว์เลี้ยง ก็น่าจะไม่แตกต่างกันมากนัก บุคคลที่มีความคิด ดังกล่าวนี้ จึงเห็นว่าไม่ควรอนุญาต ให้มีการโคลนมนุษย์ ในทุกกรณี แต่อย่างไรก็ตาม สิทธิเสรีภาพ ในการเจริญพันธุ์ และการเคารพสิทธิดังกล่าวนี้ ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่า การโคลนยังมีประโยชน์ ในวงการแพทย์ และ การสืบ เชื้อสายพันธุ์ ของมนุษย์แต่ละคน ที่สามารถทำได้

ผู้สนับสนุนหลายคนเห็นว่า เป็นการพัฒนา อีกขั้นหนึ่งของมนุษยชาติ เป็นนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ และเป็นประโยชน์ ต่อวงการแพทย์ จำเป็นต้องทดลอง และดำเนินการพัฒนาต่อไป

การโคลนดังกล่าว ย่อมก่อให้เกิดผลกระทบทางสังคมอย่างมาก เพราะปัญหาการซื้อขายเซลล์มนุษย์ และความหลากหลาย ทางพันธุกรรมของมนุษย์ หากอนุญาต ให้มีการโคลนมนุษย์เกิดขึ้นได้ ย่อมต้องมีการซื้อขาย เนื้อเยื่อ เซลล์ ดีเอ็นเอ ในตลาดมืด เพิ่มขึ้น การลักลอบกระทำสิ่งเหล่านี้ จะมีขึ้นอย่างแน่นอน เชื้ออสุจิที่ถูกเก็บไว้ในธนาคารเนื้อเยื่อ เป็นเชื้ออสุจิที่ปกปิดชื่อผู้บริจาค ไว้เป็นความลับ คู่สมรสไม่สามารถเลือกได้ว่า จะนำเชื้ออสุจิ จากบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ทารกที่เกิดมา จึงได้รับยีนส์ จากทั้งเชื้ออสุจิ และไข่ แต่ไม่ทราบว่า ใครเป็นบิดาที่แท้จริง แต่การโคลน โดยวิธีการถ่ายโอนนิวเคลียสนั้น เป็นการลอกแบบพันธุกรรม ของเซลล์ ต้นแบบทั้งหมด ความต้องการของมนุษย์ ทั้งสองกรณี จึงอาจแตกต่างกัน

บทบัญญัติของกฎหมายและปัญหากฎหมายที่เกี่ยวกับสำเนาพันธุกรรม ของประเทศไทยนั้น นับว่าล้าหลังมาก หรือแทบพูดได้ว่า ฝ่ายนิติบัญญัติ หรือฝ่ายบริหารของเรา ยังไม่ได้เตรียมการ สำหรับเรื่องนี้โดยเฉพาะ ประเทศไทย ยังไม่ได้ออกกฎหมายห้าม เป็นการชัดแจ้ง หรือกระทำการใด เพื่อเตรียมการตัวบทกฎหมาย ที่จะเกิดขึ้นในกรณีดังกล่าวนี้ ไม่ว่าการโคลนดังกล่าวนี้ จะเกิดขึ้นภายในประเทศ หรือเกิดขึ้นในต่างประเทศ แล้วนำเข้ามาภายในประเทศ สหรัฐอเมริกา ประกาศห้าม ไม่ให้หน่วยงานของรัฐ ให้การสนับสนุนการวิจัย เรื่องการโคลนมนุษย์ แต่บางรัฐในอเมริกา และแคลิฟอร์เนีย และโรสไอแลนด์ ห้ามเฉพาะการโคลนมนุษย์ เพื่อการสืบพันธุ์เท่านั้น แต่ไม่ห้ามการโคลน เพื่อการบำบัดรักษา และทางการแพทย์ ปัจจุบันนี้ สหประชาชาติ ได้มีหน่วยงาน ที่เรียกว่า "คณะกรรมมาธิการ ชีวจริยธรรมระหว่างประเทศ" เป็นคณะกรรมการที่รับผิดชอบ ในการรˆ่างข้อตกลง ระหว่างประเทศ ในการคุ้มครองจีโนมของมนุษย์ ต่อที่ประชุมใหญ่ องค์การยูเนสโก นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายระหว่างประเทศ ของสภาแห่งยุโรป เกี่ยวกับทดลอง ในตัวอ่อนมนุษย์ และการโคลนมนุษย์ในข้อที่ ๑๘ ห้ามไว้ว่า หากในประเทศใด ที่มีกฎหมาย อนุญาตให้มีการทดลอง ตัวอ่อนของมนุษย์ นอกร่างกายกฎหมายนั้น ต้องมีหลักประกัน ในการความคุ้มครองตัวอ่อนนั้น อย่างพอเพียงด้วย

การโคลนมนุษย์ในประเทศไทย ไม่ถือว่าเป็นความผิดทางอาญา เพราะไม่มีกฎหมายใด บัญญัติห้ามไว้ และกำหนดว่า มีความผิด แต่การโคลน ในประเทศไทย ยังไม่มีความเจริญก้าวหน้า หรือมีเทคโนโลยี หรือนักวิทยาศาสตร์คนใด ที่สามารถดำเนินการ เรื่องนี้อย่างจริงจังได้ ปัญหาที่จะเกิดขึ้นส่วนหนึ่ง จะมีความซับซ้อน ที่เกิดจากเทคโนโลยี ทางการเจริญพันธุ์ เช่น ปัญหา ความเป็นพ่อแม่ ของทารก ที่เกิดขึ้นว่า ผู้ใดเป็นพ่อแม่ที่แท้จริง และผู้ใดเป็นพ่อแม่ตามกฎหมาย และจะถือข้อยุติใด เป็นหลักไม่ว่า ในทางแพ่งหรือทางอาญา ทั้งความยินยอมของผู้เกี่ยวข้อง ไม่ว่าเจ้าของเนื้อเยื่อ หรือเจ้าของเชื้ออสุจิ หรือเจ้าของไข่ ปัญหาสิทธิ ของทารก ที่ไม่ทราบแหล่งกำเนิดของตนเอง ว่าผู้ใดเป็นพ่อแม่ที่แท้จริง และภูมิลำเนา ตลอดทั้งสายพันธ์ วงศ์ตระกูล การรับมรดก การทราบข้อบกพร่องของสายพันธุ์ตนเอง หรือโรคที่ติดต่อ ทางพันธุกรรม ทั้งยังรวมไปถึง ปัญหาสังคมต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น ในสังคมไทย ในการรับรู้ทำความเข้าใจ และให้การยอมรับต่อทารก หรือตัวอ่อน หรือมนุษย์ที่เกิดขึ้น จากการโคลน อย่างไรหรือไม่ ทั้งยังเกี่ยวข้องกับการคุ้มครอง ในทางทรัพย์สินทางปัญญา เพราะแม้แต่สัตว์ ยังมีการรับสิทธิบัตร ในการขอรับ สิทธิบัตรสัตว์ และสารสกัดจากสัตว์ ไม่ว่าการปรับปรุงพันธุ์ ด้วยการคัดเลือกสายพันธุ์ กรรมวิธีทางเทคนิค กรรมวิธีพันธุวิทยกรรม กรรมวิธีโคลนนิ่ง หรือสัตว์ประดิษฐ์ แต่สำหรับมนุษย์ น่าจะต้องมีกฎหมาย ที่ครอบคลุมเนื้อหา มากกว่า กฎหมายดังกล่าวนี้ ปัญหาดังกล่าวนี้ ยังต้องทำให้นักกฎหมาย ของประเทศไทย ต้องเตรียมการ และศึกษากฎหมาย ของประเทศต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ อย่างแพร่หลายมากขึ้น และหาช่องทาง ที่จะไม่ให้เกิดปัญหา ติดตามมาในอนาคต เพื่อมิให้เกิดปัญหา ตามมาในอนาคต

(เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๓๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕)